
ผู้กำกับ, ผู้อำนวยการสร้าง, ผู้เขียนบท… คริสโตเฟอร์ โนแลนคือสถาปนิกผู้สร้างโลกอันซับซ้อน และน่าลุ่มหลงให้กับภาพยนตร์ เขาคือพ่อทูนหัวของมนุษย์ค้างคาวแห่งศตวรรษที่ 21 ผู้สร้างนวัตกรรมและนักบุกเบิกสำหรับประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงไอแม็กซ์ และนี่คือบทสัมภาษณ์จากนิตยสารโททัล ฟิล์ม ที่ได้มีโอกาสคุยกับคนทำหนังเจ้าของวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ที่จะมาพูดถึงแรงบันดาลใจ และอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำงาน…
(หมายเหตุ: เป็นการสัมภาษณ์ในช่วงก่อนที่หนัง ‘Dunkirk’ จะออกฉาย)
ในเลาจน์ที่ห้องลงเสียงของตัวเอง ที่โรงถ่ายของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส คริสโตเฟอร์ โนแลนพูดออกมาด้วยน้ำเสียงที่แสดงความชื่นชมถึงอีกหนึ่งสุดยอดผู้กำกับในโลกภาพยนตร์ – สแตนลีย์ คูบริก “หนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่ผมรักในหนังของเขา แล้วก็การทำงานของเขา มันคือ ความยากที่จะอธิบาย มันเป็นเรื่องยากนะที่จะชี้ชัดออกมาว่า ทำไมอะไรแบบนั้นถึงเป็นเรื่องที่เวิร์กสำหรับเขา และหนังของเขา กระทั่งในหนังที่มีกรอบต่าง ๆ เคร่งครัด มันก็ยังมีความน่าหลงใหล และจริงใจมาก ๆ งานด้านภาพก็เต็มไปด้วยจินตนาการอย่างเหลือเชื่อ” บางทีเขาอาจจะกำลังพูดถึงตัวเองก็ได้ เพราะนี่คือผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย, สวยงาม, ไม่ประนีประนอม และชาญฉลาด ซึ่งบ่อยครั้งเป็นงานที่ทำให้ตะลึงพรึงเพริด และทำลายการตีความแบบง่าย ๆ ให้ย่อยยับ ไม่ว่าจะเป็น ‘Memento’ กับตอนจบที่ทำให้อุทานว่า “อะไรวะ”, ‘Inception’ ที่ทำให้ผู้ชมหัวหมุนไปกับเหตุการณ์ที่ถูกแบ่งเป็นชั้น ๆ หรือการบิดผันมิติเวลาที่ทำให้อึ้งของ ‘Interstellar’ โนแลนก็เหมือนคูบริก เป็นคนทำงานที่โดดเด่นด้วยสไตล์ชัดเจน, ประณีตสุด ๆ จนแปะป้ายว่า สไตล์แบบ… หรืองานแบบ… ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อีกอย่างที่เขาไม่ต่างจากคูบริก ไม่มีหนังที่เข้าใจยาก และคลุมเครือเรื่องไหนของโนแลน ที่ขึ้นจอด้วยเหตุบังเอิญ
ความลุ่มหลงในทุกรายละเอียดของผู้กำกับรายนี้ มีหลักฐานให้เห็นปรากฏในทุกช็อตจากผลงานของเขา ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ช่วงเวลาที่โททัล ฟิล์มใช้ร่วมกับโนแลน ท่ามกลางแสงแดดอันเจิดจ้าของช่วงอีสเตอร์ ในเดือนเมษายน ช่วงที่เขากำลังมุ่งมั่นกับการประดิษฐ์ประดอยงานด้านเสียง และดนตรีประกอบให้หนังบล็อกบัสเตอร์ เรื่องสำคัญของเขาอีกเรื่องในตอนนั้น ‘Dunkirk’ ที่เล่าเรื่องการอพยพของเหล่าทหารสัมพันธมิตร จากชายฝั่งฝรั่งเศสในช่วงปี 1940 แบบปัจจุบันทันด่วน ขึ้นใหม่ โนแลนนั่งอยู่ในเก้าอี้หนังราวกับราชาบนบัลลังก์ตรงหน้าแผงควบคุมขนาดใหญ่ มองข้ามบอร์ดไซส์มหึมา ไปที่แผงไฟดิจิทัลที่กระพริบไปมาราวกับสัญญาณวิทยุบนยานยูเอสเอส เอนเทอร์ไพรส์ คอยจัดการกับสมาชิกทั้งแปดคนในทีมเสียง โนแลนเปิดเสียงฉากสำคัญ ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เปลี่ยนความถี่ของเสียง, ตัดฉากระเบิดตูมตามที่ทำให้อ้าปากค้างไปทีละเฟรม ดึงเสียงที่ถูกบันทึกมาแยกเป็นชั้น ๆ เพื่อจัดการกับเสียงรบกวนที่คนซึ่งไม่คุ้นเคยกับงานเหล่านี้ อาจไม่ได้ยิน
@ ไม่มีงานไหนที่เล็กเกินไป
โนแลนมิกซ์หนังทุกเรื่องของตัวเองที่นี่ นับตั้งแต่ ‘The Dark Knight’ ในปี 2009 จนกลายเป็นนิสัย แล้วก็มักจะนั่งในเก้าอี้ตัวเดิม ตอนดูหนังแบบเต็มเรื่องที่ลองฉายในโรงไอแมกซ์ที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเป็นการทำงานกับทีมงานขาประจำ และไว้ใจกันได้ วันนี้ขณะที่ริชาร์ด คิง ผู้ออกแบบเสียง, ผู้ตัดต่อดนตรี – อเล็กซ์ กิบสัน และแกรี ริซโซ มือผสมเสียงในการบันทึกเสียงใหม่ จัดการกับดนตรีประกอบก้อนมหึมา โนแลนเหลือเวลาอีกแค่สัปดาห์เดียวจากการนำหนังที่เสร็จสมบูรณ์ออกฉาย แต่บรรยากาศที่ปกคลุมในการทำงาน กลับมีความเป็นเซ็น มากกว่ากลัดกลุ้มวุ่นวาย “เอ้า… จบไปอีกหนึ่ง” โนแลนพูดติดตลกเมื่อความผิดปกติถูกจัดการให้เข้าที่ “และมีอีกสองแสนให้ทำ”
บางทีเขาไม่ได้เล่นมุข ถึงแม้จะเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ทำเงินมากที่สุดตลอดกาล หากมีงานที่ต้องทำให้เสร็จ ไม่ว่ามันจะสำคัญมาก-น้อยแค่ไหน โนแลนก็จะต้องไปอยู่ตรงนั้น ต่อให้เป็นแค่น้ำที่กระเซ็นขึ้นมาโดนนักแสดงใน ‘Dunkirk’ สักช็อตหนึ่ง หรืองานที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำการตลาด “มันเป็นเรื่องของรายละเอียด” เขาเปรยขึ้นมา ซึ่งสรุปได้ว่า เขา “มักจะเก็บจิตวิญญาณในการทำงานจริง เอาไว้เสมอ” นับตั้งแต่ทำหนังเรื่องแรก ‘Following’ ในช่วงสุดสัปดาห์โดยใช้งบที่จิ๊บจ้อยมาก เมื่อปี 1998
ผู้กำกับหลาย ๆ คนอาจจะแย้งว่า กัปตันเรือไม่มีเวลาที่จะมาใส่ใจกับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หรอก แต่โนแลนคือนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อพูดถึงการใช้พลังงาน เขาจะมีเครื่องแบบในการทำงานประจำวัน เสื้อเบลเซอร์, ยีนส์ดำ, เชิร์ตผ้าฝ้ายสีฟ้า กระทั่งเครื่องดื่มก็ยังเป็นของเดิม ๆ ชาเอิร์ล เกรย์ในถ้วย ที่รินจากกระติกสีเงินที่ดูสมถะ ซึ่งเขามักจะหิ้วไปไหนมาไหน แล้วที่กลายเป็นตำนานเล่าขาน ไม่ใช้อีเมลและโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่จะใช้สมาธิกับงานที่เขากำลังสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เขาจัดการกับอะไรพวกนี้ได้ยังไง?
