FEATURESMovie Features

คริสโตเฟอร์ โนแลน กับสถานการณ์ภาพยนตร์ การเฟื่องฟูของโทรทัศน์ Dunkirk และอิทธิพลของสตีเวน สปีลเบิร์ก

สถานการณ์ของวงการภาพยนตร์ฉายโรงในทุกวันนี้ แม้จะมีหนังทำเงินเข้าฉายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีบรรยากาศที่สดใสนัก เพราะตัวเงินที่ได้รับก็ไม่ได้มหาศาลอย่างที่เคยเป็น แถมสภาพการแข่งขันก็สูงขึ้น เพราะวันนี้หนังแต่ละเรื่องที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ไม่ได้แข่งกันเองเท่านั้น แต่ยังมีคู่แข่งอีกมากมาย โดยเฉพาะความบันเทิงภายในบ้าน ที่มีทั้งซีรีส์, มินิซีรีส์ จากสถานีโทรเครือข่ายทั่วไป จากเคเบิลทีวี และล่าสุดผู้ให้บริการสตรีมมิง ที่ทำให้สถานการณ์อึมครึมเหล่านี้น่าจะทอดยาวต่อไป

แต่กับคริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับ/ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ทำเงินหลายๆ เรื่อง อย่าง Inception, The Dark Knight Trilogy, Interstellar กลับไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพเลวร้ายแบบนั้น เพราะกับช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ขณะจำนวนผู้ชมและรายได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศดิ่งลงไปสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายๆ ทศวรรษ โนแลนใส่ความเป็นศิลปิน มุมมองในแง่ดีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ลงไปเต็มๆ ในหนังเรื่องล่าสุด Dunkirk ที่เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ ‘แท้ๆ’ อย่างเต็มที่ ซึ่งผลักผู้ชมเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทหารอังกฤษถูกบีบให้เผชิญหน้ากับการทำลายล้างจากทหารนาซี ซึ่งถ่ายทำด้วยกล้องไอแมกซ์ และฉายด้วยฟิล์มขนาด 70 ม.ม. Dunkirk กลายเป็นการย้ำเตือนอันทรงพลังว่า บางสิ่งสมควรถูกนำเสนอบนจอภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผลลัพธ์ก็คือ Dunkirk ไม่ใช่แค่หนังขวัญใจนักวิจารณ์ แต่ผู้ชมทั่วโลกยังแห่แหนไปชม จนทำรายได้กว่า 524 ล้านเหรียญทั่วโลก และในงานเทศกาลภาพยนตร์โทรอนโทที่ผ่านมา โนแลนได้เปิดให้สัมภาษณ์ และนี่คือเรื่องราวในครั้งนั้นที่เบรนท์ แลง จาก variety.com บันทึกเอาไว้

“ในช่วงเวลาที่มีสารพัดรูปแบบของการเล่าเรื่อง ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่มีแต่ภาพยนตร์เท่านั้นที่ทำได้ นั่นคือการสร้างพื้นที่เฉพาะให้กับตัวเองขึ้นมา” โนแลนกล่าว “ในฐานะผู้กำกับ ผมพยายามแสดงให้ผู้ชมได้เห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน”

โนแลน สวมแจ็คเก็ตสปอร์ตสีดำกับกางเกงสแล็ค มีกำไลข้อมือเป็นเครื่องรางแบบพุทธซึ่งได้มาตอนเดินทางไปตะวันออกไกลกับครอบครัวสวมที่ข้อมือ ดูราวกับเป็นการผสมผสานระหว่างหนุ่มลูกทุ่งกับอาจารย์สอนศิลปะ ขณะที่พูดคุยถึงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การใช้เทคนิคต่างๆ ที่แสนท้าทายในการนำ Dunkirk ขึ้นจอ หนังที่ทำให้เขาเดินทางมาที่แคนาดา เพื่อแนะนำให้กับบรรดาผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงของอะคาเดมี พร้อมฉายหนังขึ้นจอไอแมกซ์ เปิดให้สนทนาหลังหนังจบ แต่ถึงกระนั้น Dunkirk ก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยหวังจะคว้ารางวัล เขาเล่าว่าการตัดสินใจปล่อยหนังออกฉายในเดือนกรกฎาคมแทนที่จะเป็นตอนปลายปี ช่วงเวลาของหนังล่ารางวัลก็เพราะหวังคนดูกลุ่มใหญ่ แต่เมื่อหนังได้เสียงชื่นชมกระหึ่ม และไม่มีตัวเปรียบแข็งๆ มากนัก Dunkirk น่าจะไปถึงออสการ์ หรืออย่างน้อยที่สุด น่าจะทำให้โนแลนได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก

