FEATURESMovie Features

เรื่องจริงเรื่องหลอกในหนังรางวัลออสการ์ Green Book

โผล่มาเงียบๆ แล้วก็กลายเป็นหนังขาประจำเวทีรางวัลมาตลอด ตบท้ายด้วยการคว้ารางวัลใหญ่ อย่าง รางวัลของสมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งสหรัฐอเมริกา, รางวัลลูกโลกทองคำ ก่อนปิดสวยๆ ที่ออสการ์ หลังเข้าชิงถึง 5 รางวัล และได้มาสามรางวัลสำคัญๆ อย่าง หนังเยี่ยม, สมทบชายยอดเยี่ยม และบทดั้งเดิมยอดเยี่ยม แต่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของหนังเท่านั้น ที่น่าประทับใจ เพราะกับเหตุการณ์จริงที่กลายเป็นหนังเรื่องนี้ ก็มีความสวยงามไม่ใช่น้อย

ผู้กำกับปีเตอร์ ฟาร์เรลลี หยิบเอาเรื่องราวการเดินทางไปตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่สังคมยังคงอ่อนไหวกับเรื่องสีผิวในยุค 60 ด้วยรถคาร์ดิแล็ค เดอวิลล์ สี่ประตูสีเทอร์คอยส์ ของดร. ดอน เชอร์ลีย์ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) นักเปียโนผู้มีชื่อเสียง และแฟรงค์ แอนโธนี วัลเลลองกา หรือโทนี ลิป (วิกโก มอร์เตนเซน) ที่ทำหน้าที่เป็นพลขับรวมทั้งดูแลฝ่ายแรกตลอดการเดินทาง

หนังมีอะไรหลายๆ ที่ทำให้นึกถึงหนังคลาสสิคจากปี 1989 – Driving Miss Daisy ที่นำแสดงโดยมอร์แกน ฟรีแมน และเจสสิกา แทนดี เพียงแต่หนนี้โชเฟอร์และผู้โดยสารถึงจะต่างสีผิว แต่ก็เป็นเพศชายเหมือนกัน และจากการเดินทางที่กินเวลานาน ทั้งสองคนก็ได้สร้างมิตรภาพอันแสนอบอุ่นให้เกิดขึ้นในรถคันนี้ ท่ามกลางเรื่องราวของการเหยียดผิว ที่แม้จะถูกนำเสนอออกมาอย่างน่ารื่นรมย์ ก็ยังได้รับการชื่นชมสำหรับเนื้อหาที่ถูกนำเสนอ

แต่จริงๆ แล้ว หนังก็ไม่ได้ปราศจากการติติงไปซะเลย อย่างน้อยครอบครัวของดร. เชอร์ลีย์ก็พูดถึงหนังเรื่องนี้ว่าเป็น “ซิมโฟนีของการโกหก” สะกิดเตือนฟาร์เรลลีสำหรับการทำให้มรดกตกทอดต่างๆ ของดร. เชอร์ลีย์กลายเป็นเรื่องของคนขาว และไม่ปรึกษาพวกเขาในการเขียนบท ขณะที่นักวิจารณ์บางรายก็ตำหนิว่าหนังนำเสนอเรื่องเหยียดผิวได้ไม่ดีนัก และกล่าวหาฟาร์เรลลีกับผู้เขียนบทว่า มีความเป็นหนังแบบผู้ไถ่บาปผิวขาว (white savior) ซึ่งใช้กับหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครผิวขาว ที่พยายามช่วยคนผิวสีให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ยากลำบาก

“ผมรู้สึกแย่นะสำหรับเรื่องนี้ แล้วหวังว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น” ฟาร์เรลลียอมรับกับนิวสวีค ถึงเรื่องที่เข้าไม่ถึงครอบครัวของดร. เชอร์ลีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ “ด้วยความสัตย์จริง คนที่มองเข้าไปในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้พบอะไรแบบนั้นหรอก พวกเขาคิดไปเอง ผมแน่ใจว่าคงมีนักวิจารณ์บางคน ที่ติดว่าหนังไม่น่าเชื่อถือ ด้วยความที่มันหม่นไม่พอ แต่นั่นไม่ใช่สไตล์ผม เราไม่อยากทำตัวเทศนาใคร”

และนี่คือสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่ไม่ใช่ในหนังเรื่อง Green Book

