FEATURESMovie Features

ความสำเร็จของ Doctor Strange บทพิสูจน์มาตรฐานระดับสูงของมาร์เวล

แม้จะไม่ใช่ฮีโรตัวท็อป เหมือนไอออนแมน และไม่มีฮีโรมาร่วมด้วยช่วยดันเหมือนกัปตันอเมริกา จนหนัง Captain America: Civil War กวาดรายได้มากมาย แถมยังเป็นงานที่มีกรอบจำกัดของการเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรตอนแรก ที่เรื่องราวดิ้นไปไหนไม่ได้ง่ายๆ แต่ Doctor Strange ก็กลายเป็นหนังทำเงินที่ประสบความสำเร็จอีกเรื่องหนึ่งของมาร์เวล สตูดิโอ ไม่ต่างไปจากที่หนังฮีโรดังๆ รายอื่นๆ ทำเอาไว้

และเบรนท์ แลง จากเว็บไซท์ของนิตยสารวาไรตี้ ก็ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ครั้งหนึ่ง นักประพันธ์อย่าง ริชาร์ด รุสโซ เคยบ่นออกมาว่า แครี แกรนท์ นักแสดงชื่อดังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์ก็เพราะเขาไม่เคยต้องเสียเหงื่ออะไรเลย “เขาทำทุกอย่างยังกับไม่มีความทุ่มเท” รุสโซ เขียนเอาไว้ “ทำไมจะต้องให้รางวัลกับความสนุกสนาน กับการทำตัวหว่านเสน่ห์ล่ะ?”

ตรรกะที่ว่า ก็น่าจะเอามาใช้ได้กับมาร์เวล คลังของนิยายภาพหรือการ์ตูน ที่เพิ่งทำสถิติเปิดหนังด้วยอันดับ 1 ประจำสัปดาห์เป็นเรื่องที่ 14 ติดต่อกัน จาก Doctor Strange ความสำเร็จของพวกเขาเกิดขึ้นมายาวนาน รายได้จากบ็อกซ์ ออฟฟิศแทบจะเป็นสิ่งที่ทำนายได้ล่วงหน้าเป๊ะๆ และเป็นเรื่องง่ายมากหากจะชื่นชมพวกเขาจากตัวเลขในบัญชี แต่อย่าลืมว่า หนังของพวกเขาก็ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีเป็นประจำอีกต่างหาก ไปๆ มาๆ การที่หนังเหล่านี้ไม่ได้รับการสนใจในเวทีรางวัล ก็คล้ายๆ กับที่หนังฮิตๆ ในอดีตเคยเจอ โดยเฉพาะหนังของสตีเวน สปีลเบิร์กอย่าง E.T.: The Extra-Terrestrial หรือว่า Raiders of the Lost Ark

ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอาย เพราะมาร์เวล สตูดิโอ ภายใต้การกุมบังเหียนของประธานอย่าง เควิน ไฟกี บ้านของไอออน แมน และพลพรรคอเวนเจอร์ส เป็นตัวอย่างที่น่าทึ่ง ทั้งในแง่ของการวิพากษ์-วิจารณ์ และความสำเร็จทางธุรกิจ เมื่อหนังของพวกเขาทุกเรื่อง ล้วนได้รับการการันตีว่า ‘สด’ จากเว็บไซท์วิจารณ์หนังอย่าง ร็อทเทน โทมาโทส์ แถมงานที่ทำเองขายเองเหล่านี้ยังทำเงินมหาศาล ก็คล้ายๆ กับแครี แกรนท์ มาร์เวลดูเหมือนไม่ได้พยายามอะไรมากมาย แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่ง และเป็นการเดินหน้าทำสถิติที่ยากจะทุบ

“มาร์เวล หาอารมณ์ขันเจอในหนังทุกเรื่อง พวกเขามีทั้งฉากแอ็คชันและความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็มีความเป็นมนุษย์ปุถุชน” เกร็ก ฟอสเตอร์ ซีอีโอของ ไอแมกซ์ เอนเตอร์เทนเมนท์กล่าว “ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ทำจะได้”

ยังมีอีกอย่างหนึ่ง ที่มาร์เวลเป็นแม่แบบให้คนอื่นๆ ในฮอลลีวูดพยายามเลียนแบบอย่างเร่งรีบ พวกเขาคือผู้บุกเบิกในเรื่องการสร้างจักรวาลในภาพยนตร์ ที่บรรดาฮีโรทั้งหลาย มีทั้งเรื่องราวที่เชื่อมต่อกันและแผ่ขยายออกไป พวกเขามาร่วมทีมกัน, ต่อสู้กัน และเจอการทดสอบจากเหล่าพันธมิตร ในหนังนำเดี่ยว, ภาคต่อ หรือว่าตอนแยก ที่ในกระบวนการสร้าง หรือนำเสนอ มาร์เวล สตูดิโอจัดการจัดแพ็คหนังของตัวเองเข้าด้วยกันอย่างมีชั้นเชิง ด้วยการวางบทแซ่บๆ ให้นักแสดงระดับหัวแถว อย่าง โรเบิร์ท ดาวนีย์ จูเนียร์, เบนเนดิคท์ คัมเบอร์แบทช์, คริส แพร็ทท์ และพอล รัดด์ ได้เล่น

