FEATURESMovie FeaturesMusic Features

เบื้องหลัง 22 เพลงของเอลตัน จอห์นในหนัง ROCKETMAN

แม้จะเป็นหนังอัตชีวประวัติที่เน้นเรื่องราวชีวิตช่วงแรกๆ ของเอลตัน จอห์นจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง แต่เพลงในหนังคือการคัดสรรจากผลงานทั้งชีวิตของจอห์น ตั้งแต่เพลงมหาฮิตไปจนถึงเพลงที่เขาแต่งก่อนได้สัญญาอัดแผ่นเสียง และเพลงใหม่ที่แต่งให้หนังโดยเฉพาะอีกหนึ่งเพลง

จากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้ Rocketman ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติรูปแบบเดิมๆ ทั่วไป แต่เป็น ‘หนังเพลงแฟนตาซีมหากาพย์’ ที่มีการเล่าเรื่องแบบเหนือจริง แล้วก็ไม่ใช้เพลงฉบับดั้งเดิมของจอห์น แต่เอาเพลงคลาสสิคของเขามาบันทึกเสียงใหม่ เรียบเรียงใหม่ ให้นักแสดงนำของหนัง – ทารอน เอเจอร์ตัน และคนอื่นๆ มาร้อง

“เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เพลงซึ่งผมแต่งและบันทึกเสียงต้องร้องโดยทารอน” จอห์นพูดในงานแถลงข่าว “ผมอยากได้การตีความผมของเขา ผ่านเนื้อเพลงของเบอร์นี และดนตรีของผม ไม่ใช่แค่แสดง” จอห์นเสริมด้วยว่า เขาไม่ยุ่งกับการทำเพลงประกอบเลย ปล่อยให้ไจลส์ มาร์ติน – โปรดิวเซอร์ ทำงานกับเอเจอร์ตัน เพื่อดึงความสามารถของนักแสดงออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ผมไม่อยากเป็นเงาที่ปกคลุมทารอน ไม่ต้องการควบคุมกระบวนการทำงาน”

“ผมไว้ใจ ให้พวกเขาทำอะไรที่อยากทำในทางศิลปะ แล้วพอกลับไปฟัง ผมโคตรทึ่งกับผลลัพธ์ที่ออกมา การใช้เพลงให้ถูกต้อง เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันคือองค์ประกอบที่สำคัญของเรื่อง”

และนี่คือความเป็นมาหรือเบื้องหลังของทั้ง 22 เพลงในหนัง Rocketman ที่ ultimateclassicrock.com รวบรวมเอาไว้

1. “The Bitch Is Back” (1974): เป็นเพลงเปิด Caribou สตูดิโออัลบัมชุดที่ 8 ของจอห์น และอยู่ในการแสดงสดของเขามานาน โดยมีทีมเครื่องเป่า Tower of Power อันแข็งแรงเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ และถึงจะถูกแบนจากสถานีวิทยุในสหรัฐอเมริกาหลายๆ แห่ง เพราะมีการใช้คำว่า ‘Bitch’ ซ้ำไปซ้ำมา แต่ก็ขึ้นไปถึงอันดับ 4 ในอเมริกา ว่ากันว่าเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก แม็กซีน ไฟเบลแมน ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาของทอพิน เพราะเธอชอบพูดว่า “โอ… พระเจ้า ยัยตัวแสบกลับมาแล้ว!” เวลาที่จอห์นปรี๊ดแตก ในหนังเพลงนี้ร้องโดยเอเจอร์ตัน และเซบาสเตียน ริช

2. “I Want Love” (2001): เพลงจากอัลบัม Songs From the West Coast เมื่อปี 2001 และเป็นเพลงของจอห์นและทอพินเพลงล่าสุดจากสตูดิโออัลบัมที่อยู่ในหนัง เพลงนี้ได้เข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขาการแสดงเพลงป็อปชายเดี่ยวยอดเยี่ยม และเป็นที่รู้จักจากมิวสิค วิดีโอ ที่โรเบิร์ท ดาวนีย์ จูเนียร์ เล่นแบบเทคเดียวด้วยการเดินลิปซิงค์เพลงนี้ไปรอบๆ เกรย์สโตน แมนชัน ในเบฟเวอร์ลี ฮิลล์ส ในหนังคนที่ร้องคือ คิท คอนเนอร์ ที่รับบทเป็นจอห์นตอนเด็ก, ไบรซ์ ดัลลัส โฮเวิร์ด ที่เล่นเป็นแม่ของจอห์น, เจมมา โจนส์ และสตีเวน แม็คอินทอช