โนแลนจิบชา แล้วก็พูดแบบสบาย ๆ ว่า “ผมรายล้อมด้วยคนที่มีอีเมลกับโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา มันง่ายมากที่จะเข้าถึงผม” แอนดี ผู้ช่วย กับผู้อำนวยการสร้างร่วมและภรรยา – เอ็มมา โธมัส จะเป็นคนจัดการและเก็บเรียบสารพัดความวุ่นวายที่จะดิ่งไปหาเขา ไม่ว่าจะพิมพ์อีเมลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเขา ‘อาจจะ’ อยากเห็น แต่โนแลนคิดว่าการทำตัวปลีกวิเวกด้วยการปฏิเสธโซเชียลมีเดีย และการจิ๊จ๊ะด้วยอุปกรณ์มือถือ ช่วยให้เขามีสมาธิกับการทำงานมากขึ้น “สิ่งที่ผมรับรู้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ เวลาที่ผมได้คิดอะไรจริง ๆ ก็คือ ตอนเดินทาง, ขับรถไปกองถ่าย หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งเวลาพวกนั้นกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ๆ ถ้าคุณมีโทรศัพท์อยู่กับคุณ คุณก็จะใช้มัน คนจะโทรหาคุณ คุณจะเข้าไปดูอะไรออนไลน์ แล้วเวลาพวกนั้นก็จะหมดไป ถ้าคุณไปเจอกับใครสักคนตอนมื้อค่ำ และเขามาสายไปสัก 15 นาที คุณจะได้เวลา 15 นาทีสำหรับคิดอะไร เมื่อคุณพยายามจะหยิบเวลาจากในกระเป๋าเพื่อรำลึกถึงบางอย่าง หรือคิดถึงสิ่งที่คุณกำลังทำ ช่วงเวลาแบบนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ”
ความรังเกียจงานดิจิทัล ยังขยายไปสู่สิ่งที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา เขาถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม และในงานซีนีมาคอน (ก่อนหนัง ‘Dunkirk’ ออกฉาย) เขากระตุ้นบรรดาผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ให้ช่วยเขา ด้วยการสร้างความมั่นใจกับผู้ชมว่า จะได้ดูงานแบบที่เขาตั้งใจอยากให้เห็นจริง ๆ บนจอใหญ่ภาพยนตร์สำหรับเขา ต้องเป็น “รูปแบบของภาพระดับสุดยอด ความละเอียดสูงที่สุด สีแบบแอนะล็อก และยุติความไม่น่าเชื่อถือได้อย่างมหัศจรรย์ มีคุณสมบัติที่จะทำให้จมไปกับเรื่องราว ซึ่งคุณไม่สามารถทำได้ด้วยดิจิทัล” หรืออย่างน้อย ก็ไม่ใช่สำหรับเขา เมื่ออังลีเริ่มทำหนังที่อัตราเฟรม (Frame Rate) สูงมากขึ้น “ผมไม่ยินดีที่จะโดดลงไปในหลุมกระต่าย ด้วยการทดสอบผู้ชม เพื่อให้ยอมรับรูปแบบของภาพยนตร์ที่ด้อยกว่าได้ เราต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดบนจอภาพยนตร์เท่าที่สามารถทำได้”
สำหรับแฟนของเขาหลาย ๆ คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นชื่อ เควนทิน ทรารานทิโน นี่คือทัศนคติแบบเก่าของผู้กำกับที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ที่ทำให้งานของโนแลน เป็นงานที่น่าจดจำและไร้กาลเวลา ต่อให้มีความลับดำมืดล้อมรอบวิสัยทัศน์ที่เขานำเสนอ แต่แค่ประกาศโปรเจ็กต์ใหม่ ก็การันตีรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศได้แล้ว การสร้างงานภาคต่ออย่าง ‘The Dark Knight Trilogy’ ขึ้นใหม่ได้สำเร็จ เขาน่าจะดึงองค์ประกอบที่มีไปใช้กับหนังเรื่องอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘James Bond’ หรือว่า ‘Star Wars’
