Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – งานซาวนด์แทร็คนุ่มละมุมของหนังรักแรกในหน้าร้อน CALL ME BY YOUR NAME

CALL ME BY YOUR NAME (ORIGINAL MOTION PICTURE SOUNDTRACK) ฝ Various Artists [Madison Gate Records]

งานโรแมนติคที่ว่าด้วยรักครั้งแรกจริงๆ ของเด็กหนุ่ม ตามความปรารถนาที่แท้จริงลึกๆ ที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อนในช่วงซัมเมอร์ เมื่อได้พบกับผู้ช่วยหนุ่มของพ่อที่เดินทางมาจากอเมริกา หนังนำเสนอความรักของเพศเดียวกันได้อย่างงดงาม อบอุ่น ละเมียดละไม ในแบบที่ลงตัวและน่าติดตามมากกว่าหนังเรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับ ลูกา กัวดาญิโน – A Bigger Splash ที่ดูจะเต็มไปด้วยตัวละครน่ารำคาญ ส่วนความเร่าร้อนของหนังก็ยังระอุไม่เท่ากับที่ได้สัมผัสจากหนังเรื่องนี้

หนังได้บทที่ดีจากเจมส์ ไอวอรี มือเก่าจากยุค 80 ที่อยู่เบื้องหลังหนังโรแมนติคละเมียดๆ Muarice, A Room with a View การแสดงก็ออกมาเยี่ยม ขณะที่หลายๆ คนมองไปที่ทิิโมธี ชาลาเมท์ หนุ่มฮ็อทของเทศกาลล่ารางวัลปีนี้ ที่มีหนังเรื่องนี้กับ Lady Bird เป็นแรงส่ง แต่อาร์มี แฮมเมอร์ ที่รับบทหนุ่มที่มาทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งได้รู้จักความต้องการของตัวเองจริงๆ ก็เป็นตัวแบ็คอัพที่เยี่ยมยอด

องค์ประกอบด้านอื่นๆ ก็เกื้อหนุนตัวหนังไม่ต่างกัน ภาพที่เป็นผลงานของผู้กำกับภาพชาวไทย สยุมภู มุกดีพร้อม ก็ให้บรรยากาศอวลไปด้วยไอรักและความเร่าร้อนได้อย่างมีคลาสส์ และที่ขาดไม่ได้ ดนตรีและเพลงประกอบของหนัง ที่ปกติแล้วผู้กำกับกัวดาญีโนจะเป็นคนที่เลือกดนตรีและเพลงสำหรับหนังของเขาด้วยตัวเอง และกับเรื่องนี้ที่เขาต้องการหาให้เจอก็คือ “การเล่าเรื่องด้วยอารมณ์” ผ่านเสียงดนตรี ที่ “ไม่หนักหน่วง, ไม่ดูเป็นปัจจุบัน และมีลักษณะหุ้มห่ออะไรบางอย่างอยู่” มากกว่าจะเป็นแค่เสียงและเนื้อร้อง โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานที่ได้ยินในหนังเรื่อง Barry Lyndon (1975), The Magnificent Ambersons (1942) และ The Age of Innocence (1993)

นอกจากนี้กัวดาญีโนยังอยากให้ดนตรีในหนังเชื่อมเข้ากับตัวเอลิโอ เด็กหนุ่มนักเปียโนที่ค่อยๆ ถ่ายทอดสิ่งละอันพันละน้อยและปรับตัวทีละนิดเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับโอลิเวอร์ ผู้ช่วยของพ่อมากขึ้น ดนตรีในหนังจะยังถูกใช้สะท้อนถึงช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวละครครอบครัวของเอลิโอ, ระดับการศึกษา และ “อะไรก็ตามที่พวกเขาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของมัน” กัวดาญีโนถึงกับย้อนไปดูว่า ช่วงหน้าร้อนยุคเดียวกับหนัง เพลงอะไรบ้างที่ฮิต เพื่อความสมจริงตามยุคสมัย

