สตรีมิงคืออนาคตของธุรกิจภาพยนตร์และโทรทัศน์ หรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของอนาคต นั่นคือสิ่งที่ถูกคาดการณ์กันในตอนนี้ เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นอนาคตของธุรกิจเพลง และกลายเป็นปัจจุบันไปแล้วในทุกวันนี้
กระทั่งในบ้านเรา ผู้ให้บริการสตรีมิงก็เปิดตัวและมีให้เลือกชมหนาตามากยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นแบรนด์ระดับโลก, ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ซึ่งในอนาคตก็คงมีทะยอยเปิดตัวออกมาอีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จะมีผู้ให้บริการเจ้าใหญ่เปิดตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาไปถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ อย่างน้อยๆ ก็สี่ราย ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเจ้าตลาดอย่างเน็ทฟลิกซ์ ที่ดูๆ ไปแล้วก็ไม่ต่่างไปจากสร้างเน็ทฟลิกซ์ขึ้นมาเป็นของตัวเอง
เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรืออเมริกา ถ้าเป็นสาวกของผลิตภัณฑ์ผลไม้ก็คงเคยเห็นและอาจจะได้สัมผัสกับแอปเปิลทีวี พลัส ที่เปิดตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายนเป๊ะกันไปแล้ว ส่วนผู้ชมในอเมริกาก็มีตัวเลือกเพิ่มมาอีกหนึ่งราย เมื่อดิสนีย์พลัสเปิดให้บริการไปในวันที่ 12 พฤศจิกายน และปีนี้สถานีเอ็นบีซีจะโดดลงมาร่วมเล่นเกมสตรีมิงด้วยการเปิดบริการของตัวเองในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งทำให้คืนวันที่เคยมีแค่เน็ทฟลิกซ์และฮูลูให้ชมระหว่างที่ทำกิจกรรมต่างๆ หน้าจอโทรทัศน์หมดไป เพราะแทบทุกเจ้าของสื่อต่างพยายามสร้างรายการของตัวเองขึ้นมา แล้วบังคับให้ผู้ชมสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการพิเศษในการเข้าถึงรายการต่างๆ ที่หากอยากเก็บให้ครบก็ต้องใช้เงินไม่ใช่น้อย
อลัน เซพินวอลล์ จาก rollingstone.com จะมาแนะนำให้รู้จักกับบรรดาผู้ให้บริการสตรีมิงทั้งหลาย ทั้งหน้าเก่า, หน้าใหม่ หรือใบหน้าในอนาคต แม้จะเป็นในสหรัฐอเมริกา แต่เชื่อได้เลยว่าเกินครึ่งของรายชื่อเหล่านี้ จะมีให้ชมในบ้านเราในไม่ช้าไม่นาน
เน็ทฟลิกซ์
ค่าสมัครสมาชิก: 8.99 เหรียญ/เดือน (ไม่มีภาพเอชดี, ชมได้ทีละเครื่อง), 12.99 เหรียญ/เดือน (มีภาพเอชดี, ชมได้ทีละสองเครื่อง), 15.99 เหรียญ/เดือน (ภาพแบบอูลตราเอชดี, ชมได้ทีละสี่เครื่อง)
จุดแข็ง: มีซีรีส์ของตัวเองมากกว่าเจ้าอื่น และหลายๆ เรื่องเป็นงานชั้นเยี่ยม
