FEATURESMusic Features

เบื้องหลังของ “The Long Run” เพลงชื่อเดียวกันกับอัลบัมชุดสุดท้าย (ในช่วงเวลาหนึ่ง) ของ The Eagles

“The Long Run” เป็นเพลงที่เขียนโดย ดอน เฮนลีย์ และเกล็นน์ ฟราย ซึ่งซาวนด์ของเพลงถูกมองว่าเป็นการสดุดีให้กับงานในแบบของค่ายเพลงสแต็กซ์ และดนตรีริธึมแอนด์บลูส์เมมฟิส เพลงที่ถูกใช้เป็นชื่ออัลบัมเพลงนี้ ถูกตัดเป็นซิงเกิลในเดือนพฤศจิกายน 1979 และขึ้นถึงอันดับ 8 ในชาร์ตบิลล์บอร์ด ฮ็อต 100 ตอนต้นยุค 1980 และเป็นเพลงที่สองจากสามซิงเกิลของอัลบัม ‘The Long Run’ ที่อีกสองเพลงคือ “Heartache Tonight” ซึ่งขึ้นถึงอันดับ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 1979 และ “I Can’t Tell You Why” ที่ขึ้นถึงอันดับ 8 ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1980

“The Long Run” เปิดด้วยไลน์เบสฟังแน่น ๆ และลิกกีตาร์ที่น่าจดจำ และเหมาะอย่างมากกับการเป็นซิงเกิล ตัวเพลงบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เคยดีงามกลับกลายเป็นความเน่าเสีย และเมื่อเพลงเดินหน้าไปเรื่อย ๆ เนื้อหาก็กลายเป็นการเผยให้เห็นความขัดแย้งที่อยู่ภายในของวง ที่เกิดขึ้นตอนช่วงจบยุค 1970s ซึ่งบางความขัดแย้งก็คือ การต้องรับมือกับชื่อเสียง และความปรารถนาของแต่ละคน รวมไปถึงจุดเริ่มต้นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมดนตรี

เนื้อเพลงในช่วงเปิดก็คือบรรดาอุปสรรคที่วงต้องเผชิญ โดยประโยคสุดท้ายจะว่าไปแล้วก็คือ ข้อความที่ส่งตรงไปยังวง ว่าให้ถึงเวลาที่ต้องยุติกันได้แล้ว

“It was high time I quit / I just couldn’t carry on that way.”

ความโด่งดังของวง ทะยานพุ่งสูงเสียดฟ้าหลังจาก “Hotel California” กลายเป็นเพลงฮิตในปี 1976 และช่วงเวลาของการใช้ชีวิตแบบร็อกแอนด์โรลล์ ยุค ‘70s ก็มาถึง “ใช้ชีวิตให้เร็ว และตายตั้งแต่อายุยังน้อย” เกล็น ฟรายบอกกับดิ อินดิเพนเดนต์ ในปี 1992

“เราใช้ชีวิตโดยมีไลฟ์สไตล์แบบ นั่งรถลิโม, เครื่องเจ็ตส่วนตัว, โรงแรมชั้นหนึ่ง และผู้คนก็ทำในสิ่งที่คุณบอกพวกเขาให้ทำ” ฟรายเล่า “บวกกับทั้งเฮนลีย์และผมต่างก็เป็นพวกติดยา ซึ่งไม่ได้ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้น การไปสตูดิโอเหมือนกับการไปโรงเรียน ผมเลยไม่อยากไปซะเฉย ๆ”

ด้วยความกดดันจากความสำเร็จของอัลบัมชุดก่อนหน้า ทำให้ ‘The Long Run’ เป็นอัลบัมที่ต้องใช้เวลาในการทำงานถึง 3 ปี ท้ายที่สุด ดิ อีเกิลส์ ตั้งใจทำงานชุดนี้เป็นอัลบัมคู่ แต่แล้วก็กลายมาเป็นงานแผ่นเดี่ยว

“มันเป็นการทำอัลบัมที่เจ็บปวดเหลือเกิน” เฮนลีย์ บอกกับเว็บไซต์ คลาสสิก ร็อก ในปี 2020 “เรามีเรื่องกันตลอดเวลาในเรื่องการทำเพลง ทะเลาะกันใหญ่โตเรื่องคำแค่คำเดียวไปเป็นวัน ๆ กว่าจะจบ การทำงานใช้เวลาถึง 3 ปี และหมดงบไป 800,000 เหรียญสหรัฐฯ แล้วเราก็หมดทุกอย่าง”

