Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – A MERMAID IN PARIS – “อีกบรรยากาศ ที่เหมือนภาพเซอร์ๆ ของเรื่องรักนางเงือก”

เรื่องราวความรักของชายหนุ่มกับเงือกสาว ถูกนำมาขึ้นจอให้ได้ชมกันหลากหลายครั้ง หลากหลายรูปแบบ ที่เด่นๆ ก็คงไม่พ้น Splash หนังแจ้งเกิดทอม แฮงค์ส และดารีล แฮนนาห์, The Little Mermaid แอนิเมชันของดิสนีย์ ที่กลายเป็นงานขึ้นหิ้งไปแล้ว และกำลังจะขึ้นจออีกครั้งในแบบหนังคนแสดง

แล้วยังมีแบบที่แอบๆ คลับคลากันอย่าง The Shape of Water ที่รู้สึกได้ถึงการได้รับอิทธิพล ทั้งจากหนังสัตว์ประหลาดและเรื่องราวที่ว่าด้วยความรักของเงือกสาวกับมนุษย์

แต่ที่เซอร์ที่สุดเท่าที่เคยชมมา ก็คงต้องยกให้ The Lure ของโปแลนด์ ที่นอกจากจะว่าด้วยความรักระหว่างเงือกสาวและมนุษย์แล้ว ยังเป็นทั้งหนังเพลง และหนังสยองขวัญในเวลาเดียวกัน ที่ทำให้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหนังทำนองนี้ไปเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางของหนัง การเล่าเรื่อง สไตล์ รวมถึงการออกแบบงานสร้าง ที่มาแบบเซอร์ๆ แฟนตาซีล้นสุดๆ

ครั้งนี้เป็นทีของฝรั่งเศสตามที่ชื่อเรื่องว่าเอาไว้ นางเงือกในปารีส – A Mermaid in Paris

ลุลา (มาริลีน ลิมา) เงือกสาวได้รับบาดเจ็บลอยมาติดท่าน้ำแห่งหนึ่งของแม่น้ำแซนในปารีส และได้รับความช่วยเหลือจาก กัสปาร์ด (นิโคลาส ดูวอเชลล์) นักร้องและลูกชายเจ้าของคลับที่ชื่อ ฟลาวเวอร์ เบอร์เกอร์ ที่ตั้งอยู่ในเรือริมแม่น้ำ กัสปาร์ดจัดการดูแลเธอเป็นอย่างดี โดยที่เขาไม่ได้รับอันตรายจากเสียงร้องเพลงของเธอ ที่ทำให้ผู้ชายหลงรักจนหัวใจแตกสลาย ด้วยความที่เขาช้ำรักมากมายหลายหน จนกลายเป็นคนไม่มีความรักในหัวใจ แต่เพราะเสียงร้องของลุลาไปทำให้คุณหมอรายหนึ่งต้องเสียชีวิต แฟนของเขาที่กำลังตั้งครรภ์จึงออกตามหาตัวเธอทั่วปารีส ส่วนกัสปาร์ดก็เกิดความรักอีกครั้งกับลุลา ที่อาจทำให้เขาต้องเสียชีวิตได้ ส่วนเงือกสาวเองก็จำเป็นที่ต้องกลับไปอยู่ในที่ๆ เป็นบ้านของเธอ

กัสปาร์ดต้องหาทางส่งลุลากลับบ้าน ในขณะที่แพทย์หญิงที่แฟนต้องจากไปเพราะลุลา ก็แกะรอยมาจนถึงฟลาวเวอร์ เบอร์เกอร์

แม้เรื่องราวจะอยู่ในโครงสร้างแบบเดิมๆ ของหนังที่ว่าด้วยความรักของคนกับนางเงือกทั้งหลาย ปรับเปลี่ยนก็แค่รายละเอียดของเรื่อง ของตัวละคร ยุคสมัย หรือว่าฉากหลัง แต่ในความซ้ำๆ ของ A Mermaid in Paris ก็มีความแปลกใหม่ในตัวมากพอจะทำให้มีความแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ แต่เป็นไปในลักษณะที่ไม่ต่างจากการผสมผสานงานก่อนๆ หน้า เข้าด้วยกันแล้วปั้นออกมาเป็นตัวของตัวเอง

หนังมีความเป็นงานเพลงร่วมสมัยในแบบ The Lure แต่ไม่ได้มีความน่ากลัวหรือสยดสยอง มีเรื่องความรักหากก็เป็นความรักในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่โลกในเทพนิยายแบบ The Little Mermaid แล้วก็ไม่ได้นำเสนอแบบเดียวกับ Splash แม้เรื่องราวอาจจะเหมาว่าใกล้เคียงกันที่สุด ขณะที่งานโปรดัคชัน ดีไซน์ก็อาจจะทำให้นึกถึง The Lure แต่ A Mermaid in Paris เป็นงานเนี้ยบละเอียดกว่า และมาพร้อมศิลปะในสไตล์โบฮีเมียน ไม่ใช่งานอาร์ตยุค 80s ที่ภาพและเพลง ทำให้แม้จะมีความเป็นแฟนตาซีเหมือนๆ กัน แต่ก็ด้วยโทนที่แตกต่าง แถมยังสวยแบบงานจิตรกรรมหรือภาพวาด ที่พอรวมกับโทนเบาๆ ของหนังกับดนตรีประกอบที่ฟังฝรั่งเศสมากๆ อาจจะรู้สึกได้ว่า A Mermaid in Paris มีบรรยากาศบางอย่างละม้ายกับ Amelie เหมือนกัน

ทั้งหมดถูกเกลี่ยเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน กลายเป็นหนังความรักนางเงือกที่มีสไตล์เฉพาะตัวทั้งแนวทาง การออกแบบงานสร้าง รวมถึงตัวเพลงที่หนังใช้ แล้วก็ได้เรื่องราวที่เล่าได้อย่างราบรื่นลงตัว มีอารมณ์ขันที่ใส่เข้ามาพอเหมาะพอเจาะ มีความน่ารัก น่าเห็นใจของตัวละคร มีสถานการณ์ตื่นเต้นในแบบที่ไม่รุกเร้าจนเสียโทนหนัง

ที่พอรวมกันแล้ว ก็ส่งให้หนังเรื่องซ้ำๆ ช้ำๆ เรื่องนี้ กลายเป็นงานที่ดูแล้วมีความสุข สนุกแบบเพลินๆ ได้ในที่สุด

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1318 ปักษ์หลังธันวาคม 2563

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.