Music Review

ฟังไปแล้ว – POS THE PLAYERS โพรเจ็กต์การทำงานสุดทะเยอทะยาน ที่สนุกสนานทั้งคนฟังและคนทำเพลง

POS THE PLAYERS / รวมศิลปิน
[ใบชาซอง]

เป็นโพรเจ็กต์ในการทำงานดนตรี ที่หากเป็นฝรั่งก็คงใช้คำว่าเป็นการทำงานที่ ‘ทะเยอทะยาน’ ที่สุดชุดหนึ่ง เพราะมาพร้อมคอนเซ็ปต์ที่นอกจากจะทำได้ไม่ง่ายแล้ว ด้วยเนื้อของงาน ที่เป็นเพลงบรรเลง ก็เป็นงานที่ยากจะขายด้วยเช่นกัน

กับการเป็นงานรวมเพลงจากบรรดามือคีย์บอร์ดในวงการเพลงไทย ไม่ว่าจะเล่นเปียโน, ออร์แกน หรือว่าซินธิไซเซอร์ ที่ทุกเพลงเป็นงานที่แต่งขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่งานคัฟเวอร์ หรืองานเก่าของตัวเองที่เอามาเล่าใหม่ ซึ่งเป็นโพรเจ็กต์ในฝัน ที่บรรณ สุวรรณโนชิน คนทำงานหลายตำแหน่งของค่ายเพลงใบชาซอง เกิดแว้บขึ้นมาในความคิด ราวๆ ปี 2561 แล้วก็โพสต์เป็นสเตตัสบนเฟซบุกเอาไว้ ซึ่งก็มีเพื่อนๆ นักดนตรีในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดมากหน้าหลายตา แวะเวียนมาแสดงความคิดเห็นพูดคุยไม่น้อย แต่แล้วทุกอย่างก็เลือนหายไปกับกาลเวลา

แต่อย่างที่มีคนเคยว่าเอาไว้ ใครทำอะไรไว้ เวรกรรมย่อมตามทัน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ที่แน่ๆ ช้ากว่าการทำงานของเฟซบุก ที่มีระบบเตือนแบบ วันนี้เมื่อปีโน้น-นี้-นั้น และเมื่อระบบมันทำงานในอีกสองปีต่อมาบรรณก็ตัดสินใจเดินหน้าโพรเจ็กต์นี้ โดยคิดว่า น่าจะมีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ สัก 10 คนมา ทำกันคนละเพลง แต่เมื่อชวนกันไป-ทำกันมา งานก็งอก จบตรงที่เป็นอัลบั้มคู่ ความยาว 19 เพลง จาก 20 นักดนตรี ที่ใช้ชื่อว่า POS The Players

ซึ่ง POS ก็เป็นคำย่อของ Piano – Organ และ Synthesizer อาวุธสำคัญทางดนตรีของกลุ่มคนที่มาทำเพลงกันในงานชุดนี้ ที่มีตั้งแต่ระดับตำนาน – ศรายุทธ สุปัญโญ, อาจารย์ทางด้านดนตรี – เด่น อยู่ประเสริฐ, สมาชิกของวงร็อกเบอร์ต้นๆ ของบ้านเรา สันธาน เลาหวัฒนวิทย์ จาก Micro, นักดนตรีแบ็คอัพและในห้องอัด ที่อยู่เบื้องหลังศิลปินมากมาย เช่น อิสระ สุวรรณณัฐวิภา หนึ่งในสมาชิกของสหายดนตรี และเป็นนักดนตรีออกทัวร์กับ หนุ่ม กะลา, ภิทรู พลชนะ รวมไปถึง หนึ่ง จักรวาล

ที่น่าจะทำให้มองเห็นภาพลางๆ ของทางเพลงในงานชุดนี้ ที่คงมาพร้อมกับความหลากหลาย เมื่อแต่ละคน แต่ละราย เอาที่เห็นๆ และรู้มือกันดีอยู่ ก็แทบไม่ซ้ำทางกัน จากฟิวชัน, มาเป็นร็อก, ไปจนถึงโพรเกรสสีฟ หรือว่า แจ๊ส รวมไปถึงป็อป

