FEATURESMovie FeaturesMusic Features

เพลงเด่นจากยุค 90 ที่อยู่ในหนัง Captain Marvel

หากสังเกตดีๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซาวนด์แทร็คหนังซูเปอร์ฮีโรทั้งหลาย มักมาพร้อมเพลงประกอบที่มีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง ทั้งการนำเสนอเพลงใหม่ล้วนๆ อย่าง Black Panther ที่ทำออกมาได้ดี จนกลายเป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของปี 2018 ทั้งรวบรวมเอาเพลงคลาสสิคๆ มาประกอบกันเพื่อทำให้หนังมีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะในแง่ของการตั้งข้อสงสัยบางอย่าง เช่น อัลบัมซาวนด์แทร็ค Guardians of the Galaxy: Awesome Mix Vol. 1 จนเป็นหนึ่งในอัลบัมซาวนด์แทร็ครวมเพลงเก่าๆ ที่สามารถทำได้ดีถึงขั้นขึ้นอันดับ 1 บนขาร์ทเพลงมาแล้ว

 
ขณะที่ Guardians of the Galaxy เอาเพลงยุค 70 และ 80 มาใช้ Captain Marvel ก็ขึ้นจอพร้อมกับเพลงจากยุค 90 “เราสร้างสิ่งที่เหมือนกับเป็นเพลย์ลิสท์ขนาดมหึมาขึ้นมา จากนั้นก็แชร์ให้กับทีมงานและนักแสดงบางคนฟัง โดยบางเพลงเหล่านั้นก็จะอยู่ในหนัง เราตัดเอาฉากต่างๆ มารวมกันแล้วก็เปิดเพลงตาม จากนั้นก็ดูว่ามันทำให้รู้สึกยังไง” ไรอัน เฟล็ค ผู้กำกับร่วมของหนังอธิบายถึง วิธีการรวมเพลงต่างๆ ที่ทำให้ซาวนด์แทร็คสร้างความเป็นตัวของตัวเองของหนัง

หนังมีเพลงดังๆ มากมายจากศิลปินเด่นยุคนั้น เช่น R.E.M, Nirvana, TLC, No Doubt ซึ่งคนที่คิดถึงยุค 90 น่าจะสนุกกับหนังได้แน่ๆ และมีอะไรมากมายให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นหา และนี่คือบางเพลงจากยุค 90 ที่ได้ยินกันในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเว็บไซต์ nme รวบรวมเอาไว้ให้ไปหามาฟังกัน

Whatta Man โดย Salt-N-Pepa: เพลงที่หยิบยืมของดีชื่อเดียวกันจากยุค 60 ของนักร้องเพลงโซล ลินดา ลินเดลล์ มาเปลี่ยนให้กลายเป็นเพลงฮิทในปี 1993 โดยให้ฮิพ-ฮ็อพสามสาววง ซอลท์-เอ็น-เปปา จับคู่กับ En Vogue ที่เนื้อร้องพร่ำบอกถึงความเป็น “ชายหนุ่มแสนดี ที่เต็มไปด้วยกำลังวังชา” ว่าเป็นยังไง อย่างที่นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า นี่คือเพลง “ที่ยกย่องความเป็นหนุ่มแมนๆ ที่ใช้เวลาอยู่กับบ้านและช่วยดูแลพวกเด็กๆ”

ถึงจะแจ้งเกิดมาตอนปลายยุค 80 ด้วยเพลงอย่าง “Push It” ที่ตอนนี้กลายเป็นเพลงฮิตในร้านคาราโอเกะไปแล้ว แต่ความสำเร็จในเรื่องยอดขายของซอลท์-เอ็น-เปปา มาถึงพวกเธอในช่วงตอนต้น-กลางยุค 90 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของยุคนั้นจริงๆ “Whatta Man” ติดท็อปเทนทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกา กลายเป็นเพลงชาติของสถานีวิทยุทั้งสองฝั่ง แล้วถ้าลองเช็คท่าเต้นในมิวสิค วิดีโอ ไม่มีทางที่เราจะได้เจออะไรที่ 90 สุดๆ มากกว่านี้อีกแล้ว

Connection โดย Elastica: เพลงที่ดังที่สุดเพลงหนึ่งในยุคบริทป็อป อยู่ในอัลบัมชุดแรกเมื่อปี 1995 ของอีลาสติคาที่ใข้ชื่อวงเป็นชื่อชุด ที่อัลบัมต่อจากนี้ทำได้ไม่ดีนัก “Connection” เป็นเพลงที่หยิบยืมอะไรนิดหน่อยมาจาก Wire วงดนตรีโพสท์-พังค์ ในยุค 70 และใช้เสียงกีตาร์ต่อกรกับเสียซินธ์ที่ติดหูได้อย่างสนุก ขณะที่เนื้อหาก็แต่งขึ้นมาได้อย่างคมคายในแบบที่มีอะไรกำกวมให้รู้สึก อย่าง “I don’t understand how a heart is a spade, but somehow the vital connection is made.”

