PACIFIC RIM (2013) **** human and the beast
กำกับ-กีแยร์โม เดลโทโร ผู้แสดง-ชาร์ลี ฮันแนม, ไอดริส เอลบา, ริงโกะ คิคูชิ, รอน เพิร์ลแมน
ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใด นี่เป็นปีที่ฮอลลีวู้ดสร้างหนังที่ว่าด้วยจุดจบและ/หรือหายนะของมวลมนุษยชาติ-มากกว่าเพื่อน นับเนื่องจากต้นปี เราได้ดูหนังที่นำเสนอเนื้อหาทำนองนี้ (และเทียบเท่า) ไม่ต่ำกว่า 6-8 เรื่อง (Oblivion, After Earth, World War Z, ฯลฯ) และสมมติว่าจะต้องโหวตหนังที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาการทำลายล้างโลกยอดเยี่ยมในช่วงครึ่งปีแรก (หรือบางที อาจรวมครึ่งปีหลังด้วย) น่าเชื่อว่าผู้ชมจำนวนไม่น้อยน่าจะเทคะแนนความศรัทธาเชื่อมั่นและชื่นชอบให้กับหนังเรื่อง Pacific Rim (2013) ของกีแยร์โม เดลโทโร (Pan’s Labyrinth) ด้วยเหตุผลที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน นั่นคือ มันไม่ได้แสดงความทะเยอทะยานที่จะเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ใช่ตั้งแต่เริ่มแรก
พูดง่ายๆ นี่คือหนัง ‘สัตว์ประหลาดโง่ๆ’ ที่เนื้อหาสำคัญได้แก่การที่มันออกอาละวาดทำลายความเป็นอยู่อันสงบสุขของชาวโลก และแน่นอนว่านั่นเป็นธุระที่มวลมนุษยชาติจะต้องร่วมมือกันหยุดยั้งการกระทำของมัน และสรรพกำลังในการสร้างหนังเรื่องนี้ทั้งหมด-ถูกทุ่มไปให้กับความประณีตและพิถีพิถันในส่วนของงานออกแบบงานสร้าง ทั้งด้านฉาก, กำกับศิลป์ ไปจนถึงสเปเชี่ยล วิฌ่วล เอฟเฟ็คท์ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและ ‘สมจริง’ ให้กับสถานการณ์ ข้อสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องยกตัวเองให้กลายเป็นหนังสูงส่งด้วยการนำเงื่อนงำในทางศาสนามาเชื่อมโยง หรือสอดแทรกหลักคิดในเชิงอภิปรัชญา หรือนำเสนอตัวละครที่สภาวะภายในของเขาเต็มไปด้วยพื้นที่รกร้างและความเจ็บปวดทุรนทุราย อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดบาปหรือบังเกิดความละอายใจในการทำให้หนังออกมาดูน่าสนุก ชวนให้ติดตาม
หรือระบุอย่างไม่อ้อมค้อม Pacific Rim เป็นหนังที่ยืนอยู่ในขั้วที่ตรงกันข้ามกับ Man of Steel (หรือหนังซูเปอร์แมนแห่งความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน) ที่แทบทุกสิ่งอย่างของมันเป็นเรื่อง ‘ไกลเกินเอื้อม’ และมันดูเหมือนคนทำหนังเรื่องนั้นกลัวว่าการทำหนังให้ออกมาสนุกอาจจะส่งผลต่อความน่านับถือและเกรงขามของมัน และ Pacific Rim เป็นหนังที่ไม่ว่าผู้ชม (โดยเฉพาะผู้ชาย) จะมีอายุเท่าใดในตอนที่เดินเข้าโรงภาพยนตร์ เวทมนตร์คาถาของเดล โทโรก็จะบันดาลให้พวกเรากลายสภาพเป็นเด็กเล็กที่ครั้งหนึ่ง พวกเราต่างเคยเป็นแฟนบอยของเรื่องราวหุ่นยนต์ปะทะสัตว์ประหลาดเหมือนๆกัน
แต่ในขณะที่ Pacific Rim ดูเหมือนจะเป็นหนังที่ ‘ตื้น, ง่าย, ไม่ต้องคิดอะไรมาก’ มันก็กลับแฝงไว้ด้วยคอนเสพท์หรือหลักความคิดที่เฉลียวฉลาดและแยบยล ประโยคที่เสียงบรรยายของตัวเอกระบุทำนองว่า ‘พวกเรามักจะเชื่อกันว่าสัตว์ประหลาดหรือสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่าเอเลี่ยนมักจะมาจากนอกโลก ทว่าข้อเท็จจริงก็คือพวกเราพากันมองหาเจ้าสิ่งที่ว่านี้ ‘ผิดทาง’ นอกจากพวกมันไม่ได้มาจากนอกโลก ยังซ่อนตัวอยู่ในรอยแยกของเปลือกโลกลึกลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิก และวันดีคืนดี มันก็โผล่ขึ้นมาอาละวาด’ ก็นับเป็นเบาะแสแรกๆ ที่เย้ายวนให้ผู้ชมจับสังเกตได้ว่า บางที นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่หนังที่มุ่งขาย ‘มันสเตอร์’ อย่างน่าไม่อาย