หนังสือกรีน บุค

ชื่อหนังที่เป็นหนังสือกรีนบุค จริงๆ แล้วคือหนังสือ The Negro Motorist Green Book ไกด์บุคประจำปีสำหรับนักเดินทางแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ถูกเรียกสั้นๆ ว่า เดอะ กรีน บุค หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดย วิเตอร์ ฮูโก กรีน บุรุษไปรษณีย์จากนิว ยอร์ค ตั้งแต่ปี 1936 – 1966 ซึ่งเป็นยุคที่มีกฏหมายแบ่งแยกสีผิวต่อต้านบรรดาผู้คนที่ไม่ใช่พวกผิวขาวที่เดินทางไปไหนมาไหน หลังจากที่ชนชั้นกลางแอฟริกัน-อเมริกันสามารถหาซื้อรถยนต์เพื่อใช้เดินทางไปในที่ต่างๆ ได้ แต่ก็ต้องเจอกับอันตรายและความไม่สะดวกสบายในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธที่จะขายอาหารหรือให้ที่พักพิง โดยไร้เหตุผล กรีนจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อแนะนำสถานที่, ร้านค้า และบริการต่างๆ ที่ยินดีต้อนรับลูกค้าแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งตอนนั้นคนแอฟริกัน-อเมริกัน จะเจอปัญหา ‘เมืองพระอาทิตย์ตก’ ที่บังคับให้คนผิวดำห้ามออกนอกบ้านยามค่ำคืน และโทนี ลิป และ ดร. เชอร์ลีย์ ก็ต้องเจอกับปัญหานี้เช่นกัน

หนังสือกรีนบุคจะพิมพ์ราวๆ 15,000 เล่มต่อปี และมีจำหน่ายตามปั้มน้ำมันต่างๆ โดยฉบับแรกวางขายในปี 1936 และตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลาถึง 30 ปี โดยบางเล่มมีการพิมพ์คำเตือนด้วยว่า ‘ถือหนังสือกรีนบุคไว้กับตัว คุณต้องการมัน’ และในหนังก็แสดงให้เห็นว่าโทนี ลิปและดอน เชอร์ลีย์ มีการใช้หนังสือกรีนบุคขณะเดินทางไปทางตอนใต้ ซึ่งตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ส่วนการเดินทางครั้งนี้ทั้งในหนังและเหตุการณ์ที่เกิดจริงขึ้น หลักๆ ก็อยู่ในปี 1962 เหมือนๆ กัน โทนี ลิปก็เป็นอิตาเลียน-อเมริกันจากบร็องซ์ ที่ทำงานคุมคลับโคปาคาบานาในนิว ยอร์ค แล้วก็ยอมรับงานขับรถพาดร. เชอร์ลีย์ นักดนตรีแอฟริกัน-อเมริกันชื่อดังเดินทางไปแสดงทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาอย่างที่รับรู้กันในหนัง

ดอน เชอร์ลีย์ ตัวจริง (ซ้าย) กับมาเฮอร์ชาลา อาลี ผู้เล่นเป็นเขาในหนัง

@ ชีวิตของดร. ดอน เชอร์ลีย์
ตัวของดอน เชอร์ลีย์ จากบทความในหลายๆ แห่งยืนยันว่า เขาเกิดที่คิงสตัน จาไมกา ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง และห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งไปๆ มาๆ เป็นความผิดพลาดของโปรโมเตอร์ต่างหาก ที่โฆษณาว่าเขาเกิดในจาไมกา เรื่องจริงที่เป็นไปก็คือ ดอน เชอร์ลีย์ เกิดที่เพนซาโคลา, ฟลอริดา ในวันที่ 29 มกราคม 1927 พ่อ-แม่เป็นผู้อพยพชาวจาไมกัน เอ็ดวิน – พ่อ เป็นบาทหลวง ส่วนสเตลลา – แม่ เป็นครูและเสียชีวิตตอนที่เขาอายุแค่ 9 ขวบ ด้วยความเป็นเด็กมีความพิเศษกว่าคนทั่วๆ ไป เชอร์ลีย์หัดเล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 2 ขวบ และเริ่มเป็นนักเปียโนอาชีพเมื่ออายุ 18 ปีกับวง the Boston Pops ด้วยการเล่นเพลง Piano Concerto No. 1 in B flat ของไชคอฟสกี

