FEATURESMusic Featuresเบื้องหลังเพลง

กว่าจะเป็นเพลง “Welcome To The Jungle” ของ Guns N’ Roses

“Welcome To The Jungle” เป็นซิงเกิลที่สองในอังกฤษจาก ‘Appetite for Destruction’ อัลบัมแรกของกันส์เอ็นโรเซสที่ออกมาในปี 1987 โดยปล่อยเป็นซิงเกิลเดือนกันยายน 1987 ต่อจากซิงเกิล “It’s So Easy” ก่อนที่จะถูกปล่อยเป็นซิงเกิลซ้ำอีกหนในเดือนตุลาคม 1988 โดยหนนี้ตัดเป็นซิงเกิลในสหรัฐอเมริกาด้วย และสามารถขึ้นไปถึงอันดับ 7 ในชาร์ตเพลงฮิตบิลล์บอร์ดฮ็อต 100 และอันดับ 24 บนชาร์ตซิงเกิลของอังกฤษซึ่งขึ้นไปถึงอันดับ 7 ของชาร์ตบิลล์บอร์ดในสหรัฐอเมริกา ส่วนที่อังกฤษไปได้แค่อันดับที่ 24

โดยในซิงเกิลฉบับปี 1987 จะทำออกมาเป็นแผ่น 7” และ 12” ซึ่งในแผ่น 7” จะมีงานแสดงสด ที่เป็นการคัฟเวอร์เพลง “Whole Lotta Rosie” ของ AC/DC ใส่เข้ามา ส่วนแผ่น 12” จะเป็นงานแสดงสดซิงเกิลเปิดตัวของวง “It’s So Easy” และเพลงคัฟเวอร์ “Knockin’ on Heaven’s Door” ของบ็อบ ดีแลน

แต่เมื่อเวลาผ่านไป “Welcome To The Jungle” ไม่ใช่แค่เพลงฮิตเพลงหนึ่งของวงดนตรีเจ้าของฉายาวงร็อคที่อันตรายที่สุดในยุคหนึ่ง แต่ยังได้รับการยกย่องว่า เป็นเพลงฮาร์ดร็อคที่เยี่ยมที่สุดตลอดกาลจาก วีเอชวัน ในปี 2009 ขณะที่นิตยสารโรลลิง สโตนก็เลือกเพลงนี้ให้อยู่ในรายชื่อของ 500 เพลงยอดเยี่ยมตลอดกาล

ถ้าก่อนหน้านั้นมีใครบอกว่ากันส์เอ็นโรเซสจะเป็นวงฮาร์ดร็อกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ก็คงไม่มีใครเชื่อ เพราะดูแทบไม่มีวี่แววเลย กระทั่งสแลชมือกีตาร์ของวง ที่อายุ 22 ปีตอนอัลบัม ‘Appetite For Destruction’ ออกขายยังพูดว่า “ถ้ามีคนบอกว่าอัลบัมนี้จะขายระเบิด ผมคงหัวเราะใส่หน้าพวกเขา” ยอดขายระเบิดที่สแลชบอก ก็คือตัวเลขระดับกว่า 30 ล้านก็อปปีทั่วโลก เป็นอัลบัมเปิดตัวที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในสหรัฐอเมริกา และการที่มีเพลงฮิตออกมาเพลงแล้วเพลงเล่า อาทิ “Paradise City”, “Welcome to the Jungle” และ “Sweet Child o’ Mine” อัลบัม ‘Appetite for Destruction’ ก็ขึ้นไปถึงอันดับ 1 ในชาร์ตอัลบัมขายดีบิลล์บอร์ด 200 ได้สำเร็จหลังออกวางขาย

หากเทียบกับอัลบัมของวงร็อคที่ออกมาในปีเดียวกัน เช่น ‘Hysteria’ ของ Def Leppard และอัลบัมชื่อเดียวกับวงของ ‘Whitesnake’ งานของกันส์เอ็นโรเซสมีซาวนด์ที่ใหม่ และฟังดิบ เหมือนเป็นการผสมผสานความหนักหน่วงในยุคแรกๆ ของ AC/DC, บรรยากาศลอยๆ ของ Aerosmith และพลังฉับไวแบบ Sex Pistols เข้ากับทัศนคติแบบช่างมันเถอะของแอ็กเซิล โรส นักร้องนำปากดีของวง เรื่องราวเหมือนเป็นการกลั่นกรองจากชีวิต ที่เกาะติดอยู่กับแวดวงดนตรีเมทัลในซันเซ็ต สตรีต เมื่อ ‘Appetite for Destruction’ เต็มไปด้วยเรื่องเซ็กซ์ และยาเสพติด แล้วก็ทุกอย่างที่เป็นเรื่องสุดขั้วในช่วงเวลานั้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บรรดาเพื่อน ๆ ที่มาทำงานในวงเดียวกัน “พวกเราไม่เคยทำตามความคาดหวังของคนอื่น ๆ หรือตามมาตรฐาน หรือตามความต้องการทางธุรกิจ หรืออะไรก็ตาม” สแลชกล่าว “ไม่มีเคล็ดลับห่-เหวอะไรทั้งนั้น นี่คือร็อกแอนด์โรลล์ริมถนน แล้วมันก็ บูม!”

