FEATURESMusic Features

เพลงดีๆ ของ ไนน์ อินช์ เนลส์ ที่ควรฟังก่อนหมดลมหายใจ

Nine Inch Nails เจ้าพ่อดนตรีอินดัสเทรียล จะมาเยือนเมืองไทยเล่นสดๆ ให้ได้ชมกันในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ ที่มูนสตาร์ สตูดิโอ ซึ่งเมืองไทยเป็นประเทศเดียวที่เทรนท์ เรซเนอร์ (Trent Reznor) จะยกวงขึ้นเล่นแบบเต็มโชว์ ไม่ใช่โชว์สำหรับเทศกาลดนตรีที่พวกเขาจะไปเล่นต่อในงานซัมเมอร์ โซนิค ที่ญี่ปุ่นหลังการแสดงที่บ้านเรา งานนี้ถือว่าเป็นโชคดีของแฟนเพลงชาวไทยแบบสุดๆ ที่ได้ชมการแสดงของพวกเขาแบบจัดเต็ม โดยคนที่สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/viji/nin ในราคา 3,000 บาทราคาเดียว

บทเพลงของไนน์ อินช์ เนลส์ ได้ชื่อว่าเป็นสรรพเสียงที่เต็มไปด้วยพลัง ที่ยากจะหางานของศิลปินรายไหนมาเทียบ นับตั้งแต่เทรนท์ เรซเนอร์พาวงดนตรีของเขาแจ้งเกิดในวงการเพลงตอนปลายยุค 80 พวกเขาก็กลายเป็นหนึ่งในวงที่ขับเคลื่อนบทเพลงที่เต็มไปด้วยความกราดเกรี้ยว เร่งเร้าที่สุด และนี่คือเพลงของไอ้ตะปู 9 นิ้ว ที่สมควรได้ฟังก่อนหมดลมหายใจ

The Perfect Drug (1997): เมื่อรับงานแต่งเพลงให้หนัง The Lost Highway ของผู้กำกับเดวิด ลินช์ (David Lynch) ในปี 1997 เรซเนอร์เดินเข้าห้องอัดและหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นหรืออาจเกินไปอีกนิดหน่อย เพลงทดลองที่ราวกับเป็นการเดินทางไปสู่ความบ้าคลั่งเพลงนี้ก็ปรากฏตัวขึ้น ถึงแม้จะมีท่อนคอรัสที่ติดหู และเสียงกลองที่กวนความรู้สึก แถมได้รับการตอบรับที่ดี แต่เรซเนอร์ ก็ไม่เคยเล่นเพลงนี้ในคอนเสิร์ตที่ไหน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาไม่ปลื้มเพลงนี้สักเท่าไหร่ “ผมไม่ได้กลัวอะไรนะ แต่มันไม่ใช่เพลงโปรดของผม” เขาว่าไว้ในปี 2005 “ถ้ามีคนบอกให้ผมเล่นร้อยเพลงที่ดีที่สุดที่ผมแต่ง บางทีคงไม่มีเพลงนี้อยู่ในจำนวนนั้นด้วย” โชคดีที่เขาไม่ได้เป็นคนที่ทำลิสท์ชุดนี้

Right Where It Belongs (2005): ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม อัลบัม With Teeth ในปี 2005 คือการกลับมาครั้งแรกของไนน์ อินช์ เนลส์ นี่คืองานชุดที่ 4 ที่ทิ้งช่วงห่างจากอัลบัม The Fragile ถึง 6 ปี แถมยังออกหลังการต่อสู้กับแอลกอฮอล์และสารเสพติดของเรซเนอร์อีกต่างหาก “บางทีงานชุดนี้อาจเป็นงานที่จริงใจที่สุดที่ผมเคยทำ” เรซเนอร์บอกในตอนนั้น บรรดาเพลงแสนหดหู่ตามแบบฉบับของวง ถูกคั่นด้วยงานเศร้าซึม “All the Love in the World” และ “Right Where It Belongs” ซึ่งโดดเด่นด้วยเสียงเปียโนของเรซเนอร์ที่ฟังราวกำลังเข้าสมาธิ และจัดวางองค์ประกอบได้อย่างงดงาม แบบงานเปียโน บัลลาด ที่ฟังดูน้อยในเรื่องโครงสร้าง แต่มากในเรื่องอารมณ์ ส่วนเนื้อหาก็เป็นการตั้งคำถามกับผู้ฟังมากมายหลายข้อ อย่าง ชีวิตที่คุณใช้ เป็นของคุณจริงหรือเปล่า? หรือ คุณกำลังใช้ชีวิตผ่านสิ่งที่คนอื่นสร้างเอาไว้ใช้ไหม? แต่ตราบเท่าที่มีเพลงของไนน์ อินช์ เนลส์ขึ้นมาในโลก นี่คือเพลงที่นุ่มนวลที่สุดของพวกเขาเท่าที่สามารถหาฟังได้