“Connection” เป็นหนึ่งในเพลงที่จะได้ยินแน่ๆ จากงานปาร์ตีของเด็กเรียนศิลปะในลอนดอนยุคนั้น ท่อนเปิดเพลงที่ใช้เสียงซินธ์ถือว่าเป็นหนึ่งในอินโทรแห่งยุค 90 เช่นเดียวกับเสียงกลองและกีตาร์จาก Blur ในเพลง “Song 2” หรือเสียงเครื่องสายที่ไหลบ่าเข้ามา ใน “Bitter Sweet Symphony” จาก The Verve ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงในมาตรฐานระดับสูงของยุคบริทป็อป

Only Happy When It Rains โดย Garbage: “I only listen to the sad, sad songs, I’m only happy when it rains.” ท่อนหนึ่งของซิงเกิลที่สองจากอัลบัมแรกของการ์เบจ ที่เป็นเพลงแสดงความกราดเกรี้ยวว่าเอาไว้ ถึงแม้เนื้อหาจริงๆ จะเป็นเรื่องการยอมรับความรู้สึกของตัวเอง และใช้คำพูดเหน็บแนม

จะว่าไปแล้ว นี่คือเพลงที่เป็นการตอบสนองในเชิงล้อเลียนกับเพลงกรันจ์ตอนกลางยุค 90 สตีฟ มาร์เคอร์ มือกัตาร์ของวง พูดถึงเพลงนี้ไว้ว่า “มันเป็นเพลงที่เกิดขึ้นเพราะดนตรีกรันจ์ และความเกรี้ยวกราดที่มีเกลื่อนกลาดในแวดงวงดนตรีอัลเทอร์เนถีฟร็อคอเมริกัน กับพวกเรา มันมีเรื่องของการตำหนิตัวเอง เราต้องแหย่ตัวเองเล่นเพราะเราถูกครอบงำด้วยเพลงและเนื้อหาทำนองนั้น จนทำให้ตัวเองเกลียดชังตัวเอง ฮ่าๆๆ”

Waterfalls โดย TLC: เพลงดังที่ได้ยินทั่วทุกแห่งหน จนทำให้หลายๆ คนหลือสารสำคัญที่สื่อไว้ในเนื้อเพลง ซึ่งว่าด้วยการใช้ยาเสพติดและโรคติดต่อทางเพศ โรซอนโด ‘ชิลลิ’ โธมัส นักร้องนำของวง เป็นคนที่อธิบายถึงเรื่องนี้ “อะไรก็ตามที่เป็นการทำลายตัวเอง ซึ่งไม่ต่างไปจากการไล่ตามน้ำตก เราอยากทำเพลงที่มีข้อความแข็งแรงๆ เกี่ยวกับเซ็กส์ที่ไม่มีการป้องกัน, การสำส่อนทางเพศ และการไปขลุกอยู่กับคนผิดๆ และเนื้อหาที่อยู่ในเพลงนี้ มันโดนจังๆ ฉันคิดว่านั่นคือสาเหตุที่ทำให้มันยังคงเป็นเพลงฮิตมาจนถึงทุกวันนี้”

แต่ถึงจะว่าด้วยประเด็นที่หนักหนา “Waterfalls” ยังคงเป็นหนึ่งในเพลงอาร์แอนด์บีสุดฮิตจากยุค 90 ที่มีโบนัสเพิ่มหากคุณสามารถท่องท่อนร้องของ ลิซา ‘เลฟท์ อาย’ โลเปส ได้แบบคำต่อคำ

