ความคลาสสิก ความเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานของ เทศกาลดนตรีวูดสต็อค เมื่อปี 1969 ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น หากเริ่มต้นจากความคิดที่จะจัดเทศกาลดนตรีสักงาน เพื่อหารายได้เช่นทั่ว ๆ ไปของ คนหนุ่มวัย 27 ปี 4 คน จอห์น โรเบิร์ตส์, โจล โรเซนแมน, อาร์ตี คอร์นเฟลด์ และไมเคิล แลง ที่รายหลังประสบความสำเร็จจากการจัดเทศกาลดนตรี ไมอามี มิวสิก เฟสติวัล เมื่อปี 1968 ส่วนคอร์นเฟลด์เป็นรองประธานที่อายุน้อยที่สุดของค่ายเพลงแคพิทอล เรคอร์ดส์ โดยอีกสองหนุ่มก็เป็นนักลงทุนในนิวยอร์ก
ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง สภาพสังคมของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น, การเติบโตทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่ง, มุมมองทางการเมือง วูดสต็อค ‘69 จึงกลายเป็น “สามวันแห่งสันติภาพและเสียงดนตรี” เช่นที่คำโฆษณาของงานว่าเอาไว้ รวมถึงเป็นการแสดงพลังของคนหนุ่ม-สาวในคราวเดียวกัน ซึ่งทำให้เป็นยิ่งกว่าเทศกาลดนตรี เมื่อมันมีจิตวิญญาณของตัวเอง
แต่ในแง่ความสำเร็จทางธุรกิจ นี่ไม่ใช่งานที่ทำกำรี้กำไรให้ผู้จัดอย่างที่หวัง แถมเป็นไปในทางตรงกันข้าม หากด้วยชื่อเสียงและความเป็นตำนานที่ “ขาย” ได้ ทำให้มีการจัดงานขึ้นอีกในปี 1994 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของงานครั้งแรก โดยแลง, โรเบิร์ตส์ และโรเซนแมน ที่มีจอห์น เชอร์ เข้ามาร่วมทีม ที่องค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง แสดงให้เห็นว่า เป็นงานที่เกิดและเป็นไปตามกลไกธุรกิจ ที่ไม่ได้มีประเด็นทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องตามมา ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จสวยหรู เมื่อยังเจอปัญหาเดิม ๆ ผู้ชมพังรั้วกั้นจนเป็นเทศกาลคอนเสิร์ตดูฟรีคล้าย ๆ หนแรก แต่ก็สอบผ่านในแง่การเป็นเทศกาลดนตรี มีศิลปินหลากหลาย มีการแสดงที่น่าจดจำ อย่าง การแสดงของ Green Day และ Nine Inch Nails
ปี 1999 แลงกับเชอร์ทำเทศกาลดนตรีวูดสต็อคร่วมกันอีกครั้ง และเป็นการปิดประตูลงกลอนโอกาสกลับมาของงานนี้ไปตลอดกาล เมื่องานที่เหมือนจะเพียบพร้อมรับความสำเร็จ กลับเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และจบลงด้วยเหตุจลาจล มีเรื่องร้าย ๆ ให้จำมากกว่าเรื่องดี
ที่ความเป็นมาและเป็นไปจนกลายเป็นหายนะ ในช่วงเวลา 3 วันของวูดสต็อค ‘99 ก็ถูกบันทึกเอาไว้ในสารคดีซีรีส์ขนาดสามตอนจบทางเน็ตฟลิกซ์ ‘Trainwreck: Woodstock ‘99’ ซึ่งผู้กำกับเจมี ครอว์ฟอร์ด หยิบเอาหลากหลายแง่มุมของเทศกาลดนตรีครั้งนี้ออกมาตีแผ่ จนเห็นชัดเจนว่า เพราะอะไร? ทำไม? เทศกาลดนตรีที่น่าจะประสบความสำเร็จ จัดโดยคนที่มีประสบการณ์ วางแผนมาอย่างดีจึงพังไม่เป็นท่า ผ่านคลิปเหตุการณ์ และคำให้สัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปินอย่าง โจนาธาน เดวิส, เกวิน รอสส์เดล ผู้จัดงาน, พิธีกรของเอ็มทีวี ที่รายงานเหตุการณ์ในงาน, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, หัวหน้าทีมดูแลความเรียบร้อย, เจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาล, นักข่าวที่เข้าไปทำข่าวในพื้นที่ และแน่นอน… ผู้ชมในวันนั้น ซึ่งทำให้เรื่องราวที่นำเสนอมีมิติ มีความลึก และไม่ได้โอนเอียงไปที่ใคร และแสดงให้เห็นรายละเอียดมากมายของสิ่งที่ทำให้สุดสัปดาห์แห่งความสุข กลายเป็นสุดสัปดาห์นรกแตก ซึ่งลิสต์เป็นข้อ ๆ ได้เกินสิบ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของงาน, ศิลปินที่ไม่คำนึงถึงอารมณ์ของผู้ชมและบรรยากาศ, การทำอะไรผิดที่ผิดทางในการแสดง, การไม่ให้ความเคารพของผู้ชมด้วยกันเอง, รวมถึงตัวเพลงและศิลปิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงที่แสดงความเกรี้ยวกราด กระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว หรือลุกขึ้นมาจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรุนแรง
แต่สิ่งที่เป็นศูนย์รวมของสาเหตุที่ทำให้งานนี้พังไม่เป็นท่าก็คือ “ความโลภ” ที่บังตาทุกสิ่งทุกอย่าง และหากจะชี้นิ้วว่าต้องเป็นความรับผิดชอบของใคร แม้ในสารคดีแต่ละฝ่าย แต่ละคนจะไม่มีใครออกปากรับผิดเต็ม ๆ แต่สิ่งที่พวกเขาบอก และหนังแสดงให้เห็นก็คือ “ผู้จัด”
ทั้งที่พื้นที่จัดงานซึ่งเป็นสนามบินเก่า มีรั้วรอบขอบชิด มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมมากมาย น่าจะทำให้งานเป็นไปได้ด้วยดีกว่าสองหนก่อน แต่เพราะต้องการผลกำไร จึงตัดงบในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความปลอดภัย หน่วยพยาบาล ขณะที่การอำนวยความสะดวกให้สปอนเซอร์ ก็สร้างความลำบากและขุ่นเคืองให้ผู้ร่วมงาน เมื่อห้ามน้ำและอาหารเข้ามาในพื้นที่ และต้องซื้อสิ่งของต่าง ๆ ทั้งของกินของใช้ในราคาแพงลิบลิ่วแบบถูกมัดมือชก สาธารณูปโภคมีไม่เพียงพอ แม้งานวันแรกจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ก็เป็นระเบิดที่รอวันปะทุ ส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ไม่ย่ำแย่ก็คือ ศิลปินมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ บราวน์ ที่ยอมขึ้นเวทีแม้ยังไม่ได้ค่าตัวส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่แสดงถึงความรอบจัดเกินเหตุของผู้จัด หรือ Bush ที่ขึ้นแสดงหลังโชว์ของ Korn ที่ปลุกอารมณ์ผู้ชมจนเดือด แต่พวกเขาก็เลือกจะเล่นดึงอารมณ์คนลงมา จนความร้อนระอุของผู้ชมสงบลง
แต่งานวันที่สองไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านวันกับคืนที่สนุกสุดเหวี่ยงเต็มคราบ เหล้ายาเพียบแปล้ แล้วมาเจอห้องน้ำห้องท่าที่ไม่พร้อม น้ำดื่มน้ำใช้ไม่พอเพียง อาหารแพงเหมือนถูกฟันจนหัวแบะ และอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น ความระอุในอารมณ์ของผู้ชมจึงสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเจอการแสดงของ Limp Bizkit ที่เลือกจะเล่นเอามันส์ มากกว่าจะคุมสถานการณ์ การระเบิดอารมณ์ครั้งแรกจึงเกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสัญญาณเตือนก่อนหน้า หากผู้จัดเลือกที่จะมองข้าม มากกว่าหาทางแก้ไข ทั้งที่ศิลปิน เจ้าหน้าที่ในส่วนอื่น ๆ ล้วนได้กลิ่นพลังงานบางอย่างในด้านลบ จนบางคนอยู่ในโหมดระวังตัว หรือไม่ก็คิดแล้วว่าเมื่อไหร่งานจะจบเสียที ซึ่งบางทีพวกผู้จัดงานอาจจะคิดไปด้วยมุมมองผ่านแว่นสีลาเวนเดอร์ว่า เหลือเวลาอีกแค่วันเดียว เดี๋ยวก็จบแล้ว…