เน็ทฟลิกซ์คือคนที่มองเห็นอนาคตเป็นคนแรก และเป็นคนที่สร้างอนาคตให้กับธุรกิจสตรีมิงจนทุกคนโดดลงมาฟาดฟันกัน ก่อนที่คนอื่นๆ ในธุรกิจบันเทิงจะมองเห็นว่า ‘อะไร’ กำลังมา เน็ทฟลิกซ์ก็อัดแน่นไปด้วยกรุของรายการเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้นจากทุกหนทุกแห่ง เริ่มด้วย House of Cards และ Orange Is the New Black ในปี 2013 ซึ่งทำให้ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสตรีมิงเริ่มสร้างซีรีส์เฉพาะของตัวเอง ตั้งห้องสมุดรายการในบ้านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่หนีไม่พ้น เมื่อบรรดาสตูดิโอต่างๆ จะดึงรายการเก่าๆ ของตัวเองกลับไปอยู่ในมือ เช่นที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ The Office และ Friends ทุกวันนี้เน็ทฟลิกซ์มีซีรีส์ของตัวเองเป็นหลายร้อยรายการ มีทั้งงานเบาสมอง, ดรามา, รายการสำหรับเด็ก, ซีรีส์ที่ไม่มีบท รวมถึงรายการภาษาต่างประเทศ เพื่อชดเชยการหายไปของรายการต่างๆ
ไม่ใช่แค่เยอะ แต่ในห้องสมุดของเน็ทฟลิกซ์ยังมีงานคลาสสิคไม่น้อย เช่น Mad Men และ Breaking Bad แถมยังจะได้ Seinfeld มาอีกในปี 2021แต่ขณะที่เน็ทฟลิกซ์เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จากรายการที่ผลิตเองซึ่งมีมากขึ้นด้วย ก็ยังมีคำถามที่น่าสนใจว่า ‘รายการของพวกเขามีความแข็งแรงขนาดไหน?’ หากก็พอมองรายการดีๆ ที่เสริมด้วยคำว่า ‘ยอดเยี่ยม’ ตัวใหญ่ๆ เอาไว้ได้ด้วยหลายรายการ อย่าง BoJack Horseman หรือ การวางเดิมพันแล้วพบกับความสำเร็จของ Russian Doll, Unbelievable และ When They See Us นอกจากนี้พวกเขายังมีรายการอีกล็อทใหญ่ ที่ใช้คำว่าเยี่ยมด้วยได้ แถมบางทียังไปไกลกว่านั้นได้อีก เช่น Orange, Big Mouth แล้วก็ GLOW ตามด้วยซีรีส์เน็ทฟลิกซ์ทำเองอีกกลุ่มที่เป็นความแตกต่าง และทำออกมาได้สนุกแบบ Stranger Things รวมถึงหลากหลาย ไม่จำกัดขอบเขตใดๆ อย่าง รายการของมาร์เวล Luke Cage รายการเหล่านี้ถือว่ามีองค์ประกอบที่ดี และแทบเดาไม่ได้เลยว่า จะมีอะไรที่น่าสนใจรออยู่กับการเล่าเรื่องราวที่กินความยาว 10-13 ตอนต่อหนึ่งฤดูฉาย
ท่ามกลางงานทำเองชั้นดีและงานที่มีเต็มไปหมดในห้องสมุด จะว่าไปแล้วเน็ทฟลิกซ์แทบไม่ขาดงานที่ดึงความสนใจผู้ชมได้ ระหว่างเลื่อนหารายการชมบนหน้าจอแรกเลย แต่กับการเป็นหัวเรือใหญ่ในระดับผู้เริ่มต้นให้คนอื่นๆ เดินตาม ช่วงห่างของคุณภาพอาจจะไม่กว้างอย่างที่ใครๆ คิด
ไพรม์ วิดีโอ
ค่าสมาชิก: มาพร้อมกับการเป็นสมาชิกแอมะซอน ไพรม์ในราคาเหมารวมที่ 119 เหรียญ/ปี (เฉลี่ย 9.92 เหรียญ/เดือน) หรือ 2.99 เหรียญ/เดือน ถ้าไม่อยากจ่ายรายปีก้อนโต
