จากที่เคยเดินหน้าผลิตผลงานและกวาดเงินทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ ปี 2020 ฮอลลีวูดก็เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน ที่จะทำให้ฮอลลีวูดและภาพยนตร์ไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งรีเบ็คกา รูบิน และเบรนท์ แลง สองคอลัมนิสต์จากเว็บไซต์ variety.com ได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ ที่เริ่มด้วยการให้บรรดาสตูดิโอในฮอลลีวูดน่าจะใช้สถานการณ์โรคระบาด มาพิจารณาคำแนะนำของ ราห์ม เอมานูเอล อดีตนายกเทศมนตรีชิคาโก ที่บอกว่า “คุณคงไม่อยากให้วิกฤตเลวร้ายกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า”
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจภาพยนตร์ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงมาได้โดยตลอด และดูน่าหงุดหงิด ทั้งๆ ที่โลกไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เจ้าของโรงภาพยนตร์ยังตรึงกรอบเวลาการปล่อยหนังฉายในโรงที่ปฏิบัติกันมาช้านานเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยหนังบล็อคบัสเตอร์เรื่องใหม่ๆ ของสตูดิโอจะต้องเข้าฉายในโรงอย่างน้อย 90 วันก่อนที่จะปล่อยลงโฮม เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นไปตามความคิดดั้งเดิมของเหล่าโรงภาพยนตร์ที่มองว่า คนจะไม่จ่ายเงินดูหนังมาร์เวลเรื่องใหม่ในโรง ถ้าพวกเขาสามารถรออีกไม่กี่สัปดาห์ เพื่อชมผ่านบริการหนังตามสั่งที่บ้าน จนกลายเป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์ที่ถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ กับสตูดิโอ เมื่อฝายหลังอยากให้ช่วงระยะเวลา 3 เดือนของการฉายในโรงภาพยนตร์ลดลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการตลาด
การเฟื่องฟูของบริการสตรีมิง ทำให้คอหนังสามารถดูหนังเป็นร้อยๆ เป็นพันๆ เรื่องได้เพียงคลิกเดียว กลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับระยะเวลาการฉายในโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีความยืดหยุ่น และทำให้รอยแตกที่ค่อยๆ ปริออกเริ่มปรากฏให้เห็น แม้ผู้บริหารโรงภาพยนตร์จะพยายามทำให้การเจรจา ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการย้อนกลับรูปแบบการทำธุรกิจของพวกเขายืดเยื้อไปเรื่อยๆ เท่าที่ทำได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้เก็บเกี่ยวรายได้จากระยะเวลาการฉายในโรงภาพยนตร์ ยาวไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมจำนนต่อแรงบีบทางการตลาด
แล้วโรคระบาดก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งแบบเต็มๆ จนมีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์สะเทือนโลกขึ้น โรงหนังถูกบังคับให้ปิดบริการ และถูกปล่อยให้ไม่มีรายได้เป็นเวลาหลายเดือน ส่วนสตูดิโอก็ต้องฉีกกำหนดฉายหนังทิ้ง, เลื่อนหนังบางเรื่องไปฉายในปีถัดไป หรือไม่ก็ส่งลงบริการสตรีมิง หรือเปิดให้เช่าแบบดิจิตัล ซึ่งเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า เป็นวิวัฒนาการที่ไม่มีใครคิดถึง