FEATURESMovie Features

10 ปีผ่าน หลังหนัง Twilight สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนโลกภาพยนตร์

เหมือนกับเพิ่งได้ชมหนัง Twilight เรื่องแรกกันไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่นับจากวันที่หนังเปิดตัวเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 เวลาผ่านไปแล้วถึง 1 ทศวรรษ และเว็บไซต์ gamesradar จะพาไปพบว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในโลกภาพยนตร์

สเตฟานี ไมเออร์ กำลังวุ่นกับการทำหน้าที่คุณแม่ลูกสามอยู่ ในตอนที่เธอฝันถึงเรื่องราวของสาวรุ่นทั่วๆ ไปคนหนึ่ง ที่เกิดไปเจอกับแวมไพร์หนุ่มสุดฮ็อต ไม่กี่ปีต่อจากนั้น นิยายของเธอกลายเป็นหนัง และกลายเป็นสิ่งที่สตูดิโอต่างๆ ฝันอยากจะมีบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กหนุ่มที่ไปปิ๊งเด็กสาว หากยังมีเรื่องของการที่หนังซึ่งสร้างขึ้นโดยหวังรายได้พอประมาณ กลายเป็นงานที่เจอผู้ชมมากมายมหาศาล และจากรายได้พอประมาณก็กลายเป็นรายได้มโหฬารตามมา

ขณะที่บรรดานักวิจารณ์ และคอหนังสยองสาวแข็ง ต่างกัดจิก Twilight แต่กับแฟนๆ พวกเขารู้สึกแตกต่างออกไป พวกเขารักตัวละครอย่าง สาวรุ่นเบลลา สวอนและเอ็ดเวิร์ด คัลเลนแวมไพร์หนุ่มเจ้าเสน่ห์ ที่วัย 17 ปีตลอดกาล อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เรื่องราวความรักของพวกเขา สร้างอุตสาหกรรมมากมายให้เกิดขึ้นในหมู่แฟนๆ, มีเรื่องราวภาคต่อ, มีนิยายที่แฟนๆ เขียนตามมา, สินค้าจากหนัง และยอดขายตั๋วชม ตลอดระยะเวลาที่หนัง 5 เรื่องทยอยออกฉาย หนังชุด The Twilight Saga ทำเงินถึง 3.3 พันล้านเหรียญ

แม้ตัวหนังทุกเรื่องจะอ่อนยวบยาบ แต่ก็ไม่ใช่แค่แฟนๆ เท่านั้นที่ตามดู เพราะบรรดาพวกต่อต้านก็คงต้องดูหนังชุดนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงต่อปากต่อคำกับแฟนๆ ได้ไม่สนุก กระทั่งเดวิด สเลด ที่เคยกำกับหนังแวมไพร์เดือดๆ อย่าง 30 Days of Night ก็ลดเสียงจิกกัดลงสนิท เมื่อกลายเป็นผู้กำกับหนังเรื่องที่สามในชุด Twilight: Eclipse เห็นได้ชัดว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่ใจคน แต่ยังเปลี่ยนและสร้างบางอย่างให้กับวงการภาพยนตร์ กับเวลา 10 ปีที่ผ่านไป หลังจากที่หนังภาคแรกออกฉาย นี่คือสิ่งที่หนังชุดนี้เปลี่ยนแปลงโลกภาพยนตร์

1. ทำให้สตูดิโอเล็กๆ มีที่ทางในวงการ

ช่วงปี 2008 ข่าวคราวที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้พาราเมาท์ต้องเขกหัวตัวเอง เมื่อพวกเขาที่เป็นสตูดิโอใหญ่ทุนหนา และเคยถือสิทธิ์ในการสร้างหนัง Twilight ในมือ ดันปล่อยทิ้งไปเพราะคิดว่าหนังน่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

