FEATURESMovie Features

หนังที่ต้องเปลี่ยนชื่อ ไม่ใช่เพราะถือเรื่องมงคล แต่เป็นกลการตลาดและเพื่อความเข้าใจ

ถ้าเกิดทัน ในตอนที่หนัง The Karate Kid ต้นฉบับ เข้าฉายในบ้านเราตอนต้นยุค 80 น่าจะจำได้ว่า โปสเตอร์ของหนังเรื่องเดียวกันนี้ มีถึงสองชื่อ ชื่อแรกก็คือ The Karate Kid อย่างที่รู้กันดีอยู่ กับอีกชื่อหนึ่งคือ The Moment of Truth ซึ่งที่มานั้นก็คือ ชื่อเพลงประกอบของหนัง ที่ร้องโดยวง The Survivors ที่กำลังดังขึ้นหม้อมาจากเพลง Eyes of the Tiger จากหนังเรื่อง Rocky III ที่กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกัน จอห์น จี อวิลด์เซน โดยหวังจะทำให้หนังเข้าถึงผู้ชมในบางตลาดมากขึ้น รวมไปถึงขายเพลงจากหนังไปพร้อมๆ กัน

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่มีการเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เพื่อหวังผลทางการตลาด หรือทำให้เข้าใจได้ดีกว่าเดิม และนี่คือหนัง 15 เรื่องที่จำต้องเปลี่ยนชื่อ เพื่อสื่อสารกับคนดูง่ายขึ้น หรือมองเห็นภาพตลอดจนแนวทางของหนังชัดเจนกว่าที่เป็น โดยเน้นที่ตลาดในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก

 13 Going on 30 (2004) กลายเป็น Suddenly 30 ในออสเตรเลีย

หนังโรแมนติก เบาสมองจากปี 2004 ออกฉายในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศในชื่อ 13 Going on 30 แต่พอต้องไปขึ้นจอในประเทศออสเตรเลีย หนังก็เปลี่ยนชื่อเป็น Suddenly 30 ซะอย่างนั้น

ซึ่งเหตุผลที่เปลี่ยนชื่อก็คือ ชื่อหนังดั้งเดิมนั้นเป็นคำที่คุ้นหู มีความหมายที่รู้กันโดยทั่วไป และเข้าใจตรงกันสำหรับวัฒนธรรมอเมริกันมากกว่าออสเตรเลียน และจากข้อมูลในเว็บไซต์ imdb.com การที่ต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น Suddenly 30 ก็เพราะผู้จัดจำหน่ายรู้สึกว่า คนดูจะตีความหมายของชื่อหนังต้นฉบับออกมาผิดๆ ได้

แล้วคุณล่ะว่าชื่อไหนดี 13 Going on 30 หรือ Suddenly 30?

Airplane! (1980) ต้องเปลี่ยนเป็น Flying High? ในออสเตรเลียและนิว ซีแลนด์

ผู้จัดจำหน่ายทั้งในออสเตรเลีย และนิว ซีแลนด์ ต่างพร้อมใจกันเปลี่ยนหนังตลกคลาสสิคเรื่องนี้จาก Airplane! ไปเป็น Flying High เพราะพวกเขาคิดว่า มันไปคล้ายๆ กับชื่อหนังอเมริกันอีกเรื่องหนึ่งที่ออกฉายในเวลาเดียวกัน

หนังเรื่องนั้นก็คือ The Concorde… Airport ’79 ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ Airplane เลย แต่เพราะหนังจากสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้น จะเปิดตัวในต่างประเทศช้ากว่าในประเทศ ทำให้กว่า The Concorde… Airport ’79 จะฉายที่สองประเทศนี้ ก็เป็นปี 1980 แถมยังเปลี่ยนชื่อเป็น Airport ’80 อีกต่างหาก การมีหนัง Airplane และ Airport ’80 ออกฉายในเวลาเดียวกัน มันทำให้คนดูเกิดความสับสนได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นผู้จัดจำหน่ายของ Airplane! เลยเปลี่ยนชื่อหนังซะเลย

เปลี่ยนจาก Airplane! เป็น Flying High แบบนี้ ถือว่าเข้าทีมากกว่าเข้าพงนะ

Fever Pitch (2005) เข้าฉายในอังกฤษด้วยชื่อ The Perfect Catch

จริงๆ แล้ว Fever Pitch เป็นหนังอเมริกันที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของนิค ฮอร์นบี ที่เคยทำเป็นหนังชื่อนี้โดยทีมงานอังกฤษมาแล้วเมื่อปี 1997 ซึ่งได้โคลิน เฟิร์ธ เป็นดารานำ แต่นิยายและหนังอังกฤษเรื่องนี้ ว่าด้วยกีฬาฟุตบบอล ที่ในตอนนั้นคนอเมริกันยังไม่ประสีประสานัก ทำให้หนังฉบับอเมริกันต้องเปลี่ยนประเภทของกีฬามาเป็นเบสบอล

