FEATURESMusic Featuresเบื้องหลังเพลง

เรื่องราวของนางโรบินสัน ในเพลง “Mrs. Robinson” ของ Simon & Garfunkel เพลงสี่นาที ที่มีนัยยะ และความหมาย มากมายเหลือเกิน

เพลงที่ว่าด้วยเรื่องราวน่าอับอายขายหน้า “Mrs. Robinson” ของ Simon & Garfunkel เรียกได้ว่าเป็นเพลงชาติของเรื่องฉาว ๆ แบบชู้สาวอย่างไม่เป็นทางการก็ว่าได้ แล้วจะว่าไปมันก็ยังเป็นเพลงชาติของสาวใหญ่ทั้งหลายอย่างไม่เป็นทางการได้ด้วยเช่นกัน โดยใช้เสียงประสานที่สอดรับกันได้อย่างลงตัว เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวอันแสนเร่าร้อนที่เกิดขึ้นในแถบชานเมือง

เพลงนี้ อย่างที่รู้ ๆ กันเป็นผลงานของศิลปินคู่ชาวอเมริกัน พอล ไซมอน และอาร์ต การ์ฟังเกิล​ ที่รู้จักกันในนาม ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิล และบรรจุอยู่ในอัลบัมชุดที่สี่ของพวกเขา ‘Bookends’ ที่ออกมาเมื่อปี 1968 และถูกตัดเป็นซิงเกิลในวันที่ 5 เมษายนปีเดียวกัน

แต่สิ่งที่ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิต คือสิ่งที่อยู่เหนือเรื่องของดนตรีและมือไม้ของผู้ที่แต่งเพลง เมื่อไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สุดฮิตของปี 1967 ‘The Graduate’ ที่นำแสดงโดย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย เดินทางกลับมาบ้าน โดยชีวิตยังไม่มีเป้าหมายอะไร แล้วก็ถูกยั่วยวนโดยเพื่อนบ้านสาวใหญ่ นางโรบินสัน ที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีอะไรที่น่าพูดถึงอีกมากมาย

ตัวเพลงเป็นงานอะคูสติกฟังสะอาด ดนตรีสว่างสดใส และการร้องประสานของสองนักร้องนำก็ไพเราะเหลือเกิน เนื้อร้องเองก็มีการพูดถึงชื่อคนซึ่งรู้จักกันดี อย่าง โจ ดิแม็กจิโอ นักเบสบอลชื่อดังของทีมนิว ยอร์ก แยงกีส์ หรือว่าพระเยซู

สำหรับเวอร์ชันที่ถูกใช้ในหนัง จะใช้การเล่นที่เรียกกันว่า “โบ ดิดลีย์ บีท” (Bo Diddly beat) ไหลกันไปแบบ ดู-ดู-ดู-ดุ-ดุ หรือ 1-2-3-4-5 เวอร์ชันในหนังบันทึกเสียงกันเสร็จเรียบร้อยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1968 และถูกปล่อยออกมาหลังจากหนังเปิดตัวถึง 3 เดือน ตัวเพลงจะฟังดังกว่าแล้วกลองเบสก็จะเล่นแบบขัด ๆ ซึ่งเล่นคลอไปกับเสียงฉาบที่ฟังสดใส แต่ที่โดดเด่นยิ่งกว่าบรรดาเครื่องดนตรีประกอบจังหวะทั้งหลาย ก็คือการขับเคลื่อนเพลงด้วยเสียงอะคูสติก กีตาร์รวมไปถึงเสียงลีด และแน่นอนการประสานเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของวง โดยในเพลงนี้ไซมอนจะร้องคำว่า “คู-คู-คา-ชู” เร็ว ๆ ซึ่งเป็นการแสดงการคารวะ The Beatles และเพลงของสี่เต่าทอง “I Am the Walrus”