เขายังพบว่า เนื้อเพลงของซุฟยาน สตีเวนส์ มันโดนอย่างจังกับไอเดียของเขา กัวดาญีโนขอให้สตีเวนส์มาบรรยายเรื่อง โดยมองผ่านสายตาของเอลิโอ และทำเพลงให้หนัง ที่ไปๆ มาๆ สตีเวนส์ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงบรรยาย แต่ก็มอบเพลงให้หนัง 3 เพลงคือ Mystery of Love, Visions of Gideon และตีความเพลง Futile Devices ใหม่โดยใช้เปียโน สตีเวนส์อาศัยบทหนัง หนังสือ และการพูดคุยกับผู้กำกับถึงตัวละครในเรื่อง เป็นแรงบันดาลใจ แล้วก็ทำเสร็จก่อนที่หนังจะเปิดกล้องไม่กี่วัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มานั้นก็น่าประหลาดใจมากๆ เพราะพอกัวดาญีโนฟังเพลงเหล่านี้ร่วมกับบรรดานักแสดงและวอลเตอร์ ฟาซาโน ผู้ตัดต่อในกองถ่าย สตีเวนส์ก็มีหนังเรื่องแรกที่ใช้เพลงของเขาทันที

ซึ่งแต่ละเพลงของสตีเวนส์ จะเป็นงานป็อปที่มีส่วนผสมของดนตรีโฟล์ค หรืออะคูสติค และซาวนด์แบบอิเล็คทรอนิกส์ผสมผสานกันฟังล่องลอย เคลิ้บเคลิ้ม ที่ทั้งสร้างบรรยากาศของหนัง ทั้งขุดอารมณ์ในตัวละครออกมา

นอกจากเพลงของสตีเวนส์ ใน Call Me by Your Name ก็ยังมีเพลงป็อปในช่วงนั้น ที่หากดูภาพยนตร์แล้ว เพลงเหล่านี้ราวกับแทนความรักหรือตัวละครที่มาอย่างฉาบฉวย เช่น โอลิเวอร์, อดีตแฟนสาวของเอลิโอ อย่าง Love My Way ของ The Psychedelic Furs, Jadore Vanisse ของ ลอเรดานา เบอร์ตี, Lady Lady Lady ของ จิออร์จิโอ โมโรเดอร์กับโจ เอสโปซิโต ที่เคยอยู่ในหนังเรื่อง Flashdance, Words ของ เอฟ.อาร์. เดวิด หรือ Paris Latino ของ Bandolero ที่ส่วนใหญ่เป็นเพลงนิวเวฟ มีจังหวะจะโคนแบบเพลงเต้นรำ ใช้ซินธีิไซเซอร์ เสียงร้องฟังล่องลอย แต่ก็มีเพาเวอร์ป็อปเพราะๆ ขายเสียง อย่าง È la vita ของ Armani ซึ่งฟังแล้วก็นึกถึงงานของสาวๆ ดาวเสียงยุคนั้นอย่าง เด็บบี กิ๊บสัน, ทิฟฟานี ยังไงยังงั้น

แล้วก็เติมงานคลาสสิคัลที่ประพันธ์โดย จอห์น อดัมส์, แฟรงค์ เกลเซอร์, เรียวอิชิ ซากาโมโต, โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค และมัวริซ ราเวล ลงมา ซึ่งตัดกับเพลงป็อปที่ไม่ต่างไปจากเพลงแทนตัวละครแทนความรักของผู้คนที่เข้ามาในชีวิตของเอลิโอ แต่สอดรับกับตัวเขาเป็นอย่างดี โดยหลายๆ ฉากในหนังจะเห็นตัวละครตัวนี้สื่ออารมณ์ผ่านการเล่นเปียโนบทเพลงของคีตกวีเหล่านี้ ที่บางเพลงก็เป็นการหยอกล้อกับอารมณ์ความรู้สึกของโอลิเวอร์ ที่มีการตีความนัยการเล่นของฝ่ายแรกหรือหยอกเหย้ากลับไปบ้าง ที่หลายๆ ครั้งก็กลายมาเป็นฉากน่ารักๆ ในหนัง

ที่นำเสนอความรัก ความโรแมนติค ของไม้ป่าเดียวกันออกมาได้อย่างงดงาม สมกับเป็นความรักที่ทำให้ตัวละครก้าวพ้นวัย และบทเพลงต่างๆ ในหนังเรื่องนี้ ก็แทนความรู้สึกเหล่านั้น และตัวตนของตัวละครได้อย่างชัดเจน

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากคอลัมน์ สะกิดร่องเสียง นิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับที่ 1249 ปักษ์แรกกุมภาพันธ์ 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.