จุดแข็ง: ถ้าเป็นลูกค้าของแอมะซอน และสนใจเรื่องส่งของฟรีแล้วละก็ นี่คือโบนัสของสตรีมิงเจ้านี้
ความเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกค้าปลีกซึ่งเราสามารถซื้อหาอะไรก็ได้ แอมะซอนน่าจะชนะสงครามสตรีมิงได้ไม่ยาก แต่เพราะความใหญ่โตขององค์กรพวกเขาเลยทำอะไรประหลาดๆ ที่กลายเป็นการขัดแย้งกับการทำงานของไพรม์ วิดีโอซะงั้น จนสมาชิกของแอมะซอน ไพรม์ไม่น้อยไม่รู้กระทั่งว่า พวกเขาสามารถชมรายการของไพรม์ วิดิโอได้ รวมถึงการส่งของสองวันถึง และส่วนลดในการสั่งอาหารจากบริการโฮล ฟูดส์
รายการเองก็หลากหลาย ถึงแม้ว่าอาจจะดูไม่ค่อยเข้ากันสักเท่าไหร่ก็ตาม ห้องสมุดของแอมะซอน ไพรม์มีซีรีส์คลาสสิคของเอชบีโอ เช่น The Wire และ Curb Your Enthusiasm ให้ได้ชม แต่ก็น่าจะหายไปหลังจากเอชบีโอ แม็กซ์ เปิดให้บริการ โดยตอนนี้สัญญาถูกขยายออกไปจากกำหนดเดิมแล้ว แต่เอชบีโอยังไม่เผยออกมาว่าจะดึงกลับไปเมื่อไหร่ นอกจากนี้ยังมีรายการเฉพาะบางรายการที่ไม่มีให้ชมในสตรีมิงเจ้าอื่นๆ อาทิ Hannibal, Justified, The Americans, Mr. Robot และ Downton Abbey
สำหรับซีรีส์ของตัวเอง ดูเหมือนไพรม์ วิดีโอจะเต็มไปด้วยรายการสำหรับคุณพ่อ เมื่อมากไปด้วยรายการที่ดัดแปลงมาจากนิยายผู้ชายๆ เช่น Bosch, Jack Ryan และ The Man in the High Castle ซึ่งทำให้นึกถึงกาลครั้งหนึ่งนานมาที่แอมะซอนเชี่ยวชาญเหลือเกินกับการขายหนังสือเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการได้รู้ว่ามีคนที่คิดไม่ถึงว่า Jack Reacher กำลังจะเป็นซีรีส์ที่นี่ อาจจะทำให้ถึงกับช็อค และหวังว่าพวกเขาน่าจะเลือกนักแสดงที่ตัวสูงกว่าทอม ครูสมารับบท ไพรม์ วิดีโอยังมีรายการระดับรางวัลเอ็มมีอย่าง The Marvelous Mrs. Maisel, Transparent และ Fleabag ซึ่งก็เหมือนๆ กับ Catastrophe ที่เป็นงานสร้างจากเกาะอังกฤษ แล้วแอมะซอนได้สิทธิ์นำมาออกอากาศ บวกกับรายการที่เป็นการลองอะไรใหม่ๆ เช่น งานสยองขวัญของจูเลีย โรเบิร์ทส์ เรื่อง Homecoming
เมื่อไรก็ตามที่รายการของเอชบีโอถูกถอดออกไป ความหลากหลายในห้องสมุดรายการของไพรม์ วิดีโอจะไม่ลึกเท่ากับที่เน็ทฟลิกซ์ แต่ก็นั่นแหละที่นี่ยังมีลูกเล่นที่น่าสนใจมากมาย อย่าง เมนูเอ็กซ์-เรย์ ซึ่งทำให้สามารถหยุดรายการเพื่อที่จะได้ดูว่า มีนักแสดงคนไหนบ้างในฉากนี้ หรือเพลงอะไรที่เล่นอยู่ในหนัง ฯลฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าที่ดีให้กับสมาชิก ซึ่งไปไกลกว่าที่ผู้ให้บริการสตรีมิงเจ้าอื่นๆ สามารถให้ได้จากหน้าจอ
ฮูลู