“เรามองมันเป็นหนังบล็อคบัสเตอร์” คนที่ทำหนังอย่าง The Dark Knight, The Dark Knight Rises, Inception และ Interstellar รวมถึงหนังอินดีล้ำๆ Memento กล่าว “อาจฟังแปลกๆ ที่นำมาใช้กับหนังแบบนี้ แต่เรามองมันเป็นงานเพื่อความบันเทิง ถึงตัวเรื่องจะตึงเครียดและซับซ้อนซ่อนเงื่อน เราอยากเข้าถึงผู้ชมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเป็นช่วงซัมเมอร์”

ใน Dunkirk โนแลนได้สร้างหนังสงครามในแบบที่แตกต่างออกไป โดยเป็นหนี้ให้กับหนังที่ดูเร้าใจและเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวอย่าง Gravity และ Mad Max: Fury Road มากกว่างานคลาสสิคในแนวทางนี้ เช่น Paths of Glory หรือ Patton เมื่อไม่ภาพการเคลื่อนพลครั้งใหญ่จำนวนมหาศาล หรือการบุกเข้าไปในดินแดนฝ่ายตรงข้ามด้วยยุทธวิธีสลับซับซ้อน ที่ภาพถูกตัดสลับกับการวางแผนการรบบนโต๊ะของเหล่านายพลทั้งหลาย โนแลนสร้างภาพการเผชิญหน้าของคู่สงครามที่ส่งเสียงกระหึ่มเหนือมหาสมุทร การต่อสู้ระหว่างเครื่องบินขับไล่ เรือรบที่พลิกคว่ำ ซึ่งตลอดเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น กล้องจะจับที่ใบหน้าทหารหนุ่มๆ ที่พยายามดิ้นรนหาสถานที่ปลอดภัยให้ตัวเอง นี่คือหนังสงครามเรื่องแรกก็ว่าได้ที่ให้ความสนใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของทหารในสงคราม อย่าง การพยายามหาอาหาร, รองเท้า หรือสถานที่ปลดทุกข์ รวมไปถึงการปะทะกัน

“ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นหนังสงคราม” ผู้กำกับเผย “ผมมองมันเป็นหนังเอาตัวรอด (survival)”

แต่ก่อนจะลงมือปฏิบัติภารกิจ สร้างหนังที่ที่ว่าด้วยประชากรวัยกลางคนที่รวบรวมเรือที่มี ไม่ว่าจะเป็นเรือยอทช์หรือเรือยนต์ จนกลายเป็นกองเรือขนาดใหญ่ เดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อนำทหารหาญกลับบ้านอย่างปลอดภัย โนแลนหันไปหาเพื่อนที่ชื่อ สตีเวน สปีลเบิร์ก เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือ โดยเขาขอฟิล์มฉบับปรินท์ดั้งเดิมของหนัง Saving Private Ryan เอามาดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนส่งให้ทีมงานดูว่า สปีลเบิร์กจัดการกับฉากรบที่หาดโอมาฮาได้ยังไง แถมสปีลเบิร์กยังทำอะไรให้โนแลนมากกว่านั้น ด้วยการส่งฟิล์มฉบับของเขาเองมาให้ดูด้วย

“ผมรู้จักและนับถือคริสในฐานะคนทำหนังที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการมากที่สุดของโลกนี้คนหนึ่ง คำแนะนำที่ผมให้กับเขาก็คือ ลืมภาพที่เขามีให้หมด แบบที่ผมทำใน Saving Private Ryan และจากนั้นก็ค้นคว้าในสิ่งที่กำลังทำ เพื่อให้ถูกนำเสนอได้อย่างสมจริงในหนังดรามาประวัติศาสตร์เรื่องนี้” สปีลเบิร์ก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