ไซมอนเป็นคนเอาเพลงไปเสนอผู้กำกับไมก์ นิคอลส์ กับการ์ฟังเกิล หลังนิคอลส์ปฏิเสธสองเพลงก่อนหน้าที่ทั้งคู่ตั้งใจแต่งให้หนัง โดยในอัลบัมซาวนด์แทร็ค จะมีเพลงนี้สองเวอร์ชันที่แตกต่างกัน โดยเพลงฉบับเต็ม ๆ จะอยู่ในอัลบัม ‘Bookends’ นอกจากนี้ยังมีการปล่อย “Mrs. Robinson” ในอีพีที่ใช้ชื่อเดียวกับเพลงออกมาในปี 1968 โดยใส่สามเพลงจากหนัง “April Come She Will”, “Scarborough Fair/Canticle” และ “The Sound of Silence” เข้ามาด้วย

หลังไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิล โด่งดังมีชื่อเสียงขึ้นมาในช่วงกลางยุค 1960 ซึ่งเป็นผลจากการออกทัวร์อย่างต่อเนื่องและปล่อยเพลงฮิตออกมาโดยไม่ขาดสาย ผู้กำกับไมก์ นิคอลส์ ซึ่งกำลังเริ่มงานของหนัง ‘The Graduate’ เป็นอีกคนที่ชื่นชอบการเขียนเพลงของดูโอวงนี้ ว่ากันว่าทั้งก่อนและหลังถ่ายทำหนังเรื่องนี้ นิคอลส์เปิดฟังงานของไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิลแบบไม่มีหยุดเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เขาจะจัดให้มีการประชุมกับไคลฟ์ เดวิส ประธานของโคลัมเบีย เรคอร์ดส์ เพื่อคุยเรื่องการอนุญาตให้ใช้เพลงในหนัง เดวิสเข้าประชุมและตัวเขาเองก็มองเห็นภาพของอัลบัมซาวนด์แทร็คขายดีขึ้นมาในใจ

แต่พอล ไซมอน กลับมองไปคนละทางกับนิคอลส์และเดวิส เขาไม่มั่นใจว่าการจับคู่กันในครั้งนี้จะเวิร์ก อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ใช้เพลงในหนังก็ช่วยในเรื่องการขายเพลง และไม่ใช่แค่นั้น ไซมอนยังตกลงที่จะเขียนเพลงใหม่อีก 1 – 2 เพลงให้หนัง หลังจากคุยกับนิคอลส์ และประทับใจกับความคิดของตัวผู้กำกับและตัวบทหนัง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เลียวนาร์ด เฮิร์ชแฮน ตัวแทนจากเอเจนซีวิลเลียม มอร์ริส ที่ทำหน้าที่ต่อรองเรื่องการเซ็นสัญญา ทำให้ไซมอนได้เงินจากการแต่งเพลง 3 เพลงให้กับนิคอลส์ถึง 25,000 เหรียญสหรัฐฯ

เมื่ออีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ไซมอนกลับไปหานิคอลส์พร้อมกับสองเพลงใหม่ “Punky’s Dilemma” และ “Overs” แต่ผู้กำกับไม่ชอบทั้งสองเพลง แล้วขอให้เขาแต่งเพลงอื่นมาให้ และทั้งคู่ก็กลับมาพร้อมกับเวอร์ชันแรกของ “Mrs. Robinson”

ตอนที่ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิลเล่นเพลงนี้ให้นิคอลส์ฟัง หลังจากปฏิเสธสองเพลงที่สองหนุ่มนำมาเสนอก่อนหน้า เพลงนี้ใช้ชื่อว่า “Mrs. Roosevelt” เห็นได้ชัดว่าผู้กำกับรายนี้ชอบเพลงนี้มาก เขาเล่าในเวลาต่อมาว่า “พวกเขาใช้คำอย่าง ดี-ดี๊-ดี-ดี-ดี๊-ดี-ดี-ดี เพราะยังไม่มีเนื้อร้อง แต่ผมชอบมันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว”

