FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

เช็คความยอดตรวจสอบความเยี่ยมของ 15 อัลบัมจาก Queen วงดนตรีเจ้าของฉายา ราชาในนามราชินี

Queen หนึ่งในวงดนตรีอมตะ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากมายมหาศาลในช่วงยุค 70 และ 80 แม้เวลาจะผ่านไป บทเพลงของพวกเขายังคงได้รับความนิยมเสมอมา และนี่คือการหยิบเอาอัลบัมของพวกเขาทั้งหมด 15 ชุดมาดูกันว่า งานชุดไหนที่เยี่ยมที่สุด และงานชุดไหนที่ดูด้อยค่ากว่างานชุดอื่นๆ โดย มัลคอล์ม โดม จาก teamrock.com ถือเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนการแสดงสดของพวกเขาในบ้านเรา 30 กันยายนนี้ (2016) ที่วงได้อดัม แลมเบิร์ต มาร้องนำแทนเฟร็ดดี เมอร์คิวรี่ผู้จากไป

15. Made In Heaven (Parlophone, 1995): ออกมาหลังการจากไปของเฟร็ดดี เมอร์คิวรี ซึ่งเจ้าตัวร้องและเล่นเปียโนในอัลบัมชุดนี้เอาไว้หลายเดือนก่อนจะเสียชีวิต แล้วไบรอัน เมย์กับจอห์น ดีคอน และโรเจอร์ เทย์เลอร์ ก็มาจัดการทำให้เพลงเหล่านั้นเสร็จเรียบร้อย แต่ถึงจะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ และแรงกระตุ้นในการทำงานเพื่อให้อัลบัมเสร็จออกมา แต่อัลบั้มในภาพรวมก็ดูขาดความเชื่อมโยงกัน และฟังสับสน มีเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความเป็นควีน อย่าง A Winter’s Tale และ You Don’t Fool Me แต่โดยรวมๆ แล้วอัลบั้มเหมือนเป็นการระบายความรู้สึกของสมาชิกทั้งสามคนที่เหลือ มากกว่าจะเป็นการเติมเต็มการทำงานเพื่อแฟนๆ

14. Hot Space (EMI/Parlophone, 1982): ไม่มีงานชุดไหนของควีนที่แป๊กสุดๆ จะมีก็แค่งานที่น่าผิดหวัง และหนึ่งในนั้นก็คือ Hot Space ที่กลายเป็นงานที่น่าโดนประณาม เมื่อควีนริจะพาตัวเองไปอยู่ในตลาดเพลงเต้นรำ และความพยายามในการทำเพลงรูปแบบนี้ออกมาของพวกเขาในอัลบั้มชุดนี้ กลายเป็นเสื้อผ้าที่เหมือนถูกเย็บแปะ ตัดชุนเข้าด้วยกัน โดยขาดความกลมกลืน
 แต่ปัญหาใหญ่ของอัลบั้ม ไม่ใช่เรื่องของสไตล์ดนตรี แต่เป็นการแต่งเพลง ยกเว้นงานชั้นเยี่ยมอย่าง Under Pressure (ที่ได้เดวิด โบวีมาร่วมร้อง) และ Body Language ที่ชวนหูเหลือเกิน เพลงที่เหลือในอัลบั้ม ล้วนให้ความรู้สึก ‘ต่ำ’กว่ามาตรฐานที่แฟนๆ ของวงจะชอบใจ

13. Flash Gordon (EMI/Parlophone, 1980): อัลบั้มซาวนด์แทร็คของหนังที่ดูเอะอะมะเทิ่ง ชื่อเดียวกัน และก็ทำออกมาได้อย่างที่ตัวหนังเป็น ในแง่ของดนตรี ควีนทำออกมาได้ดี แต่ปัญหาคือ หากไม่มีภาพมาช่วย ตัวเพลงก็สร้างความรู้สึกอะไรให้กับคนฟังได้ไม่มากนัก แล้วเกือบทั้งหมดก็เป็นเพลงบรรเลง ซึ่งคาดกันได้อยู่แล้วสำหรับอัลบั้มซาวนด์แทร็ค มีแค่ Flash’s Theme และ The Hero ที่มีเนื้อเพลง ซึ่งเพลงแรกก็กลายเป็นเพลงที่รู้จักกันดีมาจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นการสรุปถึงธรรมชาติของหนังที่ออกมาจริงจัง แต่ดูน่าขัน อัลบั้ม Flash Gordon ไม่ต่างไปจากตัวละครบนจอที่ได้ชม มันเป็นงานที่ฟังออกจะครื้นเครง แต่เกิดจากการทำงานอย่างหน้าดำคร่ำเครียด