การได้ชม Saving Private Ryan ช่วยให้โนแลนเข้าใจยิ่งขึ้นว่า จะสร้างความแตกต่างให้ Dunkirk ได้ยังไง

“หนังไม่ได้เสียพลังในตัวเองไปเลยแม้แต่น้อย” เขาเล่า “มันเป็นฉากเปิดที่น่าพรั่นพรึงสุดๆ แล้วฉากต่อมาก็น่ากลัวมากๆ กว่าจะผ่านไปได้ เราไม่อยากแข่งกับอะไรแบบนั้น เพราะมันเป็นงานแบบความสำเร็จแห่งชีวิต ผมรู้เลยในนาทีนั้นว่า ต้องมองหาความตึงเครียดในแบบที่แตกต่างออกไป”

ฉากเปิดที่น่าจดจำยาวร่วมๆ 30 นาทีใน Saving Private Ryan ของสปีลเบิร์ก มีทั้งภาพของเลือดที่ทะลักจากร่างกาย, แขน-ขาฉีกขาด เสียงร้องคร่ำครวญเอาตัวรอด ยังคงเป็นการนำเสนอความโหดร้ายในสนามรบได้อย่างยอดเยี่ยมมาถึงทุกวันนี้ โนแลนรู้ดีว่าไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่เพื่อนทำเอาไว้ เลยลดระดับความรุนแรงลง เลือกที่จะนำเสนอในแบบที่แทบไม่มีเลือดให้เห็นกันเลย

“ผมอยากได้ความวิตกกังวล และภาษาภาพที่ทำให้เกิดความหวาดวิตกเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้คุณไม่สามารถละสายตาไปจากจอ” เขากล่าว “ส่วนภาษาของความสยดสยองจะทำให้คุณอยากปิดดวงตาตัวเอง คุณกำลังจ้องไปบนจอ เป็นรูปแบบของความตึงเครียดที่แตกต่างกัน ฉากที่เราสร้างขึ้นมา ไม่มีความรุนแรง ไม่มีเลือด แต่เต็มไปอันตรายที่มองเห็นได้”

เพื่อจะทำแบบนั้น เขาต้องคิดย้อนถึงการเดินทางข้ามช่องแคบ ที่เขากับเพื่อนๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และเอ็มมา โธมัส – ภรรยาและคู่หูการทำงานในฐานะผู้อำนวยการสร้าง เดินทางร่วมกันเมื่อหลายทศวรรษก่อน ซึ่งการเดินทางที่น่ารื่นรมย์ถูกเปลี่ยนเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน 19 ชั่วโมง

“มันเป็นหายนะหลังจากหายนะ” โธมัส รำลึก “มีทั้งลม ทั้งคลื่น ที่น่ากลัว แต่มันก็สะท้อนให้ให้ถึงความกล้าหาญของคนธรรมดาๆ ที่เอาเรือลำเล็กๆ ของพวกเขาไปช่วยเหลือคนอื่นๆ การเดินทางข้ามช่องแคบสำหรับเราในยามสงบ แล้วนึกไปถึงอาหารแบบฝรั่งเศสที่รีบทำไว้ เป็นเรื่องน่าที่ตระหนก แต่กับคนพวกนี้ พวกเขากำลังลอยเรือไปสู่สงคราม”

เพื่อจับอารมณ์นี้ โนแลนจัดการบทของ Dunkirk ให้เป็นเรื่องเล่าย้อนหลัง คนดูรู้เกี่ยวกับตัวนักบินที่เล่นโดยทอม ฮาร์ดี หรือคนเรืออย่าง มาร์ค ไรแลนซ์ น้อยมาก ไม่เผยชื่อเต็มๆ ด้วยซ้ำ มีแค่ฟาร์เรียร์และคุณดอว์สันเท่านั้น สิ่งที่มีความสำคัญกับโนแลนไม่ใช่เรื่อง ตัวละครของเขามีลูก หรือแฟนอยู่ที่บ้านไหม แต่เป็นเรื่องพวกเขามีปฏิกริยาต่อลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมายังไง ความเป็นมาไม่ใช่เรื่องสำคัญในสถานการณ์แบบนี้