ค่าสมาชิก: 5.99 เหรียญ/เดือน (มีโฆษณา), 11.99 เหรียญ/เดือน (ไม่มีโฆษณา), 44.99 เหรียญ/เดือน (มีโฆษณา, ชมไลฟ์ทีวีได้), 50.99 เหรียญ/เดือน (ไม่มีโฆษณา, ชมไลฟ์ทีวีได้)
จุดแข็ง: เป็นห้องสมุดของรายการโทรทัศน์ในอดีตที่แสนมหัศจรรย์ บวกด้วยสามารถชมรายการในปัจจุบันได้ และมีช่องเอฟเอ็กซ์
ฮูลูเริ่มต้นในฐานะเป็นการร่วมมือกันของ สถานีเอบีซี, ฟ็อกซ์ และเอ็นบีซี เพื่อเป็นทางเลือกในการสตรีมิงรายการในวันถัดไปของซีรีส์ฮิทๆ อย่าง Grey’s Anatomy, House และ The Office ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงทำหน้าที่เดิมอยู่ แต่ในอนาคตซีรีส์ของเอ็นบีซีอาจจะปลิวไปอยู่ที่พีค็อค บริการสตรีมิงที่เอ็นบีซีจะเปิดให้บริการในอนาคต แต่เมื่อว่ากันถึงวันนี้ ที่นี่ยังมีอะไรให้เลือกเยอะแยะ และอย่าลืมว่าไลฟ์ทีวี ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่ง่ายมากๆ สำหรับการเลิกบริการเคเบิลทีวี ในการรับชมรายการกีฬา, ข่าว และการถ่ายทอดสดต่างๆ
สำหรับคนที่ห่วงเรื่องห้องสมุดโดยเฉพาะซีรีส์ ฮูลูมีตัวเลือกเพียบ ทั้งรายการดรามาคลาสสิค อย่าง ER, Hill Street Blues, NYPD Blue, Friday Night Lights และ St. Elsewhere รวมถึงซีรีส์ลูกผสมที่เคยได้รับความนิยมสุดๆ ในยุคหนึ่ง เช่น Lost, Buffy the Vampire Slayer และ The X-Files ไล่ไปถึงรายการเบาสมองยุคใหม่ แบบ 30 Rock, Atlanta, Bob’s Burgers และ Better Things กระทั่งรายการดีๆ สำหรับเด็ก อย่าง Adventure Time และ Steven Universe ยิ่งไปกว่านั้น ในตอนนี้ฮูลูยังเสริมจุดแข็งให้ตัวเองด้วยซีรีส์ทั้งปัจจุบันและในอนาคตจากเอฟเอ็กซ์ ที่จะมาผนึกกำลังกับงานของตัวเองที่แข็งแรงอีกเพียบที่อยู่ในห้องสมุด
รายการของฮูลูมีงานเด่นๆ ให้เห็นไม่น้อยเลย ต่อให้รู้สึกว่าซีรีส์รางวัลเอ็มมี อย่าง The Handmaid’s Tale เต็มไปด้วยความหดหู่จนเกินจะรับ ฮูลูก็ยังมีเพ็ชรเม็ดงามอีกหลายเม็ดให้ชม เช่น Casual, Pen15, Ramy รวมถึงมินิซีรีส์เรื่องใหม่ Looking for Alaska ยิ่งได้เอฟเอ็กซ์มาป้อนรายการของตัวเองให้โดยตรงซ้ำ รายการในลิสท์ก็ยิ่งแข็งแรงมากขึ้น เช่น The Old Man ของเจฟฟ์ บริดเจส, Mrs. America ที่เคท แบลนเช็ทท์แสดงนำ และ Devs ของนิค ออฟเฟอร์แมน ผนวกเข้ามาด้วย
