FEATURESMovie Features

เมื่อเดอะ ร็อคต้องปะทะภัยธรรมชาติครั้งมโหฬารใน SAN ANDREAS

หลังเป็นลูกเทพใน Hercules เป็นหน่วยพิเศษใน G.I. Joe เป็นนักรบโบราณใน Scorpion King ที่ต้องเจอกับศัตรูสารพัดรูปแบบ ทั้งคน, เครื่องจักร หรือว่ามหาเวทย์ต่างๆ ในปีนี้ หลังโดนเจสัน สเตแธมทิ่มจนต้องไปนอนโรงพยาบาล เดอะ ร็อค – ดเวย์น จอห์นสัน จะกลับมาอีกครั้งแบบไม่ต้องรอให้หลังเย็น ด้วยการพบกับคู่ปรับคนใหม่ ที่น่าจะเป็นตัวอันตรายร้ายแรงที่สุด นั่นก็คือภัยธรรมชาติ งานนี้มีโปรโมเตอร์อย่างแบรด เพย์ตัน ที่เคยทำงานกับจอห์นสันมาแล้วใน Jourmey 2: The Mysterious Island เป็นผู้กำกับ

SA-02147

ตอนที่ผู้อำนวยการสร้าง โบ ฟลินน์ เสนอให้เพย์ตันมาช่วยเขาพัฒนาบทหนังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำให้แคลิฟอร์เนียแทบจะไม่เหลืออะไร เพย์ตันก็มีมุมมองของตัวเองในเรื่องนี้เช่นกัน และทำให้จุดเริ่มต้นของหนัง เกิดจากมุมมอง 2 มุมในเรื่องเดียวกัน และการที่ทำให้มุมมองที่ว่ามารวมกันได้ ก็คือหัวใจสำคัญ ในสายตาของผู้กำกับ เขาคิดว่าน่าจะเปลี่ยนบทที่ดูธรรมดาๆ แต่มีพื้นฐานมาจากคอนเส็ปท์ที่แสนมหัศจรรย์ ให้กลายไปเป็นหนังที่สามารถต่อกรกับบรรดายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ที่จะดาหน้าขึ้นจอในช่วงซัมเมอร์ของปี 2015 ได้

“ตัวบท มีทุกอย่างที่จะกลายเป็นหนังบิ๊กบึ้ม ทั้งมุมมองและขนาดของเรื่องราว แต่สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นที่สุดก็คือ โอกาสที่จะสร้างตัวละครนำที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น เป็นตัวละครที่มีข้อบกพร่อง ที่ต้องมาอยู่ในสถานที่ ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต” ผู้กำกับวัย 35 ปีกล่าว “และเพื่อที่จะทำแบบนั้น คุณก็ต้องสร้างเรื่องราวที่มีคุณค่าทางอารมณ์ ความรู้สึก”

นอกจากการมีตัวละครหลักที่เป็นพวกมีข้อบกพร่องในตัว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างแรกของหนัง San Andreas หนังยังมีมุมมองที่เฉียบคมเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างที่สอง

“ผมยังจำตอนที่นั่งลงเขียนฉากแอ็คชันบางฉาก โดยพยายามเอาความคิดของตัวเองเข้าไปใส่ในหนัง” เพย์ตัน เล่าย้อนไปถึงตอนแรกๆ ในการทำงาน “ผมบอกกับตัวเองว่า ‘อยากให้ตัวละครนำของเรา มีประสบการณ์ในการเจอกับแผ่นดินไหวบนตึกระฟ้า และไม่ใช่เป็นการตัดภาพไปมาราวๆ 5-6 นาที แต่เป็นการเกาะติดไปกับตัวเขาขณะที่ตึกกำลังถล่ม’ หนึ่งในหนังที่มีอิทธิพลกับผมมากที่สุดคือ เรื่อง Children of Men ซึ่งคุณไม่ต้องมีการตัดภาพ ที่จะทำให้คนดู หลุดออกไปจากการได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์เลย”