และพอหนังเข้าฉายในอังกฤษ ผู้จัดจำหน่ายของที่นี่ เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็น The Perfect Catch เพื่อให้แตกต่างไปจากหนังต้นฉบับเมื่อปี 1997 ซึ่งในออสเตรเลียและนิว ซีแลนด์ก็ใช้ชื่อนี้เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนจาก Fever Pitch เป็น The Perfect Catch ถือว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้น

Harold & Kumar Go To White Castle (2004) เป็น Harold + Kumar Get the Munchies ในตลาดนอกสหรัฐอเมริกา

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนชื่อหนังในครั้งนี้ เป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะ ไวท์ คาสเซิล (White Castle) เป็นชื่อร้านอาหารแฟรนไชส์ในสหรัฐอเมริกา และผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศมองว่า คนดูหนังนอกอเมริกาไม่น่าจะเข้าใจว่าไวท์คาสเซิลในชื่อหนังนั้นคืออะไร พวกเขาเลยเป็นจาก “ไปไวท์คาสเซิล” (Go to White Castle) เป็น “ไปหาของกินเล่น” (Get the Munchies) แทน 
 แม้การเปลี่ยนจาก Harold & Kumar Go To White Castle เป็น Harold + Kumar get the Munchies นั้น จะทำให้สื่อสารได้ง่ายขึ้น แต่เรื่องทำเงินนั้น คงต้องว่ากันที่ตัวหนัง

Harry and the Hendersons (1987) กลายเป็น Bigfoot and the Hendersons ในอังกฤษ


การเปลี่ยนจากคำว่า แฮร์รี (Harry) มาเป็น บิ๊กฟู้ต (Bigfoot) โดยผู้จัดจำหน่ายหนังในอังกฤษ เป็นเรื่องเทคนิคทางการตลาดล้วนๆ เพราะผู้ชมจะได้รู้ในทันทีเลยว่า หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของบิ๊กฟู้ต

แต่พอหนังเรื่องนี้ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ และวางจำหน่ายเป็นดีวีดีในเวลาต่อมา แม้จะเป็นการออกอากาศและวางขายในประเทศอังกฤษ หนังก็กลับไปใช้ชื่อดั้งเดิมเหมือนในสหรัฐอเมริกา เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่รู้จักชื่อ แฮร์รี ดีแล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า บิ๊กฟู้ต อีกต่อไป

จากที่ทำให้ชัดเจน ท้ายที่ความชัดเจนจากชื่อก็กลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น สำหรับ Harry and the Hendersons และ Bigfoot and the Hendersons

Harry Potter and the Sorcerer’s Stone (2001) เปลี่ยนไปในอังกฤษ เพราะต้องใช้ Harry Potter and the Philosopher’s Stone

ความแตกต่างของชื่อหนังเรื่องนี้ เป็นไปตามชื่อนิยายเล่มแรกในชุดพ่อมดน้อย แฮร์รี พ็อตเตอร์ ของเจเค โรว์ลิง ที่ต้องใช้คำว่า “พ่อมด” (Sorcerer) แทน “ผู้รอบรู้” (Philosopher) เพราะว่าต้องการให้คนอเมริกันรู้สึกถึงเรื่องเวทย์มนต์ต่างๆ มากขึ้น โดยนึกถึงเรื่องเกี่ยวกับความรู้ การเรียนน้อยลง
และทำให้จากที่มีชื่อในแบบออกไปทางวิชาการ Harry Potter and the Philosopher’s Stone กลายเป็นชื่อที่มีความแฟนตาซีในทันทีที่ได้ยิน Harry Potter and the Sorcerer’s Stone