3. “Saturday Night’s Alright (For Fighting)” (1973): เพลงที่สองของเจ้าหนูคอนเนอร์ในหนัง ซึ่งดูจากเนื้อร้องแล้ว อาจจะรู้สึกแปลกๆ กับการให้ตัวละครเด็กๆ เป็นคนร้อง “Saturday Night’s Alright (For Fighting)” เป็นหนึ่งในหลายๆ เพลงฮิตของจอห์นจากอัลบัม Goodbye Yellow Brick Road โดยเพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 12 ในอเมริกา และอันดับ 7 ในอังกฤษ

4. “Thank You for All Your Loving” (1968): เพลงเก่าที่สุดของจอห์นที่อยู่ในหนัง คนที่ร่วมแต่งก็คือคาเล็บ เควย มือกีตาร์และเพื่อนร่วมวง Bluesology ของจอห์นเมื่อปี 1968 โดยแต่งให้กับวง Dukes Nobleman จอห์นยังเล่นเปียโนและออร์แกนด้วย เพลงนี้เป็นเพลงหน้าบีของซิงเกิล “City of Windows” ของวง ส่วนเวอร์ชันของจอห์นถูกใส่ไว้อย่างเป็นทางการในอีพีที่ออกเฉพาะโปรตุเกส ซึ่งมีซิงเกิลเปิดตัวของเขา “I’ve Been Loving You” รวมอยู่ด้วย

5. “Border Song” (1970): เพลงจากอัลบัมชุดที่สอง ที่จอห์นใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อชุด และกลายเป็นเพลงแรกของจอห์นที่ขึ้นชาร์ทในอเมริกา เมื่อติดชาร์ทฮ็อท 100 ในปี 1970 แต่เวอร์ชันที่อารีธา แฟรงคลินเอาไปร้องใหม่ทำได้ดีกว่า เมื่อขึ้นถึงอันดับ 35 ในปีต่อมา ทอพินแต่งเนื้อร้องสองท่อนแรก และในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1973 จอห์นบอกว่า เขาแต่งท่อนสุดท้ายเพิ่มเข้ามา เพื่อให้เพลงยาวขึ้น “นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมท่อนสุดท้ายมันธรรมดามากๆ” จอห์นกล่าว

6. “Rock & Roll Madonna” (1970): เพลงที่ออกต่อจาก “Border Song” บนเกาะอังกฤษ และประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน เมื่อเข้าชาร์ทในบ้านเกิดไม่สำเร็จ ขณะที่ “Grey Seal” เพลงหน้าบีของซิงเกิลถูกนำมาบันทึกเสียงใหม่เพื่อใส่ในอัลบัม Goodbye Yellow Brick Road “Rock & Roll Madonna” ก็ไม่มีโอกาสอยู่ในงานชุดไหนของจอห์น จนมีการออกอัลบัม Elton John อีกครั้งในปี 1995 เพลงนี้ถึงมีที่อยู่สักที ในฐานะหนึ่งในสามของเพลงโบนัสของงานชุดนี้

7. “Your Song” (1970): เพลงที่ทำให้จอห์นกลายเป็นศิลปินดังไปทั่วโลก และติดท็อปเทนในชาร์ททั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกา ทอพินยอมรับในปี 1989 ว่า การเขียนเนื้อร้องเพลงนี้ เป็น “หนึ่งในเนื้อเพลงซื่อๆ และไร้เดียงสามากที่สุด ของบรรดาบทเพลงทั้งหลายบนโลกใบนี้ ผมคิดว่าเหตุผลที่มันยังคงความโดดเด่นเอาไว้ ก็เพราะมันดู ‘จริง’ ในเวลานั้น” หลังจากได้เนื้อร้องมาจากทอพิน จอห์นนั่งลงที่เปียโนในอพาร์ทเมนท์ของพ่อ-แม่ ทางตอนเหนือของลอนดอน แล้วก็เขียนเมโลดี และคอร์ดเสร็จภายใน 20 นาที

