FEATURESMusic Features

ในที่สุดริชาร์ด แอชครอฟท์ ก็ได้ค่าลิขสิทธิ์ในการแต่งเพลง “Bitter Sweet Symphony”

เกือบๆ 22 ปี นับตั้งแต่ The Verve ปล่อยซิงเกิล “Bitter Sweet Symphony” ออกมา โดยที่มิค แจกเกอร์ และคีธ ริชาร์ดส์ สองสมาชิกของวง the Rolling Stones มีส่วนในค่าลิขสิทธิ์ที่ริชาร์ด แอชครอฟท์ นักร้องนำและนักแต่งเพลงของเดอะ เวิร์ฟได้รับจากเพลงนี้ จากการแซมพลิงของเพลงที่คู่หูแจกเกอร์-ริชาร์ดส์แต่งเอาไว้มาใช้ และในที่สุด แอชครอฟท์ก็ได้รับเครดิตและค่าลิขสิทธิ์ในการแต่งเพลง “Bitter Sweet Symphony” (สังเกตว่า ชื่อเพลงไม่ได้สะกดว่า “Bittersweet Symphony”)

โดยเพลงฮิตของเดอะ เวิร์ฟในปี 1997 นำบางส่วนของเพลง “The Last Time” ซึ่งแจกเกอร์-ริชาร์ดส์ แต่งไว้ในปี 1965 แต่เป็นฉบับออเคสตราในอัลบัมของ Andrew Loog Oldham Orchestra ที่เรียบเรียงโดย เดวิด วิเทเกอร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเพลงดั้งเดิมของเดอะ สโตนส์ ราวๆ 4 วินาที มาทำแซมเพิล แต่ขณะที่เดอะ เวิร์ฟขอสิทธิ์จากวงออเคสตราเพื่อนำท่อนดังกล่าวมาทำแซมเพิลเรียบร้อย พวกเขากลับไม่ได้ขอลิขสิทธิ์ในการพิมพ์เพลงจากวงหินกลิ้งมาด้วย

ทำให้เกิดเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลระหว่างเดอะ เวิร์ฟกับ แอ็บค์โค (Abkco) บริษัทพิมพ์เพลงของอัลเลน ไคลน์ อดีตผู้จัดการวงที่ดูแลลิขสิทธิ์เพลงนี้ (รวมถึงเพลงเก่าๆ ของเดอะ สโตนส์) ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ทางวงได้รับอนุญาตให้ใช้แซมเพิลเพียงสั้นๆ แลกกับการเสียสิทธิ์ในเพลง 50% แต่เพราะต้องการใช้แซมเพิลที่ยาวมากกว่าที่บริษัทของไคลน์ยินยอม และให้เพลงนี้ได้อยู่ในอัลบัม Urban Hymns แอชครอฟท์จึงยอมเซ็นยกสิทธิ์และค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้ไป โดยคนที่ได้รับเครดิทและค่าลิขสิทธิ์ในการแต่งเพลงก็คือแจกเกอร์กับริชาร์ดส์

ปลายปีที่แล้ว แอชครอฟท์กลับมาจุดประเด็นเรื่องนี้อีกครั้ง และแทนที่จะเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายกับบริษัทแอ็บค์โค เขาเลือกขอความเห็นใจกับแจกเกอร์และริชาร์ดส์แทน เพื่อช่วยให้เขาได้สิทธิ์ของเพลงกลับคืน

และเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังขึ้นรับรางวัลผู้การสนับสนุนวงการเพลงสหราชอาณาจักร ที่งานไอเวอร์ โนเวลโล อวอร์ดส์ แอชครอฟท์ก็ประกาศออกมาว่า เขาได้ค่าลิขสิทธิ์ของเพลงนี้คืนกลับมาแล้ว “เป็นความปลาบปลื้มอย่างที่สุดสำหรับผม ที่จะประกาศว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา มิค แจกเกอร์ กับคีธ ริชาร์ดส์ ตกลงที่จะให้ส่วนแบ่งที่พวกเขาได้รับจากเพลง “Bitter Sweet Symphony” กับผม” โดยในแถลงการณ์บอกด้วยว่า “เหตุการณ์ที่น่าทึ่งและทำให้รู้สึกดีกับการมีชีวิตครั้งนี้ เป็นได้ด้วยความเอาใจใส่และใจกว้างจาก มิคและคีธที่ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขายินดีที่จะกันชื่อของพวกเขาออกไปจากเครดิทในการแต่งเพลง รวมถึงให้ค่าลิขสิทธิ์ในการแต่งเพลงนี้ที่พวกเขาได้รับนับตั้งแต่วันนี้กลับมาที่ผม”

สองสมาชิกเต็มใจและยินดีกระทำการดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไข “ค่าลิขสิทธิ์เพลงในอนาคตทั้งหมด ที่จะเป็นของพวกเขาในเพลง “Bitter Sweet Symphony” จะตกเป็นของริชาร์ด” แถลงการณ์ระบุ “และในเรื่องที่สำคัญกว่านั้น พวกเขายังบอกอีกด้วยว่า ไม่ต้องการเครดิทในการแต่งเพลง “Bitter Sweet Symphony” และตราบเท่าที่พวกเขารับรู้ก็คือ เพลงนี้เป็นเพลงของริชาร์ด”

“ผมอยากขอบคุณ ผู้ดำเนินงานหลักๆ ในเรื่องนี้ สตีฟ คัทเนอร์ และจอห์น เคนเนดี ฝ่ายจัดการของผม, จอยซ์ สไมธ์ ผู้จัดการของเดอะ สโตนส์ และโจดี ไคลน์ ซีอีโอของแอ็บค์โค สำหรับการรับสาย และท้ายที่สุด ขอขอบคุณสุดซึ้งและจริงใจด้วยความเคารพต่อมิคและคีธ ดนตรีคือพลัง”

มีรายงานเพิ่มเติมว่า แจกเกอร์กับริชาร์ดส์ โอนค่าลิขสิทธิ์ในการแต่งเพลงนี้ให้กับแอชครอฟท์ แต่ไม่ได้รวมไปถึงการควบคุมสิทธิ์ต่างๆ ของเพลงนี้ ขณะที่แอชครอฟท์เสริมด้วยว่า เรื่องราวความขัดแย้งนี้มาถึงจุดจบก็เพราะการเจรจาระหว่างฝ่ายของเขากับไคลน์ ลูกชายของอัลเลน ไคลน์ ผู้ก่อตั้งแอ็บค์โค และจอยซ์ สมิธ ผู้จัดการของเดอะ สโตนส์

“มันเป็นความก้าวหน้าที่แสนมหัศจรรย์” เขากล่าว “ในทางหนึ่งมันทำให้รู้สึกดีกับการมีชีวิต”

“Bitter Sweet Symphony” เป็นเพลงฮิตจากการรวมตัวหนที่สองจากสามครั้งของเดอะ เวิร์ฟ โดยทางวงแยกทางกันไปในปี 1995 แล้วกลับมาร่วมงานกันอีกในปี 1997 ทำอัลบัม Urban Hymns ซึ่งมีเพลงนี้อยู่ในอัลบัม แล้วแยกวงกันอีกในปี 1999 แต่ก็กลับมารวมตัวอีกตั้งแต่ปี 2007-2009

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ในที่สุดริชาร์ด แอชครอฟท์ ก็ได้ค่าลิขสิทธิ์ในการแต่งเพลง “Bitter Sweet Symphony” คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2562

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.