ด้วยอะไรบางอย่าง นิยายเรื่องนี้เดินทางมาถึงซัมมิท เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่ตอนนั้นเป็นบริษัทซื้อ-ขายหนังข้ามชาติเล็กๆ ที่บางครั้งก็ลองลงทุนสร้างหนังเป็นระยะๆ โดยบริษัทขยับตัวเองเป็นสตูดิโอขนาดจิ๊บๆ ในปี 2006 ภายใต้การดูแลของอดีตรองประธานของพาราเมาท์ ร็อบ ฟรีดแมน มีหนังก่อนการมาถึงของ Twilight เป็นทรัพย์สินของบริษัทอย่าง หนังสยองขวัญในลานจอดรถ P2 และหนังวัยรุ่น เบาสมอง Sex Drive เมื่อได้กลิ่นนิยายของไมเออร์ลอยมา ซัมมิทคว้าโอกาสนั้นไว้ในมือทันที “เรามองเห็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่แบบ Romeo and Juliet ที่เรื่องราวมีความน่าสนใจ และให้ความรู้สึกถึงความร่วมสมัย” ฟรีดแมนกล่าว

หลังความสำเร็จของ Twilight ซัมมิทขยายตัวเองเป็นสตูดิโอเล็กๆ ที่สามารถให้การสนับสนุนเงินทุนกับหนังที่ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดี และทำเงินใช้ได้อย่าง The Hurt Locker และ Red ในปี 2012 ซัมมิทถูกขายให้กับไลออนเกทส์ด้วยมูลค่าถึง 412.5 ล้านเหรียญ ซึ่งกลายเป็นการสร้างบริษัทในแบบที่นิตยสารวาไรตีเรียกว่า “สตูดิโอใหญ่ขนาดเล็ก” (mini-majors) ที่มาเติมเต็มช่องว่างระหว่างตลาดหนังอินดีและหนังค่ายใหญ่ทุนหนา และหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์จากการรวมพลังอันเกิดจาก Twilight ก็คือ La La Land

2. มีหนังภาคต่อตัวละครนำหญิงออกมามากมาย

ในปี 2017 มีหนังเรื่องหนึ่งที่ใช้ผู้กำกับหญิงจากแวดวงหนังอินดี และตัวละครนำเป็นผู้หญิงซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างมากในเรื่องความสำเร็จ หากยังจำได้ก็คงรู้ว่า เรากำลังพูดถึง Wonder Woman แต่ก่อนหน้าจะมาถึงสาวมหัศจรรย์ เรามี Twilight เป็นรายแรก แคเธอรีน ฮาร์ดวิคก์ผู้กำกับของหนัง Thirteen มารับหน้าที่กุมบังเหียนของหนังจากบทของเมลิสสา โรเซนเบิร์ก ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองของเด็กสาววัยรุ่น Twilight ที่ถูกเขียนถึงในคอลัมน์ต่างๆ มากมายไม่รู้จักจบจักสิ้น ถึงผลกระทบที่หนังมีต่อบรรดาวัยรุ่นสาวๆ และกวาดเงินในสัปดาห์เปิดตัวไปถึง 69.6 ล้านเหรียญ โดยหนังใช้ทุนสร้างไปเพียง 37 ล้านเหรียญ โดยผู้ชมในสัปดาห์แรกเป็นผู้หญิงถึง 75% และกลายเป็นหนึ่งในหนังเรื่องแรกจากนิยายผู้ใหญ่วัยเยาว์ภาคต่อ หลังยุค Harry Potter ที่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ภาคแรกไปจนถึงภาคสุดท้าย

แม้คำวิจารณ์ที่ได้รับจะแสบๆ คันๆ แต่โรเซนเบิร์กก็แย้งว่า Twilight เป็นงานที่นำเสนอ “เรื่องราวแฟนตาซีเหมือนๆ กับหนังภาคต่อทั้งหลายที่ล่อใจบรรดาเด็กชายอายุ 13 ไม่มากก็น้อย” ซึ่งเป็นการตอบโต้ที่โดนเข้าจังๆ หลังจากนั้นหนังภาคต่อตัวละครหญิงนำหน้าก็ตามมาเป็นพรืด มีทั้งหนังภาคต่อที่ทำรายได้ง่อยๆ อย่าง Divergent, Snow White ไปจนถึงหนังที่ทำเงินได้เป็นก้อนโตๆ ซึ่งนักวิจารณ์อย่าง แอนน์ บิลล์สัน ถึงกับตั้งคำถามว่า “หนัง Hunger Games จะสร้างขึ้นมาได้ไหม หากไม่มีหนัง Twilight?”

ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นของหนังแต่ละภาพยังทำให้คำกล่าวที่ว่า เด็กผู้ชายไม่ดูหนังเด็กผู้หญิง กลายเป็นคำโกหกพกลม คริส ไวทซ์ ผู้กำกับหนังเรื่องที่สอง Twilight: New Moon ต่อกันติดกับเรื่อง “สถานการณ์ของเบลลา เป็นหนึ่งสิ่งที่โดนผม ว่ากันตรงๆ เลยนะ มันอาจจะฟังดูเศร้า แต่ผมเคยอยู่ในจุดที่เบลลายืน ไม่มีใครสนใจใยดี” ซึ่งมีเพียงแฟนๆ ไม่กี่พันล้านคนเองที่เข้าใจ

3. อุตสาหกรรมขายของที่ระลึกกลับมาบูมอีกครั้ง

ในอดีต วัยรุ่นและสินค้าจากหนังเป็นสิ่งที่เดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย แต่ Twilight ทำให้ยอดขายสินค้าที่ระลึกจากหนังกลับมาทำรายได้มหาศาลอีกครั้ง แฟนๆ ไล่ตามซื้อชุดเครื่องเขียน, น้ำยาเปลี่ยนสีผม, ชุดเด็กอ่อน, แผ่นติดกระจกรูปเอ็ดเวิร์ด และอะไรอีกมากมาย ถ้าการเปลี่ยนสีผมยังแสดงให้เห็นความภักดีของคุณไม่มากพอ ซื้อชุดชั้นในมาเพิ่มก็ดี

อัลบัมซาวนด์แทร็คเองก็เติบโต เดินหน้าไปได้ด้วยตัวเอง โดยมีคำกล่าวอ้างของไมเออร์ที่ว่า เพลงสำหรับเรื่องราวของ Twilight ก็คือดนตรีของ Muse หลังทำงานให้หนังชุดนี้ ตัวผู้ดูแลด้านดนตรี อเล็กซานดรา แพ็ทซาวาส ก็ได้ทำงานใน อัลบัมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง The Hunger Games แล้วก็บรรดาหนังโทรทัศน์ที่มีเพลงเป็นองค์ประกอบสำคัญ

แหวนหมั้นแบบในหนัง Eclipse ถูกซื้อขายกันด้วยราคาตั้งแต่ 40 ปอนด์ ที่เป็นแบบราคาถูกที่สุด ไปจนถึง 1,300 ปอนด์ ไมค์ เกอร์ลิง ผู้จัดการศูนย์่ท่องเที่ยวของหอการค้าในเมืองฟอร์คส์ สถานี่ถ่ายทำของหนัง เผยถึงยอดรายได้หลังจากหนัง Twilight ออกฉายว่าเพิ่มขึ้นมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการขายเสื้อยืด รวมไปถึงการเข้ามาเที่ยวที่เมืองของแฟนๆ “ถ้าไม่ได้หนัง Twilight ร้านฟอร์คส์ คอฟฟี ช็อป ก็คงปิดไปแล้ว”

4. แวมไพร์กลายเป็นที่นิยม และได้รับการชื่นชมอย่างมาก

แวมไพร์ในนิยายของไมเออร์ถูกวิพากษ์-วิจารณ์อย่างหนักจากแฟนแวมไพร์พันธุ์แท้ พวกเขาไม่พอใจกับการที่ตัวละครในเรื่องไม่กัดเข้าที่คอของเหยื่อ หรือว่าตายเมื่อถูกแสงอาทิตย์ แถมยังส่องแสงระยิบระยับไม่ต่างไปจากทิงเคอร์เบลที่มีกล้ามท้องยังไงยังงั้น นักเขียนอย่าง ชาร์ลี บรูคเกอร์ ถึงกับบอกว่า นิยายชุดนี้ทำให้ตัวประหลาดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวลาด จอมเสียบได้รับความอับอาย” ขณะที่สัมภาษณ์แอนน์ ไรซ์ เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง Interview With the Vampire ซึ่งเป็นการแหย่แฟนๆ นิยายของไมเออร์เบาๆ