ส่วนการที่ดิสนีย์ซื้อฟ็อกซ์ รวมถึงซื้อหุ้นของเอ็นบีซีในฮูลู แถมยังเปิดสตรีมิงของตัวเอง อะไรจะเกิดขึ้นกับฮูลูในอนาคต? เอาเป็นว่า ดิสนีย์ยังให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนสำคัญของตัวเอง เมื่อมัดรวมดิสนีย์ พลัส, อีเอสพีเอ็น พลัส และฮูลูแบบมีโฆษณาเข้าด้วยกัน แล้วให้สมัครสมาชิกในราคา 12.99 เหรียญ/เดือนตอนดิสนีย์ พลัสเปิดตัว แล้วการที่ให้เอฟเอ็กซ์มีความโดดเด่นเพิ่มมากขึ้น ก็ช่วยสร้างความแตกต่างระหว่างฮูลูกับดิสนีย์ พลัส ที่เต็มไปด้วยรายการสำหรับครอบครัวของดิสนีย์ การใช้ฮูลูเป็นช่องทางสตรีมิงของเอฟเอ็กซ์ ถือว่าเป็นความคิดที่ใช้ได้เลยทีเดียว
ซีบีเอส ออล แอคเซสส์
ค่าสมาชิก: 5.99 เหรียญ/เดือน (มีโฆษณา), 9.99 เหรียญ/เดือน (ไม่มีโฆษณา)
จุดแข็ง: Star Trek, Star Trek, และสารพัดรายการเกี่ยวกับ Star Trek และอื่นๆ
สตรีมิง… คือเขตแดนสุดท้าย นี่คือการเดินทางของบริการสตรีมิงที่เกิดขึ้นและสร้างความเคืองขุ่นให้กับผู้คนได้มากกว่ารายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเทรคกี เพราะพวกเขาคงหงุดหงิดไม่น้อย เมื่อต้องสมัครสมาชิกอีกหนึ่งบริการสตรีมิงเพื่อชมซีรีส์ตอนแยกเรื่องล่าสุด Star Trek: Discovery หรือบางทีอาจจะเป็นเพราะธรรมชาติเดิมๆ ของซีบีเอส ที่ดันไปทำให้ผู้ชมเชื่อว่าสถานีไม่ควรมีบริการสตรีมิงแบบสมัครสมาชิกของตัวเอง แต่ต่อให้เหตุผลเป็นอะไรก็ตาม ผู้คนก็ฉุนเฉียวขึ้นมาทันทีเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงออล แอคเซสส์, เมื่อไหร่ที่พวกเขาอยากดู Discovery, อยากชม The Good Fight ตอนแยกชั้นดีของ Good Wife, Twilight Zone ฉบับคืนชีพที่จอร์แดน พีลนั่งเก้าอี้อำนวยการสร้าง หรือรายการอะไรแปลกๆ และรายการที่จบลงไปแล้ว ซึ่งรายการแปลกๆ ดูจะมีน้ำหนักมากกว่า
การสมัครสมาชิกของออล แอคเซสส์ทำให้สามารถชมรายการล่าสุดของซีบีเอสได้ด้วย รวมถึงฉบับสมบูรณ์ของรายการอย่าง NCIS รายการเก่าๆ ที่อยู่ในห้องสมุดก็แข็งแรง ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นซีรีส์ที่หาชมได้ในผู้ให้บริการสตรีมิงเจ้าอื่นๆ ด้วย เช่น สามารถชม Star Trek: The Next Generation แล้วก็ Cheers ได้ทั้งที่นี่ และที่เน็ทฟลิกซ์, ฮูลู และไพรม์ วิดีโอ
แต่ออล แอคเซสส์ก็ยังไปไหนได้ไม่ไกล เมื่อ Discovery ยังไม่ชัดเจนเลยว่าจะเปิดตัวเมื่อไหร่ แถมยังเปลี่ยนผู้ดูแลรายการมาแล้วหลายรอบ แต่ตอนแยกของ Star Trek อีกหลายๆ เรื่องกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การกลับมาของแพทริค สจวร์ทใน Star Trek: Picard ซึ่งกลายเป็นของร้อนในหมู่เทรคเกอร์ จนอาจจะไม่มีอารมณ์มาหงุดหงิดกับการที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อชม
แอปเปิลทีวี พลัส
ค่าสมาชิก: 4.99 เหรียญ/เดือน (ฟรีหนึ่งปีถ้าเพิ่งซื้อโทรศัพท์, แทบเล็ท หรือคอมพิวเตอร์ ของแอปเปิลเครื่องใหม่
