FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

13 ศิลปินกับอัลบัมที่ตัวเองแสนเกลียด และคนฟังอาจจะรู้สึกแตกต่าง

แม้จะเป็นอัลบั้มที่ทำขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม อัลบั้มเหล่านี้คืองานที่ศิลปินเจ้าของอัลบั้มเกลียดชัง ซึ่ง รูดี โอเบียส จาก http://mentalfloss.com คัดสรรเอาไว้

Born to Run/ บรูซ สปริงสทีน (1975): ขณะบันทึกเสียงอัลบัมชุดนี้ในปี 1975 บรูซ สปริงสทีน รู้สึกผิดหวังกับการเขียนและมิกซ์เพลง ซึ่งทำให้เกลียดงานชุดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่ชอบหนัก ถึงขั้นจะเลิกทำ แล้วไม่ปล่อยมันออกขายเลย

“หลังจากที่เสร็จเรียบร้อยนะเหรอ? ผมยังเกลียดมัน! ทนฟังไม่ได้เลยด้วย” สปริงสทีนยอมรับ “ผมคิดว่า มันคือชิ้นส่วนที่ห่วยที่สุดของขยะชิ้นหนึ่งเท่าที่ผมเคยได้ยิน ผมบอกกับโคลัมเบีย ผมจะไม่ปล่อยมันออกขาย ผมบอกพวกเขาว่า จะเล่นโชว์ชดใช้ให้ โดยเล่นเพลงใหม่ทั้งหมด แล้วทำออกมาเป็นงานแสดงสด”

In My Lifetime, Vol. 1/ เจย์-ซี (1997): เจย์-ซีเชื่อว่างานชุดที่สองของเขาชุดนี้ กลายเป็นงานที่มีปัญหาเพราะทำเพลงเพื่อให้ถูกเปิดทางวิทยุ แทนที่จะทำตามที่เขาชอบ

“ผมไม่ฟังอัลบัมชุดนั้นเลย เพราะคิดว่ามันยุ่งเหยิงมาก” เจย์-ซีพูดไว้ในปี 2009 “มีหลายเพลงที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในอัลบัมได้ ผมคิดว่าผมพลาดการมีอัลบัมคลาสสิค 2 ชุดติดต่อกัน ด้วยการพยายามเข้าถึงสถานีวิทยุ ผมทนฟังมันไม่ได้ มันเป็นงานที่กวนใจผมจริง ๆ” เขาบอกว่างานชุดนี้เป็น “งานที่อยากให้หายไปพ้น ๆ”

One By One/ Foo Fighters (2002): งานชุดที่สี่ของฟู ไฟเทอร์ส เป็นงานที่ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ แถมทำให้วงคว้ารางวัลแกรมมีสาขาอัลบัมร็อกแห่งปีมาครอง แม้จะประสบความสำเร็จ เดฟ โกรห์ล แกนนำของวงก็เกลียดงานชุดนี้ เพราะรู้สึกว่า มันทำแบบรีบๆ และฟังดูแย่ ๆ

“ผมโกรธตัวเองสุด ๆ สำหรับงานชุดที่ผ่านมา” โกรห์ล เผยในปี 2005 “มีเพลงดีๆ อยู่สี่เพลง แล้วที่เหลืออีกเจ็ดเพลง ผมจะไม่มีทางเล่นมันอีกตลอดชีวิต พวกเราเร่งทำงานกัน แล้วก็รีบปล่อยมันออกมา”

Encore/ เอ็มมิเน็ม (2004): เอ็มมิเน็มมีปัญหาอย่างจริงจังมาก ๆ เรื่องการกินยาตามใบสั่งแพทย์ในยุค 2000 อัลบัมของเขาในช่วงปี 2003 – 2008 ก่อนหน้าที่ตัวเองจะสะอาดเอี่ยม ไม่ใช่งานเยี่ยมยอดของเอ็มมิเน็มแน่ๆ โดยเฉพาะ Encore ในปี 2004

“มองย้อนกลับไปจากตอนนี้ มีบางอย่างที่เป็นเรื่องโคตรหายนะ สำหรับการที่ผมปล่อยมันออกมา” เอ็มมิเน็ม ยอมรับ “ตอนทำ Encore การติดยามันทำให้ชีวิตของผมดำเนินไปด้วยตัวเอง ผมยังจำตอนที่ไปแอลเอได้ บันทึกเสียงกับเดร แล้วเคลิ้มสุด ๆ อยู่ในห้องอัด ซัดยาเม็ดแล้วเม็ดเล่า ปริ่มสุขแบบกึ่งๆ หลับ ทำเพลงอย่าง ‘Big Weenie’ และ ‘Rain Man’ แล้วก็ ‘A** Like That’ ออกมา”

