Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – RALPH BREAKS THE INTERNET งานซาวนด์แทร็ค ของอีกหนึ่งหนังเด็ดของดิสนีย์

RALPH BREAKS THE INTERNET: ORIGINAL MOTION PICTURE SOUNDTRACK
Original Score Composed by Henry Jackman
[Walt Disney Records]

หนังภาคแรกทำเอาไว้ดีในแบบครบเครื่อง ทั้งเรื่องราว ตัวละคร และมาพร้อมกับลักษณะเฉพาะตัว ที่มีความเป็นหนัง รำลึกความทรงจำ (recognition cinema) ในตัวจากตัวละครในเกมและตัวเกมอาร์เขดต่างๆ ในหนังภาคต่อ ราล์ฟและเวเนโลปีที่กลายเป็นเพื่อนซี้กันไปแล้วจะต้องตะลุยโลกอินเตอร์เน็ท เพื่อหาอะไหล่มาซ่อมเกม Sugar Rush ของเวเนโลปีให้ทันเวลา 

หนังได้ทีมนักแสดงจากภาคแรกมาให้เสียงตัวละครเดิมๆ ครบ เช่นเดียวกับทีมงาน ผู้กำกับริช มัวร์ก็กลับมา หรือคนทำดนตรีประกอบก็เป็น เฮนรี แจ็คแมนที่ทำดนตรีประกอบให้ Wreck-It-Ralph 

คอนเส็ปท์ต่างๆ ในการทำอัลบัมซาวนด์แทร็คก็ยังคล้ายๆ เดิมคือ มีเพลงป็อป และดนตรีประกอบของแจ็คแมนรวมอยู่ในงานชุดเดียวกัน แต่ที่ต่างออกไปก็คือ สำหรับเพลงในอัลบัมซาวนด์แทร็คของภาคนี้ คือเพลงที่ถูกใช้ในเรื่อง และอยู่ในหนังแบบตัวละครร้องเล่นกันจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่เพลงประกอบที่ถูกใช้ในฉากใดฉากหนึ่งเฉยๆ 

“Zero” ของอิเมจิน ดรากอนส์ ก็คือเพลงที่อยู่ในช่วงเอนด์ เครดิตของหนัง และเป็นซิงเกิลโปรโมทอัลบัมซาวนด์แทร็คและภาพยนตร์ด้วย นอกจากจะอยู่ในอัลบัมนี้แล้ว เพลงนี้ยังหาฟังได้จากอัลบัมชุด Origins งานชุดล่าสุดของพวกเขาอีกด้วย แต่ถ้าคิดว่าเป็นการเลือกเพลงจากอัลบัมของวง ที่ดูใกล้เคียงกับหนังมาใส่ละก็ ไม่ใช่เพราะเพลงนี้ทางวงตั้งใจแต่งให้กับหนังจริงๆ โดยตัวเพลงก็เป็นงานในทางของอิเมจิน ดรากอนส์ แต่โทนเพลงฟังสนุก มีอารมณ์แบบเพลงสำหรับเด็กๆ, “A Place Called Slaughter Race” จะเป็นเพลงของเกม Slaughter Race ในเรื่อง ที่จะบอกเล่าความรู้สึกของเวเนโลปี ที่เบื่อกับเกมเดิมๆ ของตัวเอง และอยากทำอะไรใหม่ๆ เพลงนี้ได้ซาราห์ ซิลเวอร์แมน และกัล กาด็อท ที่ให้เสียงของเวเนโลปีและแชงค์ นักแข่งสาวสุดห้าว ของเกม Slaughter Race เป็นคนร้อง ดนตรีจะมีมูฟเมนท์ที่แตกต่างกัน แต่ก็อยู่ในทางของงานมิวสิคัล ที่ฟังสนุก รื่นรมย์ ตามสไตล์ของดิสนีย์ โดยคนที่แต่งทำนองให้เพลงนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น อลัน เมนเคน นั่นเอง 

“A Place Called Slaughter Race” ยังแตกหน่อไปเป็นเพลงในทางป็อป “In This Place” ซึ่งร้องโดย จูเลีย ไมเคิลส์ นักร้อง/นักแต่งเพลงสาว ที่จะได้ยินกันในเอนด์เครดิตอีกเพลง แม้จะออกมาเป็นเพลงป็อปเพราะๆ แต่จะว่าไปแล้วงานในฉบับดั้งเดิมนั้นฟังได้อารมณ์ และอิ่มมากกว่าเยอะ 

จากนั้นก็เป็นงานสกอร์ของแจ็คแมน ที่มี “Best Friends” เป็นธีมหลัก โดยเพลงนี้ในหนังภาคแรกจะใช้ชื่อว่า “Wreck-It-Ralph” ซึ่งก็เป็นธีมหลักของหนังเช่นกัน เพลงนี้จะเป็นงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ซาวนด์ดนตรีทำให้นึกถึงดนตรีประกอบของบรรดาเกมอาร์เขดทั้งหลาย แต่ก็มีงานเครื่องสายมาเสริมในช่วงท้ายๆ ทำให้นอกจากความสนุกที่สัมผัสกันได้ไม่ยากแล้ว ก็ยังมีความอบอุ่นให้รู้สึกอีกด้วย