และเป็นไปด้วยอัตราเร่งที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง บรรดาเจ้าของโรงก็เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า อำนาจในการต่อรองของพวกเขาลดลงจากเดิมมหาศาล ถ้าพวกเขาอยากฉาย The Croods: A New Age หรือ Wonder Woman 1984 โรงหนังก็ต้องยอมรับว่า หนังเหล่านี้จะลงตลาดออนไลน์เร็วกว่าเมื่อก่อน พื้นฐานในการทำธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
“ถ้าไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้น คุณคงไม่ได้เห็นกรอบเวลาในการฉายโรงภาพยนตร์ล่มสลายอย่างที่เป็น” ไลซา บุนเนลล์ ประธานฝ่ายจัดจำหน่ายของโฟกัส พีเฌอร์ส กล่าว “ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ โรคระบาดบีบให้เราพยายามทำสิ่งต่างๆ ซึ่งในยามปกติแล้ว เป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้”
สำหรับสตูดิโอแบบเดิมๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการเล่นเกมหมากรุกสามมิติ แบบเดียวกับซีรีส์ Game of Thrones ในความหมายของความวุ่นวาย สับสน อย่างแท้จริง ข้าเก่าเต่าเลี้ยงล้มหายตายจาก พันธมิตรใหม่ๆ กำเนิดมาจากอดีตศัตรู การต่อสู้ไปอยู่ในสนามของการประชาสัมพันธ์ หลังเวลาผ่านไปหลายเดือน ยูนิเวอร์แซลเปลี่ยนตัวเองจากศัตรูคนสำคัญของโรงภาพยนตร์ ไปเป็นผู้กอบกู้ธุรกิจโรงหนัง และที่ลืมไม่ได้ วอร์เนอร์ บราเธอร์สทำตัวเองให้ตกเป็นตัวร้ายที่เลวพอๆ กับบรรดาเหล่าร้ายทั้งหลายบนจอภาพยนตร์ เมื่อพวกเขาประกาศว่าหนังทุกเรื่องในปี 2021 ของสตูดิโอ จะเปิดตัวพร้อมกันทั้งทางเอชบีโอ แม็กซ์ และในโรงหนัง ซึ่งก่อนหน้านั้นบรรดาโรงภาพยนตร์เพิ่งแห่แหนชื่นชมบริษัทว่าเป็นอัศวินม้าขาว สำหรับการตัดสินใจเปิดหนังย้อนเวลาของคริสโตเฟอร์ โนแลน Tenet บนจอใหญ่ในช่วงซัมเมอร์ ไทเรียน แลนนิสเตอร์ต้องต่อสู้เพื่อทำให้เกมอำนาจ, การวางแผน และการใช้กลยุทธต่างๆ ให้ผลเป็นเรื่องเป็นราว
ผู้เชี่ยวชาญในวงการล้วนเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง อย่างน้อยพวกเขาก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจภาพยนตร์ กำลังจะเป็นสิ่งที่อยู่ได้ยาวนานกว่าโรคระบาด
“สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นให้เราเห็น กำลังจะเดินหน้าต่อไป” เจฟฟ์ บ็อค นักวิเคราะห์บ็อกซ์ออฟฟิศของเอ็กซิบิชัน รีเลชันส์ ทำนาย “เมื่อเรามองย้อนกลับไปในปี 2020 เราจะเห็นว่านี่ไม่ใช่การเปิดเครื่องใหม่ แต่เป็นการสร้างรูปแบบธุรกิจโรงภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่”
แต่เรายังคงต้องมาดูกันว่า รูปแบบการจัดจำหน่ายหนังใหม่ๆ ของโลกจะเป็นอย่างไร สตูดิโอและเจ้าของโรงต่างรู้ดีว่า กำหนดการฉายโรงภาพยนตร์ 90 วันที่ถูกวางเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบนั้น ไม่มีอยู่อีกแล้ว และแทนที่จะเป็นการทำออกมาแบบเดียวแล้วใช้ได้หมด หลายๆ คนเชื่อว่า มันน่าจะเป็นกำหนดโดยสตูดิโอแต่ละสตูดิโอ หรือมีพื้นฐานแตกต่างกันไปตามหนังแต่ละเรื่อง หมายความว่า หนังอย่าง Fast & Furious หรือ F9 อาจจะฉายในโรงภาพยนตร์นานกว่า Bios หนังไซ-ไฟ/ ดรามาเรื่องใหม่ของทอม แฮงค์ส แม้จะเป็นหนังของค่ายยูนิเวอร์แซลทั้งคู่