SA-18464rสำหรับการเกิดขึ้นมาของหนังหายนะในยุคใหม่ การนำเสนอเหตุการณ์อลังการมหันตภัย จะมาจากมุมมองส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่ เมื่อบทเป็นรูปเป็นร่าง เพย์ตันจึงดิ่งไปที่กรุงบูดาเปสท์ เพื่อนัดเจอกับดเวย์น จอห์นสัน ซึ่งในตอนนั้นกำลังเข้ากล้องถ่ายทำ Hercules อยู่ แน่นอนละว่า ผู้ชายรูปร่างยังกับยักษ์ปักหลั่นรายนี้ ย่อมไม่ใช่นักแสดงคนแรกๆ ในสายตาผู้ชม สำหรับการเป็นตัวละครตามที่ผู้กำกับตั้งใจให้เป็น มีข้อบกพร่องในตัว เป็นคนธรรมดาๆ ที่ต้องเรียกร้องความเป็นชายในตัวออกมา ในสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา แต่เพย์ตันกลับรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องน่าสนใจดีกับการได้เห็น นักแสดงที่มักจะรับบทฮีโรคนเก่งเสมอๆ ในหนังแอ็คชันเรื่องดังๆ ของฮอลลีวูด มาสวมบทบาทแบบนี้ แถมทั้งสองคนยังเคยทำงานร่วมกันมาแล้วในหนัง Joyrney 2: The Mysterious Island ระหว่างมื้อค่ำ เพย์ตันพูดถึงบทของหนังเรื่องนี้ แล้วพลิกหนังสือภาพซึ่งจะสื่อสารได้ดีกว่า ให้จอห์นสันดูเพื่อให้เกิดอาการคันในความรู้สึก ซึ่งใช้เวลาไม่นานเขาก็เงยหน้าขึ้นมาแล้วก็บอกว่า “เอาละ… ไปทำหนังเรื่องนี้กัน”

“คุณต้องให้อภัยผมนะ ถ้าผมพูดดังเกินไป แล้วก็ดูลุกลี้ลุกลน” จอห์นสัน เอ่ยขึ้น “มันเป็นหนังที่มีพลังหลายแรงม้า เพราะงั้นมันก็เลยมีอะไรที่อยากจะพูดถึงมากเกินไปหน่อย” น้ำเสียงของอดีตนักมวยปล้ำระดับซูเปอร์สตาร์รู้สึกได้ถึงความตื่นเต้น

“แบรดเอาบทมาให้ แล้วผมก็กลับไปบ้าน หยิบมันขึ้นมาอ่านแล้วก็วางไม่ลง” เขาเล่า “ผมชอบตัวเรื่องนะ ผมรักโอกาสที่จะทำให้พวกเราได้สร้างบางสิ่งบางอย่างในระดับมหึมาขนาดนี้ โดยมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมา แต่ที่สำคัญที่สุด ผมสนุกกับความเป็นมนุษย์ ที่คนๆ หนึ่งจะทำอะไรก็ได้เพื่อปกป้องครอบครัวของตัวเอง”

SAN ANDREASความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวละครของจอห์นสัน กับบทคนขับเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ที่ต้องสยายปีกไปทั่วแคลิฟอร์เนีย ที่เต็มไปด้วยทรากปรักหักพัง ร่วมกับอดีตภรรยา – เอ็มมา ที่รับบทโดย คาร์ลา กูจิโน เพื่อหาทางช่วยเหลือ และปกป้อง เบลค ลูกสาวผู้เหินห่าง ซึ่งเล่นโดย อเล็กซานดรา แดดดาริโอ คงไม่ผิดที่จะบอกว่านี่คือหนังตามสูตรสำเร็จในแบบของสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่สร้างสารพัดความตื่นตามาจากสิ่งที่เป็นที่คุ้นเคย และเรื่องราวความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่แตกร้าว เพื่อทำให้กระทบจิตใจผู้ชม แต่กับการที่ทุกวันนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เป็นมหันตภัยจากธรรมชาตินั้น ล้วนมีให้เห็นและชมกันได้จากข่าวทางสถานีโทรทัศน์แทบทุกวัน การเป็นภาพยนตร์บล็อคบัสเตอร์ ที่มีเป้าหมายเพื่อจะพาผู้ชมหลีกหนีให้พ้นไปจากชีวิตจริง จะต้องมาด้วยภาพบนจอที่สมจริงยิ่งกว่าเดิม