แต่ก็ต้องยอมรับว่า แวมไพร์กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาได้ด้วยกระแสของเอ็ดเวิร์ด ที่อาจทำให้เลอสแตทถึงกับฉีกยิ้ม เมื่อนิยายชุด The Vampire Diaries ถูกดัดแปลงเป็นหนังโทรทัศน์, ทิม เบอร์ตัน ก็มาทำหนังแวมไพร์ วินเทจ Dark Shadows และอับราฮัม ลินคอล์น ก็กลายเป็นนักล่าแวมไพร์ ความคิดในการอุปมาอุปมัยแวมไพร์ว่าเป็นพวกเสพติดความรัก กลายป็นซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง True Blood ซึ่งตอนแรกเป็นการดัดแปลงนิยายชุด The Southern Vampire Mysteries นำมาก่อนของอลัน บอลล์

แวมไพร์ถูกนำกลับมาด้วยรูปแบบใหม่ๆ และหลากหลายความพลิกผัน อย่างใน Only Lovers Left Alive, What We Do in the Shadows และ A Girl Walks Home Alone at Night แต่บางเรื่องก็เป็นได้แค่ปฏิกริยาตอบสนองตรงกับทีมคัลเล็น นิยายของไมเออร์กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าสนใจใหม่ๆ ให้กับพวกชีวิตอมตะ และไม่ต้องสนใจพวกต่อต้าน พวกแวมไพร์ไม่มีชีวิตหลังความตายยาวนานพอที่จะทนต่อการตีความใหม่เล็กๆ น้อยๆ หรอกนะ?

5. ทุกๆ สตูดิโอพยายามหางานมาตีเป็นทอง

ถ้าความสำเร็จของ Harry Potter ทำให้สตูดิโอขุดหาหนังฮิตในแบบที่เป็น ฮอกวอร์ตเรื่องต่อไป Twilight ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ฮอลลีวูดพยายามเปิดหาหนังสือที่สามารถเปลี่ยนเป็นภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น Daughter of Smoke and Bone, The Spook’s Apprentice, The Mortal Instruments และ Warm Bodies ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับสมมติฐานในเรื่องนี้ และการถูกเรียกขานว่าเป็นนิยายผู้ใหญ่วัยเยาว์ ซึ่งเป็นนัยแสดงถึงการดูถูกดูแคลนก็เปลี่ยนไปหลังจาก Twilight

แต่ความสำเร็จของไมเออร์ก็เกิดขึ้นพร้อมกับความเคลือบแคลง “สเตฟานีเขียนเรื่องที่ไม่คุ้มค่าที่จะตำหนิ” สตีเฟน คิงกล่าวแบบไม่มีอ้อมค้อม โดยมีแรงเสริมเป็นความล้มเหลวของหนังที่ดัดแปลงจากนิยายผู้ใหญ่วัยเยาว์ ซึ่งขนมาดัดแปลงโดยไม่ได้ดูความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น The Mortal Instruments ที่สร้างได้แค่ตอนเดียว ก่อนที่จะกลายเป็นซีรีส์โทรทัศน์คุณภาพกลางๆ Shadowhunters

ถึงกระนั้นผลกระทบในเชิงลบของ Twilight ก็ยังมีด้านบวก “ทำให้คนพยายามที่จะปลดป้ายหนังสือของผม ที่ว่าเป็น Twilight ฉบับซอมบีทิ้ง” ไอแซ็ค มาเรียน ผู้แต่ง Warm Bodies กล่าว “นิยามนั้นทำให้ผมโกรธ แต่ผมก็ดีใจที่อย่างน้อยพวกเขาก็พูดถึงมัน” เอริน เดมป์ซีย์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของสำนักพิมพ์เพนกวิน ตั้งข้อสังเกตุว่า หลังยุค Twilight พวกบล็อกต่างๆ มีกำลัง มีความแข็งแรงมากขึ้นในการโปรโมทนิยายผู้ใหญ่วัยเยาว์ “แฟนๆ ของ Twilight เป็นพวกที่มีความคลั่งไคล้อย่างรุนแรง พวกเขาใช้เว็บเพื่อแชร์ความรักในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในหนังสือเล่มไหนๆ บล็อกเกอร์พวกนี้กลายเป็นคนที่มีอำนาจพอๆ กับร้านขายหนังสือไปแล้วในทุกวันนี้