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคทองของหนังจากหนังสือการ์ตูน” เจฟฟ์ บ็อค นักวิเคราะห์บ็อกซ์ ออฟฟิศกล่าว “มาร์เวลเป็นคนที่พาหนังพวกนี้ไปสู่อีกระดับหนึ่งอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ได้บรรดาคนเก่งๆ ตัวท็อปๆ ไปอยู่ในมือ เพราะอย่างนี้ก็โชคดีแล้วกันนะ สำหรับคนอื่นๆ”

ซึ่งก็ไม่ได้หยุดสตูดิโอต่างๆ ที่พยายามเข้ามามีเอี่ยวกับยุคทองที่ว่า ยูนิเวอร์แซลกำลังปั้นจักรวาลหนังตัวประหลาดของตัวเองอย่างกระตือรือร้น ซึ่งจะมีตัวละครอย่าง มนุษย์ล่องหน (the Invisible Man) หรือในส่วนของลูคัสฟิล์ม ซึ่งมีดิสนีย์เป็นเจ้าของเหมือนมาร์เวล ก็พยายามขยายแกแล็กซี ให้ไกล ไกลออกไป ด้วยการนำเรื่องราวแต่หนหลังของฮัน โซโลมาขึ้นจอ รวมไปถึงวันเก่าๆ ของเหล่าขบถ โดยจะส่งหนังตอนแยกเรื่องแรกของ Star Wars ที่ชื่อ Rogue One ออกมาให้ได้ดูในเดือนธันวาคมนี้

แน่นอนว่า การลงทุนทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงพ่วงมาด้วย การเลียนแบบเหล่านี้ก็เช่นกัน โซนีพยายามจะสร้างจักรวาลในโลกภาพยนตร์ของ Spider-Man ซึ่งจะมีหนังที่ว่าด้วยเหล่าร้ายของไอ้แมงมุม ออกมาให้ได้ชมกัน โดยเป็นการผจญภัยของพวกเขาเองโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม โซนีก็ต้องวางถุงกาวลง หลังหนัง The Amazing Spider-Man 2 เมื่อปี 2014 เกิดอาการติดๆ ขัดๆ ในบ็อกซ์ ออฟฟิศ หลงทิศหลงทางจากการจับโน่นนี่นั่น ซึ่งก็รวมไปถึงบรรดาตัวร้ายพลังแรงๆ ทั้งหลายด้วยมาใส่ในเรื่อง เพื่อเป็นฉากแบบไข่อีสเตอร์เอาใจแฟนบอย และจบลงตรงที่โซนีให้มาร์เวลมาร่วมด้วยช่วยดัน รีบูทหนังไอ้แมงมุมเรื่องใหม่ Spider-Man: Homecoming หาทางปลุกความสนุกสนานให้กับหนัง เพื่อที่จะดึงคนอ่านนิยายภาพมาเข้าโรงภาพยนตร์ชมเรื่องราวของปีเตอร์ ปาร์เกอร์ และนักปล่อยใยที่เป็นอีกตัวตนหนึ่งของเขาอีกครั้งหนึ่ง

ดีซี คอมิคส์เองก็ปั้นจักรวาลของตัวเองเหมือนกัน ด้วยหนังที่ว่าด้วยการผจญภัยของเหล่า จัสติซ ลีก แต่หนังของพวกเขากลับซ้ำรอยความสำเร็จทางศิลปะของมาร์เวลไม่ได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นเรื่องครึ่งๆ กลางๆ ทั้ง Batman v Superman: Dawn of Justice และ Suicide Squad แม้รายได้จะขยับเพิ่มขึ้น แต่นักวิจารณ์พากันกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ โดยเฉพาะเรื่องความทึมหม่น ความรุนแรงของหนัง และคำวิจารณ์ในแง่ลบทั้งหลายก็ส่งผลให้ทีมของดีซี ต้องออกมาบอกว่า เรื่องราวการผจญภัยครั้งต่อๆ ไปของพวกเขา จะมีโทนที่เบาลง และมีอารมณ์ขันมากขึ้น

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับสตูดิโออื่นๆ ก็คือ โครงสร้างในการบัญชาการ ที่มาร์เวล พวกเขามีการจัดระบบที่แน่นอน ไฟกีจะเป็นคนวางโทนในการสร้างสรรค์งานให้กับหนัง แล้วจะคอยดูน้ำหนักของเรื่องและตัวหนังไปตลอดการถ่ายทำ ซึ่งสถานะแบบกูรูผู้ชี้แนะของเขา ก็คล้ายๆ กับบทบาทของจอห์น แลสซีเตอร์ที่พิกซาร์ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ไฟกีไม่ใช่หนึ่งในคนทำงาน แต่เขายังเป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมคุณภาพของมาร์เวลอีกด้วย

