16 ปีระหว่างงานชุดแรกของ Black Sabbath และอัลบัมชุดที่ 3 ของ Metallica ‘Master of Puppets’ ปกอัลบัมวงเมทัล มักจะเป็นภาพสัตว์ประหลาด, เลือด, ความโหดร้ายทารุณ, หญิงสาวเรือนร่างเปล่าเปลือย และในกรณีของวง Manowar เป็นภาพเปลือยครึ่งท่อนของชายหนุ่ม กระทั่งอัลบัม 2 ชุดแรกของเมทัลลิกาเอง ก็ดูเหมือนกับโปสเตอร์ของหนังสยองขวัญ
การเมืองและความยุติธรรมทางสังคม เป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอโดยพวกพังก์ วง อย่าง X และ the Clash เป็นผู้นำในเรื่องนี้ เมทัลคือเรื่องของเทพและปีศาจ การใช้ชีวิตหลังเที่ยงคืน แล้วก็ร็อคกันจนพระอาทิตย์ขึ้น แต่เมทัลลิกาแตกต่าง ในสองอัลบัม ‘Kill ‘Em All’ และ ‘Ride the Lighting’ เนื้อเพลงของเจมส์ เฮ็ตฟิลด์ เริ่มวิวัฒนาการจากงานเมทัลเดิม ๆ อย่าง “Phantom Lord” ไปสู่การตั้งคำถามถึงโทษตัดสินประหารชีวิต ในเพลงที่เป็นชื่ออัลบัม ‘Ride the Lightning’
ปกอัลบัม ‘Master of Puppets’ แสดงให้เห็นถึงระดับความหยั่งรู้ทางการเมืองที่มากขึ้น ป้ายห้อยคอ หมวกเหล็ก แขวนอยู่เหนือหลุมศพของสุสานทหาร แผ่นจารึกแต่ละแผ่นมีเชือกโยงไปยังเงารูปมือของนักเชิดหุ่นที่มองไม่เห็นหน้า สุสานไร้ชื่อที่หลุมศพเรียงเป็นแนวอย่างเป็นระเบียบ บรรดาทหารนิรนามต่างแสดงความเคารพต่อการเสียสละของพวกเขา หากก็ไม่มีใครทุกข์ร้อนกับหลุมศพที่เพิ่มมากขึ้น แสงอาทิตย์ยามอัสดงทำให้รู้สึกถึงความตายและการถูกทอดทิ้ง
ย้อนกลับไปในปี ’88 เฮ็ตฟิลด์บอกในการให้สัมภาษณ์ว่า เพลงที่เป็นชื่ออัลบัม “Master of Puppets” เกี่ยวกับ “การที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป แทนที่เราจะควบคุมสิ่งที่เรามีและกำลังทำ กลับกลายเป็นยาที่ควบคุมคุณ” ยาก็คือนักเชิดหุ่น ที่ทำให้เกิดภาพมายาทางจิต ที่กระทั่งคนธรรมดา ๆ ทั่ว ๆ ไปก็เลี่ยงไม่พ้น แล้วมุมมองที่ซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องราวทางทหาร กลายมาเป็นภาพปกอัลบัมได้ยังไง?
จอห์นนี มอร์แกนและเบน ว็อดเดิล ผู้เขียนหนังสือ ‘The Art of the LP’ ให้ความเห็นว่า “อาร์ตเวิร์กของอัลบัมเป็นความคิดของวง กับปีเตอร์ เมนสช์ ผู้จัดการวง และห่างไกลจากความคลุมเครือ” แต่ถ้าเนื้อร้องของเฮ็ตฟิลด์เป็นเรื่องของการติดยา ภาพปกอัลบัมก็คือความคลุมเครือ อย่างน้อยก็จนกระทั่งใครบางคนสังเกตเห็นความเป็นไปได้ว่า ปกอัลบัมชุดนี้ผูกกับเพลงในอัลบัม มากกว่าหนึ่งเพลง หนึ่งในนั้นก็คือ เพลงที่ 5 “Disposable Heroes” ที่เปิดด้วยคำร้องว่า
“Bodies fill the fields I see, hungry heroes end. No one to play soldier now, no one to pretend. Running blind through killing fields, bred to kill them all. Victim of what said should be. A servant ’til I fall”
ซึ่งบางที ทำให้ความลึกลับของอัลบัมชุดนี้ ถูกไขให้กระจ่าง