หากก็เป็นวันเดียวที่แสนยาวนาน แถมทุกอย่างสุกงอมเต็มที่ แล้วด้วยความไม่ประสีประสาของผู้จัด ที่อยากจบงานสวย ๆ แบบนำจิตวิญญาณวูดสต็อคครั้งแรกกลับมา บวกการเล่นเพลงที่ผิดจังหวะเวลาของ Red Hot Chili Peppers รวมถึงการจัดการกับข่าวลือไม่ได้ ทำให้ผู้ชมไม่สะเด็ดน้ำทางอารมณ์หลังโชว์สุดท้าย ที่พวกเขาคิดว่าไม่ใช่โชว์สุดท้ายจบลง เหตุจลาจลจึงตามมา
ถึงสถานการณ์จะเป็นอย่างที่เห็น แลงและเชอร์ก็ยังปฏิเสธความรับผิดชอบ ยังแถลงข่าวแบบโลกสวย (หรือแกล้งโลกสวยด้วยการหมกทุกอย่างเอาไว้) เช่นที่เป็นตลอดสามวันของงาน แต่ด้วยภาพที่เห็น สิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วูดสต็อค ‘99 คือเทศกาลดนตรีที่เป็นหายนะ เป็นความน่าจดจำในด้านลบ เป็นความประทับใจในแบบที่ “ไม่รู้ว่า_ูรอดมาได้ยังไง”
ครอว์ฟอร์ดเล่าเรื่องราวได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ค่อย ๆ ทวีความเข้มข้นได้เป็นอย่างดี เมื่อตัวสารคดีไล่เรียงสร้างอารมณ์อย่างได้ผล แต่ละตอนมีจุดพีคของตัวเอง และยกระดับไปตามเลขตอนที่เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นงานที่ดูสนุก ทั้งที่ผลลัพธ์ของงานเป็นสิ่งที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว ต่อให้ไม่รู้ ก็ถูกเฉลยเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก แล้วยังมีการแสดงของศิลปินเป็นไฮไลท์ มีความเดือดของผู้คนให้ได้ลุ้น และยังสามารถสร้างสถานการณ์พลิกผัน จุดหักมุมได้ไม่ต่างจากภาพยนตร์สักเรื่อง ซึ่งช่วยให้เป็นงานที่ดูสนุก
แต่ที่เป็นพระเอกก็คือ การเล่าเรื่องผ่านการให้สัมภาษณ์ของผู้คน ซึ่งมีสถานภาพ ความรับผิดชอบแตกต่างกันไป ที่ไม่ใช่แค่แสดงถึงสิ่งที่พวกเขาต้องรับมืิอ ด้วยการตัดต่อ หลาย ๆ ครั้งก็คือการโต้ตอบกันกลาย ๆ ที่ย้ำถึงมุมมองของแต่ละฝ่าย แค่ละคน โดยเฉพาะทีมงานและผู้จัด ซึ่งมีมุมมองต่องานแตกต่างกันอย่างชัดเจน
แม้จะมีหลายโชว์ ที่เป็นความทรงจำที่ดี แต่เมื่อพูดถึงวูดสต็อคในปีส่งท้ายศตวรรษ เรื่องราวเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งแรก ๆ ที่ถูกพูดถึง แต่เป็นหายนะของงาน ผลพวงจากความโลภ ที่ทำให้ผู้จัดมองตัวเงินเป็นหลัก จนละเลยสิ่งต่าง ๆ อย่าง ความสัมพันธ์ของสถานที่และสภาพอากาศ และที่พวกเขาควรใส่ใจอย่างที่สุด ผู้ร่วมงาน ที่ด้วยสภาพสังคมในยุคนั้น ไม่ได้มาที่นี่เพื่อประเด็นทางสังคมใด ๆ แต่เพื่อเสพย์ความบันเทิงเป็นหลัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตจริง ๆ หากไปในขั้วตรงข้ามกับที่วาดภาพเอาไว้ เมื่อสภาพของงานทำให้ยากที่จะเกิดความบันเทิงได้อย่างเต็มที่ แต่กลับบ่มความอัดอั้นที่รอวันระเบิด โดยไม่ต้องพูดถึงการเกิดจิตวิญญาณใด ๆ ขึ้นมา เพราะนั่นคือสิ่งที่ไม่สามารถซื้อ หรือสร้างได้ดั่งใจนึก หากต้องเกิดขึ้นเอง เช่นที่เป็นไปในวูดสต็อคครั้งแรก
ที่ยังคงเป็นเช่นนั้น และไม่มีใครเลียนแบบได้มาจนถึงทุกวันนี้….
ผู้กำกับ: เจมี ครอว์ฟอร์ด ถ่ายภาพ: เจฟฟ์ ฮัตเชนส์, อดัม สโตน ตัดต่อ: คริส ดูวีน, บยอร์น จอห์นสัน, ฮิวจ์ วิลเลียมส์
‘Trainwreck: Woodstock ‘99’ ชมได้ทาง เน็ตฟลิกซ์
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 33 ฉบับที่ 8 สิงหาคม 2565
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่