แต่ด้วยความที่เป็นคนคนผิวดำ เขาจึงไม่สามารถสานต่อการทำงานในฐานะนักดนตรีคลาสสิคัลได้ ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตัวละครรายนี้พูดเอาไว้ในหนัง ผู้อำนวยการโรงละครผิวขาว ซอล ฮูร็อค เป็นคนบอกกับเชอร์ลีย์ตอนอายุประมาณ 20 ปีว่า เขาไม่สามารถทำงานในวงการดนตรีคลาสสิคัลได้ ก็เพราะว่าผู้ชมชาวอเมริกันไม่อยากเห็น มือเปียโนผิวสีบนเวทีคอนเสิร์ต แต่ฮูร็อคก็แนะนำว่าเชอร์ลีย์น่าจะให้ความสำคัญกับการทำงานในวงการดนตรีป็อปและแจ๊ซซ์แทน

ถึงกระนั้นเชอร์ลีย์ก็เคยเล่นเดี่ยวเปียโนกับวงซิมโฟนีในชิคาโก, คลีฟแลนด์, ดีทรอยท์ และอีกหลายๆ แห่ง แล้วก็จบด้วยการทำงานตามคำแนะนำของฮูร็อค เขาผสมสานดนตรีคลาสสิคัลเข้ากับดนตรีแจ๊ซซ์ และดนตรีป็อปในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างแนวทางการเล่นเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ทำให้การแสดงของเขาส่วนใหญ่จะอยู่ตามคลับมากกว่าคอนเสิร์ตฮอลล์ หากเขาก็เกลียดการแสดงในคลับ เพราะรู้สึกว่าผู้ชมไม่เคารพในดนตรีของเขาสักเท่าไหร่ แถมยังรู้สึกอีกว่าบรรดามือเปียโนแจ๊ซซ์ทั้งหลาย ลดคุณค่าของตัวเองด้วยการแสดงออกอย่างที่เห็นกันบนเวที “พวกเขาสูบบุหรี่ขณะเล่น แล้วเอาแก้วเหล้ามาวางบนเปียโนอีก จากนั้นก็กลายเป็นอะไรไม่รู้เมื่อไม่ได้รับความเคารพเหมือนอาร์เธอร์ รูบินสไตน์” เชอร์ลีย์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในปี 1982 กับนิว ยอร์ค ไทม์ส “คุณไม่มีทางเห็นอาร์เธอร์ รูบินสไตน์สูบบุหรี่ และวางแก้วบนเปียโน ผมพยายามสร้างความสง่างามผ่านเสียงดนตรีของคนผิวดำ นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามทำ” เขากล่าว

หลายคนอาจจะคิดว่า ดร. เชอร์ลีย์ คือฉายาที่เชอร์ลีย์ได้รับจากการความสามารถในการเล่นเปียโน เพราะเขาไม่เคยเรียนที่ไหนจบเลย แต่ที่หลายๆ คนไม่รู้ก็คือ เขาเคยได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ถึงสองใบ และเป็นไปได้ว่า ดร. ที่นำหน้านั้น มีที่มาจากเรื่องนี้

เชอร์ลีย์ไม่ใช่นักดนตรีผิวดำเพียงคนเดียวที่โอกาสการเป็นนักดนตรีคลาสสิคัลถูกปฏิเสธ นีนา ซีโมนก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่เจอสถานการณ์ไม่ต่างกัน ถึงกำแพงสีผิวจะทำให้เชอร์ลีย์เป็นมือเปียโนคลาสสิคัลบนเวทีคอนเสิร์ตไม่ได้ แต่ดนตรีที่มีความเป็นป็อปของเขาก็เต็มไปด้วยเทคนิคน่าทึ่ง เขานำเอาท่วงทำนองและการเล่นแบบคลาสสิคัลมาทอเข้ากับเพลงป็อป แล้วสร้างวงทรีโอในอีกรูปแบบหนึ่งที่ประกอบด้วยเชลโล, เบส และเปียโน ซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสความยอดเยี่ยมเหล่านี้ได้จากเพลงของเชอร์ลีย์ “I Can’t Get Started”, “Blue Moon” หรือ “Lullaby of Birdland” ซึ่งมีให้ฟังกันในหนัง