Hoosiers (1986) ต้องใช้ Best Shot แทนในอังกฤษและออสเตรเลีย

ถึงแม้ว่าไม่ใช่คนอเมริกันทุกคน จะรู้ว่า “Hoosier” คืออะไร? แต่อย่างน้อยพวกเขาก็พอจะรู้เลาๆ หรือเดาได้แบบคุ้นๆ ว่า มันน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับรัฐในสหรัฐอเมริกาอย่างอินเดียนา และบาสเก็ทบอลล์ 
 แต่กับคนอังกฤษและออสเตรเลีย รวมไปถึงคนที่อยู่นอกอเมริกาแล้ว พวกเขาคงยากจะเข้าใจความหมาย หรือการพาดพิงถึงของคำนี้ หากไม่ได้ติดตามการแข่งขันบาสเก็ทบอลล์ระดับมหาวิทยาลัยของอเมริกา ผู้จัดจำหน่ายในอังกฤษและนิว ซีแลนด์ เลยเปลี่ยนชื่อเป็น Best Shot

ซึ่งบอกเลยว่า Best Shot นั้นเข้าถึงและเข้าใจง่ายกว่า Hoosiers ที่บ้านเราก็ใช้ชื่อที่เปลี่ยนใหม่ในตอนมาเข้าฉายเช่นกัน

Live Free or Die Hard (2007) พอฉายนอกอเมริกาก็มาเป็น Die Hard 4.0

อีกครั้ง ที่ชื่อหนังจำต้องเปลี่ยนทั้งๆ ที่เป็นการฉายในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเหมือนๆ กัน เนื่องจากชื่อฉบับฉายในสหรัฐอเมริกาดูท่าคนนอกประเทศนี้จะไม่เข้าใจ เพราะที่มาของมันนั้นมาจากคำขวัญของรัฐนิว แฮมป์เชียร์ที่ว่า “Live free or die”

และเพราะเป็นหนังเรื่องที่ 4 ในชุดหนัง Die Hard ผู้จัดจำหน่ายในหลายๆ ประเทศเลยเปลี่ยนชื่อหนังเป็น Die Hard 4 หรือ Die Hard 4.0 มันซะเลย เพื่อให้คอหนังในประเทศของตัวรู้เลยว่ากำลังจะตีตั๋วดูหนังเรื่องอะไร

โดย Live Free or Die Hard หรือ Die Hard 4.0 หนังชุดนี้ ก็มีหนังเรื่องที่ 5 A Good Day to Die Hard ออกมาตามมาอีกที

Neighbors (2014) งอกคำเพิ่มเป็น Bad Neighbours ตอนฉายในออสเตรเลีย และอังกฤษ

นอกจากจะมีตัวอักษร “u” เพิ่มเข้ามาในคำว่า “Neighbors” ตอนออกฉายในออสเตรเลียและอังกฤษแล้ว เพื่อไม่ให้คนดูสับสนกับซีรีส์ฮิตของออสเตรเลียเรื่อง Neighbours ที่เป็นซีรีส์ที่ออกอากาศนานที่สุดของออสเตรเลีย เลยต้องมี Bad ย้ำถึงความเลวของตัวละคร และความต่างของหนังจากซีรีส์เรื่องที่ว่าอีกที

สำหรับซีรีส์ The Neighbours คือซีรีส์ที่คนดังๆ อย่าง รัสเซลล์ โครว์, มาร์โกท์ ร็อบบี, เลียม เฮมสเวิร์ธ และนาทาลี อิมบรูเกลีย เคยใช้เป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพการแสดง ด้วยการรับบทในซีรีส์ที่เรื่องราวเกิดขึ้นบนถนนแรมซีย์ สตรีมแห่งนี้

Neighbors อาจจะดูธรรมดาหรือว่าเรียบร้อยไป แต่พอมาใช้ Bad Neighbours เราก็ว่ามันได้ผลในเรื่องความแรงด้วยนะ

Pirates of the Caribbean: Dead Men Tell No Tales” (2017) ออกฉายในตลาดต่างประเทศด้วยชื่อ Pirates of the Caribbean: Salazar’s Revenge

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เมื่อออกฉายนอกสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าจะไม่ชัดเจนสักเท่าไหร่ แต่ก็มีบางคนบอกว่า น่าจะเป็นเพราะชื่อ Dead Men Tell No Tales อาจจะทำให้เกิดข้อถกเถียง สำหรับการที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสถานที่ต่างๆ ในเกาะอังกฤษ
 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็อาจจะทำให้ฟังดูดีขึ้น สำหรับการฉายบนเกาะอังกฤษ

เอาเข้าจริงๆ แล้ว หากเทียบกัน Pirates of the Caribbean: Dead Men Tell No Tales มันเข้าใจยาก และพูดลำบากกว่า Pirates of the Caribbean: Salazar’s Revenge อยู่เหมือนกันนะ