Reptile (1994): เพลงจากคอนเส็ปท์อัลบัมที่แสนยอดเยี่ยม The Downward Spiral เมื่อปี 1994 ซึ่งติดอันดับที่ 201 ในลิสท์ 500 อัลบัมที่ดีที่สุดตลอดกาลของนิตยสารโรลลิง สโตน ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำลายตัวเองอย่างโหดร้ายของผู้ชายคนหนึ่ง และ “Reptile” ก็คือทอร์นาโดแห่งความโกรธเกรี้ยวที่ทำให้ตัวเองเจ็บปวดทุรนทุรายซึ่งเกิดจากสตรีเพศ “บางทีผมอาศัยการเปรียบเทียบทางเพศ เพื่อใช้อุปมาอุปมัยถึงการควบคุมมากเกินไป แต่ผมรู้สึกทึ่งกับมันจริงๆ นะ” และในเรื่องดนตรี กับการเป็นวงอินดัสเทรียล นี่คือเพลงที่ยากจะมีเพลงไหนที่เป็นอินดัสเทรียลได้มากกว่านี้ เมื่อมีทั้งความโกลาหล, ความสับสน และความโกรธ

We’re in This Together (1999): 5 ปีระหว่างอัลบัม The Downward Spiral และ The Fragile เรซเนอร์เชื่อว่า ดนตรีกำลังห่วยแตก ช่วงนี้เองที่เขาใช้เวลา 16 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 2 ปีที่บิก เซอร์ ทำอัลบัมใหม่ของวง ที่ยังเป็นการสร้างพลังใหม่ๆ ในงาน แถมมาพร้อมความปกติมากขึ้น “ผมผ่านวิกฤตมาได้” เขาเล่า “ผมถึงกับตบหน้าตัวเอง ‘ถ้านายอยากฆ่าตัวเอง ก็ทำซะ จะได้ปกป้องทุกคนจากคามวุ่นวายงี่เง่าด้วย ไม่งั้นก็เอาเรื่องห่วยๆ ของนายมารวมกัน’” และแถลงการณ์ถึงทัศนคติใหม่ๆ ทั้งหลายก็คือเพลงนี้ งานที่เสียงกีตาร์ราวกับห่าฝน, เป็นงานร็อคแบบทื่อๆ ตรงๆ ซึ่งได้เห็นการมองโลกในแง่บวกของเรซเนอร์ ที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่ามี

Head Like a Hole (1989): สำหรับหลายๆ คน เพลงนี้เหมาะมากกับการแนะนำเรซเนอร์ (Trant Reznor) และไนน์ อินช์ เนลส์ เป็นครั้งแรก แม้จะเป็นเพลงท้ายๆ ที่แต่งขึ้นในปี 1988 สำหรับอัลบัม Pretty Hate Machine งานเปิดตัวที่ขายได้ในระดับแพลตินัม เพลงนี้ยังเป็นเพลงสำคัญของวงตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเป็นการผสมผสานองค์ประกอบสำคัญๆ ของดนตรีอินดัสเทรียล ร็อครวมไปถึงแธรช เมทัล จากเสียงซินธ์เบสของวงที่มาเจอซาวนด์เอ็ฟเฟ็คท์แสดงความเกรี้ยวกราดอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็หยิบยืมกลิ่นดนตรีอินดัสเทรียลจาก Ministry มาใช้ แต่มีความเป็นแธรช เมทัลอยู่ข้างใน ขณะที่เนื้อหา เรซเนอร์คำรามและต่อสู้กับ ‘พระเจ้าเงินตรา’ อย่างสุดตัว หลังถูกปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลที่สามของอัลบัมต่อจาก “Down In It” เรซเนอร์ก็พบว่า ดนตรีของเขาเต็มไปด้วยธีมที่หม่นมืด “ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนที่หดหู่ชวนสยดสยองนะ” เขาบอก “แต่ดนตรีที่ผมชอบสมัยยังเป็นเด็กๆ คือดนตรีที่ผมรู้สึกและสัมผัสได้ว่า ‘เฮ้… มีใครบางคนรู้สึกแบบนี้ด้วยเว้ย'”