เพย์ตันเห็นด้วยกับเรื่องนี้ “ผมพยายามที่จะสร้างเหตุการณ์ต่างๆ อย่างละเมียดละไม ให้ออกมาสมจริงมากที่สุด แล้วก็ไม่แสดงภาพของความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้งจนเกินไป” เขากล่าว “แต่ก็ต้องสร้างสมดุลย์ให้โดยไม่ละเลยความสำคัญของความเสียหายต่างๆ ผมต้องการสร้างความบันเทิง และการสร้างความบันเทิงที่ดีที่สุดก็คือ การนำเสนอออกมาอย่างจริงไจ เราเลยต้องมาดูภาพของซึนามิจริงๆ ที่เกิดขึ้นกันว่า หน้าตาของมันเป็นยังไง”

การให้ San Andreas นำเสนอภาพของแคลิฟอร์เนียที่ถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง และการนำเสนอเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบได้กับคนทั้งโลก แม้สิ่งที่ตัวละครพอล จิอาแมตติพูดเอาไว้ในหนังตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกถึงผลกระทบที่มีต่อชายฝั่งแถบตะวันออกของอเมริกา อาจจะเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไป แต่ก็ถูกเสริมขึ้นมาด้วยภาพจากซีจีไอ

SAN ANDREAS“หลักการที่ผมมักจะใช้ก็คือ สร้างสิ่งที่ช่วยเสริมการแสดงของนักแสดง” เพย์ตัน อธิบาย “มันจะทำให้ทุกๆ คนเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า อะไรที่พวกเราพยายามทำกันอยู่ และมันจะพาทุกคนเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางความคิดของหนัง คนดูจะช็อคไปกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ สำหรับผมการใช้เทคนิคพิเศษเป็นเพียงการเติมเต็มช่องว่าง ที่เราไม่สามารถถ่ายทำมันขึ้นมาได้”

กระทั่งจอห์นสันเองก็ยังตื่นเต้นไปกับการถ่ายทำ ที่เน้นสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นจริงๆ ตรงหน้า มากกว่าจะเป็นการแสดงกับลูกเทนนิส ที่จะไปใช้เทคโนโลยีแต่งเติมภาพต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาแทนในภายหลัง “เป็นเรื่องสำคัญนะ ที่จะต้องมีอะไรให้เราได้เล่นด้วย” จอห์นสัน ย้ำ “เราถ่ายทำกันในออสเตรเลีย ถูกหมุนไปมาในแทงค์น้ำขนาดมหึมาที่น่าจะใหญ่ที่สุดบนดาวเคราะห์ดวงนี้ เพราะในเรื่อง ซาน ฟรานซิสโกทั้งเมืองจะจมอยู่ใต้น้ำ คนที่ทำงานตรงนี้เชี่ยวชาญกันมากๆ พวกเขารู้ว่าน้ำจริงๆ เป็นยังไง และรู้ว่าพอนักแสดงต้องออกไปอยู่ในอ่าวซาน ฟรานซิสโกจริงๆ โดยมีสะพานเบย์ บริดจ์อยู่ตรงหน้า ภาพจะต้องออกมาแบบไหน” เสียงของเขาดังขึ้นเรื่อยๆ “พวกเราอยู่บนเรือจริงๆ และสารพัดเศษทรากต่างๆ รอบๆ ตัวเราก็กำลังจม”