8. “Amoreena” (1971): Tumbleweed Connection อัลบัมชุดที่สามของจอห์น เผยให้เห็นความชื่นชอบในตะวันตกยุคเก่าของทอพิน ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเขามานานหลายปี ซึ่งถูกสนับสนุนให้เด่นชัดยิ่งขึ้นด้วยเสียงสตีล กีตาร์, หีบเพลงปาก และจอห์นก็เติมเสียงร้องแบบเหน่อๆ เข้าไปในเพลงนี้ ที่ว่าด้วยแรงปรารถนาที่มีต่อผู้หญิงคนหนึ่ง “Amoreena” ไม่เคยถูกตัดเป็นซิงเกิล แต่ก็เข้าถึงแฟนเพลงได้มากกว่าแฟนๆ ของจอห์น เมื่อถูกใช้ในเครดิทเปิดเรื่องของหนัง Dog Day Afternoon เมื่อปี 1975

9. “Crocodile Rock” (1972): เพลงส่วนใหญ่ของอัลบัม Don’t Shoot Me, I’m Only the Piano Player คือการย้อนกลับไปหาดนตรีที่จอห์นและทอพินฟังในวัยเยาว์ ซึ่งเป็นการคารวะค่ายเพลง สแต็กซ์ เรคอร์ดส์ และฟิล สเป็คเตอร์ อย่างชัดเจน และ “Crocodile Rock” ก็เป็นไปตามธีมที่ว่า ตั้งแต่เนื้อร้องที่เกี่ยวกับวันที่ ‘ร็อคยังเยาว์’ (rock was young) และกำลังจะกระโดดไปเต้นกับซูซี บวกด้วยคอรัสที่ร้องตามได้สบายๆ เพราะไม่ใช่คำร้อง เพลงขึ้นไปถึงท็อปไฟว์ทั้งที่อังกฤษและอเมริกา

10. “Tiny Dancer” (1971): ถึงยากจะเป็นซิงเกิลขายดีในยุคคลาสสิคของจอห์น แต่เพลงที่ไปไม่ถึงท็อปโฟร์ตีที่เปิดอัลบัม Madman Across the Water เพลงนี้ ก็เป็นหนึ่งในเพลงของจอห์นที่แฟนๆ รักมากที่สุด ซึ่งต้องขอบคุณบรรดาสถานีเพลงร็อคที่เปิดเพลงนี้กันนานเป็นทศวรรษ กับฉากเด่นในหนัง Almost Famous ของคาเมรอน โครว์ เมื่อปี 2000 ทอพินเล่าว่า เนื้อเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจากทั้งแม็กซีน ไฟเบลแมน (ตอนที่ทั้งคู่ยังคบหากัน) และหญิงสาวอีกมากมาย ที่เขากับจอห์นเจอตอนไปแคลิฟอร์เนียครั้งแรก (หลังจากที่ทอพินหย่าจากไฟเบลแมน) เพลงนี้ยังมีอาวุธลับสำคัญเป็นการเรียบเรียงออเคสคราของพอล บัคมาสเตอร์ ซึ่งทำให้เพลงกลายเป็นงานมหากาพย์

11. “Take Me to the Pilot” (1970): เพลงหน้าบีของซิงเกิล “Your Song” คือหนึ่งในเพลงที่ยากจะเข้าใจของจอห์น กระทั่งทอพินยังยอมรับว่า เขาก็ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร “มันไม่มีความเป็นจริงเลย” เขาบอกในการให้สัมภาษณ์กับโรลลิง สโตน “นักบิน (The pilot) เป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่สิ่งที่ดูไม่สำคัญอย่าง นักบินไปจนถึงพอนติอุส พิลาท (ข้าหลวงโรมันที่สั่งประหารพระเยซู) แต่คนฟังอยากคิดอะไรลึกไปกว่านั้น แต่สำหรับผมมันไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรมากมายเลย มันก็แค่อยู่ในหัวเรานี่แหละ”

12. “Hercules” (1972): เพลงแบบลึกๆ ที่สุดในหนัง คือเพลงปิดอัลบัมHonky Chateau ด้วยความสดใส, เบิกบาน และก่อนหน้าที่อัลบัมจะออกไม่นาน นายเรจินัลด์ เคนเน็ธ ดไวท์ ก็กลายเป็นนายเอลตัน เฮอร์คูลีส จอห์น อย่างถูกต้องตามกฎหมาย “การเปลี่ยนชื่อช่วยผมได้เยอะ” จอห์นบอกเอาไว้ “ผมยังเป็นคนๆ เดียวกันเร็ก ดไวท์ แต่เอลตันมันทำให้ผมรู้สึกมั่นใจขึ้นเยอะเลย”