การ์ฟังเกิล เล่าว่า “พอลกำลังทำเพลง ที่ตอนนี้คือ ‘Mrs. Robinson’ แต่ยังไม่มีชื่อเพลง และเราก็แทนด้วยชื่อที่เป็นคำสามพยางค์ เพราะตัวละครในหนังที่เรากำลังเริ่มแต่งเพลงใช้ชื่อว่า นางโรบินสัน (Mrs. Robinson) เพื่อให้เข้ากัน วันหนึ่งเรานั่งคุยกับไมก์ ถึงไอเดียสำหรับอีกเพลงหนึ่ง แล้วผมก็พูดขึ้นมา ‘แล้ว Mrs. Robinson ละเป็นยังไง’ ไมก์ถึงกับโพล่งขึ้นมาเลย ‘พวกนายมีเพลงชื่อ “Mrs. Robinson” แล้วยังไม่เอามาให้ฉันฟังอีกเหรอ?’ เราเลยอธิบายว่ามันเป็นแค่ชื่อที่ใช้ในการทำงาน แล้วก็ร้องให้เขาฟัง แล้วจากนั้นไมก์ก็จับมันไปใส่ในหนังโดยใช้ชื่อว่า ‘Mrs. Robinson’”

ไซมอนเป็นแฟนกีฬาเบสบอลล์ และแน่นอนว่าต้องเป็นแฟนทีมนิว ยอร์ก แยงกีส์ แล้วเขาก็ชอบมิกกีย์ แมนเทิล เมื่อถูกถามในรายการ The Dick Cavett Show ว่า ทำไมตอนนั้นเขาไม่พูดถึงชื่อแมนเทิล แทนที่จะเป็นดิแม็กจิโอ เขาตอบว่า “มันเป็นเรื่องของพยางค์ ดิก มันเกี่ยวกับว่ามีจังหวะกี่จังหวะ”

ไซมอนเล่าว่า เขาเคยเจอดิแม็กจิโอที่ภัตตาคารในนิว ยอร์ก ซิตี ช่วงยุค 1970 แล้วนักเบสบอลรายนี้ก็ถามเขาตรง ๆ “สิ่งที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ทำไมคุณถึงถามว่า ผมจะไปที่ไหน ผมเคยเล่นโฆษณาของมร. คอฟฟี ผมเป็นกระบอกเสียงให้กับธนาคารออมทรัพย์โบเวอรี และผมไม่เคยไปที่ไหนเลย!”

เห็นได้ชัดว่า ดิแม็กจิโอไม่เข้าใจเรื่อง สิทธิพิเศษของกวี (*poetic license – บัตรผ่านสำหรับกวีและศิลปินในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ ที่สามารถแต่งเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนหรือกรอบกำหนด หรือผิดไปจากความจริง)

ไซมอนพูดถึงการเผชิญหน้าครั้งนี้ต่อ โดยบอกว่า “ผมไม่ได้หมายความไปตามคำร้องเป๊ะ ๆ ผมคิดถึงเขาในฐานะวีรบุรุษชาวอเมริกันคนหนึ่ง เป็นฮีโรตัวจริงที่หากันไม่ได้ง่าย ๆ เขายอมรับคำอธิบายและขอบคุณผม เราจับมือกันแล้วก็บอกราตรีวัสดิ์”

ในบทความของนิว ยอร์ก ไทม์สเมื่อเดือนมีนาคม 1999 ไม่นานหลังจากดิแม็กจิโอเสียชีวิต ไซมอนพูดถึงการเจอกันครั้งนั้น และยังเสริมด้วยว่าท่อนนี้ตั้งใจจะยกย่องบรรดานักเบสบอล และคนที่เป็นฮีโรที่เป็นพวกเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ได้โอ้อวดอะไร ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่วัฒนธรรมป็อปทำให้การรับรู้ถึงความเป็นวีรบุรุษของพวกเขาบิดเบี้ยว