12. The Game (EMI, 1980): การทำงานกับแม็ค เอ็นจิเนียร์ชาวเยอรมัน ทำให้ควีนมีโอกาสที่จะขยับขยายซาวนด์ดนตรีของพวกเขา และเอาอิทธิพลดนตรีอิเล็กทรอนิกใส่เข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นสร้างความโดดเด่นมากขึ้น ถ้าอยู่ในอัลบั้ม Hot Space แต่พวกเขาทำได้ดีกว่านั้น เมื่อใส่เข้ามาแบบไม่โฉ่งฉ่างในอัลบั้มชุดนี้ และผลลัพธ์ก็คือเพลงเด่นๆ อย่าง Another One Bites The Dust, Save Me และ Crazy Little Thing Called Love แล้วก็ยังมีอีกหลายเพลง ที่ห่างไกลจากการเป็นเพลงที่ใส่เข้ามาให้เต็มๆ อัลบั้ม เช่น Dragon Attack และ Rock It (Prime Jive) ที่อาจเป็นเพลงที่ถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมากที่สุดของควีน The Game เป็นงานที่พาวงไปสู่ยุคใหม่ แม้งานที่ออกตามมาจะตกรางก็ตามที

11. A Kind Of Magic (EMI/Parlophone, 1986): ว่ากันตรงๆ อัลบั้มชุดนี้ก็คืองานซาวนด์แทร็ค เหมือนๆ Flash Gordon เพราะ 6 เพลงจากอัลบั้มจะไปอยู่ในหนัง Highlander และถึงจะไม่ได้แต่งเพลง หรือบันทึกเสียงเพื่อทำเป็นอัลบั้มซาวนด์แทร็ค มันก็ต้องเป็นไปโดยอัตโนมัติ สไตล์ของเพลงนั้นแทบจะกวาดความโดดเด่นของดนตรีร็อคเข้ามารวมกัน ซึ่งแสดงให้เห็นจุดแข็งของวงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และไม่ว่าพวกเขาจะแตะอะไร ทำแบบไหน ก็ยังออกมาดูโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ อย่างที่พวกเขาควรเป็น เพลงอย่าง A Kind Of Magic, One Vision และ Who Wants To Live Forever กลายเป็นเพลงอมตะของควีนอย่างรวดเร็ว ส่วนเพลงเปียโนบัลลาด Friends Will Be Friends และเพลงหนักๆ อย่าง Princes Of The Universe ก็ยากที่จะนั่งฟังเฉยๆ โดยไม่รู้สึกอะไร

10. The Miracle (Parlophone, 1989): ทีแรกอัลบั้มชุดนี้ จะใช้ชื่อว่า The Invisible Men ซึ่งไม่น่าจะเหมาะกับวงที่ใครๆ ก็รู้จักอย่างพวกเขา การผสมผสานสไตล์ และแนวเพลงต่างๆ ในงาน มีตั้งแต่เพลงชื่อชุด ที่เป็นงานโพรเกสสีฟ ไปจนถึงงานป็อปฟังเอิกเกริกอย่าง I Want It All และเพลงอีเล็คโทร ฟังก์ The Invisible Man (ซึ่งมีการพาดพิงถึงสมาชิกทั้งสี่คนในเนื้อร้อง), Scandal ก็เป็นเพลงที่น่าจดจำ ซึ่งเมย์เขียนตำหนิสื่ออังกฤษ ที่เกาะติดความสัมพันธ์ของเขากับอนิตา ด็อบสัน รวมไปถึงวิธีที่สื่อปฏิบัติต่อเฟร็ดดี ที่กำลังต่อสู้กับโรคเอดส์ แม้จะมีซาวนด์ของซินธิไซเซอร์ห่อหุ้มไว้ ความเยี่ยมยอดก็ยังคงเป็นเสียงร้องอันน่าทึ่งของเมอร์คิวรี และงานกีตาร์ที่สะกิดอารมณ์ของเมย์ สไตล์ต่างๆ ก็เข้ากันได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องมานั่งห่วงกังวลกัน