“การสนทนาในประเด็นนี้ ยิ่งกว่าเปิดกว้าง” ชอว์น ร็อบบินส์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ของ BoxOffice.com กล่าว “ผมไม่คิดว่าจะมีการยึดติดกับกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ผมไม่เห็นว่าการที่หนังใหญ่ๆ จะมีกำหนดเข้า-ออกเป็นเวลาบ่อยๆ เป็นเรื่องจำเป็นอีกต่อไป” เขาเสริม โดยอ้างถึงการปล่อยหนัง Wonder Woman 1984 ออกฉายแบบผสมผสานกัน ว่า “จะเป็นมาตรฐานกลาง”
ยูนิเวอร์แซลเริ่มต้นทดสอบหลังการทำสัญญาครั้งประวัติศาสตร์กับเครือโรงภาพยนตร์ เอเอ็มซี, ซีนีมาร์ค และซีนีเพล็กซ์ เพื่อให้ทางสตูดิโอสามารถส่งหนังลงตลาดตามสั่งได้ ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ ยูนิเวอร์แซลยังหวังว่าจะทำสัญญาที่คล้ายๆ กันกับรีกัล เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐอเมริกาได้ โดยสิ่งที่โรงภาพยนตร์ได้กลับมา ก็คือส่วนแบ่งจากผลกำไรในตลาดดิจิตัล ยูนิเวอร์แซลให้เหตุผลด้วยว่า สัญญากับโรงภาพยนตร์ทำให้มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจมากขึ้นในระยะยาวสำหรับสตูดิโอ เพราะเป็นการทำธุรกรรมเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งแตกต่างจากบริการแบบสมัครสมาชิก ซึ่งเสนอรายการเป็นพันๆ เรื่องให้เลือกชม โดยคิดเงินเป็นรายเดือน
“เรารู้สึกว่า การทำธุรกิจของเรา เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่มีความยั่งยืนมากที่สุด” ปีเตอร์ เลวินซอห์น รองประธานของยูนิเวอร์แซลและหัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่าย คนที่ทำให้เกิดข้อตกลงระหว่าง เอเอ็มซี, ซีนีมาร์ค และซีนีเพล็กซ์ กล่าว “มันเป็นบางสิ่งที่ได้ผลสำหรับทั้งสองฝ่าย และสร้างระบบการทำธุรกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้น”
ปัญหาก็คือ เครือโรงภาพยนตร์ต่างๆ ตกลงทำสัญญานี้ก็เพื่อแข่งกับระเบิดเวลา เอเอ็มซีกำลังอยู่บนปากเหวของการล้มละลาย ต้องขายหุ้นและเจรจากับบรรดาผู้ให้เงินกู้ใหม่ เพื่อให้ตัวเองมีสภาพคล่อง แต่การเป็นหนี้เป็นเรื่องยุ่งยากและเป็นภาระ บางกรณีก็จำเป็นต้องมีการจ่ายคืน ซีนีมาร์คและซีนีเวิร์ลด์ที่เป็นเจ้าของรีกัลกู้เงินแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าปกติ แต่ถ้าขาดทุนก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน แต่ทั้งหมดล้วนเป็นเครือโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับธนาคาร ผิดจากบรรดาโรงภาพยนตร์อิสระ ที่ไม่มีทางออกให้ผู้ให้เงินลงทุนมากนัก และไม่สามารถต่อท่อหายใจ เพื่อทำให้ตัวเองสามารถผ่านช่วงโรคระบาดอันเลวร้ายไปได้