จุดแข็ง: คุณจะได้ในสิ่งที่คุณจ่ายเงินไป ซึ่งไม่มากนัก
แอปเปิลทีวี พลัส ไม่มีห้องสมุดของรายการที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายเดือนละ 5 เหรียญ หรือไม่ต้องจ่ายเลยถ้าซื้อไอโฟนเครื่องใหม่ จะทำให้ได้ชมซีรีส์ที่มีจำนวนแค่หยิบมือเท่านั้นในตอนนี้ แถมไม่มีเรื่องไหนที่น่าประทับใจสุดๆ อีกต่างหาก แต่จำนวนรายการจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป และบางทีซีรีส์ใหม่ๆ น่าจะเข้าท่ากว่า The Morning Show ในตอนนี้แอปเปิลทีวี พลัสก็เหมือนๆ กับไพรม์ วิดีโอ เป็นส่วนเสริมให้สิ่งที่ลูกค้าจ่ายเงินไปให้แล้วเรียบร้อย ซึ่งเราสามารถให้กำลังใจพวกเขาได้ด้วยการใช้เวลากับอุปกรณ์แอปเปิล ทีวีให้มากขึ้น โดยอย่าลืมว่าอุปกรณ์ตัวนี้สามารถสมัครสมาชิกผู้ให้บริการสตรีมิงเจ้าอื่นๆ ได้ด้วย
ดิสนีย์ พลัส
ค่าสมาชิก: 6.99 เหรียญ/เดือน หรือ 69.99 เหรียญ/ปี (เฉลี่ย 5.83 เหรียญ/เดือน)
จุดแข็ง: อดีตของคุณ สตรีมให้ดูทุกวัน
ถ้าบริการสตรีมิงเจ้านี้ ไม่สร้างงานใหม่ของตัวเองขึ้นมา พ่อ-แม่ทั้งหลายในอเมริกาก็น่าจะยังสมัครเป็นสมาชิกอยู่ดี เพื่อให้ลูกๆ ได้สัมผัสห้องสมุดรายการจำนวนมหาศาลของดิสนีย์, พิกซาร์ และลูคัสฟิล์ม ที่มีทั้งหนัง ทั้งรายการ เช่น เด็กๆ ที่รักรายการซึ่งแตกหน่อมาจาก My DuckTales ก็จะได้ชมงานต้นฉบับจากยุค ’90s รวมไปถึงรายการภาคบ่ายของช่องดิสนีย์ อย่าง Darkwing Duck
แต่ดิสนีย์ พลัสยังสร้างงานใหม่ๆ ของตัวเอง ที่เริ่มด้วยหน้าใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกลุ่มของรายการใหม่ในโลกสตรีมิงThe Mandalorian ตอนแยกของ Star Wars ที่อำนวยการสร้างโดยจอน แฟฟโรว์ ซึ่งดิสนีย์ไม่ยอมฉายรอบพิเศษให้กับนักวิจารณ์ จนไม่มีใครรู้ว่าหนังจะดีจะแย่ยังไง แต่ท้ายที่สุดก็ออกมาสมราคา แต่ไม่ว่าจะออกมาแบบไหนแฟนๆ ของ Star Wars ก็พร้อมจะชมอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ ก็ในสอง-สามตอนแรก และที่กำลังจะมาให้ชมกันก็คือ สารพัดเรื่องจากมาร์เวล ที่ปล่อยกันเป็นชุด แถมอำนวยการสร้างและนำเสนอตัวละครจากแผนกภาพยนตร์ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ไม่ใช่ญาติที่ไม่มีใครรรักซึ่งชมกันได้ที่สถานีเอบีซีหรือเน็ทฟลิกซ์ รวมไปถึงสารพัดรายการที่มีที่มาจากกรุสินทรัพย์ของดิสนีย์