และว่าไปแล้ว มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะในที่สุดแล้ว เนื้อหาที่ว่าด้วยการที่มนุษย์ร่วมกันแสวงหาหนทางกำราบเจ้ามันสเตอร์ขนาดมหึมาที่ถูกเรียกว่า ไคจู (คำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าสัตว์ประหลาด) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายตัว และดีกรีของความร้ายกาจของแต่ละสายพันธุ์ก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่ผ่านพ้นไป-ด้วยการริเริ่มโครงการประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ชื่อว่า เยเกอร์ ซึ่งก็มีอยู่ด้วยการหลายตัวเช่นกัน และประสิทธิภาพของหุ่นแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเหลวไหลหรือเพ้อฝันหรือแม้กระทั่งเพิกเฉยต่อโลกของความเป็นจริง และเราอาจจะเรียกหนังเรื่องนี้ได้ว่าเป็นปริศนาธรรม หรือการอุปมาอุปไมยที่ไม่เพียงย้ำเตือนให้พวกเราตระหนักว่า ศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์ไม่ได้มาจากภายนอก หากแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในตัวเรา และวิธีการรับมือหรือควบคุมเจ้าสิ่งที่เกกมะเหรกเกเรและชั่วร้าย-ก็ไม่ใช่ด้วยการสร้างหุ่นยนต์ที่มีส่วนสัดทัดเทียมไปจัดการ เพราะจากที่หนังนำเสนอ มันสามารถประทังความวิบัติและเสียหายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หนทางเดียวที่จะสามารถเอาชนะเจ้าสัตว์ร้ายเหล่านี้ก็เป็นอย่างที่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องในเรื่องบอกไว้ ‘หากจะหยุดยั้งพวกมัน พวกเราก็ต้องทำความเข้าใจพวกมัน’ และว่าไปแล้ว นี่เป็นหลักคิดที่ฟังดูเป็น ‘ตะวันออก’ มากๆ (และนั่นไม่ต้องเอ่ยถึงวิธีการบังคับหุ่นเยเกอร์ที่ ‘นักบิน’ ทั้งสองต้องทำงานสอดประสานทั้งในทางร่างกายและสภาพจิตใจ)
[one_two][/one_two]
ไม่รู้ว่านี่เป็นเหตุผลที่นำพาให้หนังเรื่องนี้พยายามทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘de-Americanization’ หรือลดทอนความเป็นอเมริกันในทุกองคาพยพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ หนังเริ่มเรื่องด้วยฉากที่เมืองซานฟรานซิสโกถูกถล่มก่อนเพื่อน และในเวลาต่อมา ฐานที่มั่นในการรับมือกับเจ้าไคจูก็ได้แก่เกาะฮ่องกง แถมฉากแอ็คชั่นที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็ยังเกิดขึ้นในส่วนช่องแคบ และถึงแม้ว่าตัวหนังจะ ‘เมดอิน ยูเอสเอ.’ แต่ผู้กำกับและทีมงานส่วนหนึ่งเป็นชาวสแปนิช นักแสดงหลักฝ่ายชายเป็นอังกฤษ (ชาร์ลี ฮันแน่มและไอดริส เอลบ้า) ส่วนฝ่ายหญิง-ริงโกะ คิคูชิ ก็รู้ๆกันอยู่ว่าเธอถือพาสปอร์ตของประเทศอะไร และแน่นอนว่าเดลโทโรไม่หลงลืมที่จะแสดงความคารวะต้นกำเนิดหรือรากเหง้าของหนังที่ว่าด้วยก็อดซิลล่า (หรือปู่ทวดและย่าทวดของเจ้าไคจู) ด้วยการใช้โตเกียวเป็นแบ็คกราวนด์ของฉากที่สะเทือนอารมณ์
แต่จะอเมริกันหรือไม่อเมริกัน อย่างหนึ่งที่สรุปได้แน่ๆก็คือ นี่คือหนังมันสเตอร์ที่ให้ความรู้สึก ‘ฟินเว่อร์’ ในรอบหลายปี และแฟนบอยทั้งในอดีตและปัจจุบัน-สมควรที่จะได้มาร่วมเป็นสักขีพยานต่อปรากฏการณ์กอบกู้และพิทักษ์โลกครั้งนี้โดยพร้อมเพรียง
จากเรื่อง PACIFIC RIM human and the beast โดย ประวิทย์ แต่งอักษร คอลัมน์ Film Critic นิตยสาร HAMBURGER ตีพิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2013