Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – DUNE ไซ-ไฟ อลังการในลายเซ็นของเดนิส วิลล์เนิฟ ****

‘Dune’ เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ระดับตำนานของแฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต ที่ตีพิมพ์ในปี 1965 ที่เรื่องราวว่าด้วยโลกอนาคตที่การปกครองในจักรวาลเป็นระบบศักดินา บรรดาขุนน้ำขุนนางจะได้ควบคุมดาวเคราะห์ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบ ศูนย์กลางของเรื่องคือ ตระกูลอะเทรเดส หรือจะให้จำเพาะเจาะจงลงไปก็คือ พอล อะเทรเดส (ทิโมธี ชาลาเมต์) ทายาทหนุ่มของตระกูล ที่ครอบครัวถูกจักรพรรดิส่งไปดูแลดาวเคราะห์ อาร์ราคิส ดินแดนที่เต็มไปด้วยทะเลทราย และชนพื้นเมืองก็ไม่เป็นมิตรนัก แต่เป็นแหล่งผลิต ‘สไปซ์’ ที่มีความสำคัญในการเดินทางข้ามดวงดาว รวมทั้งดำรงความเยาว์วัยให้ผู้ใช้ แทนตระกูลฮาร์คอนเนน ซึ่งเป็นคู่ปรับกับบ้านอะเทรเดส โดยจักรพรรดิตั้งใจจะจัดการกับพวกอะเทรเดส ที่ถูกมองว่ากำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อบัลลังก์

เลโท อะเทรเดส (ออสการ์ ไอแซ็กส์) ผู้นำของอะเทรเดสรู้ว่านี่คือกับดัก แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง และการเดินทางครั้งนี้ก็ทำให้ลูกชายของเขา – พอล ได้ค้นพบตัวเอง ทั้งในแง่ของความสำคัญที่มีต่อดาวดวงนี้ และพวกเฟรแมน – ชนพื้นเมืองของอาร์ราคิส ที่ถูกกดขี่ และถูกตัดตอนวิวัฒนาการ เพราะความต้องการ ‘สไปซ์’ ทำให้ต้องอยู่กับความแห้งแล้ง ตลอดจนความสามารถของตัวเอง และได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

ด้วยเรื่องราว ‘Dune’ มีความขัดแย้งที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในแง่มุมการเมือง เมื่อการเดินทางมาอาร์ราคิสของพวกอะเทรเดส เป็นไปตามเล่ห์กลในการปกครอง, เรื่องของความเชื่อ ทั้งที่เป็นไปในตระกูลอะเทรเดส ที่แม่ของพอล – เจสซิก้า (รีเบ็กก้า เฟอร์กูสัน) เป็นพวกเบเน เจสเซริต ที่มีความสามารถลึกลับแล้ว ยังมีเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง และความซับซ้อนในตัวพอล อะเทรเดส ที่ถูกวางตัวในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผู้นำตระกูล ที่ถูกสอนสั่งวิทยาการต่าง ๆ ทั้งบู๊และบุ๋น ผ่านผู้คนที่อยู่รายรอบพ่อ ส่วนแม่ก็สอนให้เขาใช้พลังอำนาจพิเศษตามความเชื่อของเบเน เจสเซริท แล้วกับเฟรแมน ก็ถูกมองว่าเป็นผู้กอบกู้ของพวกเขา

นอกจากแง่มุมความขัดแย้ง ความซับซ้อนของทั้งตัวละคร และความสัมพันธ์ที่มีมากมายแล้ว เนื้อหาของ ‘Dune’ ก็เหมือนเป็นอุปมา-อุปมัย หรือแสดงนัย ต่อความเป็นไปในโลกช่วงเวลานั้น สไปซ์ก็ทำให้นึกถึงยากล่อมประสาท หรือพันธุ์ไม้ที่ทำให้จิตล่องลอย ไม่ว่าจะเป็นกัญชา หรือว่าเห็ดเมา ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น ที่ได้ชื่อว่าเป็นยุคบุปผาชน, การเข้าไปมีอำนาจในดินแดนต่าง ๆ ของประเทศมหาอำนาจ ด้วยการสร้างความขัดแย้งเพื่อปกครอง และตักตวงผลประโยชน์โดยไม่ใส่ใจ ให้ความช่วยเหลือกับดินแดนเหล่านั้นจริง ๆ ที่ทำให้การเข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลางของประเทศมหาอำนาจ ซ้อนทับกับเหตุการณ์ใน ‘Dune’ ซึ่งชนเผ่าเฟรแมน ให้ความรู้สึก หรือมีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้นึกถึง ผู้คนในดินแดนตะวันออกกลาง ที่กลายเป็นแหล่งน้ำมันของโลก, เรื่องกลุ่่มผู้นำความเชื่อทางศาสนาที่เข้ามามีส่วนในทางการเมือง

ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ ‘Dune’ น่าสนใจ น่าติดตาม แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ยากเหลือเกินกับการทำเป็นภาพยนตร์ จากความละเอียด ซับซ้อนที่มี ซึ่งความพยายามก่อน ๆ มีทั้งที่ปั้นไม่สำเร็จ ที่ทำได้ก็เป็นความล้มเหลว ส่วนที่ดีที่สุดก็เป็นงานมินิ-ซีรีส์ ไม่ใช่ภาพยนตร์

กระทั่งงานฉบับนี้ เดนิส วิลล์เนิฟ ถือว่าทำออกมาได้เนี้ยบ การแสดง – ไม่ใช่แค่ได้นักแสดงชั้นดีมารับบท แต่ละคนก็ทำหน้าที่ได้เยี่ยมยอด กระทั่งชาลาเมต์ ที่ส่วนตัวแล้วมองว่าดูอ้อนแอ้น หรือนุ่มนิ่มเกินไป สำหรับคนการเป็นพอล ใช่ที่ชาลาเมต์เริ่มต้นในแบบที่มองไว้จริง ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ค่อย ๆ แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งที่เพิ่มมากขึ้นของตัวละครสำเร็จ รวมถึงรับรู้ถึงความขัดแย้ง และความซับซ้อนในตัว อีกคนที่งานได้โดดเด่นก็คือ เฟอร์กูสัน ซึ่งเลดี้เจสสิก้าของเธอมีรัศมีบางอย่าง ที่สัมผัสถึงความ ‘ยิ่งใหญ่’ ตลอดจนลับลมคมในที่ซ่อนไว้

เดฟ บัวติสต้า ที่งานในช่วงหลัง ๆ เห็นได้ชัดว่า เป็นนักแสดงแอ็กชั่นที่ทำงานดรามาได้ดี ซึ่งการแสดงใน ‘Dune’ อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เขาเคยทำได้ ผิดกับเจสัน โมมัว ที่ให้ได้มากกว่าที่เห็นกันใน ‘Aquaman’ เหลือเกิน ซึ่งต้องดูกันต่อว่า บัวติสต้า จะเติมอะไรให้หนังได้อีก

โปรดัคชั่นก็เยี่ยม ตั้งแต่การออกแบบงานสร้าง ที่ทำให้ดาวเคราะห์ต่าง ๆ ผู้คนหลากหลาย และสัตว์ประหลาดที่น่าพรั่นพรึง ‘หนอนทราย’ มีชีวิต การดีไซน์ชุด อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำได้อย่างมีเอกลักษณ์ และเสน่ห์ โดยเฉพาะอากาศยานที่มีลักษณะเดียวกับแมลงปอ หรือชุดทะเลทราย งานดนตรีประกอบของฮานส์ ซิมเมอร์ ที่ ‘ฝัง’ อยู่ในเรื่องหรือหนัง มากกว่าจะโดดเด่นเคียงคู่กัน แบบที่เคยเป็นในงานของคริสโตเฟอร์ โนแลน

ด้วยงานด้านภาพและเสียงขนาดนี้ การชมในไอแม็กซ์ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุด

บท… หนังที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ตอนแรก’ ปูทุกอย่างเอาไว้ให้พร้อม แนะนำผู้ชมให้รู้ทุกอย่างที่จำเป็น โดยมีปมให้ติดตามทั้งในเรื่องของตัวเอง และที่จะสานต่อออกไป

หากก็ต้องยอมรับว่า ช่วงแรก ๆ ของ ‘Dune’ ไม่ใช่งานที่บันเทิงนัก เมื่อเต็มไปด้วยตัวละครหลากหลาย ซึ่งแต่ละรายก็ ‘เหมือน’ จะมีความสำคัญไปหมด มีช่วงทัวร์เก็บสไปซ์​ ที่ชวนเงิบ แต่เมื่อความขัดแย้งมาถึงจุดแตกหัก ‘Dune’ ก็ขยับเป็นความบันเทิงได้ดีขึ้น และน่าจะทำให้อยากรับรู้เรื่องราวที่จะตามมา

ส่วนเนื้อหา ตัวละคร หรือรายละเอียด ที่ดูไม่มีอะไรใหม่-สด เพราะเห็นกันมาหมดแล้วในหนังไซ-ไฟ หลาย ๆ เรื่องก่อนหน้า ก็อย่าลืมนึกไปถึงต้นทาง ซึ่งเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ปี 1965 ที่ส่งอิทธิพลให้งานไซ-ไฟมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็น ‘Star Wars’, ‘Star Trek’

‘Dune’ ไม่ใช่แค่ตัวพ่อ แต่เป็นถึงอสุจิที่ไปถึงรังไข่แล้วกลายเป็นมนุษย์คนแรกของงานไซ-ไฟ ก็ว่าได้

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1339 ปักษ์แรกพฤศจิกายน 2564

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.