ในภาพยนตร์ดอน เชอร์ลีย์ ต้องแสดงในโรงละครเฉพาะคนผิวขาวล้วน ซึ่งเป็นเรื่องจริง โดยเป็นการแสดงทางใต้ตามที่มีคนจองตัวเขากับโคลัมเบีย อาร์ติสท์ส บริษัทที่ดูแลคิวการแสดงให้ เชอร์ลีย์พบว่าตัวเองขึ้นเล่นต่อหน้าผู้ชมผิวขาวล้วนๆ ทั้งในโรงละครและห้องรับแขก ที่เรื่องของความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องที่ต้องระแวดระวังอย่างที่สุด เพราะก่อนหน้านั้นราวๆ 6 ปี ในปี 1956 แน็ท คิง โคล เคยถูกทำร้ายบนเวทีขณะเล่นต่อหน้าผู้ชมผิวขาวล้วน ในเบอร์มิงแฮม, อลาบามา เหตุการณ์นี้ถูกพุดถึงในหนัง และเมื่อรู้ว่าเชอร์ลีย์จะต้องเจอการเหยียดผิวแน่ๆ และอาจมีเหตุการณ์รุนแรง โทนี ลิปที่ทำงานคุมคลับในนิว ยอร์ค ซิตี เลยเตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดี

ดอน เชอร์ลีย์ กับห้องพักเหนือคาร์เนกี ฮอลล์

ส่วนที่พักของดอน เชอร์ลีย์ ก็เป็นอพาร์ทเมนท์ที่อยู่เหนือคาร์เนกี ฮอลล์ อย่างที่เราเห็นกันในหนังนั่นแหละ โดยเป็นหนึ่งในห้องพักอันหรูหราสำหรับนักดนตรี ที่ถูกใช้มายาวนานกว่า 50 ปี แต่หลายๆ ครั้งเชอร์ลีย์ก็รู้สึกเหมือนตัวเองติดอยู่ในยอดหอคอยของปราสาท อยากลงไปคอนเสิร์ตฮอลล์ข้างล่าง เพื่อขึ้นแสดงในคอนเสิร์ตของวงซิมโฟนิคที่จัดกันเป็นประจำ จริงๆ แล้วเชอร์ลีย์ก็มีคอนเสิร์ตกับวงทรีโอของตัวเองที่คาร์เนกี ฮอลล์ปีละครั้ง และในปี 1955 เขาได้เล่นเปียโนใน New World a-Comin คอนเสิร์ตครั้งแรกของดุค เอลลิงตันที่นี่ด้วย

นอกจากจะเป็นนักดนตรีคลาสสิคัลมาก่อน การวางตัวของดอน เชอร์ลีย์ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเช่นที่เห็นในหนัง มีการสงวนท่าที พูดจาออกเสียงในสำเนียงของชนชั้นสูง ซึ่งเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากโทนี ลิป ที่มักจะชอบทำตัววางโต กระทั่งการกินอาหาร เชอร์ลีย์ปฏิเสธที่จะกินอาหารด้วยมือ ซึ่งมีฉากหนึ่ง ลิปพยายามชวนให้เชอร์ลีย์กินไก่ทอดด้วยมือ แม้จะตกลงยอมกินแต่เขาก็จับชิ้นไก่ด้วยท่าทางไม่แน่ใจว่าควรจะจับตรงไหน ยังไง

เมื่อพูดถึงเรื่องครอบครัว เชอร์ลีย์บอกกับลิปว่าเขาเคยแต่งงานแล้ว และเรื่องจริงก็เป็นอย่างนั้น การแต่งงานของเขาจบลงด้วยการหย่าร้าง “จีนกับผมหย่ากัน” เชอร์ลีย์ให้สัมภาษณ์ไว้ในสารคดีเรื่อง Lost Bohemia “ความรักมันไม่มีแล้ว ความใคร่ก็ไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผมมีโอกาสที่จะได้ทำงานทำการ และคงมีพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำมาตลอด ผมฝึกฝนมาทั้งชีวิต ผมไม่มีความเป็นสามีรวมไปความเป็นนักเปียโนคอนเสิร์ต เพราะผมยึดมั่นในสิ่งที่ผมถูกฝึกมาตลอดชีวิตให้เป็น” ถึงไม่มีการแสดงออกมาตรงๆ ก็เชื่อกันว่าดอน เชอร์ลีย์เป็นเกย์ ซึ่งนำไปสู่ฉากที่เขาถูกจับขณะมีอะไรกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่วายเอ็มซีเอ

สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในหนังของเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง สายตรวจของรัฐโทรตามโทนี ลิปให้มาที่วายเอ็มซีเอ แต่ลิปก็ไม่เคยบอกว่าดอน เชอร์ลีย์ถูกจับใส่กุญแจมือกับฝักบัวด้วยเรือนร่างเปล่าเปลือยโดยมีชายหนุ่มอีกคนอยู่ด้วยจริงหรือเปล่า เขาบอกแค่ว่า เมื่อไปถึงเชอร์ลีย์บอกว่าเจอกับผู้ชายสามคน แต่ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น สายตรวจของรัฐสองคนอยากจับเชอร์ลีย์ แต่ลิปติดสินบนพวกเขา “ผมบอกว่า ‘เราน่าจะผ่านๆ มันไปเถอะ บางทีเราก็น่าจะแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดีซะก่อน’” และ “ผมอยากซื้อสูทให้พวกคุณสองคนสักชุด’ ผมหยิบเงินมา 200 เหรียญแล้วให้พวกเขาไป” ลิปเสริมด้วยว่า ทั้งคู่ลังเลแต่ก็รับข้อเสนอปล่อยเชอร์ลีย์ในท้ายที่สุด เชอร์ลีย์เสียใจกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของลิปอย่างที่เห็นในหนังจริง “ดอนไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นเกย์ ไม่เคยมีการพูดออกมา” นิค วัลเลลองกา ลูกชายของลิปบอก และย้ำว่าเหตุการณ์ที่วายเอ็มซีเอในหนัง เป็นเรื่องทางเพศของเชอร์ลีย์ที่เขาไม่เคยได้ยินเลย

หนังให้ดอน เชอร์ลีย์มีชีวิตส่วนตัวราวกับบอกเป็นนัยๆ ว่า ความเป็นอัจฉริยะของเขากลายเป็นภาระหนักอึ้งจนตัวเองตัดขาดจากคนอื่นๆ ซึ่งทำให้มิตรภาพระหว่างเขากับลิปเป็นเรื่องที่พิเศษมากๆ และกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นก็เป็นเช่นนั้น เชอร์ลีย์ต้องจัดการกับความอ้างว้างและเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าด้วยการดื่มอย่างหนักหน่วง จมอยู่กับเหล้าจนเกือบหมดขวดในแต่ละคืนของการทัวร์

แม้จะจากไปแล้วในปี 2013 แต่ดร. ดอน เชอร์ลีย์ก็รู้ดีว่า วันหนึ่งเรื่องราวของเขากับโทนี ลิปจะกลายเป็นภาพยนตร์ เมื่อปี 1980 นิคบอกกับเชอร์ลีย์และพ่อของเขาว่า อยากสร้างหนังเกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีร่วมกันของทั้งคู่ เชอร์ลีย์บอกว่าทำได้แต่ต้องให้เขาจากไปเสียก่อน “นายควรจะใส่ทุกอย่างที่พ่อนายบอกกับนาย และทุกอย่างที่ฉันบอกกับนาย” นิคเล่าถึงคำพูดที่เชอร์ลีย์บอกกับเขา “นายต้องเล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่นายต้องรอฉันตายไปซะก่อน” นิคเชื่อว่าเชอร์ลีย์อยากให้รอ เพราะกังวลว่าการบอกความจริงจะเผยเรื่องรสนิยมทางเพศของเขาด้วย เชอร์ลีย์จากไปด้วยอาการแทรกซ้อนของโรคหัวใจในเดือนเมษายน 2013 ด้วยวัย 86 หลังลิปเสียชีวิตไม่ถึง 5 เดือน นิคเขียนบทของหนังร่วมกับไบรอัน เฮย์ส เคอร์รี และผู้กำกับปีเตอร์ ฟาร์เรลลี

โทนี ลิป ตัวจริง (ซ้าย) กับวิกโก มอร์เตนเซน ที่มารับบทเป็นเขาในหนัง

@ ชีวิตของแฟรงค์ แอนโธนี วัลเลลองกาหรือโทนี ลิป
หันมาดูโทนี ลิปกันบ้าง เขามีชื่อเต็มๆ ว่า แฟรงค์ แอนโธนี วัลเลลองกา แต่หลายๆ คนเรียกว่า โทนี ลิป โดยโทนีนั้น มาจากชื่อกลางของเขา ส่วนลิป มาจากเรื่องที่ว่า ตอนอายุ 8 ขวบเขาเชี่ยวในเรื่องของการพูดจาต่อรองให้ทุกอย่างมาเข้าทางของตัวเองได้หมด และเป็นทักษะที่อยู่กับตัวเขาทั้งชีวิต และในหนังก็บอกถึงที่มาในเรื่องนี้เอาไว้เรียบร้อยตามความเป็นจริง แล้วก่อนจะเป็นคนเฝ้าคลับ โคปาคาบานา ลิปก็เคยเป็นทหารมาก่อน โดยประจำการในเยอรมันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนต้นๆ ยุค 50