“เราโยนตัวละครต่างๆ ลงไปบนชายหาด โดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขามากนัก” ฮอยท์ ฟาน ฮอยเทมา ผู้กำกับภาพเล่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณเป็นไปแบบปุ้บปั้บและมีผลกับความรู้สึก เราจัดการเอาลักษณะเฉพาะตัว หรืออะไรที่เร้าอารมณ์ออกไป”

พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับของ The Master และ There Will Be Blood เป็นคนหนึ่งที่ชอบ Dunkirk เขาชื่นชมคุณภาพที่คุ้มค่าของหนัง และย้ำด้วยว่านี่เป็นงานที่มีบทสนทนาน้อยมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันมีพลัง “โครงสร้างที่ปราศจากบทพูดของหนัง น่าตื่นเต้นมากสำหรับผม” แอนเดอร์สัน เผย “มันปลดเปลื้องสิ่งสำคัญของหนังจริงๆ ออกมาให้เห็น”

Dunkirk ยังปฏิวัติการทำภาพยนตร์ในส่วนอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องในสามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แล้วคลี่สามเรื่องราวที่แตกต่างกันออกมามากขึ้น จนตัดกันพอดีในองก์สุดท้าย เรื่องหนึ่ง ไรแลนซ์เป็นประชากรของเกาะอังกฤษธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่เอาเรือใบของตัวเองไปช่วยบรรดาทหารที่ติดอยู่บนชายหาดฝรั่งเศส เรื่องราวของเขาเกิดขึ้นภายใน 1 วัน อีกเรื่องว่าด้วยนักบินเครื่องบินขับไล่ของฮาร์ดีที่ต่อสู้กับเครื่องบินของนาซี แล้วต้องเก็บเชื้อเพลิงสำรองเอาไว้ด้วย ความยาวของเหตุการณ์นี้มีแค่ 1 ชั่วโมง เรื่องที่สามจะเป็นเรื่องของฟิออน ไวท์เฮดที่รับบทเป็นพลทหารที่ติดอยู่ที่ชายฝั่งของดันเคิร์ก เรื่องราวของเขาจะกินระยะเวลาถึงกว่า 1 สัปดาห์

ประเด็นของหนังตลอดทั้งเรื่องก็คือ การได้สัมผัสกับประสบการณ์สงคราม ซึ่งโนแลนจะทำให้รู้สึกผ่านรายละเอียดธรรมดาๆ ที่หนังส่วนใหญ่จะข้ามไป เช่น การเดินทางจากจุดเอไปจุดบี แต่ Dunkirk จะสนุกกับการเดินทางในแบบนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ชมได้คิดอะไร อย่าง นักบินที่เครื่องมีน้ำมันเหลือไม่เต็มถังจะทำยังไง? หรืออะไรที่ทำให้ทหารที่รวมพลกันอยู่ตรงนี้ รวมกำลังกันสู้แล้วว่ายไปยังเรือที่เข้ามาช่วยเหลือ? สำหรับโนแลนหนังเรื่องนี้คือการจมเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงๆ และจอภาพขนาดมหึมา สามารถทำให้มีการรับรู้เป็นพิเศษได้ แล้วยังทำให้หนังโรงแตกต่างจากหนังโทรทัศน์ ปล่อยให้ Game of Thrones หรือ Stranger Things นำเสนอพล็อตที่ซับซ้อนราวเขาวงกต ผ่านจอเล็กๆ นานนับหลายๆ ชั่วโมงต่อไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ซีรีส์ทำได้ดีกว่าจริงๆ และใน Dunkirk โนแลนจะนำเสนอในสิ่งที่กระชับ, ตึงเครียด และเข้าถึงได้ง่ายกว่าแทน

