หนึ่งในเรื่องราวใหญ่โตของวงการภาพยนตร์เมื่อปี 2018 ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างเน็ทฟลิกซ์กับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่ผลร้ายอันตามมาจากการปะทะกันของเจ้าพ่อหนังสตรีมมิงและหนึ่งในงานภาพยนตร์ที่มีเกียรติมากที่สุดงานหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในครั้งนี้ก็คือ เน็ทฟลิกซ์ตัดสินใจถอนหนังอย่าง Roma, Hold the Dark, 22 July และ The Other Side of the Wind ออกจากเทศกาล และแม้เวลาจะผ่านไปไม่น้อย ผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นยังคงส่งแรงกระเพื่อมมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างที่ได้เห็นจากรายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ แล้วเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นที่เห็นกัน ดูเหมือนคานส์พร้อมแล้วที่จะตกลงปลงใจว่า เน็ทฟลิกซ์ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลภาพยนตร์นี้ได้
สเตฟาน บูดซอคว์ นักข่าวชาวฝรั่งเศสทวีตข้อความทำนอง มีข่าวลือว่าทางเทศกาลภาพยนตร์พร้อมจะทำข้อคกลงกับเน็ทฟลิกซ์ ซึ่งจะทำให้บริการภาพยนตร์สตรีมมิงชื่อดัง สามารถส่งภาพยนตร์ของตัวเองเข้ามาในสายการประกวดได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่เน็ทฟลิกซ์ต้องข้ามผ่านให้พ้นเพื่อทำความตกลงให้เรียบร้อย นั่นก็คือมีรายงานว่า ในข้อตกลงมีการระบุด้วยว่า ถ้าหนังของเน็ทฟลิกซ์คว้ารางวัลของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ผู้ให้บริการสตรีมมิงรายนี้จะต้องนำหนังเรื่องดังกล่าวออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการวางแผนได้อย่างแยบยลมากๆ
จุดแตกหักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และเน็ทฟลิกซ์ อยู่ตรงที่ทางเทศกาลไม่เคารพบริษัทสตรีมมิง ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2017 เทศกาลภาพยนตร์ก็เคยเป็นหนึ่งในหัวแถวที่อนุญาตให้หนังเน็ทฟลิกซ์เข้าฉายในสายการประกวดได้ อย่างไรก็ตามทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อผู้บริหารระดับสูงของเทศกาลและบรรดาผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในฝรั่งเศส พูดถึงกฎหมายที่ยืนยันว่า หนังเรื่องใดๆ ก็ตามที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ของฝรั่งเศส จะต้องไม่ออกอากาศบนบริการสตรีมมิงเป็นเวลา 36 เดือน หลังเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเน็ทฟลิกซ์ไม่มีทางรอถึง 3 ปี เพื่อปล่อย Roma ออกฉายผ่านบริการสตรีมมิงของตัวเองในฝรั่งเศสแน่ๆ หากหนังเกิดได้รางวัลที่คานส์ขึ้นมา
แต่ก็มีการหาทางออกให้เน็ทฟลิกซ์ในแบบอ้อมๆ กฎหมายของฝรั่งเศส ด้วยการให้ฉายหนังเหล่านั้นได้นอกสายการประกวด แต่เมื่อเงื่อนไขนี้ถูกเสนอไปให้เน็ทฟลิกซ์เมื่อปีที่ผ่านมา พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธ และในปี 2019 พวกเขาจะทำเหมือนเดิมหรือเปล่า? และถ้ามีการประนีประนอมอีกทางหนึ่งเกิดขึ้น โดยทางเทศกาลภาพยนตร์ลดเงื่อนไขลง เพื่อให้หนังเน็ทฟลิกซ์มีช่องทางฉายในสายการประกวดได้ ผู้ให้บริการรายนี้ก็น่าจะอยากคว้าโอกาสนี้เอาไว้
