Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – REVIVAL การกลับมาของแร็ปเปอร์ผิวขาว เจ้าของเนื้อหาที่คมคาย คนที่แต่งเพลง Stan

REVIVAL / Eminem
[Aftermath Records/ Shady/ Interscope]

อัลบัมชุดที่ 9 ของเอ็มมิเน็ม Revival มี Walk on Water เป็นซิงเกิลเปิดตัว โดยได้บียอนเซ โนว์ลส์ มาร่วมร้องเป็นครั้งแรก เนื้อหาบ่งบอกถึงตัวตน ความสำเร็จที่เจ้าตัวได้รับ สิ่งที่ทำ จนตัวเองเหมือนกับเป็นพระเจ้าที่สามารถ ‘เดินไปบนน้ำ’ ได้ แต่ที่สุดแล้วเขาก็ไม่ใช่พระเจ้าและจะเดินบนน้ำได้ก็ต่อเมื่อมันผิวน้ำมันแข็ง

“I walk on water / But I ain’t no Jesus / I walk on water / But only when it freezes” ท่อนแรกของเพลงว่าเอาไว้ ก่อนจะปิดท้ายแบบแสบๆ ด้วย “’Cause I’m just a man / But as long as I got a mic, I’m godlike / So me and you are not alike / Bitch, I wrote “Stan””

ใช่ที่เขาเป็นแค่ผู้ชายคนหนึ่ง แต่ตราบเท่าที่ไมค์อยู่ในมือ เขาก็คือพระเจ้า และที่เขากับอีกหลายๆ คนไม่เหมือนกันก็คือ ‘กู’ แต่งเพลง Stan

ที่ไม่ใช่แค่บ่งบอกถึงตัวตน ความสำเร็จที่ได้รับ สิ่งที่ได้ทำ หากยังแสดงออกถึงความมั่นใจ อหังการ์ แต่หากเทียบกับงานชุดก่อนหน้า โดยเฉพาะอัลบัมแรกๆ ความแสบในวันนี้ของเอ็มมิเน็มเป็นความแสบแบบคนที่ทำได้ ทำสำเร็จ ไม่ใช่เป็นเด็กที่คิดว่าตัวเองทำได้ และทะนงตน เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง

และทำให้ Revival ไม่ใช่แค่การฟื้นคืนชีพหรือการกลับมา แต่ยังเป็นการเติบโตเดินต่อจากจุดที่เคยเป็น โดยมีเครดิตมากมายเต็มกระเป๋า ไม่ใช่อาการกลับกำเริบอย่าง Relapse หรืออยู่ในสภาพฟื้นฟูแบบ Recovery งานสามและสองชุดก่อนหน้า ซึ่งสังเกตได้จากเนื้อหาในเพลง ที่เป็นเรื่องราวของการใคร่ครวญถึงชีวิตที่ผ่านไป บอกเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา เรื่องในวงการเพลง ตลอดจนชีวิตคนใกล้ชิดด้วยอารมณ์ และสายตาที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากเดิม แต่ด้วยมุมมองที่ตกผลึกมากขึ้น มากมายหลายเพลง นอกเหนือไปจากการพุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา – โดนัลด์ ทรัมป์

ซึ่งบางที Revival ก็อาจจะหมายถึงการฟื้นสหรัฐอเมริกาขึ้นมาใหม่ หลังการขึ้นครองตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งจากเนื้อเพลงที่มีก็เดาได้ไม่ยากเลยว่า เอ็มมิเน็มนั้นอยู่ฝั่งไหน

หลังพูดถึงตัวเองและวงการเพลง (แร็ป, ฮิพ-ฮ็อพ) ในทุกวันนี้ ที่ดูจะแตกต่างไปจากในยุคสมัยที่เขากำลังขึ้นมา จาก Walk on the Water, Believe และ Chloraseptic ที่ตัวดนตรีดูจะเปิดทางให้กับการร่าย การบอกเล่าเนื้อหาออกมาอย่างเต็มที่ ดนตรีของเอ็มเริ่มมีสีสันจัดจ้านกว่าเดิม ในเพลงที่พาคนฟังไปสู่สังคมอเมริกันปัจจุบันที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างผิวยังคงอยู่ ใน Untouchable กับดนตรีที่ผสมผสานร็อคกับแร็ป อาจจะฟังอึกทึกโฉ่งฉ่าง แต่ก็ให้สัมผัสถึงสภาพสังคมที่ดูวุ่นวายยุ่งเหยิงไปพร้อมๆ กัน และเมื่อมาถึง River เพลงที่ได้เอ็ด ชีแรน มาร่วมงาน ซึ่งพูดถึงการล้างบาป การสำนึกผิด บนดนตรีที่ผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนลงตัว และมีเสน่ห์เฉพาะของแต่ละคนอยู่ในเพลง