“ผมมองหนังโรงและหนังโทรทัศน์ว่าแตกต่างกัน แต่ความคิดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ พวกเขาค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่เหมือนกัน และจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน” เขากล่าว “มุมมองที่ว่าหนังโรงและหนังโทรทัศน์มีความคล้ายคลึงกันมากกว่าอดีต เป็นการยกระดับหนังทีวีแต่ลดความสำคัญของหนังโรง”

ทำให้โนแลนถูกมองในฐานะ ผู้ปกป้องคนสำคัญคนสุดท้ายของภาพยนตร์ ผู้ตั้งกำแพงขวางกั้นกระแสสื่อดิจิตอลและรายการโทรทัศน์ที่กำลังไหลบ่ามาอย่างเฟื่องฟู รวมทั้งยังยืนกรานถึงคุณค่าของประสบการณ์การดูหนังในโรงภาพยนตร์ เหนือสิ่งอื่นใด เขายังปฏิเสธการทำงานร่วมกับเน็ทฟลิกซ์ กล่าวหาว่ายักษ์ใหญ่ในโลกสตรีมมิงพยายามปิดโรงภาพยนตร์ และเรียกการตัดสินใจที่จะไม่เอาหนังไปฉายในโรงหนัง เพื่อให้สมาชิกได้ชมที่บ้านโดยตรงของเน็ทฟลิกซ์ว่า “ไม่มีความคิด” หากนับตั้งแต่นั้น โนแลนก็ลดโทนของคำกล่าวหาลง ด้วยการออกปากว่า เขาเลือกใช้คำได้แย่มากๆ ระหว่างเดินสายโปรโมท Dunkirk ยิ่งไปกว่านั้นเขายังส่งอีเมลขอโทษไปถึงเท็ด ซาแรนดอส หัวหน้าฝ่ายคอนเทนท์ของเน็ทฟลิกซ์อีกด้วย

“ผมควรจะสุภาพมากกว่านั้น” โนแลนยอมรับ “ผมพูดในสิ่งที่ผมเชื่อ แต่วิธีที่ผมถ่ายทอดออกมาไม่มีชั้นเชิง ผมไม่ได้สนเรื่องการปฏิวัติที่เป็นไปโดยธรรมชาติและอย่างเปิดเผยที่เน็ทฟลิกซ์ทำเลย มันเป็นเรื่องไม่ธรรมดา และพวกเขาสมควรได้รับการนับถือที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งผมมีให้”

แต่มีสิ่งหนึ่งที่โนแลนไม่สามารถทำอะไรได้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา บรรดาสตูดิโอและเจ้าของโรงภาพยนตร์ได้เจรจาข้อตกลงที่เป็นไปได้ว่า จะทำให้หนังหลายๆ เรื่องสามารถปล่อยให้รับชมแบบสั่งซื้อ (On-Demand) ได้ภายในหลายๆ สัปดาห์ที่หนังเปิดตัวบนจอใหญ่ โดยสิ่งที่จะได้รับกลับคืน สำหรับการปล่อยหนังให้บริษัทโฮม เอนเตอร์เทนเมนท์ ก็คือโรงน่าจะมีรายได้จากค่าเช่า และโนแลนคิดว่า แผนนี้ไม่เข้าท่า

“พวกเขาปล่อยหนังตรงลงแผ่น มาตลอดชีวิตการทำงานของผมอยู่แล้ว” เขากล่าว “ในฐานะคนทำหนัง ตอนที่เริ่มต้นทำงานในยุค 90 ฝันร้ายก็คือการเห็นหนังถูกส่งไปลงแผ่น เรื่องนี้ไม่มีอะไรใหม่เลย สิ่งที่แตกต่างและดูใหม่ก็แค่ การขายมันให้กับวอลล์ สตรีท ในฐานะนวัตกรรมหรือจุดเปลี่ยน”

