FEATURESMovie Features

มาเปิดปูมย้อนหลัง หนังที่สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้แค่ ‘เกือบ’ สร้าง (2)

แม้จะมีหนังออกฉายอย่างต่อเนื่อง แต่เอาจริงๆ บางครั้งกว่าสตีเวน สปีลเบิร์กจะปั่นงานออกมาสักเรื่องหนึ่ง ก็กินเวลานานไม่ใช่เล่น ตัวอย่างที่เห็นๆ กันก็คือ เขาต้องใช้เวลาถึง 11 ปี กว่าจะทำให้นิยายของ ดอริส เคียร์น กูดวิน เรื่อง Team Of Rivals กลายเป็นหนังเรื่อง Lincoln แต่บางทีก็กลายเป็นงานที่ขึ้นจอได้อย่างรวดเร็วเช่น Bridge Of Spies ที่เพิ่งเข้าฉาย และบางเรื่องก็ไม่เคยกลายเป็นภาพยนตร์เลย ทั้งๆ ที่ตัวงานอยู่ในมือของผู้กำกับระดับเกรด เอ ของฮอลลีวูด ที่ทำงานออกมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษเข้าไปแล้ว

ด้วยความที่เป็นผู้กำกับหัวแถวของวงการ ไม่น่าแปลกใจที่สปีลเบิร์กจะได้งานระดับท็อปๆ มาอยู่ในมือเสมอๆ แต่ก็นั่นแหละ บางเรื่องถูกสร้าง บางเรื่องก็ไม่ถูกสร้างด้วยเหตุผลบางอย่าง และบางเรื่องก็กลายเป็นงานของผู้กำกับรายอื่น เช่น Harry Potter, Cruising, The Curious Case Of Benjamin Button, Oldboy และ Interstellar

และนี่คือหนังเรื่องเด่นๆ ที่สตีเวน สปีลเบิร์กเลือกที่จะปล่อยวาง ซึ่งคัดสรรมาโดย โอลิเวอร์ ลีทเทิลตัน แห่ง indiewire.com เลือกมา โดยก่อนหน้านี้ ก็มี Reel To Reel, Night Skies/ ET 2: Nocturnal Fears, Flushed With Pride: The Story Of Thomas Crapper และ Blackhawk

After School/ Growing Up/I’ll Be Home
ไม่ต่างไปจากนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ กระทั่งงานหนังใหญ่ทุนหนาของสปีลเบิร์กเอง ลึกๆ แล้วก็ยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่ แต่เขาเลือกจะเลี่ยงการปลดเปลื้องออกมา หรือกระทั่งหาอะไรปกปิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่ได้ใส่ใจกับมุมมองตรงนี้ ในกองถ่าย Close Encounters of the third Kind ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟท์ (ในภาพ) กระตุ้นให้สปีลเบิร์กทำหนังที่มีความเป็นอเมริกัน และเป็นงานที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในตัว “คุณต้องทำหนังเกี่ยวกับเด็กๆ คุณต้องหยุดทำงานที่ใช้ทุนเยอะๆ แล้วไปทำหนังเกี่ยวกับเด็กๆ ถ้านั่นคือสิ่งสุดท้ายที่คุณจะต้องทำ”

ผลลัพธ์ก็คือ สปีลเบิร์กไปคุยกับบ็อบ เกล และโรเบิร์ท เซเม็คคิส ผู้เขียนบท 1941 ว่าเขากำลังเตรียมจะเขียนบทหนังที่สรุปได้กว้างๆ ว่าเกี่ยวกับเด็กๆ และจะถ่ายทำกันอย่างรวดเร็ว ใช้งบน้อยๆ ก่อนหน้าที่หนังสงครามเบาสมองอย่าง 1941 ของพวกเขาจะออกฉาย แถมยังมีการประกาศเรียบร้อยในปี 1978 ในฐานะ “เรื่องราวส่วนตัวของเด็กที่มีความเป็นผู้ใหญ่ในตัว” หนังจะมีคำหยาบ และเป็นงานเบาสมองเรท อาร์ เกี่ยวกับเด็กอายุ 12 และใช้ชื่อว่า After School ซึ่งสปีลเบิร์กเป็นคนอนุมัติเอง “ผมไม่อยากทำหนังเกี่ยวกับเด็กๆ ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม หรือดูน่ารัก” เขาพูดเอาไว้ในตอนนั้น “มันจะเป็นหนังที่เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องแรกของผม ผมกำลังจะกลับไปเป็นคนอายุ 20 อย่างที่ผมอยากจะกลับไปเสมอๆ”