9. Innuendo (Parlophone, 1991): อัลบั้มชุดสุดท้ายจริงๆ ของวง เป็นงานที่มีทั้งอารมณ์ขันและความโศกเศร้าในตัว เช่น Delilah เพลงที่ว่าด้วยแมวของเมอร์คิวรี ส่วน I’m Going Slightly Mad ก็เป็นเรื่องของความบ้าคลั่ง แต่นำเสนอออกมาในสไตล์ของโนเอล โควาร์ด (นักเขียนบทละครชาวอังกฤษ) เพลงไทเทิล มีสตีฟ โฮว์ เป็นแขกรับเชิญ ที่เริ่มต้นด้วยการแจมก่อนจะเปิดไปสู่ตัวเพลงที่ฟังลื่นไหล ซึ่งมีซินธิไซเซอร์ที่เรียบเรียงแบบออเคสเตรชันใส่เข้ามา บางทีเพลงที่คมคายที่สุด แต่คนมักมองข้าม ทั้งที่เป็นเพลงที่น่าสนใจ คงไม่พ้น These Are The Days Of Our Lives ซึ่งจบด้วยเสียงกระซิบเบาๆ ของเมอร์คิวรี “I still love you” ที่ดูเรียบง่าย นี่คืองานที่แสดงให้เห็นว่า ควีน สามารถดึงผู้คนเข้ามาใกล้ได้แค่ไหน และยังคงรักษาระยะห่างที่จำเป็นเอาไว้ด้วย

8. The Works (EMI/Parlophone, 1984): อัลบั้มที่น่าพึงพอใจมากๆ กับการที่ทางวงย้อนกลับทำงานบนรากดนตรีฮาร์ด ร็อค และทำออกมาได้อย่างลงตัว โดยไม่เสียความเป็นอิเลคโทรป็อป และฟังก์ ที่พวกเขาอ้าแขนรับมาในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า การเป็นพันธมิตรของดนตรีถูกนำเสนอออกมาอย่างกลมกลืน นุ่มนวล บางทีการพักเบรคหลังอัลบั้ม Hot Space อาจจะเป็นการจุดไฟในตัวของพวกเขา ที่นำไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร The Works คืองานที่ใช่ Hammer To Fall คือเพลงที่กลับไปหาเสียงกีตาร์แน่นๆ อย่างมีชีวิตชีวา I Want To Break Free ก็เป็นเพลงป็อปร็อคกลางยุค 80 ที่สมบูรณ์แบบมากๆ ด้วยวิดีโอที่น่าทึ่ง ซึ่งได้เห็นพวกเขาถูกลากทึ้ง และ Radio Ga Ga ก็คือ…. Radio Ga Ga เพลงอื่นๆ ในอัลบั้มก็เป็นงานชวนหูทั้งนั้น นี่คืออัลบั้มที่วงค้นพบความปรารถนาที่จะมาอยู่ตรงหัวแถวอีกครั้ง

7. News Of The World (EMI/Parlophone, 1977): เป็นอัลบั้มที่มีสองเพลงตำนาน We Are The Champions และ We Will Rock You ซึ่งถูกผนึกเข้ากับโครงสร้างทางสังคม จนหลายๆ คนลืมที่มาของมันไป แต่ต่อให้จำได้ ก็ง่ายมากที่จะคิดไปว่า อัลบั้มนี้มีดีแค่สองเพลง และไม่มีอะไรอีกแล้ว ทำให้อัลบั้มหมดค่าไปซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ยังมีไฮไลท์อีกหลายต่อหลายเพลง เช่น Sheer Heart Attack ซึ่งทางวงทำเสร็จไม่ทันใส่ไว้ในอัลบั้มชื่อเดียวกัน, Spread Your Wings และ Get Down. Make Love นี่คืออัลบั้มในยามที่วงสดทั้งจิตใจและร่างกาย แล้วก็ฟังได้ทั้งชุด ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า ควีนไม่เคยหยุดนิ่ง และทำซ้ำความสำเร็จเดิมๆ