โนแลนชอบการชมภาพยนตร์ในโรง ได้โห่ร้องไปกับผู้ชมที่มีประสบการณ์ร่วมกันขณะรับรู้เรื่องราวที่ถูกเปิดเผยบนจอ เขาเชื่อแบบนั้น และยังมีเหตุผลในเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ว่าไม่ควรไปยุ่งกับระบบการจัดจำหน่ายที่คงอยู่มานานหลายทศวรรษ โดยให้ข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้สำนักพิมพ์ยังคงตีพิมพ์หนังสือปกแข็งออกวางขาย ก่อนที่จะปล่อยฉบับปกอ่อนออกมา เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากที่สุด ซึ่งเป็นการเสนอขายที่เหมือนๆ กับหนังเรื่องหนึ่ง ที่แตกต่างตรงเรื่องการนำออกฉายตามโรง, การปล่อยลงแผ่น (หรือไฟล์ดิจิตอล) และการอนุญาตให้นำไปออกอากาศทางโทรทัศน์ เพื่อเพิ่มชิ้นพายให้มากที่สุด โนแลนให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า

“ทุกๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรืออะไรก็ตาม ต้องมีการควบคุมการปล่อยสินค้า ความคิดที่ว่าธุรกิจภาพยนตร์ควรลืมสิ่งเหล่านั้นไปซะ แล้วโยนไปในทุกช่องทางพร้อมๆ กัน มันไม่เข้าท่า” โนแลน กล่าว “มันไม่ใช่การทำธุรกิจที่ดี และพวกเขาก็จะรู้ซึ้งในที่สุด”

ในกองถ่ายโนแลนไม่ต่างไปจากผู้นำกองทัพผู้ยิ่งใหญ่ เขาจะเดินนำอยู่แถวหน้า เลี่ยงการนั่งอยู่กับเก้าอี้ผู้กำกับ โดยเพื่อนๆ ของเขาต่างก็บอกว่า โนแลนเป็นคนที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด

“ทีมงานไม่มีเก้าอี้ สำหรับการได้นั่งขณะที่ทุกคนยืนอยู่ มันรู้สึกว่าไม่เหมาะสม” เขาบอก “ทีมงานนำพลังงานออกมาจากคุณ พวกเขาก้าวเดินตามคุณ ถ้าผมนั่งไปเรื่อยๆ รอให้บางสิ่งเกิดขึ้นมา ระดับของพลังงานมันก็ลดลง”

ไวท์เฮด นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษที่โนแลนดึงมาจากการเป็นนักแสดงโนเนม รับบทนำ ทอมมี ทหารที่อ่อนล้าจากสงครามเผยว่า ผู้กำกับของเขาเป็นพวกชอบเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงาน

“เขาทำทุกอย่างที่เราทำ” ไวท์เฮดเล่า “ตอนพวกเราลอยคออยู่ในน้ำข้างๆ เรือ เราเห็นเขาอยู่ตรงนั้นด้วย เขาพาตัวเองผ่านทุกอย่างนั่นแหละ”

เคนเน็ธ บรานาห์ ที่รับบทเป็นผู้บังคับบัญชาใจเด็ด บอกว่า โนแลนเป็นพวกใส่ใจในรายละเอียด “เขาอยู่กับผมด้วย ตอนผมมาลองชุด ให้คำปรึกษากับเรื่องทรงผมกับผม เช็คเสื้อผ้าที่ผมใส่ และเข้าไปสัมผััสกับทุกสิ่งละอันพันละน้อยด้วยตัวเอง” บรานาห์ย้อนความทรงจำให้ฟัง

โนแลนยังเป็นคนที่ทำอะไรซ้ำซากจำเจ เขามีเครื่องแบบ และชอบสวมเสื้อเบลเซอร์ขณะทำงาน ที่อยู่รายรอบเขาก็เป็นทีมงานหน้าเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบงานสร้าง, คนตัดต่อ, ผู้ทำดนตรีประกอบ ตลอดจนคนสำคัญคนอื่นๆ ล้วนทำงานด้วยกันมาในหนังร่วมๆ ครึ่งโหล โดยมีฟาน ฮอยเทมาเป็นน้องใหม่คนเดียว เขาร่วมงานกับทีมนี้หนแรกใน Interstellar เพราะวอลลี ฟิสเตอร์ผู้กำกับภาพขาประจำของโนแลน ไปเป็นผู้กำกับ ซึ่งบรรดาผู้จงรักภักดีต่อโนแลนก็ได้สิ่งกลับคืนเช่นกัน