ที่ต่อจากนั้น เพลงในงานชุดนี้ก็ให้ความรู้สึกคลี่คลายมากขึ้นในทางดนตรี รวมไปถึงเข้าสูตรสำเร็จที่กลายเป็นลายเซ็นของเจ้าของงาน ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการเลือกเพลงเก่าๆ มาแซมพลิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เอ็มมิเน็มทำได้ดีมาตลอด ที่ไม่ใช่แค่ทำให้เพลงเข้าถึงได้ง่าย แต่ยังทำให้มีโอกาสเป็นเพลงฮิต หรือถูกหยิบมากล่าวถึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Remind Me ที่เอาเพลง I Love Rock and Roll ของโจน เจ็ทท์มาใช้ ขณะที่เนื้อหาก็ว่าด้วยการที่ผู้หญิงคนหนึ่งทำให้นึกถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นเมื่อในอดีต, In Your Head เพลงที่พูดถึงชีวิตของตัวเอง ที่เอ็มเลือก Zombie ของ The Cranberries มาเป็นทำนองหลัก ที่การร่ายนั้นลงจังหวะเข้ากันได้กับเพลงอย่างลงตัว แถมท่อนร้องที่เป็นเสียงของโดโลเรส โอเรียร์แดน แม้จะถูกนำมาตีความแตกต่างไปจากเดิมที่เป็น แต่ก็เป็นความหมายที่ไปกับเนื้อหาใหม่ เรื่องราวใหม่

ขณะที่การเลือกศิลปินมาร่วมงานของเอ็มมิเน็มก็ยังแม่น นอกจากเอ็ด ชีแรน ที่ทำให้การแต่งงานระหว่างเพลงป็อปแบบเอ็ดและฮิพ-ฮ็อพแบบเอ็มไม่เป็นวิวาห์ล่ม การทำงานกับศิลปินหญิง อย่าง อลิเซีย คีย์ส, สกายลาร์ เกรย์, เคห์ลานี ก็ล้วนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเพลงไฮบริดที่ดี หรือกับ Bad Hushband ที่เอ็มทำงานกับเอ็กซ์-แอมบาสซาเดอร์ ก็ได้ดนตรีที่ฟังใหญ่ในซาวนด์ของฝ่ายหลัง ที่มารองพื้นการร่ายจากเจ้าของอัลบัมเหมาะเหม็ง ซึ่งก็นับรวมไปถึงการเลือกโปรดิวเซอร์มาใช้งานกับแต่ละเพลง เช่น ริค รูบินกับเพลงที่มีความเป็นร็อคในตัว ได้ด้วยเช่นกัน
แต่ใน Heat, Framed และ Offend ก็มีท่วงท่าดนตรีที่แปลก และฟังสะดุดหู ขณะที่เพลงแรกเป็นการใส่ดนตรีร็อคซาวนด์โบราณๆ เข้ามาได้สนุก เพลงต่อมาก็ซาวนด์ที่หวือหวาคล้ายๆ ดนตรีภารตะ กับเพลงสุดท้ายก็ฉายการเป็นเทพแร็ปของเอ็มอย่างเต็มที่ ด้วยสถิติ 6.71 คำต่อวินาที แถมดนตรีก็ฟังโป้งชึ่งดีไม่น้อย

เรียกได้ว่า โดยพื้นดนตรีรวมๆ หรือโครงสร้างของงานนั้น มาตามสูตรสำเร็จของเอ็มมิเน็มอย่างที่เคยเป็น แต่กับการทำงานที่ไม่ใช่แค่ให้ใครสักคน มาร้องท่อนฮุคหรือท่อนคอรัสแบบป็อป ส่งให้เพลงของเอ็มมีสีสันที่แตกต่างหลากหลายไปตามศิลปินที่มาร่วมงาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีทางของเจ้าของงานตัวจริงเป็นกรอบเอาไว้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลายละเอียด สิ่งละอันพันละน้อย ที่เอ็มหยอดเข้ามาในเพลง เช่น เสียงของเด็กทารกใน Bad Hushband เพลงแรกที่เขาออกปากขอโทษคิม อดีตภรรเมียที่เกลียดกันแบบเกือบจะฆ่ากันตายมาแล้ว หลังจากที่มองเธอด้วยสายตาที่ดีขึ้นอย่างที่ได้ยินในเพลง Stronger Than I Was จากอัลบัม The Marshall Mathers 2, การเชื่อมเพลง Walk on Water กับเพลง Believe ที่เนื้อหาสอดรับสานต่อกัน, การส่งเพลง Remind Me (Intro) ด้วยท่อนอินโทรของ My Name Is ที่ย้ำถึงความเป็น ‘Me’ กลายๆ

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เป็นการทำมาเพื่อสนับสนุนเนื้อหา เรื่องราว อย่างที่บอกไว้ข้างต้น เข้มขึ้น จริงจังขึ้น ไม่ใช่เด็กกวนๆ แสบๆ แต่เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านผิดผ่านถูกมามาก และยอมรับได้กับทุกด้านของเหรียญที่เผยออกมา

แม้จะเปิดหน้ามาด้วยเพลงที่เหมือนจะฟังยาก ไม่ป็อปจ๋าอย่างที่เคย แต่หลังผ่าน 1/4 ของอัลบัมไปแล้ว สิ่งที่ได้ยินใน Revival คือสิ่งที่บอกว่า เพราะอะไร ทำไม แร็ปเปอร์ผิวขาวรายนี้ถึงยังเป็น ถ้าไม่ใช่เบอร์ 1 ของวงการในแนวทางนี้ ก็ไม่หนีอันดับ 2

ที่จะว่าไป เอ็มไม่เห็นจะต้อง Revival อะไร เพราะเขาไม่เคยตาย หรือหายไปไหนอยู่แล้ว
ไม่เชื่อลองไล่ชื่อแร็ปเปอร์ หรือฮิพ-ฮ็อพสตาร์ที่โผล่มารุ่นเดียวกันกับเขา ที่ยังทำงานและประสบความสำเร็จดูซิว่าเหลือสักกี่คน

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากคอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสาร สีสัน

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.