FEATURESMusic Featuresอัลบั้มคลาสสิค - Classic Album

ย้อนอดีต 40 ปี กว่าจะเป็นอัลบั้มคลาสสิค Goodbye Yellow Brick Road

จุดเริ่มต้น
ฤดูใบไม้ร่วงปี 1973 ปีที่วงการเพลงเต็มไปด้วยเรื่องราว ทั้งดรามา, มหัศจรรย์ และลึกลับ มีอัลบั้มหนึ่งที่เยี่ยมยอด โดดเด่น และทำให้กับเจ้าของงานได้มีที่ทางในประวัติศาสตร์ดนตรี รวมไปถึงทำให้เขากลายเป็นศิลปินระดับโลก

[one_half][/one_half]

9 เดือนก่อน พิงค์ ฟลอยด์สร้างจุดสุดยอดของตัวเองด้วย The Dark Side Of The Moon, เดวิด โบวีเลิกใช้ภาพลักษณ์ซิกกี สตาร์ดัสท์, กับยุคหลังอัลบั้ม Exile on Main Street เดอะ โรลลิง สโตนส์ ปล่อยงานอย่าง Goats Head Soup ซึ่งซีเรียสและขายฝีมือมากขึ้น, ส่วนร็อกซี มิวสิค เป็นตัวแทนเรื่องขายเสน่ห์, แต่มาร์ค โบแลนเป็นตัวแทนฝั่งขายความวูบวับ หากก็ยังมีพื้นที่ให้กับศิลปินและเพลงที่เหมาะเจาะลงตัว และเดือนตุลาคม เอลตัน จอห์น ออกอัลบั้ม Goodbye Yellow Brick Road

นี่คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงอมตะ และน่ายกย่องของเอลตัน มีทั้งความสง่างามอย่าง Candle In The Wind ไปจนถึงเพลงเดิร์นๆ ในยุคนั้น Bennie And The Jets รวมไปถึงเพลงที่ปลุกหลายๆ คนให้ตื่นจากฝันที่เป็นชื่ออัลบั้ม 40 ปีต่อมา Goodbye Yellow Brick Road กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และนี่คือเรื่องราวความเป็นมาของอัลบั้ม ที่เริ่มต้นแบบผิดพลาด การทำงานพร้อมเสียงปืนในจาไมกา ส่วนผสมที่ปฏิเสธไม่ได้ และความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำงาน
“เราอยู่บนจุดสูงสุด” เอลตันย้อนถึงตอนที่เขาเตรียมการทำงานอัลบั้มชุดใหม่ หลังออกอัลบั้มมาแล้ว 6 ชุด และมีชื่อเสียงเรียบร้อย Honky Château คืออัลบั้มแรกของเขาที่ขึ้นอันดับ 1 ในอเมริกา ขณะที่อัลบั้มต่อมา Don’t Shoot Me I’m Only The Piano Player ก็ตอกย้ำความสำเร็จครั้งก่อน แถมมีเพลง Crocodile Rock เป็นซิงเกิลอันดับ 1ในช่วงเตรียมทำอัลบั้มใหม่ สัญญาณต่างๆ ล้วนชี้นัยไปในทางที่ดี “เราอยู่ในช่วงแห่งความยินดีปรีดา” เดวีย์ จอห์นสโตน มือกีตาร์ เล่า “มันเหมือนกับว่า เรากำลังอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง”

Elton John   Civic Auditorium San Francisco May 5, 1971   sheet 866อย่างที่รู้กันงานของเอลตัน จอห์น มาจากการทำงานเป็นกลุ่ม แต่เพลงจะเริ่มจากคนๆ เดียว นั่นก็คือมือเขียนเนื้อร้อง เบอร์นี ทอพิน “ทุกอย่างเกิดจากเขา” เอลตันย้ำ “ทุกเพลง ทุกจังหวะ วิธีที่มันออกมาอย่างที่ได้ยิน ซาวนด์ที่มันควรจะเป็น ล้วนถูกกำหนดโดยเนื้อร้อง” กับการแยกกันทำงาน เอลตันจะเอาเนื้อร้องของเบอร์นีมา แล้วร่ายมนตร์ให้เป็นเพลงที่สมบูรณ์ในแบบการทำงานร่วมกัน “มันเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรา” เอลตัน เล่า “ผมอยากบอกอะไรได้มากกว่านี้ แต่ความสนุกและความงดงามในการทำงานของเรา มันเป็นองค์ประกอบที่น่าประหลาดใจ”