ในเวลาเดียวกัน บริษัทสื่อใหญ่ๆ ก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า พวกเขามองการท้าทายเน็ตฟลิกซ์เป็นวาระสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดิสนีย์ใช้เวลาร่วมๆ 4 ชั่วโมงในวันพบปะนักลงทุน เพื่อโชว์แผนที่เป็นการติดอาวุธให้กับดิสนีย์ พลัส, ฮูลู และบรรดาบริการสมัครสมาชิกอื่นๆ ของพวกเขา รวมถึงมีการปรับองค์กรในระดับบริหาร เพื่อที่จะไปที่ธุรกิจสตรีมิงได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันวอร์เนอร์มีเดีย และคอมแคสท์ ก็หว่านเงินเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญ เพื่อเสริมรายการให้กับเอชบีโอ แม็กซ์ และพีค็อก ตามลำดับ ส่วนเวียคอมก็กำลังเตรียมความพร้อมให้พาราเมานท์พลัส ซึ่งเป็นการปรับโฉมบริการสตรีมิงซีบีเอส ออล์แอคเซสส์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น สงครามสตรีมิงถูกประกาศเพิ่มมากขึ้นทั้งสนาม ทั้งผู้เล่น ในแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนที่ผ่านไป
สำหรับคนทำหนัง พวกเขาดูเหมือนเปลี่ยนไปสู่บริการใหม่ด้วยความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ เน็ตฟลิกซ์โชว์ว่าตัวเองมีหนังจากคนทำงาน อย่าง เดวิด ฟินเชอร์ (Mank), สไปค์ ลี (Da Five Bloods), จอร์จ คลูนีย์ (The Midnight Sky) และแอรอน ซอร์คิน (The Trial of the Chicago 7) ในปี 2020 และมีโอกาสที่ดีมากๆ ในการเปลี่ยนหนึ่งในหนังที่น่าสนใจเหล่านี้ให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ชนะบนเวทีออสการ์ ส่วนแอปเปิล, แอมะซอน และฮูลู ก็ตอบโต้ด้วยหนังใหม่ๆ จากผู้กำกับที่มีแนวทางเฉพาะตัว และคนทำหนังแถวหน้า อย่าง โซเฟีย ค็อปโปลา (On the Rocks), ซาชา บารอน โคเฮน (Borat Subsequent Moviefilm) และลี แดเนียลส์ (The United States vs. Billie Holiday) ซึ่งหนังบางเรื่องในกลุ่มนี้ ตอนแรกถูกเตรียมงานสร้างโดยสตูดิโอแบบเดิมๆ แล้วโรคระบาดก็ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนในการปล่อยหนังออกฉายตามโรง และผลลัพธ์ก็คือ ขายให้ได้ราคา
“พวกเขามีสมุดเช็ค แล้วก็มีสุนทรียะ” ฟินเชอร์พูดถึงเน็ตฟลิกซ์ ในการให้สัมภาษณ์ เมื่อฤดูใบไม้ร่วง “พวกเขาทำงานกับคนที่พวกเขาอยากทำงานด้วย ผมเคารพในเรื่องนั้น”
ถึงกระนั้น ฟินเชอร์ก็มองไปถึงการกำเนิดของระบบสตูดิโอที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยอิงจากผู้ให้บริการสตรีมิง ด้วยการเตือนถึงอันตรายของสถานภาพใหม่ๆ “ผมหวังว่า มันคงไม่รู้สึกเหมือนกับเป็นคลับอะไรสักอย่าง” เขากล่าว “ผมหวังว่ามันไม่น่าให้ความรู้สึกแบบ นี่คือคนทำหนังแบบแอมะซอน นี่คือคนทำหนังแบบเน็ตฟลิกซ์ และนี่คือคนทำหนังแบบแอปเปิล ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนกับการแยกย่อยที่ละเอียดจนเกินไป”
ถึงการชมภาพยนตร์ในบ้านจะมีความสะดวกสบาย แต่สตูดิโอในฮอลลีวูดก็ไม่คิดจะทิ้งธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่กำลังย่ำแย่ จากการพูดคุยกับบรรดาผู้บริหารในวงการภาพยนตร์ พวกเขาจะทำให้เชื่อว่า ผู้คนยิ่งกว่ากระหายการกลับไปใช้ชีวิตปกติในแบบเดิมๆ
“เราทุกคนเคยได้ยินเรื่องราวที่คล้ายๆ กัน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากโรคระบาดในช่วงศตวรรษที่ 20 (1918)” ทอม ร็อธแมน ประธานของโซนี พิคเฌอร์ส กล่าว “ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ เมื่อมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะก้าวออกจากบ้าน และอยู่ห่างๆ จากหน้าจอของเรา และไปสร้างประสบการณ์ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ”