The Avengers” (2012) เปิดตัวฉายในอังกฤษด้วยชื่อ Avengers Assemble

นอกจากเป็นชื่อหนังของมาร์เวล สตูดิโอส์ The Avengers ยังเป็นชื่อของซีรีส์โทรทัศน์สุดฮิตของอังกฤษที่ออกอากาศในปี 1961-1969 และเคยทำเป็นหนังใหญ่มาแล้ว ซึ่งทำให้ผู้จัดจำหน่ายในอังกฤษตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น Avenger’s Assemble เพื่อให้ต่างไปจากชื่อซีรีส์ทีวีและหนังใหญ่เรื่องที่ว่า

แต่ไม่ว่าจะเป็น The Avengers หรือ Avengers Assemble ในยุคนี้ ก็ไม่มีใครนึกถึงซีรีส์โทรทัศน์เรื่องนั้นอีกต่อไปแล้ว

The Mighty Ducks” (1992) กลายเป็นที่รู้จักในนาม Champions ที่ออสเตรเลีย

ผู้จัดจำหน่ายในออสเตรเลีย เปลี่ยนชื่อหนังจาก The Mighty Ducks เป็น Champions ถึงแม้ว่าชื่อในฉบับออสเตรเลียนจะเหมือนสปอยล์หนังกลายๆ ก็ตามที แต่การเปลี่ยนแปลงหนนี้ก็เป็นการตัดสินใจทางการตลาด ผู้จัดจำหน่ายกลัวว่า กลุ่มเป้าหมายที่หวังเอาไว้ว่าจะมาซื้อตั๋วดูหนังเรื่องนี้ จะคิดว่าเป็นเรื่องของเป็ดจอมพลัง มากกว่าหนังกีฬาฮ็อคกีย์ จนไม่คิดซื้อตั๋วชม

ด้วยเหตุผลที่ว่ามา การทิ้ง The Mighty Ducks ไปหา Champions ก็ถือว่าเข้าที

The Peanuts Movie (2015) ถูกเรียกซะยาว เป็น Snoopy and Charlie Brown: The Peanuts Movie ในอังกฤษ

ผู้จัดจำหน่ายในอังกฤษ ตัดสินใจเพิ่มคำว่า Snoopy and Charlie Brown เพิ่มจากชื่อในฉบับอเมริกัน ที่ว่ากันสั้นๆ แค่ The Peanuts Movie ซึ่งเป็นเทคนิคทางการตลาด ที่ให้ผู้ชมได้รับรู้ชื่อของตัวละครในเรื่องมากขึ้น

ถึงจะชัดเจนกว่าเดิม แต่ The Peanuts Movie มันก็ฟังสั้น และพูดง่ายกว่า Snoopy and Charlie Brown: The Peanuts Movie หรือเปล่านะ?

– The Sandlot (1993) ต้องเป็น The Sandlot Kids ในออสเตรเลียและอังกฤษ

ไม่มีเหตุผลอธิบายถึงการเปลี่ยนชื่อหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่คาดๆ กันว่า ผู้จัดจำหน่ายในออสเตรเลียและอังกฤษ ตัดสินใจเติมคำว่า “Kids” ในตอนท้ายของชื่อเพลง เพื่อมั่นใจได้ว่าผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มผู้ชมเด็กๆ จะเข้าใจได้ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร

ถึงว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต่าง จะ The Sandlot แบบต้นฉบับ หรือ The Sandlot Kids ก็ไม่มีอะไรที่แย่กว่ากัน

Zootopia (2016) เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Zootropolis ที่อังกฤษ

ตอนถูกถามเรื่องสาเหตุในการเปลี่ยนชื่อสำหรับหนังเรื่องนี้ เมื่อออกฉายนอกสหรัฐอเมริกา โฆษกของดิสนีย์บอกว่า “ในอังกฤษ เราตัดสินใจที่จะเปลี่ยนชื่อในฉบับอเมริกัน มาเป็น Zootropolis เพื่อทำให้หนังมีความเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่คอหนังบนเกาะอังกฤษชอบ

และอีกผลหนึ่งที่ว่าต่อๆ กันมาก็คือ ดูเหมือนว่าทางบริษัทคิดว่า เปลี่ยนชื่อได้ก็น่าจะลองทำ

เอาจริงๆ Zootopia เรียกง่ายกว่า Zootropolis นะว่างั้นไหม?

โดย ฉัตรเกล้า จากเรื่อง หนังที่ต้องเปลี่ยนชื่อ ไม่ใช่เพราะถือเรื่องมงคล แต่เป็นกลการตลาดและเพื่อความเข้าใจ นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1258 ปักษ์หลัง มิถุนายน 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.