6. Queen II (EMI, 1974): ว่ากันว่านี่คืออัลบั้มที่ ‘หนัก’ ที่สุดของควีน เมื่อมีเพลงทางเมทัลอย่าง Ogre Battle, The March Of The Black Queen ก็เป็นงานโพรเกรสสีฟ-ร็อค, เพลงฟังติดหูแบบหลอนๆ Father To Son และ Nevermore งานบัลลาดชั้นเยี่ยม กับสไตล์เพลงงานชุดนี้ไม่มีอะไรผิดจากอัลบั้มเปิดตัวที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม แล้วยังสัมผัสได้ถึงความพยายามหลุดจากปัญหาอาถรรพ์อัลบั้มหมายเลขสอง Queen II ยังถูกมองว่าเป็นการจบเฟสแรกในการทำงานของวง เมื่อพวกเขาพารากดนตรีร็อคและเมทัลของตัวเอง ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ แล้วมองหาจุดเปลี่ยนเพื่อขยายขอบเขตการทำงานของตัวเอง บางทีอาจจะเพราะเหตุผลนี้ ที่ทำให้อัลบั้มไร้ชีวิตชีวา, ขาดความโดดเด่น และความเจ๋งเป้งในแบบควีน รวมไปถึงความกล้าหาญที่อัลบั้มต่อจากนี้อย่าง Sheer Heart Attack มี

5. A Day At The Races (EMI, 1976): วงดนตรีหลายๆ วงที่ทำอะไรได้สัก 10% ที่ควีนทำได้ในงานชุดนี้ น่าจะนั่งพักบนความสำเร็จที่ได้รับ แล้วก็ทำงานตามน้ำไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ควีน แค่การเปิดอัลบั้มด้วยฟันฟาร์ที่นำไปสู่เพลงที่จัดหนักกันตั้งแต่แรก Tie Your Mother Down แฟนเพลงรู้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่งานตามหลังความสำเร็จของ A Night At The Opera แบบสุกเอาเผากิน, Somebody To Love ก็น่าสนใจ ด้วยเสียงร้องประสานในแบบกอสเพล, Good Old Fashioned Lover Boy ก็อีกครั้งที่วงเป็นหนี้โนเอล โควาร์ด และ White Man ก็คือการเล่าเรื่องการเมืองเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอเมริกัน ควีนยังสร้างความประหลาดใจได้อีกจาก Teo Torriatte ซึ่งมีเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นในเพลง กับการเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ทำให้พวกเขามีสิทธิ์สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างที่เห็น

4. Jazz (EMI, 1978): งานที่ถูกวิพากษ์-วิจารณ์อยู่บ่อยๆ ในเรื่องความแปลกและลักษณะเฉพาะของงาน สำหรับแฟนเพลงโดยทั่วๆ ไป แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น Jazz ก็มีหลายๆ เพลงที่น่าพึงพอใจมากๆ สำหรับการทำงานของควีน ชื่ออัลบั้มเองก็เป็นยิ่งกว่าการบอกว่า ตอนนี้ทางวงอยากจะทำเพลงแบบไหนก็ทำได้ และ Jazz ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนแบบสุดขั้วของวงเช่นกัน ในอัลบั้มมีเพลงที่เป็นอารมณ์ขันแบบตะวันออกกลาง เช่น Mustapha, ส่วน Fat-Bottom Girls ก็ทำให้พวกผู้ชายหัวงูกลายเป็นตัวตลก และ Bicycle Race ก็มีสองความหมายสองนัย ส่วน Don’t Stop Me Now ไม่ต่างไปจากเพลงละครบรอดเวย์ที่โคล พอร์เตอร์ไม่เคยแต่ง, Fun It เป็นเพลงมาพร้อมงานดิสโก แล้ว Dreamers Ball ก็ราวกับเพลงที่ส่งตรงมาจากฮอลล์ใหญ่ๆ Jazz ไม่ใช่อัลบั้มร็อค แต่ด้วยจิตวิญญาณของมัน ก็สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า ไม่มีใครเข้าใจมันได้ดีกว่าควีน ที่รู้ดีว่าดนตรีร็อคควรจะเป็นยังไง