เมื่อพิจารณาดูแล้ว การต่อรองในรูปแบบนี้น่าจะเป็นทางออกที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคานส์หรือว่าเน็ทฟลิกซ์ และสมเหตุสมผลมากพอที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงรายนี้กลับมาพิจารณาการส่งหนังเข้าฉายที่คานส์อีกครั้ง อย่างไรตามหากกฎหมายระบุเรื่องการฉายภายใน 36 เดือนยังคงมีผล ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมองว่านี่คือทางออกสุดท้าย ถึงกระนั้นก็มีข่าวลือแบบนี้ออกมา เมื่อดูว่าทางคานส์เองก็คงต้องเรียนรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเทศกาลภาพยนตร์โทรอนโทหรือว่าเวนิซ ที่สามารถตักตวงผลประโยชน์ได้จากการเปิดทางให้หนังเน็ทฟลิกซ์
หรืออย่างน้อยก็ลองคิดดูว่า หน้าตาของหนังที่ได้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของคานส์จะมีหน้าตาเป็นยังไง หากพวกเขาให้ Roma ได้ฉายในสายการประกวด
ที่น่าสนใจก็คือ นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว เพราะล่าสุดบรรดาสตูดิโอยักษ์ใหญ่ต่างพยายามล็อบบีโรงภาพยนตร์ เพื่อที่จะสามารถปล่อยหนังลงตลาดโฮมวิดีโอได้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้การต่อสู้อย่างจริงจังระหว่างบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์และเจ้าของโรงเป็นรูปเป็นร่างกว่าเดิมในปีนี้ สตูดิโอต่างๆ พยายามแย้งเรื่องช่องว่างระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์และการเป็นโฮม วิดีโอมานานหลายปีแล้ว เมื่อหลายๆ สตูดิโออยากให้ระยะเวลาดังกล่าวลดลง เพื่อที่จะต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์และได้อาศัยประโยชน์จาก ‘กระแส’ ของหนังจากการลงโรงฉายมาช่วยขาย แต่ทางโรงภาพยนตร์ก็อ้างว่า ถ้าสตูดิโอมีแผนปล่อยหนังลงแผ่นบลู-เรย์, ดีวีดี และดิจิตอล เอชดีเร็วขึ้น หลังจากหนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไม่นาน ผู้ชมก็จะไม่สนใจไปชมภาพยนตร์ในโรงไปด้วย
ในปัจจุบันนี้ มาตรฐานของระยะเวลาปล่อยเป็นโฮมวิดีโออยู่ที่อย่างน้อย 90 วัน นับจากวันที่หนังเปิดตัวในโรง ไปถึงวันปล่อยเป็นโฮมวิดีโอ ซึ่งทางวาไรตีเผยว่า วอร์เนอร์ บราเธอร์ส กับยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ อยากจะคุยกับเครือข่ายโรงภาพยนตร์ต่างๆ เพื่อให้ระยะเวลาดังกล่าวลดลงในปีนี้ แต่นี่ไม่ใช่การถกกันถึงเรื่องทำนองนี้เป็นครั้งแรก ย้อนไปในปี 2017 ก็เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้มาก่อนแล้ว และการเจรจาจบลงตรงที่ว่า ได้เห็นระยะเวลาที่ลดลงสำหรับการปล่อยฉายในแบบภาพยนตร์ตามสั่ง (Video On Demand) ด้วยการที่เครือโรงภาพยนตร์ได้ผลประโยชน์จากการเช่าหรือขายภาพยนตร์ตามสั่งกลับไป จนกว่าตัวหนังจะถูกปล่อยออกมาเป็นแผ่นตามกำหนด 90 วัน ตามที่กำหนดกันไว้
แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่มีผลเกิดขึ้น เมื่อทางดิสนีย์ต้องไปเจรจากับทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ เพื่อขอซื้อกิจการของสตูดิโอยักษ์ใหญ่รายหลัง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้ดิสนีย์กลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงทำให้กลไกในการต่อรองสำหรับสตูดิโอเปลี่ยนไป