เขาบอกว่า “ในช่วงนั้นเป็นยุคของการล่วงละเมิด และการขอโทษของประธานาธิบดี การสัมภาษณ์ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ก็พูดถึงเรื่องทางเพศ ที่ควรเป็นเรื่องส่วนตัว เราเสียใจกับโจ ดิแม็กจิโอ และโศกเศร้ากับการสูญเสียความสง่างามและศักดิ์ศรี รวมถึงการสูญเสียความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรง ตลอดจนพลังแห่งความเงียบของเขา”

ไซมอนได้มีโอกาสเล่น “Mrs. Robinson” ที่สนามแยงกี สเตเดียม ในงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้ดิแม็กจิโอในปีเดียวกันนั้นเอง

“Mrs. Robinson” เป็นเพลงที่สองของไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิลที่ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต Billboard Hot 100 รวมถึงติดท็อปเท็นในอังกฤษ, ไอร์แลนด์ และสเปน รวมถึงในอีกหลาย ๆ ประเทศ

ปี 1969 เพลงนี้กลายเป็นเพลงร็อคเพลงแรกที่คว้ารางวัลแกรมมีสาขา เพลงในการบันทึกเสียงแห่งปี (Record of the Year) รวมทั้งรางวัล การแสดงเพลงป็อปร่วมสมัยยอดเยี่ยม ประเภทเสียงร้องคู่หรือกลุ่ม (Best Contemporary-Pop Performance—Vocal Duo or Group) แต่กลับไม่สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ เนื่องจากกฎระบุไว้ว่าเพลงที่มีสิทธิเสนอชื่อเข้าชิง ต้องแต่งโดยเฉพาะเพื่อหนัง ซึ่งชัดเจนว่า “Mrs. Robinson” ไม่ตรงกับข้อกำหนดดังกล่าว

ในปี 2010 เกิดข่าวใหญ่ว่า ไอริส โรบินสัน ภรรยาของนายกรัฐมนตรีคนแรกของไอร์แลนด์เหนือ ปีเทอร์ โรบินสัน ไปเป็นชู้กับลูกชายของครอบครัวเพื่อน ๆ ซึ่งอายุน้อยกว่าเธอถึง 40 ปี ซึ่งข่าวนี้ก็ช่วยกระพือให้เพลงนี้ของไซมอนแอนด์การ์ฟังเกิล กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

นอกจากนี้ผู้กำกับเควนทิน ทารานติโน ก็เลือก “Mrs. Robinson” ไปใส่ในหนังรางวัลออสการ์ของเขาเมื่อปี 2019 ‘Once Upon a Time in Hollywood’ โดยอยู่ในฉากที่ตัวละครคลิฟฟ์ บูธ ของแบรด พิตต์ เจอสาวรุ่นมากมาย กำลังยั่วยวนเขา

เพลงนี้ถูกนำไปคัฟเวอร์โดยศิลปินดัง ๆ มากมาย ตั้งแต่แฟรงก์ ซินาทรา ไปจนถึงวง Bon Jovi โดยซินาทราเจ้าของฉายาโซลตาสีฟ้า บันทึกเสียงเพลงนี้ไว้ในอัลบัม ‘My Way’ ของตัวเองเมื่อปี 1969 โดยมีการเปลี่ยนเนื้อร้อง เช่น เปลี่ยนคำว่า “Jesus” เป็น “Jilly” ที่ยังมีการเขียนเนื้อร้องใหม่ ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงชื่อตัวละครที่เป็นชื่อเพลงจากหนัง ‘The Graduate’ ว่ากันว่าที่ต้องมีการเปลี่ยนคำก็เพราะเนื่องจากสถานีวิทยุบางแห่ง ปฏิเสธที่จะเล่นเพลงต้นฉบับที่มีการกล่าวถึง “Jesus”