และเมื่อไล่ฟังเพลงในอัลบัมชุดนี้ สิ่งที่พบก็คือไม่มีเพลงไหนนิยามสิ่งที่สแลชบอกได้ดีกว่าเพลงเปิดอัลบัม “Welcome To The Jungle”

แอ็กเซิล โรส นักร้องนำของวง ก้าวลงจากรถทัวร์เกรย์ฮาวนด์ มาสู่ท้องถนนอันสกปรกและมืดมิดของสตริป และถูกเสนอขายยาเสพติดจากนายหน้าข้างถนนที่รับบทโดย (อิซซี) สตราดลิน นี่คือฉากเปิดของมิวสิกวิดีโอ ซิงเกิลแรกของอัลบัม ‘Appetite for Destruction’ – “Welcome to the Jungle” ที่เป็นการสร้างเรื่องราวจากความหมายลึก ๆ ของเพลง วิดีโอที่กำกับโดยไนเจิล ดิค สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของโรสและสตราดลิน ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียนไฮสคูล ซึ่งย้อนไปไกลถึงสมัยที่พวกเขาอยู่ที่บ้านในลาฟาเย็ตต์, อินเดียนา แล้วก็ย้ายมาลอส แอนเจลีส และตั้งวงที่ชื่อ Hollywood Rose ขึ้นมาในปี 1983

เรื่องราวที่เป็นศูนย์กลางของ “Welcome to the Jungle” ก็คือการละทิ้งเมืองเล็ก ๆแล้วมาปรับตัวให้เข้ากับแสงสี, คำ่คืนที่ยาวนาน และสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ของชีวิตใหม่ในฮอลลีวูด มันเป็นเพลง “เกี่ยวกับชีวิตจริง ๆ บนท้องถนนในฮอลลีวูด” สตราดลิน ที่กลายเป็นอดีตมือกีตาร์ริธึมของวง กล่าว

เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงแรก ๆ ที่เขียนโดยสมาชิกรุ่นคลาสสิกของวง ซึ่งรวมตัวกันในแอลเอตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1985 แต่ง เพื่อทำอัลบัม ‘Appetite For Destruction’ ที่นอกจากโรส, สแลช และสตราดลินแล้ว ยังมีดัฟฟ์ แม็กเคแกน เล่นเบส กับสตีเวน แอดเลอร์ เล่นกลอง โดยเริ่มเขียนกันจากริฟฟ์ที่สแลช เล่นโดยใช้อะคูสติกกีตาร์ให้โรสฟัง โดยตอนนั้นโรสใช้ชีวิตอยู่ที่ชั้นใต้ดินที่บ้านแม่สแลช ที่พอมองย้อนกลับไป สแลชจำได้ดีว่าพวกเขาสนิทสนมกันถึงขั้นที่แม่ของเขาให้แอ็กเซิลมานอนที่ชั้นใต้ดินของบ้าน และที่นั่น “Welcome To The Jungle” ก็เป็นรูปเป็นร่าง

“ผมมีริฟฟ์” สแลชเล่า “แล้วจำได้ว่าเล่นให้แอ็กเซิลฟังด้วยกีตาร์อะคูสติก ผมบอก ‘เฮ้ย… ลองฟังดูซิ’”

แอ็กเซิลชอบสิ่งที่ได้ยิน ทั้งคู่ลองทำโน่นทำนี่กับริฟฟ์ที่มี แล้วก็เอาไปซ้อม จากริฟฟ์ที่เป็นพื้นฐานก็พัฒนาเป็นโครงสร้างของเพลงเต็ม ๆกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาภายในเวลา 3 ชั่วโมง ด้วยความช่วยเหลือของสมาชิกในวงคนอื่น ๆ คนที่แต่ง “Welcome to the Jungle” ส่วนใหญ่ก็คือสแลช ขณะที่แม็กเคแกนก็เติมรายละเอียดที่ได้จากการแตกเพลง “The Fake” ซึ่งเขาเขียนเอาไว้ในปี 1978 ตอนที่อยู่ในของวงพังก์จากซีแอตเทิล The Vains ใส่เข้ามา โดยเพลงนี้เป็นเพลงแรกที่เขาแต่ง และต่อมาก็ถูกตัดเป็นซิงเกิลของวง