ต่อมาหนังเปลี่ยนชื่อเป็น Growing Up ด้วยเหตุผลบางอย่าง และวางกำหนดถ่ายทำไว้ในเดือนพฤษภาคม 1978 ด้วยงบแค่ 1.5 ล้านเหรียญ แต่เมื่อคาเล็บ เดสชาเนล ที่ถูกเลือกมาถ่ายหนัง โวยออกมาว่า บท “น่ารังเกียจมาก” สปีลเบิร์กถึงกับช็อคและถอยกลับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทิ้งความคิดทำงานที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นไปไหน อย่างในปี 1999 เขาก็พูดถึงโปรเจ็คท์หนังเรื่อง I’ll Be Home ที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในวัยเด็กของเขา เขียนบทโดย ซิสเตอร์ แอนน์ ที่เขียนบทหนังเรื่อง Big แต่ถึงกระนั้นเขาก็มีความลังเลใจในการทำงาน เมื่อบอกกับทางนิว ยอร์ค ไทม์สว่า “ผมกลัวว่า แม่กับพ่อจะไม่ชอบมัน และจะคิดว่าเป็นการประชดประชันท่าน แล้วไม่สามารถสัมผัสมุมมองด้วยความรัก ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเติบโตมากับพวกท่านว่ามันเป็นยังไง”

spielberg_indy sadaos_storyThe Lost Indiana Jones Movies
หนังภาคต่อที่ยาวนานที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดของสปีลเบิร์ก กับหนังที่เขากำกับทั้งหมด 4 เรื่อง ที่ไม่นานมานี้ เขาเพิ่งออกปากมาว่า เป็นไปได้ว่าจะมีเรื่องที่ห้าออกมา บทของอินเดียนา โจนส์ มีมากกว่าหนึ่งเรื่องที่ถูกเมินเฉย หรือมีความเป็นไปได้ ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเวลาเกือบๆ 2 ทศวรรษระหว่างหนังเรื่องที่สามและสี่ บางเรื่องเป็นเหตุการณ์ก่อน บางเรื่องก็เป็นเหตุการณ์ก่อน The Last Crusade บ้างก็เป็นเหตุการณ์หลังจาก Temple Of Doom จอร์จ ลูคัส เคยเขียนโครงเรื่องสำหรับทำบทเอาไว้ โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในแอฟริกา เกี่ยวพันกับการค้นหาน้ำพุแห่งวัยเยาว์ (the Fountain Of Youth) ร่วมกับพวกนักศึกษา, นักโบราณคดีสาว และชนเผ่าปิ๊กมีอายุ 200 ปี คริส โคลัมบัส ถูกดึงตัวมาเขียนบทในปี 1985 โดยบทหนังร่างที่สองใช้ชื่อว่า Indiana Jones And The Lost City Of Sun Wu King จากนั้นไดแอน โธมัส ผู้เขียนบท Romancing The Stone ก็มาเขียนบทหนังเรื่องที่สาม ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่น่าจะเกิดขึ้นในบ้านผีสิง แต่การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ของโธมัส ก่อนหน้าที่งานจะเสร็จ ทำให้ทุกอย่างต้องจบลง

บทหนังเรื่องที่สี่ เริ่มในยุค 90 โดยเจบ สจวร์ท ผู้เขียนบทจาก The Fugitive เป็นคนแรกที่ก้าวเข้ามา ซึ่งมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างหลงเหลือไปถึงหนังฉบับที่สร้างเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเอเลียน หรือว่ามีพวกโซเวียตเป็นตัวร้าย หนังใช้ชื่อว่า Indiana Jones And The Saucermen From Mars บทของหนังเรื่องนี้ ที่เจฟฟรีย์ โบมจาก Last Crusade เอาไปปั่นต่อ มีเรื่องราวที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตามกับประเด็นที่ให้อินดีเตรียมจะเข้าพิธีวิวาห์กับหญิงสาวที่หายตัวไปในวันแต่งงาน นำไปสู่พล็อตที่เกี่ยวข้องกับจานบิน และการปรากฎตัวของบรรดาตัวละครจากหนังภาคก่อนๆ ผู้เขียนบทคนอื่นๆ ที่เข้ามาจับงานชิ้นนี้ก็ยังมี เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน และสตีเฟน แกแกห์น ที่หยิบบทมาปรับแต่งดูในหลากหลายมุมมอง ก่อที่แฟรงค์ ดาราบอนท์ จะมาเขียนบทที่ได้รับการยอมรับว่าใช้ได้ของ Indiana Jones And the City Of The Gods โดยมีตัวร้ายเป็นพวกอดีตนาซีที่ซ่อนตัวในอเมริกาใต้ แต่ลูคัสกลับไม่ชอบ ท้ายที่สุดบทก็ต้องมาร่างกันใหม่ ซึ่งมีหลายๆ อย่างที่ได้เห็นกันใน Kingdom Of The Crystal Skull ไม่ว่าจะเป็นกระโหลกคริสตัล และฉากในหนังอีกหลายฉาก แต่ไม่มีตัวละครของไชอา ลาบัฟ ที่น่าแปลกก็คือ ดาราบอนท์ ไม่เคยได้เครดิตอะไรเลย