ในฉากแรกๆ ของหนัง จะเห็นว่าลิปก็เหยียดผิว เมื่อเอาแก้วน้ำที่ช่างผิวดำดื่มทิ้งลงถังขยะ ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากความเป็นจริง วัลเลลองกา ลูกชายของลิป เผยว่าก่อนจะเดินทางไปกับเชอร์ลีย์ พ่อของเขาเป็นพวกเหยียดผิว ซึ่งเป็นลักษณะทั่วๆ ไปของคนที่โตมาในบร็อกซ์ บริเวณย่านของคนอิตาเลียน-อเมริกัน นอกจากนี้ในหนังลิปที่รับบทโดยมอร์เตนเซน ยังสรุปง่ายๆ ถึงลักษณะของคนในแบบที่เชอร์ลีย์เป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารที่กิน, ดนตรีที่ฟัง ตามความคิดเหมาเอาว่าเพราะเป็นคนผิวดำ “พ่อผมเป็นผลิตผลจากช่วงเวลาหนึ่ง และจากสภาพแวดล้อมของท่าน นี่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวนะ” นิคกล่าว “ทุกอย่างหายไปหลังจากพ่อกลายเป็นเพื่อนกับดร. เชอร์ลีย์ และหลังจากการเดินทางบ้าๆ บอๆ ร่วมกันครั้งนี้ รวมไปถึงจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา” วัลเลลองกา เผย “ตอนนี้ มันไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณได้ยินเขาเล่าต่อๆ กันมา… แต่เขาได้เห็น และเป็นพยานในสิ่งที่เกิดขึ้น”

ลิปได้เห็นการแบ่งแแยกผิวและการดูถูกดูแคลนที่เชอร์ลีย์ได้รับกับตาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การที่ไม่สามารถทานอาหาร หรือเข้าห้องน้ำในภัตตาคารที่ตัวเองเล่นได้ รวมไปถึงการแสดงออกทางกายถึงความรุนแรงต่อเชอร์ลีย์ ลูกชายของลิปบอกอีกด้วยว่า การเดินทางครั้งนั้นเปลี่ยนพ่อของเขาไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งยังเปลี่ยนวิธีเลี้ยงลูกของลิปอีกต่างหาก ด้วยการย้ำถึงความเชื่อที่ว่า ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน “การเดินทางแสนวิเศษครั้งนี้ มีผลกับพ่ออย่างมาก มหาศาลเลยล่ะ แล้วก็เปลี่ยนพ่อ มันเปลี่ยนวิธีที่พ่อเลี้ยงดูพวกเรา ด้วยการบอกว่าเราทุกคนเท่าเทียมกัน และทุกคนเหมือนกัน”

ภาพด้านหลัง โทนี ลิป กับโดโลเรส ภรรยา ส่วนด้านหน้า เป็น ลินดา คาร์เดลลืนี ผู้รับบทโดโลเรส กับวิกโก มอร์เตนเซน ที่เล่นเป็นลิปในหนัง

เรื่องหนึ่งที่น่ารักมากๆ ก็คือการที่เชอร์ลีย์สอนให้ลิปเขียนจดหมายถึงโดโลเรสภรรยา หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นแก๊กน่ารักๆ ของหนัง แต่นี่คือเหตุการณ์ที่เป๊ะกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เรื่องถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะเขียนบทนิคต้องใช้จดหมายที่พ่อเขียนถึงแม่ ซึ่งมีเชอร์ลีย์เป็นที่ปรึกษาอย่างที่เห็นในหนัง

ในปี 1980 วัลเลลองกาที่เตรียมการเล่าเรื่องระหว่างพ่อกับเชอร์ลีย์ เริ่มลงมือสัมภาษณ์พ่อถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเดินทางครั้งนี้ นั่นคือเรื่องที่เขาได้รับรู้จากพ่อกับเชอร์ลีย์เป็นอย่างแรก จากนั้นก็เป็นจดหมายที่พ่อเขียนถึงแม่ ซึ่งเขานำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำงาน ซึ่งทั้งพ่อและเชอร์ลีย์ต่างก็ให้พรเขาก่อนที่จะนำเรื่องเล่าต่างๆ กับสิ่งที่อยู่ในจดหมายมากลั่นกรองเป็นบท

