
HEAT (1995) | ผู้กำกับ: ไมเคิล มานน์
‘Heat’ งานกำกับของไมเคิล มานน์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในงานแอ็กชันคลาสสิกยุคใหม่ เพราะนอกจากจะได้นักแสดงระดับหัวแถว อย่าง โรเบิร์ต เดอนีโร อัล ปาชิโน มาประกบกันแล้ว ยังมีนักแสดงรุ่นหลัง อย่าง วัล คิลเมอร์, แอชลีย์ จัดด์ และนาทาลี พอร์ตแมน ร่วมแสดง
และหนังที่ว่าด้วยการตามล่ากันของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กัดไม่ปล่อย กับแก๊งโจรปล้นธนาคารจอมเก๋า ก็ยังเป็นที่มาของฉากคลาสสิกหลาย ๆ ฉากในโลกภาพยนตร์ หรืออย่างน้อย ๆ ก็สองฉาก
ฉากแรกคือการเผชิญหน้ากันบนจอภาพยนตร์ครั้งแรกของโรเบิร์ต เดอ นีโรกับอัล ปาชิโนในร้านอาหาร ซึ่งว่ากันว่า ในฉากนี้ทั้งสองเทพเดินเข้ากล้องกันเลย โดยไม่ต้องซ้อม ส่วนอีกฉากก็คือ ฉากแอ็กชันยิงกันสนั่นเมืองลอส แอนเจลิส เมื่อแก๊งโจรปล้อนธนาคารของนีล แม็กคอลีย์ (เดอ นีโร) โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นำโดยวินเซนต์ แฮนนา (ปาชิโน) ล้อมจับ ที่กลายเป็นฉากสุดตื่นเต้นของหนัง เป็นหนึ่งในฉากที่ตรึงผู้ชมได้อย่างอยู่หมัดที่สุดในโลกภาพยนตร์ สาเหตุหนึ่งก็ไม่พ้นการที่ไมเคิล มานน์ เลือกที่จะบันทึกเสียงปืนสด ๆ ขณะถ่ายทำ แทนที่จะมาใส่เสียงทับภายหลังด้วยเสียงซาวนด์เอ็ฟเฟ็กต์ที่ทำเอาไว้ก่อน งานนี้ไมโครโฟนจะถูกติดเอาไว้อย่างมิดชิด และต้องเก็บเสียงให้ดีที่สุด รอบ ๆ สถานที่ถ่ายทำ เพื่อบันทึกเสียงปืนแต่ละกระบอกที่ออกมาแตกต่างกันไปตามระยะ ตามช่วงเวลา และตามประเภทของปืน
โดยปกติแล้ว หนังส่วนใหญ่จะถ่ายทำฉากแบบนี้โดยใช้ซาวนด์เอ็ฟเฟ็กต์ แต่การตัดสินใจของมานน์ ทำให้ฉากดวงกลางเมืองของ ‘Heat’ มีความแตกต่างจากฉากแบบเดียวกันในหนังเรื่องอื่น ๆ
ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ฉากนี้ของ ‘Heat’ เป็นฉากที่ถูกเปิดให้บรรดานาวิกโยธินหน้าใหม่ได้ชมกัน ซึ่งเมื่อวัล คิลเมอร์ ที่รับบทเป็นหนึ่งในลูกทีมของเดอ นีโรรู้เรื่องนี้เข้าก็ถึงกับทึ่ง โดยฉากนี้ทำให้บรรดานาวิกโยธินน้องใหม่ได้รู้ว่าการเปลี่ยนแม็กกาซีน การจัดการกับอาวุธในมือ การยิงคุ้มกัน การสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม การจัดการกับฝ่ายตรงข้าม การสื่อสารควรเป็นอย่างไร เมื่อแต่ละคนในจอเคลื่อนไหว ปฏิบัติราวกับเป็นมือปืนที่ถูกฝึกมาอย่างดี
โดยเป็นการเคลื่อนไหวที่เป๊ะกับในหนังสือคู่มือแท็กติกการใช้ปืนของนาวิกโยธินพอดี “ยิงแล้วเคลื่อนไหวทีละคน หรือยิงกันเป็นทีมเพื่อคุ้มกันคนอื่น ๆ หรือยิงเป็นทีมเพื่อบุกฝ่ายตรงข้าม หรือโจมตีที่มั่นของศัตรู” แต่ละคนในหนังจะกระโดดข้ามตัวกัน ซึ่งทำได้เป็นอย่างดี การสื่อสารก็สั้น ๆ “ไป” ในกลุ่มของแก๊งโจร ทุกคนจะเคลื่อนไหวตามหัวหน้าทีม ที่ทำหน้าที่ยิงเพื่อนำทีม ยิ่งเข้าใกล้เขตปิดล้อมของตำรวจเท่าไหร่ การยิงยิ่งต้องแม่นยำ และโหดเหี้ยมมากขึ้น พวกเขาจะซุ่มยิงเป็นระยะสลับกับเดินหน้าเพื่อเปิดทางหนี
เมื่อกระสุนหมด ตัวละครในเรื่องก็คุกเข่า ปลดแม็กกาซีนออก สอดพานท้ายปืนเข้ากับแขน หยิบแม็กกาซีนอันใหม่จากเสื้อกั้กเสียบ แล้วใช้ส่วนหนาของมือกระแทกเข้าไป ที่ต้องทำแบบนั้นก็เพราะว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดในการต่อสู้อาจส่งผลต่อกลไกในการทำงานของปืน
“เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นนักแสดงในหนังบรรจุกระสุนตั้งแต่ต้นจนจบตลอดกระบวนการ จากการแสดงของวัล” ทาราน บัตเลอร์ นักยิงปืนมืออาชีพที่ใช้เวลาหลายปีในการทำงานอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แอ็กชันมากมาย ในฐานะครูฝึกการใช้ปืน ซึ่งหนัง John Wick ภาค 2 และ 3 ก็ใช้บริการของเขา
มีองค์ประกอบอีกหลายอย่างนอกเหนือไปจากเรื่องของเทคนิคที่ทำให้ฉากดวลกลางเมืองโดดเด่นอย่างที่เห็น โดยเฉพาะการที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นฉากที่กำกับและออกแบบมาโดยคนที่ใช้เวลากับการยิงปืนจริง ๆ ซึ่งคนที่รับหน้าที่นี้ใน ‘Heat’ ก็คือ มิก กูลด์ อดีตเจ้าหน้าที่ เอสเอเอส ของสหราชอาณาจักร ที่มาเป็นผู้ดูแล, ฝึกสอนเรื่องเทคนิคการใช้อาวุธให้กับหนัง และแน่นอน… ไมเคิล มานน์
“สิ่งที่ผมชอบมาก ๆ ของหนังเรื่องนี้คือ ไมเคิล มานน์รู้จักปืน” บัตเลอร์กล่าว “ฉากยิงกันมันออกมาเจ๋งก็เพราะเขาเปิดเสียงให้ดังขึ้น เขาบันทึกเสียงปืนจริง ๆ ตอนถ่าย เพื่อให้ได้เสียงที่สะท้อนไปมาตามท้องถนน ซึ่งนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เสียงมันน่ากลัว และระทึกมาก ๆ รู้หรือเปล่าว่า เวลามีการยิงปืนใกล้ ๆ แล้วคุณไม่มีอะไรปิดหู หรือว่าอยู่ในทางปืน คุณจะมีความรู้สึกแบบนั้นแหละ”
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่