13. “Don’t Go Breaking My Heart” (1976): นอกจากจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปี 1976 แล้ว จอห์นยังสร้างความประหลาดใจด้วยการมีเพลงอันดับ 1 บนชาร์ทเพลงของเกาะอังกฤษเป็นเพลงแรก และขึ้นไปถึงอันดับ 6 ในอเมริกา “Don’t Go Breaking My Heart” เป็นเพลงที่จอห์นร้องคู่กับกิกี ดี ในสไตล์เดียวกันกับที่มาร์วิน เกย์ และแทมมี เทอร์เรลล์ร้องคู่กัน ส่วนในหนังเอเจอร์ตันร้องเพลงนี้กับราเชล มัลดูน

14. “Honky Cat” (1972): ในหนังเอเจอร์ตันร้องเพลงนี้กับริชาร์ด แม็ดเดน ที่รับบทจอห์น รีด ผู้จัดการและแฟนหนุ่มของจอห์น “Honky Cat” สะท้อนถึงการเติบโตมาในชนบทของทอพิน ซึ่งเสริมด้วยเสียงแบนโจของดาวีย์ จอห์นสโตน ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ลีลาการเล่นเปียโนที่ไหลไปในสไตล์นิว ออร์ลีนส์ของจอห์น ก็เป็นหนี้งานเพลงของดร. จอห์นจากยุคนั้น เพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 8 ในอเมริกาและ 31 บนเกาะอังกฤษ

15. “Pinball Wizard” (1975): เพลงเดียวในหนังที่ไม่ได้แต่งอย่างน้อยก็โดยจอห์น ซึ่งเป็นเพลงจากหนังของเคน รัสเซลล์ ที่ดัดแปลงมาจากร็อค โอเปราเรื่อง Tommy เมื่อปี 1969 ของ The Who ในหนังจอห์นที่ใส่รองเท้าส้นตึกคู่เบ้อเริ่ม เล่นเป็นแชมป์พินบอลล์ที่เสียตำแหน่งให้กับทอมมี แม้เดอะ ฮูว์จะเล่นเพลงนี้เอาไว้ในหนังเมื่อปี 1975 แต่จอห์นก็บันทึกเสียงเพลงนี้กับวงของตัวเองด้วย โดยเขาเล่นเปียโนที่แกะตามท่อนอะคูสติคระดับตำนานของพีท ทาวน์เช็นด์เอง

16. “Rocket Man (I Think It’s Going to Be a Long, Long Time)” (1972): เพลงที่เป็นชื่อหนัง ซึ่งกำเนิดในจุดที่พีคๆสุดของความฮือฮาในเรื่องอวกาศของผู้คน ซิงเกิลจากอัลบัม The Honky Chateau เพลงนี้ เป็นเพลงท็อปเทนทั้งสองฝั่งแอตแลนติคอีกเพลง แล้วก็ไม่ต่างไปจาก “Space Oddity” ของเดวิด โบวี ที่เนื้อหาบอกถึงความโดดเดี่ยวของการเดินทางในอวกาศ แต่ขณะที่ผู้พันทอมถูกโบวีทิ้งไว้ในอวกาศอย่างไม่มีจุดหมาย ทอพินเต็มเรื่องราวที่มีความเป็นมนุษย์ให้กับเนื้อเพลง ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องของเรย์ แบรดบิวรีมากขึ้น ด้วยการทำให้ภาพการปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศ ไม่ต่างไปจากการเดินทางไปทำงานในชีวิตประจำวัน

17. “Bennie and the Jets” (1973): อีกครั้งที่จอห์นสานต่อการนำทางของโบวี หนนี้เป็นการพูดถึงวงแกลมสมมติในเพลงจากอัลบัม Goodbye Yellow Brick Road “ผมมอง Bennie and the Jets ว่าเป็นวงก่อนยุคพังค์ มีนักร้องนำเป็นหญิงสาวสองเพศ ที่เหมือนเป็นภาพถ่ายของเฮลมุท นิวตัน” ทอพินบอกกับนิตยสารโรลลิง สโตน ตอนแรกจอห์นค้านหัวชนฝา ไม่ยอมให้ตัดเพลงนี้เป็นซิงเกิล จนกระทั่งสถานีวิทยุคนผิวดำในดีทรอยท์เปิดออกอากาศ “ผมรู้สึก… ‘โอ พระเจ้า’” เขาเล่า “ผมหมายความว่า ผมน่ะเป็นเด็กผิวขาวจากอังกฤษ แล้วผมก็บอกไป ‘ตกลง นายทำได้’” และ “Bennie and the Jets” ก็ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ทเพลงฮิทของบิลล์บอร์ด