“ถ้าผมแว่วว่าเขากำลังทำอะไร ผมจะเคลียร์ตัวเอง” ริชาร์ด คิง ผู้ออกแบบเสียงของ Dunkirk เล่า “ผมปฏิเสธงานไปเยอะ เพราะการทำงานกับเขาเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เขาทำให้ผมเก่งขึ้น”

โนแลนเป็นเจ้าหลักการพอๆ กับชอบทำอะไรใหม่ๆ เป็นคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมในตัว เขาถ่ายหนังด้วยฟิล์มซึ่งทุกวันนี้หายาก เพราะคนทำหนังต่างเปลี่ยนไปใช้กล้องดิจิตอล ซึ่งถูกกว่า ใช้งานได้รวดเร็วกว่า ขณะที่ความตื่นตาในหนังทุนสูงทั้งหลายต้องพึ่งพาพ่อมดคอมพิวเตอร์กราฟฟิค เพื่อสร้างความมหัศจรรย์ขึ้นจอ โนแลนพยายามเลี่ยงการใช้จอสีเขียว เขามอบงานหาเรือรบ เครื่องบินจริงๆ ให้กับทีม ส่งพวกเขาเดินทางไปถึงลัตเวียและนอร์เวย์ เพื่อแกะรอยบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้กันในยุคเดียวนั้น เขาสร้างเรือรบที่จมอยู่ในน้ำครึ่งหนึ่งขึ้นมาจริงๆ แล้วถ่ายฉากที่ต้องมีเอ็ฟเฟ็คท์ ด้วยการทำทุกอย่างหน้ากล้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แทนที่จะเติมเข้าไปในช่วงการทำงานหลังการถ่ายทำโพสท์-โปรดัคชัน ซึ่งทำให้ทุกอย่างดูสมจริง

“พวกเราอยู่ในสารพัดสรรพเสียงอันอื้ออึ้ง และยากจะจินตนาการออกมาได้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คริสทำให้ประสบการณ์ในการถ่ายทำมีผลต่อความรู้สึกจริงๆ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการแสดงของเรา” บรานาห์เล่า

เพราะเชื่อว่าเอ็ฟเฟ็คท์ ดิจิตอลดูหลอกและไม่จริง โนแลนเลยขอให้ทีมงานทำความคุ้นเคยกับลูกเล่นในการถ่ายหนังแบบเก่าๆ ที่นาธาน ครอว์ลีย์ ผู้ออกแบบงานสร้างต้องทาสีไม้เท้าร่วมๆ 3,000 อัน เวลามองไกลๆ จะได้ดูเหมือนกองทหาร รวมไปถึงใช้เรือที่ย่อสเกลลงมาแทนกองเรือประจัญบาน

“พวกเทคนิคแบบโบราณมันทำงานได้ดีกว่า” โนแลนให้ความเห็น “กับเทคนิคพิเศษด้านภาพพวกลูกเล่นร่วมสมัยมันดูเป็นงานราคาถูก และตาของคนดูก็ใจร้ายมาก”

เพื่อสร้างภาพที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริงมากที่สุด โนแลนให้ทีมโปรดัคชันทั้งทีมไปที่แนวชายฝั่งของฝรั่งเศส ซึ่งจะถูกใช้เป็นฉากสำหรับช่วงเวลาของวีรบุรุษชาวอังกฤษ เขาเดินทางไปดูหาดดันเคิร์กกับครอว์ลีย์ และตระหนักได้ว่า หาดที่เงียบๆ, ฟองคลื่นสีขาวราวกับโฟม และเส้นของฟ้าที่ดูหม่นๆ และลึกลับ ไม่ง่ายเลยที่จะสร้างขึ้นมาใหม่