จิตรกรที่วาดภาพปกอัลบัมคือ ดอน บรอติแกม มือวาดภาพประกอบจากสถาบันศิลปะด้านภาพ (School of Visual Arts) ที่ได้รับการยอมรับจากในนิวยอร์ก บรอติแกมทำงานเป็นคนวาดภาพในเชิงธุรกิจมานานกว่า 15 ปีก่อนอัลบัมนี้จะเป็นตัว เขาออกแบบทั้งปกและหนังสือที่มากับอัลบัม แล้วก็วาดภาพประกอบให้นิตยสารและโฆษณาต่าง ๆ ก่อนจะวาดภาพปกอัลบัม ‘Master of Puppets’ งานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขา คงเป็นปกนิยายเรื่อง ‘The Stand’ ของสตีเฟน คิง เมื่อปี 1980 ซึ่งคว้ารางวัลปกยอดเยี่ยมแห่งปี จากกลุ่มผู้ค้าที่เรียกตัวเองว่า มาร์เก็ตติง เบสต์เซลเลอร์ส (Marketing Bestsellers)
“ถ้าคุณมองเข้าไปใกล้ ๆ บริเวณมุมล่างของภาพ คุณจะเห็นชื่อของผม ‘ดี.บี.’ อยู่ในพงหญ้า” จิตรกรและมือวาดภาพประกอบระดับโลก ที่อยู่เบื้องหลังภาพ ฝันร้ายที่สุสานอาร์ลิงตัน บนหน้าปกอัลบัมเมื่อปี 1986 ของ Metallica กล่าว “ผมหวังว่าตัวเองจะจำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ผมเดาเอาว่า คุณก็คงหยุดเก็บบันทึกอะไรเอาไว้ หลังจากวาดร้อยภาพไปแล้ว หรือมากกว่านั้น!”
บรอติแกม เป็นเจ้าเครดิตภาพประกอบมากมาย ว่ากันว่าเขารับงานถึงกว่า 3,000 ชิ้น หากนับย้อนไปตั้งแต่ปี 1972นอกจากปก ‘The Stand’ ของสตีเฟน คิง ยังมีปกหนังสือ ‘Dragon Tears’ ของดีน คูนต์ซ และ ‘The Island of Dr. Moreau’ ของเอช.จี. เวลล์ส ส่วนงานในแวดวงดนตรีร็อคและเมทัล ฝีมือของเขาพบได้บนปกอัลบัม อย่าง ‘Dr. Feelgood’ ของ Mötley Crüe, Among the Living’, ‘State of Euphoria’ และ ‘Persistence of Time’ ของ Anthrax, ‘The Ritual’ ของ Testament, ‘The Payback’ ของเจมส์ บราวน์, อัลบัมชุดแรกของเอซ เฟรห์ลีย์ ‘Comet’ และ ‘The Razor’s Edge’ ของ AC/DC
ปกอัลบัมเหล่านี้มีจุดร่วมเดียวกันก็คือ การใช้สีที่จัดจ้าน และภาพที่ดึงดูดความสนใจ
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนทำให้งานอื่น ๆ ที่เขาทำให้เมทัลลิกาเป็นของแปลก อย่างน้อย ๆ ก็งานที่ใช้ชื่อวงเป็นชื่อชุดเมื่อปี 1991 ที่แฟน ๆ เรียกว่า “ปกดำ” ก็มีบรอติแกมอยู่เบื้องหลัง
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องง่ายในการทำความเข้าใจว่า ทำไมรายละเอียดของภาพที่บรอติแกมวาดในเดือนธันวาคม1985 ถึงได้ ฟิ้ว… หายวับไปกับตา
อะไรบ้างที่บรอติแกมพอจะจำได้ มีน้อยก็ถือว่าดีกว่าไม่มี ช่วงเวลากลาง ๆ ปี ’85 เขารับงานจากทีมจัดการของเมทัลลิกา ในการวาดภาพเพื่อทำเป็นปกอัลบัมชุดที่ 3 ของวง ที่ตอนนี้กลายเป็นอัลบัมยอดขายหลายแผ่นเสียงทองคำขาว ซึ่งมีเพลงแธรชคลาสสิกอย่าง “Battery”, เพลงไทเทิล แทร็ค และ “Welcome Home (Sanitarium)” โดยอัลบัมชุดนี้ ยังเป็นงานชุดสุดท้ายที่คลิฟฟ์ เบอร์ทัน ทำงานร่วมกับวง ก่อนจะเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าในอุบัติเหตุรถบัสตกถนน 6 เดือนหลังอัลบัมวางจำหน่าย
บรอติแกมใช้สีอะครีลิกทาลงไปบนแผ่นโฟโตบอร์ด ผสมกับการลงสีด้วยแอร์บรัช ซึ่งงานในส่วนหลังนี่เอง ที่ทำให้ภาพเหมือนอยู่ในห้วงฝัน โฟกัสดูนวล ๆ โดยใช้เวลา 3 วัน ขณะที่สลับไปจัดการกับภาพที่รับงานมาภาพอื่น ๆ “เมื่อคุณมีงานระดับท็อปเข้ามาในมือมาก ๆ อย่างที่ผมเจอ คุณถูกบีบให้ต้องทำงานด้วยความสาหัสสากรรจ์ แต่คาดหวังว่าจะต้องได้งานที่ดีออกมา โดยเป็นอย่างอื่นไม่ได้”