“มันคือสิ่งแรกจริง ๆ ที่พวกเราได้ร่วมงานกัน” สแลชกล่าว “และมันก็เป็นการผสมผสานการทำงานของทุกคนจริง ๆ”

เพลงออกมาหนักหน่วง บรรยากาศฟังสกปรก ๆ หยาบ แต่ในช่วงกลางเพลงทางวงเลือกจะผ่อนอารมณ์ลงมา คลายความตึงเครียด โดยท่อนเบรกอารมณ์นี่แหละ ที่ยกมาจากเพลง “The Fake”

สแลชเสริมด้วยว่า “ผมไม่อยากใช้คำว่า มันฟังบลูส์มาก ๆ แต่มันมีอารมณ์ความรู้สึกซึ่งทำให้ฟังออกมาเจ๋ง เราไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์อะไรกัน การเขียนเพลงมันเป็นเรื่องที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ แต่ในเพลงนี้ มันคือการค้นพบทุกอย่างในตัวเรา ในช่วงเวลาจากปี ’85 มาถึง ’86 ตอนที่พวกเราใช้ชีวิตกันไปตามยถากรรม มาเจอกัน แล้วก็แจมดนตรีกัน เป็นบางอย่างที่เกิดขึ้น แล้วมีคนไม่มากนักที่เคยได้ทำ แล้วเพลงนี้ก็มีความรู้สึกแบบนั้นอยู่เต็มเปี่ยม ซึ่งมันเท่มาก”

แอ็กเซิล โรสได้เรื่องราวของเพลงนี้ ขณะที่ไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งในซีแอตเทิล “มันเป็นเมืองใหญ่ แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นเมืองเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับแอลเอ และนั่นคือสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ มันดูยังมีความเป็นชนบทในตัวมากกว่า ผมก็แค่เขียนไปว่ามันดูเป็นยังไงสำหรับผม ถ้าใครบางคนมาที่เมืองนี้ แล้วพวกเขาต้องการหาอะไรบางอย่าง พวกเขาสามารถพบอะไรก็ตามที่พวกเขาอยากได้” ชื่อและเนื้อเพลงแว่บเข้ามาในหัวของแอ็กเซิล ในตอนนั้น การย้ายตัวเองออกจากแอลเอ ทำให้เขาสามารถต่อกันติดกับความรู้สึกที่เคยมีสมัยเข้ามาอยู่ในเมืองใหม่ ๆ ช่วงปี 1982 อีกครั้ง ตอนนั้นเด็กหนุ่มวัย 20 ปี พาตัวเองหนีจากเมืองบ้านนอกอย่างอินเดียนาด้วยแสงสีของฮอลลีวูด ซึ่งไม่ต่างไปจากบรรดานักล่าฝันคนก่อน ๆ

ในฐานะเจ้าของชื่อเพลงและเนื้อร้อง โรสบอกด้วยว่า แรงบันดาลใจของเนื้อร้อง มาจากสิ่งที่เขากับเพื่อนคนหนึ่งต้องเจอตอนวัย 20 ปี เมื่อก้าวเดินลงจากรถบัสที่เข้ามาในนิวยอร์ก แล้วเผชิญหน้ากับคนไร้บ้านคนหนึ่งที่พยายามทำให้เด็กหนุ่มอย่างพวกเขากลัว โดยตะโกนใส่พวกเขาว่า “รู้ไหม ว่าพวกแกอยู่ที่ไหน? พวกแกอยู่ในป่าเว้ย ไอ้หนู พวกแกกำลังจะตาย” (You know where you are? You’re in the jungle baby. You’re gonna die) ซึ่งกลายมาเป็นเนื้อร้องของเพลงนี้ ที่โรสยังพูดถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในเมือง “คุณเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ ในป่าที่พวกเราวิ่งเล่น” (Ya learn to live like an animal/In the jungle where we play) แล้วก็พูดเป็นนัย ๆ ถึงแรงกระตุ้นเพื่อความสุข ที่ทำให้วงของเขาออกนอกลู่นอกทาง “‘When you’re high you never ever wanna come down.”