และ POS The Players ก็พาทัวร์อย่างที่คิดเอาไว้จริงๆ โดยมีสรรพเสียงต่างๆ จากเปียโน, ออร์แกน หรือว่า ซินธิไซเซอร์ ที่ต่อจากนี้จะเรียกรวมๆ กันว่า คีย์บอร์ด เป็นพาหนะสำคัญ ซึ่งคนที่เป็นผู้เริ่มต้นการเดินทาง ทำหน้าที่เจิมอัลบั้ม ก็คือมือเก๋าของวงการ ศรายุทธ สุปัญโญ อดีตสมาชิกของ Grand Ex’ และแกนนำของวง Infinity วงฟิวชัน แจ๊สระดับหัวแถวของเมืองไทย ซึ่งสตาร์อัลบั้มด้วยเพลงที่ชื่อให้รู้สึกถึงความสบาย “Easy Touch” ที่ตัวดนตรีนั้น มาพร้อมกับความซับซ้อน ทั้งจากการเรียบเรียง และเทคนิกการเล่น ที่รู้สึกได้ว่าไม่ง่ายแน่ๆ แต่ด้วยท่วงทำนองที่ลื่นไหล ตัวเพลงที่มีการขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงสีสันของเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เล่นรับ-ส่งกัน โดยเฉพาะแซ็กโซโฟนกับเจ้าอุปกรณ์สำคัญของเจ้าของเพลง และการเรียบเรียงดนตรีที่ฟังโปร่ง โล่ง ก็ทำให้ “Easy Touch” กลายเป็นงานที่ฟังเพลิน และ ‘สนุก’ ตั้งแต่ต้นจบจบ ไม่ใช่ฟิวชันที่ทำให้รู้สึกแน่น ตึง เช่นที่ออกมาให้ได้ยินกันในช่วงเวลา ที่ดนตรีในรูปแบบนี้ เป็นงานในกระแส (ประมาณหนึ่ง) โดยเฉพาะงานของศิลปินจากแดนอาทิตย์อุทัย

แม้จะเป็นงานบรรเลง หากแต่ละคนที่มาทำงานในอัลบั้มชุดนี้ ก็มีความชัดเจนในเนื้องาน ไม่ใช่แค่แนวทางดนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ‘ซาวนด์’ ที่ออกมาของอาวุธประจำกาย ที่ช่วยย้ำความต่าง ที่นอกเหนือไปจากทางดนตรี ช่วยให้ POS The Players ไม่ได้เป็นงานที่ให้ความรู้สึก ‘ซ้ำ’ หรือเหมือนๆ กันไปหมด

โดยที่ยังไม่ต้องไปมองถึงสไตล์การพรมนิ้วของแต่ละราย

และเมื่อรวมเข้ากับการจัดสรรวางตำแหน่งเพลงในอัลบั้ม ถึงจะทำให้บางเพลงไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นมากมาย แต่ก็กลายเป็นเพลง ‘ส่ง’ ให้กับเพลงอื่นๆ ได้ เช่น ที่ “Erawan Lovers” (ปธัย วิจิตรเวชการ) รับลูกจาก “Easy Touch” ได้อย่างลงตัว และด้วยโทนดนตรีที่คลี่คลายมากขึ้น จากนั้นบทสรุปที่นุ่มนวลของเพลงนี้ ก็ส่งลูกต่อให้ “Life Goes On” (บอย ไมโคร) ที่เริ่มต้นอย่างหวือหวาด้วยเสียงออร์แกน ก่อนจะเดินหน้าอย่างหนักแน่นในเส้นทางชาวร็อก ที่เสียงกีตาร์ เสียงกลอง สลับกันมาสร้างสีสันให้กับเพลงได้อย่างเพลินหู

ด้วยการจัดวางเพลงที่ลงตัว ทำให้อัลบั้มที่ดูยืดยาว (อย่าลืมว่ามี 19 เพลงนะ) ไม่ใช่งานที่น่าเบื่อ แล้วยังไฮไลท์หยอดเอาไว้เต็มไปหมด

“Window” (ภิทรู พลชนะ) ก็สนุกด้วยจังหวะจะโคน เป็นเพลงที่ขายงานริธึมพอๆ กับฝีมือการเรียบเรียงดนตรี ที่เล่าเรื่องราวด้วยเสียงต่างๆ ของคีย์บอร์ด, “Song for My Mother” (พัทยา อยู่สถิตย์) เด่นด้วยสำเนียงแบบไทยๆ ที่ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น ให้สัมผัสนุ่มนวล อ่อนหวาน

หลังผ่อนอารมณ์มาพักใหญ่ อัลบัมก็ขยับอารมณ์ขึ้นไปอีกกับงานในทางร็อก “Antagonist” (อิสระ สุวรรณณัฐวิภา) ซึ่งความหนักแน่น มาในอารมณ์ใกล้ๆ กับงานของวงอย่าง Dream Theatre แต่ต่างด้วยซาวนด์ และลีลาในการเล่น ซึ่งปิดท้ายได้อย่างเมามัน ราวกับมีการฟาดฟันกันของ พระเอก (Protagonist) และตัวร้าย (Antagonist) เมื่อเสียงออร์แกนใส่กันยับกับเสียงกลอง