กับเดอะ ร็อค ไม่ใช่เพียงแค่นี้ที่เขาต้องเจอ เพราะกับบทคนขับเฮลิคอปเตอร์ เขาต้องเข้าไปอยู่ในฮ. ที่ทั้งต้องเหวี่ยงไปมา ดิ่งลงพื้น หรือลอยตัวอยู่กลางอากาศ นี่คือนักแสดงที่ใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมา ไปกับการ “ขับอะไรก็ตามที่มีล้อ แล้วบินกับทุกอย่างที่มีปีก” แต่เขาก็ยอมรับว่า เฮลิคอปเตอร์นี่ละที่สุดติ่งจริงๆ “ผมต้องใช้เวลาอยู่กับหน่วยดับเพลิงของลอส แองเจลีสอยู่พักใหญ่ โดยไปขลุกอยู่กับนักบินในทีมค้นหาและช่วยชีวิต เพื่อจะได้เข้าถึงสภาพจิตใจของพวกเขา ผมต้องให้เครดิตกับพวกนักบินตัวจริง ที่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็มาอยู่ที่กองถ่าย ได้อ่านบทแล้วต่างก็ยกนิ้วให้กันทั้งนั้น”

SA-12416เพย์ตันเองก็ชื่นชมความอ่อนน้อมถ่อมตนของนักแสดงของตัวเอง พร้อมทั้งเล่าด้วยว่าจอห์นสันต้องทำอะไรมากมายแค่ไหน และเต็มที่กับทุกอย่างยังไง โดยเฉพาะนิสัยทุ่มสุดตัวของเขา ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเองต้องพยายามอย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังอัลเลน ป็อปเพลตัน ที่ทำหน้าที่ดูแลงานสตันท์อีกด้วย

เพย์ตันหัวเราะนำ “ไม่ต้องสงสัย หรือตั้งคำถามอะไร ผมจับอัลเลนเข้ามาอยู่ในสถานการณ์นี้ด้วย” เขากล่าว “ผมคิดว่าน่าจะเป็นสักวันที่สองนะ ที่ดเวย์นต้องเข้าไปในเฮลิคอปเตอร์เป็นครั้งแรก ผมพูดขึ้น ‘ดเวย์นกำลังจะไต่ลงมา เขาอยากเล่นฉากนี้เอง’ ตอนนั้นเฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือพื้นราวๆ 200 ฟุต และดเวย์นกำลังไต่มาตามหน้าผา แล้วผมก็บอกว่า ‘เอาละ… ผมจะใช้เครนความสูง 200 ฟุตละนะ แล้วจะไม่สั่งคัทด้วย’ ทันใดนั้น ก็มีสตันท์ที่น่าทึ่งคนนี้ ที่คว้ากล้องเพื่อไล่ตามจับภาพนักแสดง ที่กำลังออกจากเฮลิคอปเตอร์ และไต่มาตามหน้าผาที่สูงถึง 200 ฟุต โดยที่ผู้กำกับปฏิเสธที่จะปกป้องเขาอีกต่างหาก”

ที่น่าทึ่งก็คือ ฉากทั้งหลายที่เป็นการยกระดับของฉากแอ็คชันไปอีกขั้นเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องน่าแปลกใจสุดๆ เพราะเป็นผลงานของผู้กำกับที่มีผลงานอย่าง Journey 2: The Mysterious Island และ Cats & Dogs: The Revenge of Kitty Galore ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่งานที่จะทำให้เขาเข้าไปอยู่ในทำเนียบผู้กำกับหนังแอ็คชัน ที่สำคัญSan Andreas ก็คือ ก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเขา ที่ทั้งเป็นก้าวที่ยาวที่สุด และสูงที่สุด รวมทั้งเป็นเดิมพันก้อนโตที่สุด มากกว่างานชิ้นไหนๆ ที่เขาเคยทำมาก่อนหน้านี้