Come As You Are โดย Nirvana: แม้จะไม่ใช่เพลงทำให้เกิดการถล่มทะลายทางวัฒนธรรมแบบเดียวกับ “Smells Like Teen Spirit” แต่เชื่อเถอะใครๆ ก็รู้จักเพลงนี้ที่มาพร้อมซาวนด์หม่นๆ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับซาวนด์ดนตรียุคหลังกรันจ์ช่วงปลายยุค 90 – ต้นยุค 00 เพลงนี้ไม่ได้มีความหมายแค่กับเนอร์วานา แต่ยังรวมไปถึงแวดวงดนตรีอัลเทอร์เนถีฟในภาพรวม ขณะที่เนื้อร้องก็เหมือนกับเป็นป้ายยินดีต้อนรับสู่บ้าน อาเบอร์ดีน, วอชิงตัน บ้านเกิดของเคิร์ท โคเบน

นี่คือเพลงที่ทำให้นึกถึงเสื้อเชิร์ทย้วยๆ กางเกงยีนส์ขาดๆ โทนเสียงแหบห้าวของเคิร์ท ใช่ไหม? แล้วไหนจะเนื้อร้องที่กวนความรู้สึก ซึ่งสามารถร้องตามได้ถึงแม้ไม่รู้เลยว่ามันหมายความว่าอะไร ซึ่งนั่นละ โคตร 90 เลย

Just A Girl โดย No Doubt: เพลงแรกที่เกว็น สเตฟานีแต่งขึ้นโดยไม่มีการช่วยเหลือจากเอริค พี่ชาย ที่เขียนได้อย่างเฉลียวฉลาด โดยเฉพาะการพูดย้อนการกีดกันทางเพศ และการเกลียดชังเพศหญิง ซึ่งสเตฟานีเย้ยเอาไว้ได้อย่างแสบสันต์ “I’m just a girl, all pretty and petite / So don’t let me have any rights”

นี่คือเพลงที่ผสมผสานหลักการว่าด้วยความปั่นป่วนแบบพังค์ที่ เข้ากับซาวนด์ที่เป็นมิตรกับชาร์ทเพลงและความเป็นป็อปในงาน “Just A Girl” เป็นเพลงที่องค์ประกอบสำคัญๆ ของงานในยุค 90 มาผสมรวมกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องไปนึกถึงอิทธิพลของสกาในเนื้องาน

Man On The Moon โดย R.E.M: ซิงเกิลที่สองของวงจากอัลบัม Automatic for the People ในปี 1992 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากตัวตลกที่กลายเป็นศิลปินนักแสดง – แอนดี คอฟแมน ที่มีข่าวลือว่าสร้างการตายแบบหลอกๆ ของตัวเอง ในเพลงไมเคิล สไตป์ใคร่ครวญถึงทฤษฎีสมคบคิดสำคัญๆ ของชีวิต ขณะที่ในมิวสิค วิดีโอเขาสวมหมวกคาวบอยที่ดูมีเสน่ห์สุดๆ

จริงๆ เพลงนี้ให้ความรู้สึกแบบ 80 มากกว่า 90 ไมค์ มิลล์ส มือเบสของวงพูดถึงเพลงนี้ไว้ในปี 2017 ว่า “แอนดีตายจริงไหม? เขาแกล้งตายหรือเปล่า? เขาเป็นคือภูตผีตัวจริงที่พาคุณเดินทางไปกับทัวร์ของคำถามถึงทุกสิ่ง การลงจอดบนดวงจันทร์เกิดขึ้นจริงไหม? เอลวิสตายจริงเหรอ?”

Celebrity Skin โดย Hole: เพลงที่เป็นชื่อชุดจากอัลบัมที่ประสบความสำเร็จทางยอดขายมากที่สุดของโฮล “Celebrity Skin” อ้าแขนรับคอร์นีย์ เลิฟ เข้าสู่สถานภาพใหม่ในโลกของดนตรีเมนสตรีม ด้วยการสวมเสื้อสีดำมากเสน่ห์ของแคลิฟอร์เนีย ราวกับเป็นตราแห่งความภาคภูมิใจ “Wilted and faded / Somewhere in Hollywood / I’m glad I came here / With your pound of flesh”

เป็นเพลงที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกในช่วงปลายยุค 90 มีทั้งความกราดเกรี้ยว, ความทันสมัย และยังเป็นการชูนิ้วกลางให้กับการขายตัวเองที่ในไม่นานหลังจากนั้นกลายเป็นเรื่องพ้นสมัย

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง เพลงเด่นจากยุค 90 ที่อยู่ในหนัง Captain Marvel คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 12-13 มีนาคม 2562

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.