“The Long Run” เป็นซิงเกิลที่สองจากทั้งหมด 3 ซิงเกิลของอัลบัมชื่อเดียวกัน ซึ่งเริ่มด้วย “Heartache Tonight” ที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ในชาร์ตบิลล์บอร์ด ฮ็อต 100 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1979

หนึ่งปีต่อมา ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นของวงก็จบลงเมื่อพวกเขาแยกทางกันในปี 1980 ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันอีกในปี 1994

วิลเลียม รูห์ลแมนน์ นักวิจารณ์เพลง บอกว่าทั้งอัลบัมและเพลงไทเทิลแทร็ก ต่างเป็น “ความน่าผิดหวังครั้งใหญ่”​ โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า “น่าทึ่งมาก ๆ กับเรื่องที่บอกกันว่า ‘The Long Run’ ถูกวางเอาไว้ให้เป็นอัลบัมคู่ ก่อนหน้าที่จะตัดให้เหลือแค่แผ่นเดียว ถ้าเพลงพวกนี้คืองานที่เก็บไว้ แล้วเพลงที่โดนดีดทิ้งล่ะ มันจะออกมาเป็นยังไง?” เขากล่าว

อุตสาหกรรมดนตรีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารในช่วงจบทศวรรษ แนวทางดนตรีที่หลากหลายดาหน้ากันขี้นมาอยู่แถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น พังก์, ซินธ์พอป และอีกหลาย ๆ แนวเพลงพากันครองอันดับในชาร์ต ทัศนคติแบบร็อกแอนด์โรลล์ และการวางท่าแบบศิลปินยุค ’70s ถูกแทนที่ด้วยขบถแบบ ‘80s, ดนตรีนิวเวฟ ดิ อีเกิลส์ เริ่มกังวลกับการค้นหาตัวเองในลังใส่ของถูกทิ้ง ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจ

ดอน เฮนลีย์ เล่ากับโรลลิง สโตนในปี 2016ว่า “The Long Run” แต่งขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้บทความของสื่อ ที่บอกว่า The Eagles ‘เชย’ ไปแล้ว ขณะที่ดนตรีดิสโกกำลังครองชาร์ต และดนตรีพังก์กำลังมา รวมไปถึงการเขียนถึงความเปลี่ยนแปลงในแวดวงดนตรี ซึ่งกลายเป็นที่มาของเนื้อร้องอย่าง “People talking about us They got nothin’ else to do”

“เราเริ่มมองเห็นบทความเกี่ยวกับพวกเรา ที่บอกว่าเราเชย ล้าสมัยไปแล้วยังไง” เฮนลีย์ กล่าว เขายังพูดอีกด้วยว่า ความย้อนแย้งยังเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้ เพราะขณะที่ความอยู่ยงคงกระพัน และคนรุ่นลูกรุ่นหลาย แต่วงกำลังอยู่ในสถานการณ์ “กำลังแตกเป็นเสี่ยง ๆ ล่มสลายภายใต้ความกดดันจากการพยายามทำงานที่มีค่าพอ ต่อจาก ‘Hotel California’” เช่นที่เนื้อร้องท่อนหนึ่งบอกเอาไว้ “Who is gonna make it/ We’ll find out in the long run”

ขณะที่ทางวงและอัลบัมโดนคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างจัง ๆ ซิงเกิลนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในเพลงท็อปเทนของดิ อีเกิลส์ ทำยอดขายในระดับแผ่นแพลทินัมในปีเดียวกับที่วางจำหน่าย ส่วนตัวอัลบัมก็ทำยอดขายได้ถึง 7 แผ่นแพลทินัมในปีถัดมา และขายได้มากกว่า 8 ล้านก็อปปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

มาถึงวันนี้ ดิ อีเกิลส์ ยังคงเป็นหนึ่งใน 20 ศิลปินขายดีทั่วโลกตลอดกาล ซึ่งเป็นคำตอบ ต่อคำถาม “Who is gonna make it We’ll find out in the long run” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนในที่สุด

SONG ID
เพลง: “The Long Run” ศิลปิน: The Eagles
ซิงเกิลจากอัลบัม: ‘The Long Run’ ของ The Eagles
เพลงหน้าบี: “The Disco Strangler”
ออกจำหน่าย: 27 พฤศจิกายน 1979
แนวเพลง: ร็อก
ความยาว: 3:42 นาที
สังกัด: อะไซลัม
ผู้แต่ง: ดอน เฮนลีย์, เกล็นน์ ฟราย
โปรดิวเซอร์: บิลล์ ซิมซิก

เป็นกำลังใจให้เราได้ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.