ครึ่งแรกของอัลบั้มจบลงด้วย “Hopeful” งานของเจ้าของค่าย ที่รับอารมณ์ต่อมาจากงานฟังก์สนุกๆ “Quarantined Funk” ที่เป็นอีกเพลงหนึ่ง ซึ่งเมโลดีติดหู วนเวียนอยู่ในหัวตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก และถือเป็นการปิดท้ายครึ่งแรกได้แบบสวยๆ กับเพลงที่ฟังดูโอ่อ่า และให้สัมผัสของแสงสว่างอย่าง ในแบบเต็มไปด้วยความหวังจริงๆ

ครึ่งหลังของ POS The Players ประเดิมด้วยรุ่นใหญ่ อรรถพร ชูโต สมาชิกของ Kaliedoscopeกับ “เปลือก” เพลงที่ชื่อเป็นภาษาไทยเพลงเดียวในชุด ซึ่งให้ผลลัพธ์ไม่ต่างไปจาก “Easy Touch” นั่นคือ สตาร์ทการเดินทางได้อย่างราบลื่น หากแต่คราวนี้เปิดกันด้วยเพลงที่มีกลิ่นสีของความเป็นร็อก แล้วก็ตามด้วยเพลงเหงาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้าง “Time to be Alone” (จักรวาล เสาธงยุติธรรม) อีกหนึ่งเพลงดนตรีสวย ฟังละเมียด ละเลียดอารมณ์ไปเรื่อยๆ ของอัลบั้มนี้

หากเทียบกับครึ่งแรก (หรือแผ่นแรก) แล้ว งานในครึ่งหลังดูจะเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่า ไม่ได้หวือหวาจัดจ้านมากนัก อยู่ในกลุ่มของงาน ‘ฟัง’ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะตัวงานไม่มีทางของร็อกหนักๆ เข้ามาเจือ แล้วก็ไม่มีเพลงที่วูบไหวในเรื่องของจังหวะจะโคน อย่าง ฟังก์ เข้ามามีบทบาท

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาในทางอีซีลิสนิงจัดๆ ฟังนิ่งๆ ยังมีความเคลื่อนไหวมากมาย ให้สัมผัส กระทั่งในเพลงที่ดนตรีดูสวย อย่าง “The Warlord” (กฤตินันท์ ศรีอ่อน) ก็มีการสลับสับเปลี่ยนมูฟเมนท์ดนตรีไปมา ดนตรีแต่ละท่อนฟังแตกต่าง รู้สึกราวกำลังฟังการเล่าเรื่อง ที่มีทั้งเรื่องบู๊ เรื่องสมหวัง ผิดหวัง ที่บางช่วงดนตรีก็ฟังหนักหน่วง บางช่วงก็ฟังยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่มีหลุด หรือโดดออกไป เมื่อทุกอย่างถูกคุมโทนเอาไว้เป็นอย่างดี

หรือ “What’s Happening in Thailand” (เก่งฉกาจ เก่งการค้า) ที่จัดจ้านในย่านนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะในครึ่งหลังของงาน แต่สามารถรวมความทั้งอัลบั้มก็ยังได้ กับการเป็นงานที่ฟังดูลึกลับ น่าสงสัย ไม่ต่างไปจากที่ชื่อเพลงว่าเอาไว้ ขณะที่รายละเอียดของเพลงก็มีลูกเล่นที่แตกต่างชัดเจน จากการใช้บทสนทนามาช่วงในการเล่าเรื่อง ด้วยบรรยากาศและโทนที่เป็น “What’s Happening in Thailand” ไม่ต่างไปจากการอ่านเรื่องสั้น ที่มีปมปริศนามากมายให้ขุดค้น เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่ในชื่อเพลง

แต่ที่ไม่ต้องขุดค้น หรือเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม ก็คือ โพรเจ็กต์ทางดนตรีชุดนี้ ที่ ดู ‘ทะเยอทะยาน’ จากคอนเซ็ปต์ที่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เนื้อในของงานที่เป็นเพลงบรรเลง ก็ยากที่จะขาย แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นงานที่เข้าถึงไม่ได้ จะว่าไปแล้ว POS The Player อยู่ในข่ายที่ฟังสนุกเลยด้วยซ้ำ กับการได้สัมผัสลีลา ท่วงท่าที่หลากหลาย ของเครื่องดนตรีที่เรียกเหมารวมได้ว่า คีย์บอร์ด ทั้งในแต่ละเพลง ทั้งในภาพรวมของอัลบั้ม

ด้วยซาวนด์ที่ได้ฟัง ด้วยเสียงที่ได้ยิน… ก็รู้สึกได้เช่นกันว่า นักดนตรีแต่ละคนในอัลบั้มชุดนี้ ก็สนุกไม่แพ้ และอาจจะมากกว่าคนฟังอย่างเราๆ ด้วยซ้ำไป

(หมายเหตุ: สั่งซื้ออัลบั้มชุดนี้ได้ที่ > https://www.baichasong.com/product/31625-32730/cd-pos-the-players-รวมมือคีย์บอร์ด)

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 6 พฤษภาคม 2564

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.