“ตลอดอาชีพการทำงานของผม สิ่งที่ผมทำก็คือการพยายามเข้ามาอยู่ในจุดที่ผมอยากเป็น ซึ่งก็คือการทำหนังแอ็คชัน ไซ-ไฟ ที่มีความเป็นแฟนตาซี และออกมาสมจริง แล้วก็เป็นหนังบล็อคบัสเตอร์” เขากล่าว “คนที่ผมชื่นชอบก็คือคนอย่าง เจมส์ คาเมรอน, ปีเตอร์ แจ็คสัน, ริดลีย์ สก็อตต์ ผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ทำหนังที่ยิ่งใหญ่ทั้งมุมมองและความมโหฬาของหนัง แล้วก็มาพร้อมกับไอเดียเจ๋งๆ นี่คือหนังเรื่องแรกที่ผมรู้สึกว่า อยากให้ใส่ชื่อตัวเองตามหลังคำว่า ภาพยนตร์โดย หรือ กำกับโดย มันเป็นการทำงานที่สาหัสสากรรจ์ ต้องมีการเจรจาต่อรอง ต้องต่อสู้ ต้องพยายามอย่างหนัก ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ แล้วก็เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมากกว่าที่ผมเคยคิดว่า เคยมี แต่มันเป็นหนังที่ผมอยากทำ”

SA-09414สำหรับจอห์นสัน เขาไม่เคยมีความลังเลสงสัยในตัวของเพย์ตันเลย “ผมรู้จักแบรด เขาเป็นตัวจริง” เขากล่าว “กระทั่งไม่ได้ทำหนังในระดับนี้ หรือโทนประมาณนี้ เขาก็จะยังอยู่ตรงนี้ ‘อยู่ตรงนี้’ ผมหมายความว่า เขาก็ยังคงทำงานต่อไป คนที่ผมรู้จักคนนี้คือที่ทำงานทุกวัน ก้มหน้าก้มตาทำอย่างจริงจัง”

กับหนังที่สร้างและเต็มไปด้วยมาตรฐานของงานสเปเชียล เอ็ฟเฟ็คท์มากมายที่ออกมา เพย์ตันมั่นใจมากๆ ว่า ตัวเองก็มีหนังระดับสร้างปรากฏการณ์อยู่ในมือ และน่าจะถูกจัดลำดับให้อยู่่ในกลุ่มเดียวกับหนังอย่าง Star Wars: Episode VII – The Force Awakens, Mission: Impossible 5 และ Avengers: Age of Ultron ได้

“ผมคิดว่าจุดแข็งที่สุดที่เรามีก็คือ มันไม่พยายามที่จะไปเหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆ” เขาเผย “มันเป็นหนังที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในทุกวันนี้ แล้วพอมองดุหนังในกระแส ผมเห็นแต่หนังที่ออกจะเป็นหนังป็อปคอร์นจ๋าๆ สีสันสดใส และสำหรับผม San Andreas มันให้ความรู้สึกเหมือนกับหนังที่ผมโตมาด้วย โทนของมันจะใกล้ๆ กับหนังของคาเมรอน” เขาสูดหายใจเข้าปอดเฮือกใหญ่ “แล้วคุณก็เติมดเวย์น จอห์นสันลงไป เขาเป็นนักแสดงที่มีฐานแฟนๆ เหนียวแน่น และแต่ละคนก็อยากดูหนังเรื่องนี้แทบคลั่ง เพราะเราพาเขามาอยู่ในเกมระดับท็อป และเป็นดเวย์นที่เจ๋งที่สุดเท่าที่คุณเคยเห็นมา”

จากเรื่อง เมื่อเดอะ ร็อคต้องปะทะภัยธรรมชาติครั้งมโหฬารใน SAN ANDREAS โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1184 – 16 พฤษภาคม 2558

สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
1
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.