ค่าสมาชิกเองจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้แพงกว่าที่แอปเปิล ทีวี พลัสเรียกเก็บ แล้วยังได้รายการที่มากมายกว่ามาแทนสำหรับเงินที่จ่ายไป ในอนาคตคงต้องมาดูกันต่อถึงเรื่องการใช้งาน, คุณภาพของรายการทั้งจาก Star Wars และมาร์เวลที่วางแผนกันเอาไว้ รวมทั้งเรื่องราคา ที่ยังจะถูกแบบนี้หรือไม่ ในวันที่อเมริกาติดเบ็ดดิสนีย์ แต่จากที่เห็นในตอนนี้ดิสนีย์ พลัสคือหน้าใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับเน็ทฟลิกซ์ได้อย่างแน่นอน
พีค็อค
ค่าสมาชิก: ยังไม่ชัดเจน แต่อาจจะฟรีโดยมีโฆษณา สำหรับลูกค้าที่เป็นสมาชิกเคเบิล
จุดแข็ง: รายการฮิทของตัวเองจากสถานีเอ็นบีซี
พีค็อคมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2020 เพราะฉะนั้นยังมีอะไรอีกมากมายที่ยังอุบเงียบเอาไว้ นี่คือบริการสตรีมิงที่เอ็นบีซียูนิเวอร์แซลนำเสนอ โดยชื่อนั่นมาจากสัญลักษณ์แสนคลาสสิคของสถานี นี่คือบริการฟรีสำหรับทุกคนใช่ไหม? หรือฟรีเฉพาะบรรดาผู้ที่เป็นสมาชิกเคเบิล? หรือเฉพาะลูกค้าของคอมแคสท์? แล้วจะมีบริการปลอดโฆษณาแบบฮูลูและซีบีเอส ออล แอคเซสส์หรือเปล่า? การใช้งานจะง่ายและดูดีแค่ไหน? คำถามเหล่านี้คงต้องรอคำตอบในวันที่พีค็อคเปิดตัว
แล้วอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ เอ็นบีซีตั้งใจจะโยกสารพัดซีรีส์จากห้องสมุดที่พวกเขาเป็นเจ้าของมาอยู่ที่นี่ ซีรีส์ Parks and Recreation จะเป็นรายการเฉพาะของพีค็อค โดยจะเริ่มปล่อยให้ชมกันในเดือนตุลาคม 2020 และเหตุการณ์นี้กลายเป็นหนึ่งในหลายๆ ครั้งที่ทำให้รู้ว่าสตูดิโอคือผู้ผลิตรายการ ไม่ใช่สถานีที่ออกอากาศ รวมทั้งเป็นเหตุผลที่ทำให้ Friends และ Seinfeld สองรายการซิทคอมระดับตำนานของเอ็นบีซีไม่มีให้ชมในพีค็อค เพราะสตูดิโอข้างนอกเป็นคนผลิต
นอกจากนี้ก็จะมีรายการใหม่ๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีที่มาจากทรัพย์สินของเอ็นบีซียูนิเวอร์แซลที่มีอยู่แล้ว โดยหลายๆ เรื่องก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาหรือทำงาน เช่น Battlestar Galactica ฉบับรีบูท ที่มีแซม เอสเมลผู้สร้างสรรค์ Mr. Robot เป็นผู้ดูแล บวกกับภาคต่อของซีรีส์ Saved by the Bell และที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด Punky Brewster หรือพังกี จอมแก่น ที่เรารู้จักกันดี
เอชบีโอ แม็กซ์
ค่าสมาชิก: 14.99 เหรียญ/เดือน (แต่อาจจะมีแบบชมฟรีแต่มีโฆษณา สำหรับสมาชิกเคเบิลเอชบีโอ)
จุดแข็ง: เรื่องราวของโทนี โซปราโนและฟีบี บัฟฟาย ที่ในที่สุดก็ได้มาอยู่ในที่เดียวกัน
