คิม คี-ดุก ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลี เจ้าของรางวัลมากมาย โดยเฉพาะรางวัลใหญ่จากเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ เมื่อปี 2012 ที่ต่อมาต้องเจอกับข้อกล่าวหาว่าบังคับให้นักแสดงหญิงถ่ายฉากเซ็กส์นอกบท ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 59 ปี ที่โรงพยาบาลในกรุงริกา เมืองหลวงของลัตเวีย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยแหล่งข่าวเป็นคนที่ทำงานโปรเจ็คท์ใหม่กับคี-ดุกในเอสโตเนีย เผยกับผู้สื่อข่าว
สำนักข่าวบอลติก นิวส์ เซอร์วิส ยังอ้างคำพูดของ วิทัลลี แมนสกี คนทำหนังสารคดีชาวรัสเซีย ที่มาอยู่ในลัตเวีย และเป็นประธานของเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติในกรุงริกา ที่บอกว่า คี-ดุกเสียชีวิตหลังป่วยจากการติดเชื้อโควิด -19 ด้วย แต่ทางแมนสกีไม่มีการแสดงความเห็นในเรื่องนี้ออกมา
ส่วนทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎหมายของยุโรป
กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ออกมายืนยันเพียง มีชายชาวเกาหลีวัย 59 ปี เสียชีวิตในโรงพยาบาล แต่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อ หากได้ติดต่อกับครอบครัวของผู้เสียชีวิิตเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องการจัดการเกี่ยวกับงานศพอย่างเต็มที่ ทางสถานทูตลัตเวียในกรุงโซล ก็ออกมายืนยันรายงานการเสียชีวิตของชายชาวเกาหลีด้วย สำหรับบรรดาครอบครัวของคี-ดุก ได้รับแจ้งข่าวการจากไปของเขาผ่านทางล่าม
สำนักข่าวท้องถิ่นของลัตเวีย – เดลฟิ เผยว่าคี-ดุกเดินทางมาลัตเวียราวๆ 1 เดือนก่อน ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อซื้อบ้านที่เฌอร์มาลา ซึ่งเป็นรีสอร์ทริมทะเลใกล้ๆ กับกรุงริกา และยื่นคำขอพำนักในฐานะคนต่างด้าว
อีดิธ เซ็พพ์ ซีอีโอ ของสถาบันภาพยนตร์เอสโตเนีย บอกกับสื่อตะวันตกว่า คี-ดุกติดต่อกับทางองค์กรตั้งแต่เดือนกันยายน เพื่อเสนอ Rain, Snow, Cloud and Fog หนังเรื่องใหม่ของเขาที่เป็นการสร้างร่วมกันของเกาหลีและเอสโตเนีย ถ่ายทำในเอสโตเนีย ซึ่งเขาส่งคำร้องล่าช้ากว่าที่กำหนด แต่ก็ตั้งใจว่าในเดือนมกราคม 2021 จะทำการยื่นคำร้องอีกครั้ง
“การที่เขาไม่สามารถถ่ายหนังที่นี่ได้ เพราะการเดินเรื่องต่างๆ มันซับซ้อน เป็นเรื่องน่าขายหน้ามากๆ ซึ่งตัวหนังเองก็เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน ที่นำเสนอเรื่องราวรูปแบบความสัมพันธ์อันเป็นไปได้ที่แตกต่างกัน และสี่เรื่องราวที่แยกจากกัน แล้วถักทอเป็นหนึ่งเดียวกัน” เซ็พพ์ เผยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
“คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบสไตล์การทำหนังของเขา แต่มันไม่ได้ไม่สัมผัสคุณเลย” เซ็พพ์กล่าวเสริม “บางทีเขาอาจมีปัญหาทางจิตใจ แต่ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง ตอนที่เราได้พบกับพวกเขาช่วงสั้นๆ ในฤดูใบไม้ร่วง เขาเป็นนักสร้างสรรค์ตัวจริง, มีพรสวรรค์ โดยเฉพาะเวลาที่พูดถึงหนังเรื่องต่อไป สายตาของเขาเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน ในมุมมองของผม ชีวิตเขาแค่อยากจะทำหนัง ไม่ได้มีเรื่องอื่นๆ”
คี-ดุกเป็นหนึ่งผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของเกาหลีรายแรกๆ ที่สามารถแจ้งเกิดในระดับนานาชาติ จนกลายเป็นที่รู้จัก งานของเขาดูน่าตระหนกแต่ก็เต็มไปด้วยความสวยงาม และอารมณ์ เช่น The Isle ในปี 2000 และ Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring ในปี 2003 ผลงานหลายๆ เรื่องของคี-ดุกเป็นการนำเสนอความบันเทิงรูปแบบใหม่จากภาพยนตร์ รวมถึงคว้ารางวัลจากงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รางวัลสูงสุดของงานเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ ปี 2012 จากหนังเรื่อง Pieta ซึ่งเล่าเรื่องราวการแก้แค้นและชำระบาปของแม่-ลูกผู้แสนทารุณ, รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิซและเบอร์ลินอีกด้วยในปี 2004 จาก 3-Iron และ Samaritan Girls ตามลำดับ คี-ดุกยังคว้ารางวัล Un Certain Regard จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2011 จากเรื่อง Arirang อีกด้วย
แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องความรุนแรงต่อสัตว์ หรือการนำเสนอความรุนแรงของมนุษย์แบบสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนหรือการทำหมันอย่างทารุณ โดยหนึ่งปีหลังความสำเร็จจากเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ คี-ดุก ถูกกล่าวหาเรื่องความรุนแรงจากการทำงานในบ้านเกิด ซึ่งเขาปฏิเสธแบบไม่ชัดเจนนัก โดยบอกว่าอาจเป็นการเข้าใจผิด อ้างว่าเขาทุบตีนักแสดงหญิงขณะที่ให้คำแนะนำในเรื่องการแสดงกับเธอ
นอกจากทำงานอาร์ตแล้ว คี-ดุกยังทำงานตลาดๆ ออกมาด้วยเช่นกัน อาทิ The Coast Guard และ Dream
ถึงจะเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่คี-ดุกกลับไม่ใกล้ชิดกับวงการภาพยนตร์เกาหลีสักเท่าไหร่ เขามักจะทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเขียนบท, กำกับ, ตัดต่อ และถ่ายภาพ เพื่อที่จะสามารถทำหนังได้ด้วยงบที่ต่ำ และไม่ทำให้ตัวเองเป็นหนี้ด้วยการทำหนังที่ใหญ่ขึ้น
การทำงานของคี-ดุกเกิดความเปลี่ยนแปลงในปี 2015 เมื่อเขาเซ็นสัญญากำกับหนังจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง Who Is God ที่ธีมหนังเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ซึ่งได้อดีตผู้นำของดิสนีย์ – ดิค คุก ให้การหนุนหลัง หนังใช้ทุนสร้างถึง 37 ล้านเหรียญ มากเป็นสามเท่าของหนังทุกเรื่องที่เขาทำก่อนหน้านี้รวมกัน แต่กรณีพิพาททางการเมืองระหว่างเกาหลีกับจีนเรื่องการเคลื่อนย้ายขีปนาวุธ ทำให้เขาถูกปฏิเสธวีซาในการทำงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2016
หลายๆ ปีที่ผ่านมา ชีวิตของคี-ดุกออกนอกลู่นอกทางไปไกล เมื่อปี 2017-18 เขากลายเป็นเป้าของกระแสการเคลื่อนไหว #MeToo หลังนักแสดงหญิงคนหนึ่งที่เขาเคยทำงานด้วยฟ้องเขาในข้อหาคุกคามทางเพศ ซึ่งผลการตัดสินปรากฏว่า เขาต้องเสียค่าปรับจำนวน 5 ล้านวอน หรือ 4,570 เหรียญ ในบางข้อหา ขณะที่โจทก์เองก็ตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินคดีคุกคามทางเพศกับเขาต่อ โดยอ้างว่าขาดหลักฐานชัดเจนทางกายภาพ หลังจากนั้นไม่นานคี-ดุกก็ไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ด้วยหนึ่งในหนังที่อ่อนที่สุดในชีวิตการทำงานของเขา Human, Space, Time and Human ซึ่งมีการแุถลงข่าวนอกสถานที่จัดงาน เพื่อลดการเผชิญหน้ากับสื่อ
หลักฐานเกี่ยวกับความรุนแรงที่มีต่อสตรีของคี-ดุก ปรากฏเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังของปีเดียวกัน เมื่อมีนักแสดงหญิงออกมากล่าวหาเขาผ่านทางรายการข่าวแนวสืบสวนที่ชื่อ PD’s Notebook ซึ่งออกอากาศทาง เอ็มบีซี สถานีโทรทัศน์สาธารณะของเกาหลี โดยนักแสดงคนดังกล่าวถอนตัวออกจากหนังเรื่อง Moebius หนังที่เรื่องราวหม่นมืด และมีความรุนแรงตามแบบฉบับของคี-ดุก ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหิน ทำให้การทำงานในบ้านเกิดของเขาจบลงนับตั้งแต่นั้น
คี-ดุกพยายามที่จะฟ้องสถานีเอ็มบีซีทั้งทางแพ่งและอาญา รวมไปถึงนักแสดงจากหนังเรื่อง Moebius กล่าวหาว่าใส่ร้ายเขา แต่คำฟ้องของเขาถูกปฏิเสธโดยศาล
โดย ลุงทอย เรื่อง อำลา คิม คี-ดุก ผู้กำกับเจ้าของสไตล์เฉพาะตัวชาวเกาหลีผู้จากไป คอลัมน์ อำลา-อาลัย นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1319 ปักษ์แรกมกราคม 2564