Pinkerton/ Weezer (1996): อัลบัมที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ แถมคนอ่านของนิตยสารโรลลิง สโตนยังโหวตให้เป็นหนึ่งในงานที่แย่ที่สุดของปี แต่ในที่สุดงานชุดที่สองของวีเซอร์ วงร็อกจากแอลเอชุดนี้ก็กลายเป็นงานคัลต์มาตลอดหลายปีนับจากนั้น จนทางวงออกอัลบัมชุดต่อมา หลังพักวงไปนานถึง 5 ปี ด้วยอัลบัมปกสีเขียวในปี 2001 ริเวอร์ส คูโอโม แกนนำของวงต้องชิงชังอัลบัม ‘Pinkerton’ ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแฟนๆ และนักวิจารณ์่ต่างเอางานทั้งสองชุดมาเปรียบเทียบกัน

“สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตของผมทุกวันนี้ก็คือ ความเป็นงานคัลต์ของ ‘Pinkerton’” คูโอโมบอกในปี 2001 “มันเป็นอัลบัมป่วย ๆ ป่วยอย่างกับติดเชื้อโรคยังไงยังงั้น แล้วมันก็กลายเป็นความวิตกขึ้นมา เพราะแฟน ๆ ของเราในตอนนี้ ยึดติดกับอัลบัมชุดนั้น แต่จากใจจริงเลยนะ ผมไม่เคยอยากเล่นเพลงพวกนั้นอีกเลย ผมไม่อยากได้ยินมันอีกด้วยซ้ำ”

Kill Uncle/ มอร์ริสซีย์ (1991): สตีเวน แพทริค มอร์ริสซีย์ โคตรจะไม่ใยดีกับอัลบัมเดี่ยวชุดที่สองของตัวเองสุด ๆ เขาเชื่อว่านี่คืออัลบัมที่เขาทำงานแบบวิ่งชนขีดจำกัดของตัวเอง ทั้งการเขียนเพลงและการบันทึกเสียง

ซึ่งมอร์ริสซีย์บรรยายออกมาว่าเป็นงานที่ “ไร้ชีวิตชีวา และเลือดเนื้อ” และ “นักดนตรีก็เหมือนกับศพที่ถูกแช่น้ำยา” ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองเมื่อปี 2014

Be Here Now/ Oasis (1997): โนล กัลลาเกอร์ มือกีตาร์ของโอเอซิส มองว่างานชุดนี้ คืออัลบัมที่ห่วยที่สุดของวง โดยบอกว่าเป็นเหมือนกับ “สรรพเสียงของผู้ชายกลุ่มหนึ่งอยู่ในห้องอัดเสียง เล่นโค้กกัน แล้วก็ไม่สนห่-อะไร ทุกเพลงโคตรยาว แล้วเนื้อร้องก็ห่วยแตกมันทุกเพลง เลียมก็ไม่ได้พูดอะไรออกมาเลยในทุก ๆ เสี้ยววินาที มีริฟฟ์กีตาร์เห่ย ๆ อยู่ในเพลง โดยเล่นสไตล์เดียวกับในหนัง Wayne’s World”

 

Thank Me Later/ เดรค (2010): อัลบัมเปิดตัวของเดรก ที่ถึงแม้จะกลายเป็นงานฮิตในปี 2010 แต่แร็ปเปอร์ชาวแคนาเดียนก็เชื่อว่า นี่ไม่ใช่งานที่ดีเด่อะไร และแน่นอน ไม่ใช่งานที่ดีที่สุดของเขา เพราะว่ามันเป็นงานที่ยังไม่สมบูรณ์และทำแบบลวก ๆ เขาพยายามทำงานที่ดีขึ้นออกมา ด้วยอัลบัมชุดที่ 2 Take Care ในปี 2011

“พูดกันด้วยความจริงใจชนิด 100%” เดรก ย้ำ “ผมไม่มีความสุขกับงานชุด ‘Thank Me Later’ เลย คนฟังชอบมัน แต่ผมก็รู้ตัวดีว่า ผมสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น หากมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย”

Around the Sun/ R.E.M. (2004): ในปี 2004 อาร์.อี.เอ็ม ออกอัลบัมหมายเลขที่ 13 ของตัวเองออกมา และกลายเป็นงานชุดแรกของวง ที่ไม่สามารถเข้าท็อปเทนชาร์ทอัลบัมบิลล์บอร์ดได้สำเร็จ นับตั้งแต่ปี 1988 แถมยังได้คำวิจารณ์แบบก้ำกึ่งจากนักวิจารณ์อีกต่างหาก อาร์.อี.เอ็ม.รู้สึกแย่กับงานชุดนี้หนัก ถึงขั้นไม่เอาเพลงไปเล่นในการแสดงสดเลย

“เหมือนกับว่า พวกเรากลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีพวกที่จองห้องอัดไว้เป็นล้าน ๆ เดือน แล้วก็ทำงานกันไปจนตาย” ปีเตอร์ บัก มือกีตาร์ของวงกล่าว “งานชุดที่แล้ว (Around the Sun) สำหรับผม มันไม่ใช่งานที่น่าฟังเลย เพราะฟังเหมือนกับเป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเบื่อสุด ๆ กับสิ่งที่พวกเขาไม่อยากจะทนอยู่กับมันอีกต่อไปแล้ว”