แน่นอนว่า การกลับคืนสู่ภาวะปกติและใช้ชีวิตอยู่กับมัน อย่างการไปดูหนังเป็นประจำ ขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนโควิด-19 เป็นวงกว้างมากที่สุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่เชื่อว่า กว่าจะไปถึงตัวเลขที่ตั้งเอาไว้ ก็คงเป็นราวๆ ช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิหรือต้นๆ ซัมเมอร์
ซึ่งเฮอร์แมน โมสลีย์ เจ้าของโรงภาพยนตร์เซนต์หลุยส์ เครือโรงหนังเล็กๆ แถบตะวันตกกลาง อาจจะต้องหมดตัวจากการที่เปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ก่อนหน้าที่โรคระบาดจะยุติลง
“ผมคงไม่กลับมาเปิดโรงใหม่จนกว่าจะมั่นใจว่า สามารถดึงคนจำนวนมากพอจะสนับสนุนเราให้มีความเป็นไปได้ในเรื่องเศรษฐกิจ“ โมสลีย์ กล่าว “ผมเปิดโรงไปสองเดือน (ในช่วงซัมเมอร์) รายจ่ายของผมมากกว่ารายรับ ถ้าสัญญาเช่าของผมถึงกำหนด ผมก็คงล้มละลายไปแล้วเรียบร้อย”
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โรงภาพยนตร์ต้องมีการปรับปรุง และปรับตัวเพื่อดึงคนกลับเข้ามาในโรงภาพยนตร์ ผู้คนใช้เวลาในปีที่แล้วด้วยการชมภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องจากโซฟาในบ้าน ด้วยราคาเดียวกันกับดูหนังเรื่องเดียวในโรงภาพยนตร์ โดยค่าสมัครชมเอชบีโอ แม็กซ์ อยู่ที่ 15 เหรียญต่อเดือน ส่วนตั๋วชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในนิว ยอร์ค และลอส แองเจลีส อยู่ที่ 20 เหรียญ
“ผมกลัวว่าโรงภาพยนตร์ อยากจะไปสู่สถานภาพเดิมๆ เต็มแก่” คริส อารอนสัน ประธานฝ่ายจัดจำหน่ายในประเทศของพาราเมานท์ กล่าว “ผมเชื่อว่าคนอยากจะออกจากบ้าน แล้วดำเนินชีวิตตามปกติ แต่มันเป็นความไม่รอบคอบมากๆ สำหรับการคิดว่า เราสามารถทำทุกอย่างที่ต้องการได้ เจ้าของโรงภาพยนตร์อยากมองเห็นทุกเหลี่ยมมุมของธุรกิจพวกเขา เหมือน ๆ กับที่เรากำลังมองดูทุกแง่มุมของตัวเรา”
เท็ด โรเจอร์ส เจ้าหน้าที่วางโปรแกรมฉายที่แร็กแท็ก ซีนีมา โรงภาพยนตร์อิสระที่ไม่หวังผลกำไรในโคลัมเบีย, มิสซูรี เห็นด้วยกับอารอนสัน เขาเข้าใจว่า การฉายหนัง Jurassic World ภาคต่อเรื่องต่อไป ไม่เพียงพอที่จะทำให้เครื่องเก็บเงินส่งเสียงดังได้ เขายังต้องมองหาวิธีสร้างความเข้มแข็งให้กับความผูกพันระหว่างลูกค้าและโรงภาพยนตร์ที่เขาดูแล
“ผมคิดว่า มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่โรงหนังอาร์ตเฮาส์ ทำมาจนถึงตอนนี้ การพูดโดยตรงกับผู้ชม ไม่ใช่การโปรแกรมฉาย เพื่อให้มีตัวหารรายได้น้อยที่สุด” โรเจอร์กล่าว “นั่นคือสิ่งที่ทำให้คนดูพอใจ ไม่ใช่แค่ฉายหนังไปวันๆ แต่สร้างพื้นที่ให้กับชุมชนด้วย”
ซึ่งคำตอบสำหรับอนาคตของโรงภาพยนตร์ก็อยู่ที่ตรงนี้ คุณตรงไปตรงมากับคนซื้อตั๋ว และสร้างความผูกพันกับพวกเขาบ้างหรือเปล่า?
โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง 2020 ปีที่โลกเปลี่ยนฮอลลีวูด และภาพยนตร์ชั่วนิรันดร์ จากคอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1320 ปักษ์หลังมกราคม 2564