มีข้อมูลบางแหล่งบอกว่า เขาทำงานจากภาพวาดของเฮ็ตฟิลด์ แต่สิ่งที่ไม่มีใครโต้เถียงก็คือ คุณภาพของงานที่เสร็จสมบูรณ์ ในหนังสือ ‘Fade to Black’ มาร์ติน โปปอฟ บอกว่า ภาพนี้ “ให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง และการใช้สีที่โดดเด่นกระทบอารมณ์ ได้อย่างสวยงาม และทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสีขาวบริสุทธิ์ของไม้กางเขน และเฉดที่หลากหลายของสีน้ำตาล ทั้งในด้านบนและด้านล่างของภาพ” โดยหนังสือ ‘The Art of Metal’ บอกว่าภาพนี้ “โคตรโดน”
ที่น่าสนใจก็คือ บรอติแกมไม่เคยได้ฟังเพลงแม้แต่เพลงเดียว ก่อนจะลงมือวาดภาพ “ถึงเป็นไปได้ว่า ผมอาจจะเคยฟัง แต่ผมจำไม่ได้เลยว่า ได้แผ่นล่วงหน้าจากการบันทึกเสียงมาฟัง” เขาเล่า “แต่ผมก็ต้องพูดว่า หมวกเหล็กนั่น มีความเชื่อมโยงกับเพลง เพราะว่าวงดนตรีมักจะมีข้อมูลให้มาสำหรับเป็นไอเดียในการใช้ภาพ ซึ่งในกรณีนี้ ผมมั่นใจว่า มันไม่ใช่ไอเดียของผมแน่ ๆ”
แล้วอะไรที่เกิดขึ้นต่อ? ความสำนึกทางการเมืองปกคลุมไปทั่วปกอัลบัมศิลปินแธรชเมทัล โดยเฉพาะงานที่ออกหลังจาก ‘Master of Puppets’ ไม่ว่าจะเป็นงานของเมทัลลิกาเอง ‘…And Just For All’ งานของเดฟ มัสเทน อดีตสมาชิกที่ถูกเตะโด่งจากวง ในนาม Megadeth ‘Peace Sells…But Who’s Buying?’ ซึ่งออกมาหลังจาก ‘Master of Puppets’ แค่ 3 เดือน
ภาพต้นฉบับถูกซื้อไปโดย จอนกับมาร์ชา ซาซูลา แห่งค่ายเพลงเมกาฟอร์ซ ที่จัดจำหน่ายงานชุดแรกของเมทัลลิกา ‘Kill ‘Em All’ เมื่อปี 1983 ที่คงจะมีการเปลี่ยนมืออีกหลายครั้ง ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายน 2008 สถาบันประมูลคริสตี จะขายภาพนี้ขนาด 17X17 นิ้ว ไปในราคา 35,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยภาพจัดอยู่ในหมวด “พังก์/ ร็อค” ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แต่ก็น่าคิดเหมือนกันว่า มันแสดงให้เห็นถึงบทบาทของปกอัลบัมชุดนี้ ที่สามารถนำสปิริตแบบพังก์ มอบให้กับชุมชนคนเมทัลได้อย่างลงตัว
น่าเสียดายที่บรอติแกม ไม่ได้เห็นปกอัลบัมที่ได้รับการยกย่องอย่างมากของเขา ถูกเปลี่ยนมือด้วยราคาที่สูงส่ง เพราะเขาจากไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2008 หลังสู้กับมะเร็งกระเพาะอาหารมาพักใหญ่
แต่อย่างน้อยในช่วงเวลาที่ยังมีลมหายใจ ‘Maters of Puppet’ คือภาพที่ทำให้บรอติแกมมีความสุด เมื่อเป็นหนึ่งในภาพที่เขาชอบที่สุด จากบรรดาภาพปกสารพัดที่เขาทำให้ “มันทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก เวลาได้เห็นภาพที่ผมทำมานานเป็นทศวรรษ ไปปรากฏอยู่บนเสื้อยืด และโปสเตอร์ ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก” เขาเล่า “ผมหวังว่า มันจะมีบางสิ่งเกิดขึ้นกับภาพนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นภาพที่สร้างความนิยมให้กับวง”
และมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ
แปล/เรียบเรียงจาก: Revolver Magazine ‘The Art of Hard Rock & Heavy Metal’ และ COVER STORIES: METALLICA’S ‘MASTER OF PUPPETS’ บน www.loudwire.com
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่