ในความแตกต่างกัน กระบวนการทำหนังของดีซีดูจะเต็มไปด้วยความเยิ่นเย้อ และตัวบริษัทเองก็ต้องวุ่นวายกับการกำหนดว่า ใครที่อยู่บนยอดสุดของปิระมิดซึ่งจะเป็นคนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จอฟฟ์ จอห์นส์​ กูรูหนังสือการ์ตูนของบริษัทใช่ไหม? จอน เบิร์ก รองประธานฝ่ายบริหารของวอร์เนอร์ใช่หรือเปล่า? หรือจะเป็นแซ็ค สไนเดอร์ ผู้กำกับ Batman v Superman? คำตอบจะกลับไปกลับมาขึ้นอยู่กับว่า คำถามคืออะไร และบางที การขาดความชัดเจนก็น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ กับความวุ่นวายจนน่าปวดหัวในขั้นตอนการทำงานของ Suicide Squad

แม้ว่าไฟกีจะเป็นคนตัดสินใจ แต่เขาก็กล้าที่จะมองหาการนำเสนอเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโรที่แตกต่างออกไป ตัวฮีโรที่ทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรมในแบบศาลเตี้ยอาจจะมีลักษณะตายตัว แต่โทนของเรื่อง หนังของมาร์เวล จะมีกรอบในการเล่าเรื่องที่กว้าง และหลากหลาย อย่างใน Captain America: The Winter Soldier คือการย้อนกลับไปหาหนังระทึกขวัญ ชวนหวาดระแวงในยุค 70, Guardians of the Galaxy ก็ไม่แยแสกับวัฒนธรรมป็อป ในแบบเดียวกับที่หนังชุด Indiana Jones เป็น และ Doctor Strange ก็มีอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ซีรีส์โทรทัศน์ อย่าง Buffy the Vampire กลายเป็นงานดูสนุก และฮิต

“ในโลกเหล่านี้แต่ละใบ ในตัวละครเหล่านี้แต่ละคน พวกเขาจะมีความแตกต่าง และมีลักษณะเฉพาะตัว” เดฟ ฮอลลิส หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่ายของดิสนีย์ เผย “ความหลากหลายเหล่านั้น คือสิ่งที่ทำให้หนังเหล่านี้มีความสด และน่าสนใจ”

ไฟกี เป็นที่รู้จักน้อยมากสำหรับคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ใช่แฟนๆ ของมาร์เวล เขาไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่คนเขียนบท แต่จากสิ่งที่ทำ สามารถทำให้เขากลายเป็นคนทำหนังที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคของตัวเองได้ไม่ยาก พิสูจน์ได้จากการเล่าเรื่องของหนังในชุด ที่ส่งความขัดแย้งและสานต่อกันและกันได้ ด้วยเส้นเรื่องที่แหย่เข้าไปในหลายบทหลากตอน เขายังเป็นคนให้คำจำกัดความถึงขอบเขตตรงไหนที่เป็นไปได้สำหรับหนังเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้ไฟกีกลายเป็นผู้สร้างความบันเทิงระดับท็อป ร่วมกับคนอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก, คริสโตเฟอร์ โนแลน และเจมส์ คาเมรอน แต่หากไม่ใช่แฟนๆ ของมาร์เวล ที่เป็นขาประจำในฮอลล์ เอช ของงานคอมิค-คอนที่ซาน ดิเอโก ก็คงยากที่จะเห็นหน้าแล้วนึกชื่อเขาออก

ฟังดูแล้วเหมือนไฟกีก็แฮปปีกับการเป็นคนโนเนม ในปี 2014 บนเวทีปราศรัยของคณะศิลปะภาพยนตร์, มหาวิทยาลัย เซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย เขาบอกเอาไว้ว่า เขาชอบที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หลังฉากมากกว่า

“เป็นเรื่องจริง ที่ผมไปงานคอมิค-คอนปีละครั้ง แต่ในงานผมสามารถหรี่ไฟลงได้อย่างรวดเร็ว ผมสามารถเอาคลิปต่างๆ มาอวดให้ผู้ชมดู แนะนำนักแสดงบางคน” ไฟกี กล่าว “และจุดสนใจก็จะหันออกไปจากผมทันที”

โดย ฉัตรเกล้า จากเรื่อง ความสำเร็จของ Doctor Strange บทพิสูจน์มาตรฐานระดับสูงของมาร์เวล คอลัมน์ สกูปพิเศษ นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1221 ปักษ์แรก ธันวาคม 2559

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.