Angels/ The Strokes (2011): หลังปล่อยอัลบัมชุดที่สาม ‘First Impressions of Earth’ ออกมาในช่วงต้นปี 2006 วงดนตรีจากนิว ยอร์กซิตีวงนี้ ก็พักยาวถึงห้าปีจากการทำงานเพลง และออกทัวร์ แล้วก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อทำอัลบัมชุดที่สี่ ‘Angels’ ที่บรรดาแฟน ๆ รอคอยกันยาวนาน แม้จะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขาย แต่ตัวอัลบัมกลับกลายเป็นงานที่ได้เสียงวิจารณ์แบบก้ำกึ่งจากบรรดานักวิจารณ์

กับการให้สัมภาษณ์ในวาระที่ เดอะ สโตรกส์ ครบ 10 ปี จูเลียน คาซาบลังกา นักร้องและแกนนำของวงยอมรับว่า “ผมปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปในแบบที่มีอะไรเยอะแยะในอัลบัม ที่ผมไม่ควรทำ” นิค วาเลนซี มือกีตาร์ ก็ย้ำในสิ่งที่คาซาบลังกาบอกเอาไว้ “ผมจะไม่ทำอัลบัมชุดต่อไป หากพวกเราทำอะไรแบบนี้ออกมา มันห่วย มันห่วยสุด ๆ”

Youth Novels/ ลีกเค ลี (2008): ลีกเค ลี นักร้องสวีดิชยอมรับ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2014 อย่างตรงไปตรงมาตามอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ที่มีต่ออัลบัมชุดนี้ ซึ่งเป็นงานชุดแรกของเธอว่า เธอเกลียดมันมาก เพราะความดิบและเต็มไปด้วยอะไรมากมายที่ไม่ควรจะมีอยู่

“ฉันทนอัลบัมชุดแรกของตัวเองไม่ได้” เธอพูดเสียงดังฟังชัด “มันโคตรแย่ เลวเลยล่ะ”

 

Cut the Crap/ The Clash (1985): ในปี 1985 เดอะ แคลช ปล่อยอัลบัมชุดที่ 6 ซึ่งกลายเป็นอัลบัมชุดสุดท้ายของพวกเขา ในตอนนั้น โจ สตรัมเมอร์ นักร้องนำรู้สึกเซ็ง ๆ กับวง แล้วบวกด้วยความเศร้าจากการจากไปของพ่อ-แม่

“ซีบีเอส จ่ายเงินล่วงหน้ามาให้แล้ว ดังนั้นมันต้องมีงานออกมา” สตรัมเมอร์เล่าในปี 2000 “ผมรู้สึกประมาณ…’เออ… ช่างแม่- ซิ’ และ “กูอยากไปนั่งร้องไห้ใต้ต้นปาล์มที่ภูเขาในสเปน แล้วก็ปล่อยให้เบอร์นี (โรห์ดส์ ผู้จัดการวง) ปล่อยอัลบัมออกไป”

Relationship of Command/ At the Drive-In (2000): แอท เดอะ ไดรฟ์-อิน ปล่อย ‘Relationship of Command’ อัลบัมชุดที่สาม ที่ต่อมากลายเป็นงานชุดสุดท้ายของวงออกมาในปี 2000 ถึงแม้จะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ ส่งให้วงจากเอล ปาโซ, เท็กซัส โด่งดังในวงกว้าง แต่แอท เดอะ ไดรฟ์-อิน ก็วงแตกไม่นานหลังจากนั้น สาเหตุก็เพราะความนิยมในตัวพวกเขาที่เพิ่มมากขึ้น

และโอมาร์ รอดริเกวซ-เปเรซ มือกีตาร์ของวง ก็ซัดงานที่ทำให้พวกเขาดัง ได้รับความสำเร็จไม่เลี้ยง “หนึ่งในความเสียใจจากทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างที่ผมทำก็คือ การมิกซ์อัลบัม หลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นงานที่ฟังดิบ และเต็มไปด้วยพลัง แต่สิ่งที่พวกเขาได้ยินไม่มีทางที่จะเทียบกับสิ่งที่มันเป็น ก่อนหน้าที่จะถูกขัดเงาจนแวววาว ด้วยการผ่านกระบวนมิกซ์” เขาเสริมต่อ “ผมพบว่ามันโคตรไม่มีอารมณ์, เหมือนพลาสติก… มันเป็นอัลบัมชุดหนึ่ง ที่มาถึงทุกวันนี้ผมยังคงทนฟังไม่ได้ สำหรับผมการมิกซ์เสียงมันทำลายทุกอย่างเลย”

จากเรื่อง 13 ศิลปินกับอัลบั้มที่ตัวเองแสนเกลียด คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 10, 11 และ 15 พฤศจิกายน 2559

เป็นกำลังใจให้เราได้ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
1
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.