6. โลกของแฟนและนิยายที่แฟนๆ แต่งกลายเป็นกระแสหลัก

แบบเดียวกับการเขียนถึงเรื่องราวของเคิร์ก/สป็อกจาก Star Trek แฟนๆ ของ Twilight ก่อให้เกิดกระแสการแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ที่แฟนๆ แต่งขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นบ้านที่ได้แรงบันดาลใจจากพวกคัลเล็น หรือเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของเบลลาและเอ็ดเวิร์ด โดยที่อย่าลืมเรื่อง Fifty Shades of Grey ของอี.แอล. เจมส์

โลกของแฟนๆ ยังมีการไปตั้งแถวรอไมเออร์มาเซ็นหนังสือกันล่วงหน้าเป็นวันๆ บางคนก็เดินทางไปที่ฟอร์คส์ ในวอชิงตัน สถานที่ถ่ายทำหลักของหนัง บล็อกเกอร์ไปที่กองถ่าย และห้องตัดต่อ ซึ่งหัวเรือใหญ่ของพวกแฟนไซต์ คัลลี แมทธิวส์ ชวน บิลล์ คอนดอน ผู้กำกับของ Breaking Dawn มาตกแต่งชุดหลังกลายเป็นแวมไพร์กระหายเลือดของเบลลา ขณะที่ในงานคอมิค-คอน มีคนไปเข้าคิวรอพบทีมงานกันข้ามวัน

ความพยายามพาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของหนัง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไหน ด้วยวิธีการใด สร้างสถิติใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนแฟนๆ ที่ตั้งเตนท์รอซื้อตั๋ว โดยไม่กลัวสายฝนทุบสถิติที่เคยมีของบ็อกซ์ออฟฟิศ กระทั่งหุ่นขี้ผึ้งโรเบิร์ท แพ็ททินสันก็กลายเป็นหุ่นที่ถูกจูบมากที่สุด ของมาดาม ทุสโซด์ส

6. สร้างซูเปอร์สตาร์หนังอาร์ตกลุ่มแรกๆ

คริสเทน สจวร์ต, โรเบิร์ต แพ็ททินสัน ยังคงมีผลงานต่อเนื่องหลังจากความสำเร็จของ Twilight แพ็ททินสันยอมรับว่า ความสำเร็จของหนังทำให้เกิดสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ “มันน่ากลัวนะ กับการที่คุณสูญเสียความรู้สึกถึงตัวตนของตัวเองไป” แต่อย่างน้อยเขาก็ค้นพบตัวเองในโปรเจ็คท์ที่แตกต่างไป ไม่ว่าจะเป็นการรับบทมหาเศรษฐีหนุ่มที่อยู่ในรถหรู จากหนังของผู้กำกับเดวิด โครเน็นเบิร์ก Cosmopolis และกับการรับบทเป็นคนขับแท็กซีหนุ่มใน Maps to the Stars ซึ่งทำให้เขามีความสัมพันธ์ในช่วงเวลาสั้นๆ กับจูลีแอนน์ มัวร์ รวมถึงขยับขยายการทำงานออกไปอีกด้วย The Lost City of Z และ Good Time

ส่วนสาวเบลลา ไปมีบทเด่นในโลกของหนังอินดี เช่น Adventureland และ The Runaways หนังอัตชีวประวัติวงร็อค ที่เธอเล่นเป็นโจน เจ็ทท์ หลังจากนั้นก็ก้าวไปสู่โลกของหนังอาร์ทเฮาส์ ในผลงานของผู้กำกับอย่าง โอลิเวียร์ อัสซายาส และเคลลี ไรชาร์ดท์

เทย์เลอร์ เลาท์เนอร์ อาจจะดูเงียบผิดไปจากคนอื่นๆ แต่นักแสดงสมทบอย่างแอนนา เคนดริกก็กลายเป็นดาวดวงเด่นในหนัง Pitch Perfect และอีกหลายๆ เรื่อง นับจากชีวิตในบทบาทเจสสิกา สแตนลีย์ จาก Twilight

โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง 10 ปีผ่าน หลังหนัง Twilight สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนโลกภาพยนตร์ คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1270 ปักษ์หลังธันวาคม 2561

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.