เอลตัน และเบอร์นี
เอลตัน จอห์น กับเบอร์นี ทอพิน ที่ทำงานด้วยกันมานาน พบกันครั้งแรก หลังจากเบอร์นีตอบรับประกาศโฆษณาในหนังสือ เอ็นเอ็มอี ของลิเบอร์ตี เรคอร์ดส์ ที่กำลังหาคนทำงานมากพรสวรรค์คนใหม่ แต่ทางเอแอนด์อาร์ของบริษัท เรย์ วิลเลียมส์พบว่า เขามีทักษะด้านเขียนเพลง และร้องเพลงไม่เอาไหน ก็เลยส่งงานที่เบอร์นีเขียนไปให้กับมือเปียโน เรก ดไวท์ (ชื่อจริงของเอลตัน ที่ใช้ทำงานในตอนนั้น) จัดการ

หลังจากเปลี่ยนชื่อ รวมถึงจับคู่ทำงานกันอยู่พักใหญ่ พวกเขาก็กลายเป็นคนทำงานที่มีทั้งความพร้อมและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นทั้งเพื่อนและคู่หูในการทำงาน แม้จะแตกต่างกันทั้งลักษณะนิสัยและรสนิยม “สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เรารับรู้ตั้งแต่วันแรกก็คือ เราต่างเป็นคนที่ชอบแนวทางดนตรีที่หลากหลาย” เบอร์นี อธิบาย “เขามาพร้อมกับเซนส์ในแบบป็อปที่ล้นเหลือ… เรียนรู้เพลงอาร์แอนด์บีของคนอเมริกันผิวดำ แล้วก็โซลมาเป็นอย่างดี ส่วนงานที่ผมชอบก็คืองานที่เล่าเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานคันทรี” เบอร์นีพูดถึงศิลปินอย่าง จอห์นนี แคช, มาร์ตี ร็อบบินส์, วูดี กูธรี รวมไปถึง เดอะ ลูฟวิน บราเธอร์ส ว่าเป็นแรงบันดาลใจของเขา

แม้รสนิยมของเบอร์นีจะแย้งกับเอลตัน ที่ฟังงานร่วมสมัยมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็พบการทำงานที่เป็นตัวของพวกเขาเอง และสอดประสานกันอย่างลงตัว จนกลายเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่าง Your Song เพลงในอัลบั้ม Elton John เมื่อปี 1970 ที่ส่งให้ทั้งคู่เป็นผู้ท้าชิง การเป็นราชาแห่งศิลปินในแบบนักร้อง/ นักแต่งเพลง โดยมีกลิ่นของงานเพลงแบบอเมริกันเจือผสมอยู่บางเบา

BernieTaupin-20120918

เอลตัน จอห์น (ขวา) กับทอพิน

เช่น ทางแบบงานกอสเพลใน Border Song ก่อนที่จะสานต่อด้วยทางของดนตรีคันทรีในอัลบั้ม Tumbleweed Connection ตามด้วยงานที่มีอิทธิพลดนตรีสมัยใหม่มากขึ้น Madman Across The Water แล้วก็ได้กลุ่มคนฟังกลุ่มใหญ่ที่สุดในตอนนั้นด้วย Honky Château “มันเป็นกระบวนการเติบโตอย่างช้าๆ ที่ทำให้รู้สึกได้ว่า มันโอเคเลยกับการค่อยๆ ลองทำอะไรทีละนิดทีละหน่อยในทุกๆ แนวทางเพลง แล้วก็บอกเล่าเรื่องราวด้วยสไตล์ดนตรีที่แตกต่างกัน และผมคิดว่า ที่เป็นที่สุดในการทำงาน บางทีก็คือ อัลบั้ม Yellow Brick Road” เบอร์นียืนยัน

ทีมงาน
ระหว่างการทำงานเริ่มต้น นอกจากเรื่องการแต่งเพลงแล้ว เอลตัน จอห์น ก็ต้องการกลุ่มของนักดนตรีที่สามารถทำให้บทเพลงเหล่านี้มีชีวิต ชีวาขึ้นมาได้ด้วย งานชุดแรกๆ ของทั้งคู่มีนักดนตรีรับจ้างมากมายมาเล่นให้ แต่หนนี้เอลตันอยากได้มากกว่า กลุ่มนักดนตรีที่ออกทัวร์ร่วมกัน มือกลอง ไนเจล โอลส์สัน และมือเบส ดี เมอร์เรย์ ต่างพร้อมทำงานให้อยู่แล้ว ขอแค่เอลตันเรียก พวกเขาเจอกันตอนทำงานห้องอัด และดีกับไนเจลก็มีส่วนร่วมกับอัลบั้มแรกๆ ของเอลตัน ได้ร่วมแสดงโชว์โปรโมทด้วยกันตอนปลายปี 68 “เราเข้าไปที่ห้องอัด ดิค เจมส์ (สังกัดของเอลตัน)” ไนเจล เล่าย้อนอดีต “ผมคงจะบอกได้ว่า 8 บาร์แรกของเพลงแรก ที่เราซ้อมด้วยกัน นั่นคือเพลงสำคัญสำหรับผม มันมีทั้งแรงดลใจ และเป็นเพลงในแบบที่ผมอยากเล่น มันเป็นเพลงที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และผมรู้สึกว่า ไม่มีเพลงไหนที่เหมือนงานของเอลตัน และเบอร์นีเลย นับตั้งแต่เดอะ บีเทิลส์ มันหลอมรวมเข้าด้วยกัน และพอขึ้นเวทีแสดงที่ เดอะ ราวน์ดเฮาส์ พวกเรามองหน้ากันหลังเล่นเสร็จ แล้วก็พูดว่า “’พวกนายรู้อะไรไหม? พวกเราอาจจะอยากออกทัวร์กันต่อ’”