ตอนนี้ดูเหมือนว่าวอร์เนอร์กับยูนิเวอร์แซลอยากที่จะคุยเรื่องนี้อีก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าดิสนีย์ ยินดีที่จะจับมือกับคู่แข่งด้วยหรือเปล่า เมื่อพวกเขาไม่จำเป็นต้องมาร่วมสังฆกรรมกับสองสตูดิโอดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการที่ดิสนีย์มีหนังบล็อคบัสเตอร์ระดับยักษ์ออกฉายทำเงินบนบ็อกซ์ออฟฟิศอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และยังทำได้ดีในตลาดบลู-เรย์กับดีวีดีในอีก 90 วันต่อมาซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นปลายปี 2019 นี้ ดิสนีย์ก็จะปล่อยบริการสตรีมมิงของตัวเอง ที่จะมีภาพยนตร์ซึ่งสร้างเฉพาะบริการที่ว่าออกฉาย โดยที่ไม่ต้องสนใจภาพยนตร์ที่เข้าฉายตามโรงทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่า นอกจากพวกเขาจะมีชิ้นเค้กของตัวเองแล้ว ยังสามารถกินมันได้อีกด้วย
จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ยังมีอะไรให้ขุดคุ้ยต่อ เพราะเอาจริงๆ เหตุผลหลักที่ทำให้สตูดิโอต้องการลดระยะเวลาลง ก็คือ…. เน็ทฟลิกซ์
ทุกคนกลัวว่าเน็ทฟลิกซ์จะผลักพวกเขาออกจากธุรกิจนี้ เมื่อรูปแบบการทำธุรกิจของเน็ทฟลิกซ์คือ “คุณไม่ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อดูหนังและรายการโทรทัศน์ของเรา” พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ต้องออกนอกบ้านเพื่อไปชมภาพยนตร์นั่นเอง และทางสตูดิโอก็ดูเหมือนกำลังคิดว่า ถ้าพวกเขาเสนอ… หนังอย่าง Crazy Rich Asians ให้ผู้ชมผ่านทางไอทูนส์ได้เร็วขึ้น หลังหนังเปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์แค่ 2 สัปดาห์ พวกเขาจะสามารถทำเงินได้มากขึ้น ซึ่งบางทีพวกเขาอาจจะคิดถูก
นักวิเคราะห์ทั้งหลายมองว่า ตราบเท่าที่การทำแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่ามีหนังออกฉายตามโรงภาพยนตร์ลดลง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไรมากนัก แต่ถ้าทำให้หนังในโรงภาพยนตร์ลดน้อยลงล่ะ นั่นคือเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะผู้ชมภาพยนตร์ตามโรงหนัง กำลังสูญเสียผู้กำกับอย่างอัลฟองโซ คัวรอง หรือมาร์ติน สกอร์เซซีให้กับเน็ทฟลิกซ์ ซึ่งหนังของพวกเขาไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์เป็นวงกว้าง หรืออาจจะไม่ได้ฉายเลย แต่ถ้าบรรดาสตูดิโอใหญ่ๆ ประสบความสำเร็จในการทำให้เจ้าของโรงภาพยนตร์เชื่อมั่นว่า ควรจะต้องตัดระยะเวลาที่ว่าลง มันก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงสักที
ในความเป็นจริง เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หลายๆ คนไม่ไปชมหนังเน็ทฟลิกซ์ในโรงภาพยนตร์ก็คือ เพราะโรงหนังปฏิเสธที่จะฉายหนังของผู้ให้บริการสตรีมมิง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เน็ทฟลิกซ์อ้างว่าบรรดาลูกค้าของพวกเขาจะโกรธ หากพวกเขาเอาภาพยนตร์เข้าฉายในโรงก่อนที่จะขึ้นไปอยู่ในระบบสตรีมมิง ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องโกหกด้วยซ้ำ เพราะไม่เห็นมีสมาชิกของอะเมซอน ไพรม์ บอกยกเลิกการเป็นสมาชิกเพราะต้องรออีกหลายเดือนกว่าจะได้ชม Manchester by the Sea ในระบบสตรีมมิงของอะเมซอน ไพรม์เลย แต่ทางเน็ทฟลิกซ์ก็ปฏิเสธที่จะให้หนังของตัวเองออกฉายในโรงภาพยนตร์บางเรื่องก่อน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข 90 วัน ทางโรงภาพยนตร์ก็เลยไม่ยอมฉายหนังของเน็ทฟลิกซ์ เมื่อหนังเหล่านั้นสามารถหาชมได้ในแบบสตรีมมิงอยู่แล้ว ทำไมจะต้องเปิดโรงให้หนังที่มีน้อยคนจะออกมาดูด้วยล่ะ?