“เขาเก็บชุดสูทสามชิ้น แล้วเปลี่ยนมาใส่กางเกงขาสั้นกับเสื้อยืด สวมหมวกเบสบอล เพื่อที่จะไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นใคร แล้วเดินไปตามชายหาดเป็นระยะทาง 18 ไมล์” ครอว์ลีย์เล่า “แล้วเราก็สรุปกันว่า เราต้องถ่ายกันที่นี่” ที่ดันเคิร์ก ซึ่งยังมีอาวุธมากมายที่ยังไม่ระเบิดถูกฝังไว้ในผืนทราย และนำมาซึ่งสิ่งช่วยเตือนความทรงจำถึงผู้คนที่ทำการต่อสู้กับพวกฟาสซิสท์ในตอนนั้น

“มีวันหนึ่ง ผมถูกคนท้องถิ่นเรียกให้หยุดบนถนน แล้วเขาก็ส่งกระดุมเครื่องแบบทหารอังกฤษให้ผม” โนแลนเล่า “ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าของเครื่องแบบที่ติดกระดุมเม็ดนี้ ผมอยากคิดว่าเขาคงได้กลับบ้าน และดำเนินชีวิตต่อไป แต่ไม่มีทางที่จะได้รู้ว่าเกิดอะไร”

ความสำเร็จของ Dunkirk อาจจะถูกมองเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในอีกหลายเดือนต่อมากลับเป็นความผิดปกติยิ่งกว่า เมื่อหนัง Blade Runner 2049 และ War for the Planet of the Apes ไม่สามารถเปลี่ยนคำวิจารณ์ที่ดีมากๆ ให้เป็นยอดขายตั๋วในโรงภาพยนตร์ได้ พูดง่ายๆ คือ หนังคว่ำมากกว่าฮิต และหนังที่ประสบความสำเร็จกลายเป็นเรื่องที่หายากจริงๆ ในอันดับหนังทำเงิน

อย่างไรก็ตาม โนแลนปฏิเสธที่จะเชื่อว่าเกิดการชะลอตัว คนยังรักการชมภาพยนตร์ เขาตั้งคำถามถึงการวางกำหนดฉาย การที่ไม่มีหนังอย่าง Suicide Squad ในเดือนสิงหาคม ทำให้บ็อกซ์ ออฟฟิศเหงา ก่อนที่จะแย้งด้วยว่า เมื่อถึงเดือนธันวาคมที่มี Star Wars ออกมา ก็น่าจะปิดปีกันได้สวยๆ แต่โนแลนก็ยอมรับว่าแรงขับในส่วนของสตูดิโอที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทำให้พวกเขาต้องระมัดระวัง และนำไปสู่หนังซูเปอร์ฮีโรภาคต่อที่ดูล้นตลาด รูปแบบที่โนแลนทำเอาไว้ได้ดีจากหนังชุด the Dark Knight trilogy รวมไปถึงทำให้ไม่มีใครกล้าพอที่จะทำอะไรใหม่ๆ

“คุณต้องมีจุดสมดุลย์ที่ดีที่สุด” เขาบอก “ขณะที่ให้สิ่งที่คนดูชอบมาก่อน คุณก็ต้องสร้างความประหลาดใจให้กับพวกเขาด้วย”

และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Dunkirk เมื่อผู้ชมเป็นจำนวนมากปรากฏตัวขึ้น เพื่อไปชมภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการอพยพครั้งใหญ่เมื่อ 70 ปีก่อนที่ถูกลืมไปแล้ว ตัวโนแลนเองก็ยอมรับว่า ไม่มีสูตรสำเร็จง่ายๆ สำหรับการตอกย้ำความสำเร็จซ้ำๆ

“อะไรที่คนดูต้องการนะเหรอ?” เขาถาม “เอ่อ… พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไร? พวกเขาแค่รู้ว่าต้องการอะไรสักอย่าง และจะรู้ว่าเป็นอะไร ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้เห็นมันนั่นแหละ”

จากเรื่อง คริสโตเฟอร์ โนแลน กับสถานการณ์ภาพยนตร์ การเฟื่องฟูของโทรทัศน์ Dunkirk และอิทธิพลของสตีเวน สปีลเบิร์ก โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับที่ 1245 ปักษ์แรก ธันวาคม 2560

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.