FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

เซ็ทเพลงและจังหวะในการแสดง เรื่องที่มักถูกมองข้ามในคอนเสิร์ตไทย

ช่วงนี้ได้ดูคอนเสิร์ตไทยที่เอาศิลปินเก่าๆ กลับมาขึ้นเวทีอีกอยู่หลายหน ก็เลยทำให้เห็นข้อดีและข้อด้อยของแต่ละงาน ที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันได้ชัดเจน ด้วยความที่ระยะเวลาในการได้ชมก็ไม่ได้ห่างกันมากมาย ยิ่งถ้าย้อนไปถึงปีที่ผ่านๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ของบรรดาคอนเสิร์ตศิลปินดังในอดีตเหล่านี้

ข้อดีที่มองเห็นเป็นอย่างแรกก็คือ พวกเขากลับมาแบบตั้งใจกันจริงๆ อึ้บเสียง ปั้มหุ่นเพื่อให้ดูดี ดูสมกับเป็นคอนเสิร์ตที่เรียกได้ว่าเป็น “การกลับมา” ของตัวเอง หลายๆ รายอาจจะไม่ถึงกับออกมาดี แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายาม

ขณะที่โปรดัคชันของงานก็จัดเต็ม

แล้วกับการที่พวกเขาสร้างชื่อ ประสบความสำเร็จมาในยุคเทปคาสเส็ทท์รุ่งเรืองถึงขีดสุด ต่อเนื่องมาจนถึงยุคซีดี ทำให้แต่ละรายมาพร้อมเพลงฮิตมากมายเต็มกระเป๋า คอนเสิร์ตก็เลยไม่ต่างไปจากคอนเสิร์ตรวมเพลงฮิต ในเซ็ทลิสท์มีเพลงเป็น20 – 30 เพลง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมแทบทั้งนั้น โดยที่ไม่ต้องไปนับเพลงของบรรดาแขกรับเชิญที่ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องร่วมค่าย หรือบางรายก็เป็นคนในครอบครัว

แต่คอนเสิร์ตรวมเพลงฮิตเหล่านี้ หลายๆ งานก็กลายเป็นคอนเสิร์ตขาดๆ เกินๆ ประดักประเดิด พาอารมณ์คนดูไปได้ไม่ถึงที่สุดนั่นก็เพราะ เพลงที่ว่าฮิตทั้งหลาย ถูกจัดเรียงอย่างสะเปะสะปะ ไม่มีการสอดรับทางอารมณ์ ไม่มีความต่อเนื่องทางความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการต่อเพลง หรือการร้อยเพลงเป็นเมดลีย์ การแสดงที่ไม่มีจังหวะจะโคน อารมณ์ในการชมเลยขึ้นๆ ลงๆ ไม่ใช่ค่อยๆ ขึ้น ค่อยๆ ลง ซึ่งน่าเสียดาย เพราะวัตถุดิบนั้นพร้อมหมดทุกอย่าง แต่ปัญหาก็คือ คนปรุงดันปรุงไม่เป็น

ตัวอย่างที่ไม่ดีคงไม่ต้องเอามาพูดกัน แต่ตัวอย่างที่ดี เอาจากงานล่าสุดที่เพิ่งไปชมละกัน การแสดงของธนพล อินทฤทธิ์ และหิน เหล็ก ไฟ ในงานช็อต ชาร์จ ช็อค ร็อค เลเจนด์ โดยเฉพาะรายแรก ที่มีเพลงบัลลาดช้าๆ มากมาย แล้วทางเพลงจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ร็อคหนักหนาสาหัสสักเท่าไหร่ แต่โชว์ก็ไล่เรียงอารมณ์ในการชม ให้ความสุขกับคนดูได้อย่างลื่นไหล ซึ่งก็ต้องชมการพูดการจา การสื่อสารกับคนดูที่มีจังหวะจะโคน ของตัวศิลปินเองด้วย ขณะที่รายหลัง นอกจากการแสดงตามปกติ ก็ยังมีช่วงโซโลกลองและกีตาร์ ซึ่งถ้าจัดวางช่วงเวลาไม่ดี ก็พร้อมจะกลายเป็นงานย้วยๆ ได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่ใช่ แถมช่วงอองกอร์ ก็เอาใจแฟนฮาร์ดร็อค และตอกย้ำตัวตนของตัวเอง เมื่อหยิบเพลงหนักๆ และเพลงที่ไม่ได้ฮิตระเบิดระเบ้อ มาปิดท้าย

ซึ่งก็ทำให้คนดูขาประจำ และขาจรเดินทางกลับบ้านกันอย่างมีความสุข

เซ็ทเพลง จังหวะจะโคนในการ “พูด” ระยะเวลาในการ “คุย” ของคอนเสิร์ตไทย ดูจะเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม หรือขาดๆ เกินๆ มาโดยตลอด เซ็ทเพลงดูจะเน้นปริมาณเข้าว่าแต่ไม่นึกถึงการต่อเพลง จังหวะจะโคนในการพูดและคุยกับคนดูก็หนักไปทางเวิ่นเว้อ ยืดยาด จนหลายๆ ครั้งอารมณ์คนดูดับไปแล้วเรียบร้อย

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นกับคอนเสิร์ตศิลปินเก่าๆ แต่กับศิลปินใหม่หลายๆ รายก็เป็น ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าการวางเซ็ทเพลงแข็งแรง การแสดงมีจังหวะจะโคน ต่อเพลงฮิตไม่เยอะ การแสดงก็สนุกและเอาอยู่ได้ เห็นได้จากการชมศิลปินต่างประเทศ ที่มีเพลงดังระดับฮิตจริงๆ ไม่กี่เพลง แต่คนดูก็สนุกไปด้วยได้ตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย ขณะที่บ้านเรา ส่วนใหญ่เน้นเอายาว เพลงมากๆ  แขกรับเชิญเยอะๆ เข้าว่า

ซึ่งความสนุกนั้น ไม่ได้แปรผันตรงกับความยาว กับจำนวนเพลง และปริมาณคนบนเวทีแน่นอน

จากเรื่อง เซ็ทเพลงและจังหวะในการแสดง เรื่องที่มักถูกมองข้ามในคอนเสิร์ตไทย คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 21 สิงหาคม 2556

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.