การเดินทางทัวร์ใต้ของดร. เชอร์ลีย์ และลิปในหนังกินเวลาราวๆ 2 เดือน ซึ่งผิดจากความเป็นจริงไม่น้อยเลย เพราะลิป อดีตนักเบสบอลลีกรอง และอดีตทหารอเมริกันที่เคยประจำการในเยอรมันนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องเดินทางทัวร์กับดร. เชอร์ลีย์ยาวนานถึงปีครึ่ง นิคเผยสาเหตุที่ต้องลดเวลาในหนังลง ก็เพราะการได้รับอนุญาตในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งคนทำหนังได้รับระบุว่า เหตุการณ์ในหนังต้องไม่เกิดขึ้นในเมืองเดียวหรือเวลาเดียวกับที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

แต่เรื่องที่ลิปและดร. เชอร์ลีย์ติดคุกด้วยกัน หลังฝ่ายแรกปล่อยหมัดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเรื่องจริง โดยลิปเกิดฉุนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่วิพากษ์วิจารณ์ชื่ออิตาเลียนของเขาเสียๆ หายๆ ก็เลยซัดซะเลย ทำให้ทั้งคู่ต้องติดคุก แต่ที่แตกต่างก็คือ เหตุการณ์จริงๆ เกิดขึ้นอีกหนึ่งปีหลังจากการเดินทางในหนัง เป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1963 ซึ่งเป็นทัวร์อีกรอบหนึ่งหลังช่วงพักคริสต์มาสที่เป็นฉากจบของหนัง เชอร์ลีย์โทรหาโรเบิร์ท เคนเนดีที่ตอนนั้นเป็นอัยการสูงสุด เพื่อช่วยปล่อยตัวพวกเขา ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันและเชอร์ลีย์ก็โทรไปหาไม่กี่วันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี พี่ชายของโรเบิร์ทจะถูกลอบสังหาร ซึ่งในหนังไม่ได้บอกเอาไว้ เช่นเดียวกับการที่เชอร์ลีย์ปลีกจากการออกทัวร์ไปร่วมงานศพของประธานาธิบดี

ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ขับรถ และดูแลเรื่องความปลอดภัย, ความเป็นอยู่ต่างๆ ของดอน เชอร์ลีย์ ในหนังเราจะเห็นว่า ลิปยังรับผิดชอบในเรื่องเครื่องดนตรีที่ต้องเป็นเปียโนยี่ห้อสไตน์เวย์เท่านั้นอีกด้วย แม้อาจจะดูเวอร์ๆ ไปบ้างในยุคนั้น (หรือกระทั่งยุคนี้) แต่ลิปทำแบบนี้จริงๆ ฉากหนึ่งในหนัง ลิปพบว่าเปียโนในการแสดงมีปัญหาก็มีที่มาจากเรื่องจริง “พอผมเปิดฝามันขึ้นมา ก็เห็นเศษกระดูกไก่อยู่ข้างใน” ลิป เล่า “ผมบอกว่า ‘ผมบอกแล้วใช่ไหม ถ้าไม่ได้สไตน์เวย์ มาตั้งตรงนี้ตอนสองทุ่ม เราจะไม่เล่นคอนเสิร์ต’ โดยส่วนตัวนะ ผมรู้สึกเหมือนตัวเองถูกสบประมาท” และเปียโนสไตน์เวย์ที่หาได้ใกล้ที่สุดก็อยู่ไกลไปอีก 40-50 ไมล์ แต่ลิปยืนกรานคำเดิมและเปียโนต้องมาถึงให้ทันเวลา ลิปไม่ได้บอกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการแสดงการเหยียดผิวต่อเชอร์ลีย์ หรือมีคนในสถานที่จัดงานแสดงการเหยียดผิวออกมา หากเสริมว่า สถานที่แสดงเป็นโรงเรียนมัธยม ซึ่งดูเหมือนไม่มีเปียโนที่ดีกว่านี้ให้เล่น

หนังจบลงด้วยการเป็นเพื่อนกันของลิปและเชอร์ลีย์ ที่หมายความรวมถึงครอบครัวของฝ่ายแรกด้วย ซึ่น่าจะเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ “เขาเป็นพวกพิถีพิถันมากๆ” นิค พูดถึงเชอร์ลีย์ “แต่งตัวดี, พูดจาดี, เป็นคนดูมีการศึกษา และเป็นคนน่ารักทั้งกับผมและพี่ๆ น้องๆ ผม เขาให้ความสนใจกับครอบครัวของพ่อมากๆ พ่อเองก็เป็นพวกรักครอบครัวด้วย เขาชอบให้ของขวัญกับเรา ผมจำได้ว่าเขาซื้อรองเท้าสเก็ตน้ำแข็งให้ตอนที่ผมยังเด็กๆ เขาเป็นคนที่พิเศษจริงๆ เป็นคนที่พิเศษมากๆ การที่ได้มาเฮอร์ชาลา อาลี มาเล่นเป็นเขา เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าเหลือเชื่อจริงๆ”

ในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่โทรอนโท วัลเลลองกาบอกคนดูว่า หลังเหตุการณ์ในหนัง พ่อของเขายังไปไหนมาไหนกับเชอร์ลีย์อีก “พวกเขาใช้เวลาเดินทางร่วมกันอีกปีหนึ่ง แล้วก็ไปแคนาดาด้วย”

โทนี ลิป นั่งกลาง รับบทเป็นคาร์ไมน์ ลูเพอร์ทาซซี มาเฟียใหญ่ในซีรีส์ The Sopranos

ที่น่าสนใจก็คือ หลังการเดินทางในหนังหากเราถามครอบครัววัลเลลองกา คำตอบก็คือ “ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากเหตุการณ์นั้น” นิค บอก พร้อมย้ำว่า มิตรภาพของทั้งคู่ “หยั่งรากลึกลงเรื่อยๆไ และพ่อของเขา “ฟังดร. เชอร์ลีย์”

แต่ถ้าถามครอบครัวของเชอร์ลีย์ คำตอบจะแตกต่าง “มันเป็นความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้าง” แพทริเซีย เชอร์ลีย์ น้องสะใภ้ดร. เชอร์ลีย์กล่าว เธอเล่าด้วยว่าพี่เขยเป็นคนที่ทำทุกอย่างแบบมืออาชีพ และนั่นก็เป็น “ความสัมพันธ์แบบเดียวที่เชอร์ลีย์มีกับคนอื่นๆ ที่เขาเคยทำงานด้วย”

ช่วงเอนด์ เครดิต ผู้ชมจะได้เห็นดร. เชอร์ลีย์ ตัวจริงเล่นที่คาร์เนกี ฮอลล์ ซึ่งเป็นภาพจากปี 1971 ส่วนชีวิตของโทนี ลิปและดร. เชอร์ลีย์ ทั้งสองคนจากไปในปี 2013 โดยทิ้งช่วงห่างกันแค่ 5 เดือน ที่หลายๆ คนอาจไม่รู้ก็คือ โทนี ลิปเคยทำงานในวงการบันเทิงด้วย หลังจากเหตุการณ์ในหนังราวๆ 10 ปี เขาได้บทเล็กๆ ใน The Godfather หลังพบกับฟรานซิส ฟอร์ด ค็อปโปลาที่คลับโคปาคาบานา ในนิว ยอร์ค ซิตี ที่เขาทำงานอยู่ ลิปเล่นหนังราวๆ 21 เรื่องในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น Dog Day Afternoon, Raging Bull, Goodfellas และ Donnie Brasco รวมไปถึงบทคาร์ไมน์ ลูเพอร์ทาซซี ในซีรีส์ The Sopranos

เรื่องราวในหนังอาจไม่ได้เล่าอย่างถูกต้องสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางจริงๆ กินเวลาปีครึ่ง ไม่ใช่สองเดือน นอกเหนือไปจากเวลาที่ทั้งคู่ใช้ร่วมกันในรถ แต่นิค วัลเลลองกาก็ย้ำว่า การเล่าเรื่องถูกต้องตรงตามการเก็บรวบรวมเหตุการณ์ในความทรงจำ “ผมอยากให้ความรู้สึกถูกส่งออกมาด้วยความจริงใจ เพราะเรื่องราวของมันน่าทึ่ง และมีความซื่อสัตย์ในตัวมากพออยู่แล้ว” นิคกล่าว “ผมรู้สึกว่าเราคงไม่มีทางสร้างฉากใด ฉากหนึ่งหลอกๆ ขึ้นมาในหนังเรื่องนี้ได้หรอก

“ผมคิดว่า นั่นคือสาเหตุที่มันยังคงดังก้องอยู่ เพราะความจริงใจที่มี”

โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง เรื่องจริงเรื่องหลอกในหนังรางวัลออสการ์ Green Book นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1275 ปักษ์แรกมีนาคม 2562

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
4
Happy
5
In Love
1
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.