ท้ายที่สุด เพลงนี้ก็ทำให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ด้วยเชื้อเพลิงที่กลั่นกรองความก้าวร้าวของเรซเนอร์ในวัย 24 ปีจนบริสุทธิ์

Wish (1992): หลังอัลบัม Pretty Hate Machine ออกขาย ไนน์ อินช์ เนลส์ ใช้เวลากว่า 2 ปีออกทัวร์อย่างหนัก และในเวลาเดียวกันเรซเนอร์ก็ฟ้องต้นสันกัดของตัวเอง ทีวีที ไปด้วย เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากสัญญาที่เซ็นเอาไว้ โดยในปกอีพีชุด Broken เมื่อปี 1992 เขียนเอาไว้ว่า เป็นงานที่ทำโดย “ปราศจากการได้รับอนุญาตจากต้นสังกัด” ซึ่งท้ายที่สุดเป็นงานที่ออกกับสังกัดอินเตอร์สโคป โดยทั้ง 8 เพลงในอีพีชุดนี้ จะฟังฉับไว รวดเร็ว แต่เป็นแถลงการณ์อันดุดันที่มีจุดหมาย โดยศูนย์กลางอยู่ที่ “Wish” เพลงที่ทำให้ไนน์ อินช์ เนลส์ ได้รับรางวัลแกรมมีตัวแรกไปครอง ในสาขาวงเมทัล นี่คือเพลงที่ดั่งพายุหมุนอันบ้าคลั่งของเสียงซินธ์และกีตาร์ ที่ถูกบดผสมกันอย่างง่ายๆ เพลงนี้ยังเหมือนประตูน้ำที่เปิดให้ปีศาจภายในตัวของเรซเนอร์ถาโถมออกมา ซึ่งเจ้าตัวเองก็รู้ดีถึงเส้นทางที่เขากำลังเดินไป “ผมตระหนักดีถึงความแข็งแกร่งของไนน์ อินช์ เนลส์ ซึ่งไม่มีช่องว่างให้กับเพลงหรรษาทั้งหลาย” เรซเนอร์กล่าว “และผมก็เหมือนกัน ผมไม่ต้องการเปลี่ยน”

ขณะที่ตัวอีพีเองกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงจากซาวนด์อิเล็กทรอนิกาและเวิร์ลด์ มิวสิคที่ฟังดูเก่า มาสู่เขตแดนของดนตรีที่หม่น, หนักหน่วงและใหญ่โตมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า พวกเขากลายเป็นวงอินดัสเทรียลเต็มตัวด้วยเพลงนี้นั่นเอง

Something I Can Never Have (1989): ตลอดชีวิตการทำงาน เรซเนอร์มักจะเผยให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานในจิตใจเป็นประจำ แต่ในงานชุดแรกของไนน์ อินช์ เนลส์กลับมีเพลงไม่กี่เพลงที่พูดถึงเรื่องนี้ได้จะๆ และแนะนำโลกให้รู้จักกับความเจ็บปวดได้เหมือนเพลงนี้ ที่ค่อยๆ สารภาพออกมาอย่างช้าๆ โดยมีเสียงเปียโนที่ฟังหลอนๆ เป็นโครงสร้างหลัก ราวกับเรซเนอร์กำลังเผยถึงอ้อมกอดของความอบอุ่นซึ่งเข้าไม่เคยได้รับ “บางทีน่าจะมีอัลบัมที่เต็มไปด้วยความสุขสักชุดของไนน์ อินช์ เนลส์” เขาบอกหลังจากปล่อยเพลงนี้แล้วหนึ่งปี “ผมเดาเอานะ แต่ใครจะไปรู้ละ”

อ่านต่อได้ที่นี่ > http://bit.ly/2Ozy43x
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง เพลงดีๆ ของ ไนน์ อินช์ เนลส์ ที่ควรฟังก่อนหมดลมหายใจ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 23-24 พฤษภาคม 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.