การเปิดด้วยคำว่า “And” เป็นการเลือกใช้คำที่เฉพาะตัวมาก ๆ และให้ความรู้สึกราวกับว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเรื่องของเหตุการณ์บางอย่างแล้ว บางทีด้วยเหตุนี้เอง ถึงทำให้เหมาะเจาะกับตัวหนัง ด้วยความที่มีเรื่องราวเรื่องเล่าของตัวเองที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ แล้วยังมีลักษณะของการเสียดสี จิกกัด โดยเฉพาะจากการเล่นคำสวย ๆ เช่นในท่อนที่สองที่เริ่มต้นด้วย

“We’d like to know a little bit about you for our files. We’d like to help you learn to help yourself. Look around you, all you see are sympathetic eyes. Stroll around the grounds until you feel at home. And here’s to you, Mrs. Robinson. Jesus loves you more than you will know. Whoa, whoa, whoa”

เนื้อร้องของเพลงนี้ยังมีลักษณะของการหวาดระแวง ในอารมณ์แบบ ซีไอเอกำลังจับตาดูคุณอยู่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มีร่วมกันของผู้คน (และศิลปิน) ในยุค 1960 ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลในช่วงหลังสงคราม แล้วก็มีหลาย ๆ คำที่พาดพิงถึงพระเจ้าและพระเยซู รวมถึงพวกที่เป็นตัวแทนทางการเมืองและคนของรัฐบาล

ตัวเพลงสรุปด้วยท่อนที่รู้จักกันดี ซึ่งเป็นการกล่าวถึงดิแม็กจิโอ คนที่… อย่างน้อยในสายตาของไซมอน บางทีคือผู้นำที่ดีกว่ารัฐบาลในการนำผู้คน

“Where have you gone, Joe DiMaggio?. Our nation turns its lonely eyes to you
Woo, woo, woo. What’s that you say, Mrs. Robinson?. Joltin’ Joe has left and gone away. Hey, hey, hey. Hey, hey, hey”

สำหรับใครก็ตาม ที่ได้ดูหนัง เมื่อไหร่ก็ตามที่เพลงดังขึ้นมา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่คิดถึงตัวละครของฮอฟฟ์แมนที่มองไปในความว่างเปล่า คิดถึงชีวิตของเขา และสิ่งที่เขาจมอยู่ ติดอยู่ในเรื่องราวอื้อฉาว และความรักครั้งใหม่ของตัวเองกับลูกสาวของนางโรบินสัน ตัวละครของเขาเป็นทั้งคนที่ไร้เป้าหมายและเต็มไปด้วยความว้าวุ่น โดยไม่มีใครรู้ว่า ชีวิตหลังจบวิทยาลัยของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไปในวันข้างหน้า

ด้วยเสียงกีตาร์ที่ดังก้องกังวาน และเสียงร้องที่ยากจะหาใครมาเทียบ ความยาว 4 นาทีของ “Mrs. Robinson” อัดแน่นไปด้วยอะไรมากมายเหลือเกิน

ในปี 2004 หอภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ให้เพลงนี้อยู่ในลำดับที่ 6 ของการจัดอันดับ 100 จากภาพยนตร์อเมริกัน ในรอบ 100 ปี (100 Years…100 Songs)

แปล/เรียบเรียงจากเรื่อง Behind the Meaning of “Mrs. Robinson” by Simon & Garfunkel บนเว็บไซต์ American Songwriter

SONG ID
เพลง: “Mrs. Robinson” ศิลปิน: Simon & Garfunkel
ซิงเกิลจากอัลบัม: ‘Bookends’ และ ‘The Graduate’ ของ Simon & Garfunkel
เพลงหน้าบี: “Old Friends”, “Bookends”
วางจำหน่าย: 5 เมษายน 1968
บันทึกเสียง: 2 กุมภาพันธ์ 1968
แนวเพลง: โฟล์ก, ร็อก
ความยาว: 4:02 นาที
สังกัด: โคลัมเบีย
ผู้แต่ง: พอล ไซมอน
โปรดิวเซอร์: พอล ไซมอน, อาร์ต การ์ฟังเกิล, รอย ฮาลี

What is your reaction?

Excited
0
Happy
1
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.