“อะไรก็ตามที่ผมนำมามอบให้กับ ‘The Dark Knight’ จริง ๆ แล้วคือผลลัพธ์ของการที่ไม่ได้มองมันเป็นหนังภาคต่อ หรือหนังที่สร้างจากนิยายภาพ ผมพยายามที่จะไม่มองความชัดเจนตรงนั้น แล้วคำตอบคือ… ผมคิดว่าน่าจะ ‘ได้’ แต่มันก็ต้องจำกัดความคำว่า ‘ได้’ ผมสนใจทำหนังทุกแนวแหละ และผมก็คิดด้วยว่า หนังทุกแนวก็ทำออกมาให้ดีหรือในแนวทางเฉพาะได้”
@ ทำใจให้นิ่ง
สำหรับโนแลน การทำหนังให้มีความเฉพาะตัว คือสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ในฐานะลูกชายของพ่อ-ผู้บริหารบริษัทโฆษณาที่ต้องเดินทางไปทำงานในที่ต่าง ๆ เขาใช้เวลาในช่วงสร้างตัวหมดไปกับการชมภาพยนตร์อย่างหิวโหยในชิคาโก โนแลนให้ชื่อผู้กำกับอย่าง ริดลีย์ สก็อตต์, โทนี สก็อตต์, อลัน พาร์เคอร์, แอเดรียน ไลน์ และฮิวจ์ ฮัดสัน ว่าเป็นอิทธิพลสำคัญ และ ‘Blade Runner’ คือหนังที่เขาดู “หลาย ๆ ครั้ง อย่างลุ่มหลง” แล้วก็สาละวนอยู่กับกล้องซูเปอร์เอ็ต กับการทำงานเป็นผู้กำกับ เขายอมรับว่า เป็นสิ่งที่เขารู้สึกประหลาดใจตัวเองเหมือนกัน เมื่อเป็นสิ่งที่เขาอยากเป็นมาตลอด “ตอนผมคุยกับลูก ๆ ว่าพวกเขาอยากเป็นอะไร เมื่อโตขึ้น มันเป็นการสนทนาที่ประหลาดนะ เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ผมกำลังทำในสิ่งต้องการทำอยู่ ผมโคตรโชคดีเลย ทุกอย่างที่ผมสามารถทำได้คือ ทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำไหว เพื่อให้มันเกิดโชคขึ้นมา ผมหวังว่านะ… ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความรับผิดชอบที่ต้องทำแบบนั้นนะ เพราะมีคนในโลกนี้ไม่มากนักหรอกที่ได้ทำอะไรที่พวกเขารัก และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเช่นนั้น”
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขารู้สึกว่าตัวเองมีความพิเศษในแบบเดียวกับที่บรูซ เวย์นในรถทัมเบลอร์มี ถึงเขาจะมีความมั่นใจแบบอเมริกันชนให้เห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มาจากแม่ แต่เขาก็มีด้านแบบอังกฤษให้รู้สึก จากการที่ยังคงมีความสงสัย ลังเล แม้จะประสบความสำเร็จมากมาย
“ถ้าคุณไม่กังวลเกี่ยวกับอะไรเลย นั่นหมายความว่า คุณไม่ใส่ใจกับอะไรที่คุณทำ เหมือนที่เคยเป็น” เขาให้เหตุผล “คุณต้องไม่พึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับ คุณต้องมีความมั่นใจในบางพื้นที่ แต่ถ้าคุณไม่กังวลอะไรเลย นั่นบางทีเป็นเพราะคุณไม่ใส่ใจกับอะไรที่มองเห็นอยู่ข้างหน้า คุณต้องให้ความสนใจกับมัน” และด้วยเหตุนี้ เขาถึงต้องกลับมา กลับมาในห้องลงเสียง เพื่อรีดอีกสองแสนจุดให้เรียบ เพื่อความสมบูรณ์แบบ
แปลและเรียบเรียงจาก นิตยสารโททัล ฟิล์ม ฉบับ คริสโตเฟอร์ โนแลน
เป็นกำลังใจให้เราได้ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่