มีกำหนดเปิดให้บริการเดือนพฤษภาคม 2020 โดยชื่อบริการก็คือการขยายความของช่อง เอชบีโอ นาว ซึ่งเจ้าเอชบีโอ แม็กซ์นี่ละที่จะเข้ามาแทน แต่จะว่าไปมันมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะเอชบีโอ แม็กซ์ตั้งใจจะนำสารพัดทรัพย์สินของวอร์เนอร์มีเดียมาอยู่ในชายคาสตรีมิงเดียวกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นคุณก็จะได้ห้องสมุดของเอชบีโอทั้งกระบิมาด้วย ซึ่งรวมไปถึงบางรายการที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสัญญากับไพรม์ วิดีโอ เช่น Game of Thrones ที่เพิ่มเติมก็คือรายการใหม่ๆ ในอนาคต พ่วงด้วยรายการที่ไม่ใช่ของเอชบีโอล็อทใหญ่ อย่าง Friends, The West Wing และ The Big Bang Theory ซึ่งเรื่องหลังไม่เคยอยู่ในบริการสตรีมิงเจ้าไหนมาก่อน, Search Party ที่จะย้ายมาอยู่กับแม็กซ์ หลังมีให้ชมทางสถานีทีบีเอสได้แค่สองฤดูฉาย รวมถึงสารพัดรายการทางช่องซีดับเบิบยูที่สร้างจากตัวละครของดีซี นอกจากนี้ยังมีรายการนอกห้องสมุดที่กำลังหามาเติมอีกมากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ ภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิ เช่น My Neighbor Totoro และ Spirited Away, แอนิเมชันซีรีส์ฮิทๆ แบบ South Park กับ Rick and Morty, รายการจากบีบีซี อย่าง Doctor Who กับ Luther แล้วก็รายการที่ผลิตเพื่อส่งตรงให้เอชบีโอ แม็กซ์ อาทิ Station Eleven ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายที่ว่าด้วยโลกหลังหายนะชื่อเดียวกัน, ซีรีส์เรื่อง Dune ที่กำกับโดย เดนิส วิลล์เนิฟ
ต่อให้ยังไม่มีเอชบีโอ แม็กซ์ ทุกวันนี้เอชบีโอ นาวก็ถือเป็นการจ่ายเงินที่คุ้มค่า เมื่อสรรหาซีรีส์เยี่ยมๆ เท่าที่มีในตลาดมาให้สมาชิกได้ชมอย่างต่อเนื่อง แล้วก็มีรายการเด่นๆ อย่าง Veep และ Watchmen การเข้าถึงรายการเหล่านี้ในราคาที่เท่ากัน ทำให้เอชบีโอ นาวเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับผู้ชม แต่การมาถึงของเอชบีโอ แม็กซ์ ที่จะนำสารพัดรายการที่แตกต่างกันมาอยู่ในที่เดียวกัน ยังเป็นการสร้างความเสี่ยง เมื่ออาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ความพิเศษตั้งแต่แรกจากโปรแกรมรายการของเอชบีโอลดทอนลงไป ที่ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาผู้บริหารหลายต่อหลายคนที่รับผิดชอบการสร้างงานคลาสสิคเรื่องก่อนๆ ของยักษ์ใหญ่ในโลกเคเบิลทีวี ต่างเก็บกระเป๋ากันไปแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนมือบริษัทไปอยู่กับเจ้าของใหม่
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง ใครเป็นใครในโลกสตรีมิง คอลัมน์ SPECIAL SCOOP นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1296 ปักษ์หลังมกราคม 2563