3. Sheer Heart Attack (EMI/Parlophone, 1974): งานชุดที่สามของควีน ที่ได้เห็นพวกเขาพัฒนาสไตล์เพลงของตัวเองให้หลากหลายมากขึ้น โดยเพลงที่รากเป็นดนตรีฮาร์ดร็อค Brighton Rock, Killer Queen และ Stone Cold Crazy อยู่ท่ามกลางงานเพลงเร้าอารมณ์ ที่โดนที่สุด ที่เจ๋งที่สุดท่าที่ควีนเคยบันทึกเสียงกันมา ขณะที่ Tenement Funster ของโรเจอร์ เทย์เลอร์ เป็นการสดุดีแบบเหนือชั้นถึงการเป็นขบถในวัยเยาว์ ทางวงก็แหย่เท้าของพวกเขาไปในขอบเขตของงานบัลลาดด้วย Dear Friend และ Lily Of The Valley แล้วก็มีเพลงที่สร้างความแตกต่างด้วยงานดนตรีแคริบเบียน Misfire และสัมผัสของดนตรีแร็กไทม์ใน Bring Back That Leroy Brown ส่วน In The Lap Of The Gods… Revisited ก็คือเพลงมหากาพย์ที่กลายเป็นเพลงโปรดบนเวทีคอนเสิร์ต Sheer Heart Attack เป็นอัลบั้มที่มีทั้งความสนุก และทัศนคติในแบบที่ชื่อชุดว่าเอาไว้ และในอีกหลายปีต่อมา ก็กลายเป็นอัลบั้มที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของวงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งควีนรู้ดีว่า พวกเขาอยู่บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น

2. Queen (EMI/Parlophone, 1973): ความสำเร็จแบบงานดนตรีฮาร์ด ร็อค ที่ต่างไปจากงานชุดอื่นๆ ที่ออกมาในเวลานั้น และยังเป็นจุดเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่าง ความลับของมัน บางทีอาจเป็นเสียงจากกีตาร์ทำเองของไบรอัน เมย์ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว บางทีอาจเป็นเพราะโปรดัคชันอลังการของรอย โธมัส เบเกอร์ หรือเสียงร้องอันโฉบเฉี่ยวของเฟร็ดดี เมอร์คิวรี แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร Queen ก็คือหนึ่งในอัลบั้มน่าทึ่งที่โผล่พรวดขึ้นมา ตัวงานเต็มไปด้วยพลัง, มิติ และความตื่นตาที่มากเกินกว่าจะนั่งฟังเฉยๆ แล้วพอใจกับท่วงทำนองที่ได้ยิน การแสดงก็โอ่อ่า ตระการตา เพลงในอัลบั้ม… นอกจากจะเริ่มต้นด้วยเพลงที่แข็งแกร่ง Keep Yourself Alive ที่แทบจะทำให้เข่าอ่อนและแทบหายใจไม่ออก ก็ยังมี Great King Rat, Son & Daughter, Liar แล้วก็ปิดด้วยเพลงบรรเลงสั้นๆ Seven Seas Of Rhye ซึ่งทั้งหมดคือเพลงที่เป็นตำนาน

1. A Night At The Opera (EMI/Parlophone, 1975): ใช่ นี่แหละอัลบั้มที่มีเพลง Bohemian Rhapsody เพลงร็อคที่ถูกนำไปเล่นและวิเคราะห์มากที่สุดตลอดกาล และเป็นเพลงที่ไม่มีใครที่สติสตังยังดีๆ กล้าจะคัฟเวอร์ นอกจากวง Bad News, Fuzzbox และ เอเลน เพจ แต่นี่ก็เป็นแค่หนึ่งในอัญมณีที่อยู่บนมงกุฎที่ประดับไปด้วยเพชรนิลจินดาล้ำค่ามากมาย Opera คืออัลบั้มที่ควีนนำเสนอความหลากหลายออกมา ถ้าอยากฟังเมทัล ก็เปิด There’s Death On Two Legs และ Sweet Lady ป็อปเหรอ? ก็ต้องเป็น I’m In Love With My Car กับ You’re My Best Friend ส่วนเพลงรื่นๆ รมย์ๆ ก็คงเป็น Seaside Rendezvous และ Lazing On A Sunday Afternoon กระทั่งโพรเกรสสีฟก็มีให้ฟัง อย่างที่ได้ยินใน 39 ก่อนที่จะจบอัลบั้มด้วย God Save The Queen ซึ่งเป็นเพลงที่อัตตา, การอวดอ้าง และการล้อตัวเอง ขัดแย้งกันอย่างลงตัว

จากเรื่อง เช็คความยอดตรวจสอบความเยี่ยมของ 15 อัลบั้มจาก Queen คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 1-2, 8-9 กันยายน 2559

ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.