lindbergh_spielberg-sadaos_storyLindbergh
หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของอเมริกา ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์กห์ เคยเป็นที่มาของหนังเรื่อง The Spirit Of St. Louis ของผู้กำกับบิลลี ไวลเดอร์ เมื่อปี 1957 แต่ขณะที่หนังเน้นไปที่การบินระดับทำลายสถิติโลกของลินด์เบิร์กห์ จากลอง ไอส์แลนด์ ไปปารีส ด้านที่หม่นมืดของวีรบุรุษประจำชาติรายนี้กลับถูกละเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูกชายของเขาที่ถูกลักพาตัวและถูกฆาตกรรม ทั้งๆ ที่ยังเป็นทารกแบเบาะ ไปจนถึงการแสดงความเห็นอกเห็นใจพวกฟาสซิสท์, การเหยียดผิว, การต่อต้านยิว ของตัวเขา ถึงจะมีอะไรที่น่าสนใจอย่างนั้น แต่ก็แปลกดีที่ไม่มีใครหยิบเอาชีวิตของเขามาทำเป็นหนังที่ถึงทุกแง่ทุกมุมมากขึ้น

จนกระทั่งสปีลเบิร์กแสดงความพยายามขึ้นมาในปี 1998 เขาได้สิทธิ์นำ Lindbergh หนังสืออัตชีวประวัติของลินด์เบิร์กห์ ที่ไปคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ของ เอ สก็อทท์ เบิร์ก มาทำเป็นหนัง ผ่านทางดรีมเวิร์คส์ โปรเจ็คท์หนังเรื่องนี้กลายเป็นโปรเจ็คท์สำคัญในตอนนั้น แต่ในปีต่อมา เขาก็บอกกับนิว ยอร์ค ไทมส์ว่า กำลังทำ Schindler’s List และการทำงานร่วมกับองค์กรชาวยิว ทำให้เขาต้องคิดถึงการสร้างหนังเกี่ยวกับคนที่แอนตี้ชาวยิวใหม่ “พวกเขาทำให้ผมมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมมากขึ้น และเพื่อที่จะแน่ใจได้ว่า ผมจะไม่เอาวาระของคนอื่นมานำหน้า วาระที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือการพยายามอดทน อดกลั้น” เขากล่าว “หนึ่งในเหตุผลที่ผมเอามาพิจารณาว่า ไม่ควรจะกำกับหนังเรื่องนี้ก็คือ ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขามากนักจนกระทั่งได้อ่านหนังสือของสก็อทท์ เบิร์ก และผมก็ได้อ่านหลังจากที่ซื้อมันมาแล้ว แล้วคิดไปว่านี่คือหนึ่งในหนังสืออัตชีวประวัติที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา แต่ความเป็นอเมริกัน และความเป็นคนต่อต้านยิวของเขา รบกวนจิตใจผมอย่างที่สุด และผมไม่ต้องการแสดงการชื่นชมพวกต่อต้านยิว ถ้าหากผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาถึงรู้สึกแบบนั้น บางครั้งวิธีการที่ดีที่สุด ที่จะป้องกันการแบ่งแยก ก็คือทำความเข้าใจกับคนที่มีความคิดแบบนั้น”

โปรเจ็คท์นี้ล้มไม่เป็นท่า ถึงแม้ว่า ดัสติน แลนซ์ แบล็ค จะพยายามดัดแปลงเป็นหนังโทรทัศน์ให้ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ มารับบทนำก็ตามที
(ยังมีต่อ)

จากเรื่อง หนังที่สปีลเบิร์กเกือบจะได้สร้าง และไม่ได้สร้าง โดย ลุงทอย นิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับที่ 1195 ปักษืแรก พฤศจิกายน 2559

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.