โดยตัวงานยังคงคอนเส็ปท์เดิม ที่มีการใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าผสมผสานไปกับการบรรเลงของวงซิมโฟนี ที่ทำให้ตัวดนตรีมาพร้อมกับลักษณะเฉพาะที่ทำให้รู้สึกได้ทั้ง อารมณ์ของหนัง สถานการณ์ของตัวละคร และที่มาของตัวละคร ที่มาจากเกมอาร์เขด ซึ่งแจ็คแมนก็ผสมผสานดนตรีทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวกลมกลืน 

ที่น่าสนใจก็คือ การใช้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของแจ็คแมน หากไม่นับธีมที่ใช้กับโลกของเกมอาร์เขดแล้ว จะพบว่าซาวนด์ที่ออกมานั้นแตกต่างไปจากที่ได้ยินในหนังภาคแรกเยอะ เช่นเดียวกับโลกของเกมอาร์เขดและอินเตอร์เน็ท แม้จะเป็นโลกดิจิตอลเหมือนๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องโครงสร้างและรายละเอียด ซึ่งดนตรีของแจ็คแมนก็ทำออกมาตอบโจทย์ตรงนี้พอดี ในแบบที่ได้ยินก็น่าจะรู้ หรือแยกออกวาง นี่คือดนตรีของ Wreck-It-Ralph นี่คือดนตรีของ Ralph Breaks the Internet ที่ห่างสังเกตุดีๆ จะพบว่า ซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์ในหนังเรื่องหลังมีความนุ่มนวลกว่า และฟังไม่แข็งเท่าที่ได้ยินใน Wreck-It-Ralph เช่นใน “Site Seeing”  

ธีมของแชงค์ ตัวละครใหม่ที่ให้เสียงโดยกัล กาด็อท เป็นธีมที่น่าสนใจ เมื่อทำออกมาเป็นในแบบร็อคสกอร์ ดนตรีเล่นหยอกล้อกันสนุกระหว่าง ดนตรีบิ๊ก แบนด์-เครื่องสาย-เครื่องเป่า 

นอกจากนี้ในธีมที่มีตัวละครจากหนังเรื่องอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น บรรดาตัวละครจาก Star Wars หรือแก๊งเจ้าหญิง ก็จะมีการดึงเมโลดีและโทนจากสกอร์หลักๆ ของตัวละครเหล่านั้นมาใช้ เช่น “Vanellope’s March” ก็มีท่วงทำนองและจังหวะของธีม “Imperial’s March” จากหนัง Star Wars เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงาน พอเป็น “A Big Strong Man in Need of Rescuing” ที่ว่าด้วยบรรดาเจ้าหญิงในแอนิเมชันดิสนีย์ ก็ไม่ต่างไปจากงานซุทสั้นๆ ที่ร้อยธีมต่างๆ ของเจ้าหญิงมาไว้ด้วยกัน     

โดยธีมต่างๆ ในอัลบัมซาวนด์แทร็คจะเป็นธีมสั้นๆ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งน่าจะถูกแต่งขึ้นมาเพื่อใช้กับสถานการณ์หรืออารมณ์ของตัวละครในหนังเป็นหลัก การฟังอัลบัมก็เลยจะรู้สึกมีการเปลี่ยนแปลงวูบไหวที่รวดเร็ว ให้อารมณ์เป็นห้วงๆ อยู่บ้าง ซึ่งก็อาจจะไม่สนุกนักสำหรับคนที่ไม่ชอบงานสกอร์ แต่ถ้าเป็นคนชอบดนตรีประกอบภาพยนตร์ งานของแจ็คแมนก็เหมือนกับตัวหนังที่ดูสนุก เพราะฉะนั้นดนตรีก็ฟังสนุก!!! 

TRACK LISTING:

1. “Zero” Performed by Imagine Dragons (3:30) 2. “A Place Called Slaughter Race” Performed by Sarah Silverman and Gal Gadot (3:28) 3. “In This Place” Performed by Julia Michaels (3:21) 4. “Best Friends” (2:53) 5. “Circuit Breaker” (2:22) 6. “Pulling the Plug” (1:14) 7. “On the Rooftop” (1:04) 8. “The Big Idea” (1:15) 9. “The Internet” (2:47) 10. “KnowsMore & Spamley” (1:18) 11. “Site Seeing” (1:30) 12. “Check Out Fiasco” (1:33) 13. “Get Rich Quick” (1:43) 14. “Shank” (3:03) 15. “Hanging Out” (1:03) 16. “BuzzzTube” (1:42) 17. “Overnight Sensation” (2:52) 18. “Separate Ways” (1:04) 19. “Vanellope’s March” (0:46) 20. “Desperate Measures” (1:20) 21. “Don’t Read the Comments” (1:49) 22. “Growing Pains” (1:35) 23. “Double Dan” (3:36) 24. “Scanning for Insecurities” (1:54) 25. “Breaking Up” (2:46) 26. “Replicate-It Ralph” (1:20) 27. “Operation Pied Piper” (2:38) 28. “Kling Kong” (3:39) 29. “The True Meaning of Friendship” (2:16) 30. “A Big Strong Man in Need of Rescuing” (1:55) 31. “Letting Go” (1:49) 32. “Comfort Zone” (1:32) 33. “Worlds Apart” (1:22) 34. “A Place Called Slaughter Race (instrumental)” (3:28) 35. “In this Place (instrumental)” (3:21)

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ สะกิดร่องเสียง นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1270 ปักษ์หลังธันวาคม 2561  

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.