แต่แล้วเน็ทฟลิกซ์ก็ละเมิดกฎของตัวเอง ด้วยการให้หนังเรื่อง Roma ของคัวรองเปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์ถึง 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะไปอยู่ในระบบสตรีมมิง และกับ The Ballad of Buster Scruggs ก็เช่นกัน เพียงแต่มีระยะเวลาที่สั้นกว่า ที่สุดแล้วในตอนนี้พวกเขาก็ยินดีที่จะละเมิดกฎโง่ๆ ของตัวเองเพื่อเอาใจบรรดาคนทำหนังที่ได้รับการยกย่อง แล้วถ้าวอร์เนอร์ หรือยูนิเวอร์แซลประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวจิตใจเจ้าของโรงหนังให้ยอมลดระยะเวลาปล่อยโฮมวิดีโอลง อาจจะเหลือสัก 60 วัน บางทีก็อาจจะเป็นการเปิดประตูให้กับหนัง The Irishman ของสกอร์เซซี ได้มีโอกาสฉายตามโรงภาพยนตร์ในวงกว้าง ก่อนที่จะเข้าระบบของเน็ทฟลิกซ์
แต่อย่าลืมว่าเป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่า จะเป็นการเปิดประตูให้รายได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศทรุดฮวบ และนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมอย่างที่เรารู้กัน
ทั้งหมดไม่มีอะไรที่การันตีได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และไม่มีใครรู้เช่นกันว่าการเจรจาต่อรองจะเข้มข้นหรือกินเวลานานขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ จะมีความตื่นเต้นเกิดขึ้น รวมไปถึงความน่าตกใจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการที่ทางเน็ทฟลิกซ์ยังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้มีการคาดกันว่าผู้ให้บริการสตรีมมิงเจ้านี้ จะลงเงินอีกราวๆ 15 พันล้านเหรียญเพื่อสร้างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของตัวเอง ซึ่งมากกว่า 12 พันล้านเหรียญที่ลงทุนไปในปีที่ผ่านมา
ถ้าใครสังเกตปริมาณของหนังและรายการโทรทัศน์ที่พะยี่ห้อเน็ทฟลิกซ์สร้าง จะพบว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในสัปดาห์หนึ่งหลังปีใหม่ มีหนังและรายการที่น่าสนใจเปิดตัวในสัปดาห์เดียวกันถึงสามเรื่อง ได้แก่ Fyre: The Greatest Party That Never Happened, Black Mirror: Bandersnatch และ Tidying Up with Marie Kondo ซึ่งทั้งหมดมีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือ ต้องใช้เงินในการซื้อหรือสร้างขึ้นมา ในปี 2018 เน็ทฟลิกซ์ใช้เงินถึง 12 พันล้านเหรียญ เพื่อผลิตภาพยนตร์และรายการต่างๆ ซึ่งจากข้อมูลของนักวิเคราะห์จากวอลล์ สตรีทระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นถึง 15 พันล้านเหรียญในปีนี้
“เราเชื่อว่าเน็ทฟลิกซ์น่าจะลงเงินในระดับนี้ ถ้าพวกเขาเลือกทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำกัดการเติบโตสำหรับการลงทุนสำคัญๆ ด้วยการทำการตลาดและสร้างภาพยนตร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นการเล่นเกมยาวๆ ได้อย่างชาญฉลาด” เบน สวินเบิร์น จากมอร์แกน สแตนลีย์ ให้ความเห็น ในปี 2017 เน็ทฟลิกซ์ใช้เงินลงทุนเรื่องภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ไป 8.9 พันล้านเหรียญ และว่ากันว่าในปี 2020 เงินลงทุนจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกเป็น 17.8 พันล้านเหรียญ
“ยิ่งคุณลงทุนมากขึ้นเท่าไหร่ คนจำนวนมากก็จะได้พบภาพยนตร์หรือรายการที่เขาชอบมากขึ้น และทำให้บริการของคุณมีคุณค่ามากขึ้น” รีด เฮสติง ซีอีโอของเน็ทฟลิกซ์กล่าว เน็ทฟลิกซ์จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อต่อเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะต้องเจอกับคู่แข่งคนสำคัญ ผู้ให้บริการสตรีมมิงจากดิสนีย์ รวมไปถึงในพื้นที่ต่างๆ ของโลก
งานเน็ทฟลิกซ์สร้างเรื่องอื่นๆ ที่จะถูกปล่อยตามมาอีกก็มี The Umbrella Academy, Velvet Buzzsaw และ High Flying Bird ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวฉายไปเรื่อยๆ และกับเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ที่จะมีขึ้น ก็น่าจะทำให้เน็ทฟลิกซ์มีหนังมาเติมในคลังของตัวเองเพิิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง เน็ทฟลิกซ์กับคานส์-เน็ทฟลิกซ์กับโรงภาพยนตร์และสตูดิโอ นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1274 ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2562