18. “Don’t Let the Sun Go Down on Me” (1974): หนึ่งในเพลงบัลลาดเศร้าที่หรูหราที่สุดของจอห์น เพลงนี้ประสบความสำเร็จบนชาร์ทเพลงถึงสองหน หนแรกกับการออกมาครั้งแรกในอัลบัม Caribou ซึ่งขึ้นไปถึงอันดับ 2 และอีกหนเป็นในอีก 17 ปีต่อมา ที่เป็นการร้องคู่กับจอร์จ ไมเคิล ซึ่งขึ้นถึงอันดับ 1 ไปเลย ในหนังเอเจอร์ตันร้องเพลงนี้กับเซลินด์ โชนเมเคอร์ นักแสดงชาวดัทช์ที่รับบทเป็นเรเนท บลูเอล หญิงสาวที่จอห์นแต่งงานด้วยในปี 1984-88

19. “Sorry Seems to Be the Hardest Word” (1976): อยู่ในอัลบัม Blue Moves เมื่อปี 1876 และเป็นหนึ่งในไม่กี่เพลงที่ดนตรีมาก่อนในกระบวนการแต่งเพลง แม้จะมีข้อสงสัยอยู่ว่า จอห์นหรือทอพินที่เขียนเนื้อร้องเปิดเพลงที่แสนโด่งดัง ‘What have I got to do to make you love me?’ เพลงนี้ยังเป็นเพลงสุดท้ายที่จอห์น-ทอพินแต่งร่วมกันแล้วติดท็อปเทนในอเมริกา ก่อนที่ “I Guess That’s Why They Call It the Blues” จะขึ้นไปถึงอันดับ 4 ในปี 1983

20. “Goodbye Yellow Brick Road” (1973): ในอัลบัมที่พูดถึงมาริลีน มอนโร และรอย โรเจอร์ส เพลงที่เป็นชื่ออัลบัมยังมีความโดดเด่น กับการเป็นหนึ่งในเพลงที่แสดงออกถึงความรักที่เขามีต่อฮอลลีวูดยุคเก่า ได้อย่างเหมาะสมและโดนใจ “เนื้อร้องของเพลงที่เป็นชื่อชุด พูดว่าผมอยากจะออกจากเมืองออซแล้วกลับไปที่ฟาร์ม” ทอพินบอกกับนิตยสารโรลลิง สโตน ในปี 2014. “ผมคิดว่ายังคงรู้สึกแบบนั้นในทุกวันนี้ ผมไม่ได้สนใจเรื่องออกมาจากที่นั่น แล้วก็เรื่องการทำอะไรที่ทุกคนกำลังทำ แต่ผมต้องออกมาจากกะลา” ในหนังเพลงท็อปเทนทั้งในอังกฤษและอเมริกาเพลงนี้ ร้องโดยเอเจอร์ตันและเจมี เบลล์ ที่รับบทเป็นทอพิน

21. “I’m Still Standing” (1983): หลังใช้เวลาทำงานกับนักแต่งเพลงคนอื่นๆ อย่าง แกรี ออสบอร์น และชีวิตที่อยู่ในจุดต่ำสุดยิ่งกว่าศูนย์ จอห์นก็กลับมาทำงานกับทอพินเต็มตัวอีกครั้ง ถึงแม้ “I’m Still Standing” จะไปไม่ถึงท็อปเทนในอเมริกา เมื่อขึ้นสูงสุดแค่อันดับ 12 แต่ก็ไปถึงอันดับ 4 ในอังกฤษ โดย Rocketman เป็นหนังเรื่องที่สอง ที่เอเจอร์ตันร้องเพลงนี้ หนแรกเป็นปี 2016 ในแอนิเมชันเรื่อง Sing ที่เขาเล่นเป็นจอห์นนี กอริลลาที่ขัดคำสั่งพ่อมาสมัครประกวดร้องเพลง

22. “(I’m Gonna) Love Me Again” (2019): ทอพินกับจอห์น แต่งเพลงนี้สำหรับหนังโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งต่อไป การที่จอห์นร้องเพลงนี้คู่เอเจอร์ตัน ทำให้เขามีส่วนร่วมในการร้องเพลงของหนังเรื่องนี้ในที่สุด อย่างน้อยก็หนึ่งเพลง

โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง เบื้องหลัง 22 เพลงของเอลตัน จอห์นในหนัง ROCKETMAN คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 18-21 มิถุนายน 2562  

 

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.