“Welcome to the jungle, it gets worse here every day. You learn to live like an animal in the jungle where we play. If you got a hunger for what you see, you’ll take it eventually. You can have anything you want, but you better not take it from me”

“มันเป็นเนื้อร้องแบบคำบอกเล่า เราก็แค่ถ่ายทอดออกมาตรง ๆ” สแลช เล่า “ถ้าคุณอยู่ในลอสแอนเจลิส แล้วก็อาศัยอยู่ตามตรอกซอกซอย คุณก็คงพูดออกมาแบบนั้นแหละ คุณน่าจะเข้าใจมัน และการได้รู้จักกับแอ็กเซิล ผมก็รู้เลยว่า เนื้อร้องมันมาจากไหน แบบเป๊ะ ๆ”

“Welcome to the jungle, we got fun and games. We got everything you want, honey, we know the names. We are the people that can find whatever you may need. If you got the money, honey, we got your disease”

ขณะที่สตราดลิน สรุปใจความสำคัญของเพลงนี้เอาไว้ว่า มันเป็น “เรื่องบนท้องถนนในฮอลลีวูด ที่จริงสุด ๆ”

เพลงนี้เวอร์ชันสุดท้าย บันทึกเสียงกันที่รัมโบ สตูดิโอส์ ในคาโนกา พาร์ค, แคลิฟอร์เนีย โดยมีไมก์ คลิง เป็นโปรดิวเซอร์ ผลลัพธ์ออกมาน่าทึ่งมาก ๆ ท่อนอินโทรทั้งหมดราวกับบอกว่า สิ่งแย่ ๆ ทั้งหลายกำลังจะหมดไป การนำเสนอออกมาเป็นนัย ๆได้ดีขนาดนี้ ต้องให้เครดิตกับสแลช ไม่ว่าจะเป็นโน้ตที่ดังก้อง และเสียงที่วิ่งมาอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เป็นเสียงโหยหวนราวไซเรนรถตำรวจของแอ็กเซิล ริฟฟ์กระหน่ำรัวอย่างกับงูหางกระดิ่ง ซึ่งถือเป็นจุดผกผันที่เท่มากๆ จนนิคกี ไวร์ มือเบสของ Manic Street Preachers ถึงกับบอกว่า เป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมที่แสดงความเป็นอัจฉริยะในการแต่งเพลงที่ทำให้กันส์เอ็นโรเซสอยู่เหนือและไปไกลกว่า วงเฮฟวีเมทัลวงอื่นๆ ในยุค ’80s จากแอลเอ เช่น Mötley Crüe และ Poison

สำหรับสแลช เพลงนี้คือการยืนยันอย่างชัดเจนถึงส่วนผสมเฉพาะตัวที่พวกเขาเคยมีร่วมกัน ตัวตนแท้ ๆ ของกันส์เอ็นโรเซส “Welcome To The Jungle มีทั้งความฉับไว, ระดับของความประทับใจที่สูง และมีความก้าวร้าว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเปราะบางทางอารมณ์อยู่ในเพลง ซึ่งวงสามารถนำเสนอออกมาได้” สแลช กล่าว “ถ้าแอ็กเซิลไปไหน วงก็ไปกับเขาด้วย ผมรักการเป็นวงดนตรีก็ตรงนี้ แล้วก็ดนตรีที่ทำ รวมไปถึงการที่มันมาอยู่รวมกัน มีบางสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ๆ อยู่ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น”

ยิ่งไปกว่านั้น สแลชย้ำอีกว่า “Welcome To The Jungle” คือส่วนสำคัญที่กันส์เอ็นโรเซส เคยเป็น “วงร็อค แอนด์ โรลล์แท้ ๆ จริงใจ ไม่เรื่องมากที่สุดวงหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา”

SONG ID

เพลง: “Welcome to the Jungle” ศิลปิน: กันส์เอ็นโรเซส
ซิงเกิลจากอัลบัม: ‘Appetite for Destruction’ ของ กันส์เอ็นโรเซส
เพลงด้านบี: แผ่นที่วางจำหน่ายบนเกาะอังกฤษ – “Whole Lotta Rosie (live)”/ แผ่นที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา – “Mr. Brownstone”
ออกจำหน่าย: 28 กันยายน 
1987 (ในอังกฤษ) / 18 ตุลาคม 1988 (ในสหรัฐอเมริกา)
บันทึกเสียง: 1987
แนวเพลง: แกลม เมทัล, ฮาร์ดร็อก
ความยาว: 4:31 นาที
สังกัด: เก็ฟเฟ็น
ผู้แต่ง: กันส์เอ็นโรเซส
โปรดิวเซอร์: ไมก์ คลิง

โดย นพปฎล พลศิลป์ แปลและเรียบเรียงเพิ่มเติมจาก เรื่อง กว่าจะเป็นเพลง “Welcome To The Jungle” ของ Guns N’ Roses คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ – HAPPY MONDAY หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.