NigelOlsson5

ไนเจล โอลส์สัน

ตอนต้นยุค 70s เอลตันทำวงสำหรับบันทึกเสียงวงหนึ่ง และวงสามชิ้นวงนี้ก็กลายเป็นสี่ ด้วยการเข้ามาเสริมทีมแบบไม่ตั้งใจของเดวีย์ จอห์นสโตน นักดนตรีโฟล์ค ซึ่งเป็นมือกีตาร์จากเอดินเบิร์กห์ ที่ตอนแรกถูกจ้างมาเล่นแมนโดลิน ในอัลบั้ม Madman Across The Water เมื่อวงต้องการลีลาแบบเซลติคในเพลง “เอลตันเป็นคนที่ดูขี้อาย แต่ผมเข้ากันได้ดีกับเขาตั้งแต่หนแรกที่เจอ” เดวีย์ เล่า “เพราะผมคงไปให้คำแนะนำแบบ ‘ทำไมเราไม่เริ่มเพลงนี้แบบนี้ล่ะ?’ เขาคงมองเห็นความกระตือรือร้นในตัวผม ผมดูเหมือนเด็กอายุแค่ 19 ที่กระโดดโลดเต้นไปมา แล้ว ‘นี่อะไรเนี่ย? ลองทำแบบนี้ซิ!’” เอลตันเห็นแววของหนุ่มสก็อทท์รายนี้ และเลือกเป็นมือกีตาร์ไฟฟ้าคนแรก รวมทั้งให้เขาเป็นสมาชิกใหม่ของวง “เขากำลังเรียนรู้เครื่องดนตรีใหม่ๆ และมันก็ช่วยเราในฐานะวงดนตรี ที่จะมีซาวนด์แตกต่างไปจากวงอื่นๆ” เอลตันเล่าถึงความกระตือรือร้น และความคิดใหม่ๆ ที่จะป้อนให้กับงานชุดใหม่

จาไมกา
เมื่อทุกอย่างพร้อม การทำงานจริงๆ ก็เริ่มต้นขึ้น เอลตันตัดสินใจว่า แทนที่จะใช้ ชาโต เดอรูวิลล์ ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงที่ตั้งอยู่นอกเมืองปารีส เหมือนสองอัลบั้มแรก เขากลับเลือกการทำงานที่ให้บรรยากาศแบบเส้นศูนย์สูตรมากกว่า “เดอะ สโตนส์ (โรลลิง สโตนส์) เพิ่งทำอัลบั้ม Goats Head Soup ที่จาไมกา ที่ห้องอัดของไบรอน ลี และเราทุกคนคิดว่า ’เออ!… ได้เวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงละ ไปจาไมกากัน พวกเราจะแต่งเพลงกันที่นั่น ทำตัวสบายๆ แล้วก็อัดเสียงไป’” เบอร์นี ย้อนอดีตให้ฟัง “เพราะงั้นเราเลยไปกันที่จาไมกา ไม่ต้องเล่ากันยาวๆ นะ มันคือหายนะขนานแท้ ห้องอัดแย่ยังกับนรก ไม่มีความสะดวกสบายให้รู้สึกเลย ความตึงเครียดเต็มไปหมด รอบๆ ห้องอัดเต็มไปด้วยพวกรปภ. มีลวดหนามล้อม แถมคนพื้นเมืองก็ไม่ได้เป็นมิตรอีกต่างหาก”

“ห้องอัดเอง กระทั่งแผงมิกซ์เสียงยังไม่มีเลย” ไนเจล พูดพร้อมกับเสียงหัวเราะ “ไมโครโฟนก็ไม่มี พวกเขาบอกว่า ‘ไม่ต้องห่วง พรุ่งนี้ไมค์ก็มาแล้ว’ แต่วันพรุ่งนี้ไม่เคยมาถึงเลย!”

elton-john-4

เดวีย์ จอห์นสโตน (ขวา)

“แล้วโรงแรม!” เอลตันครวญ “ผมต้องนอนเตียงเดียวกับที่แอสตริด (ลุนด์สตรอม ซึ่งถือกันว่าเป็นภรรยาของบิลล์ ไวแมนแห่งสโตนส์ในเวลาต่อมา) ถูกซั่มยับเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อนหน้า”

แต่ที่เกินจะทานทนนั้น ไม่ใช่มีแค่ที่บอกๆ มา “ยังมีกัญชาท้องถิ่นเพียบ เล่นเอาพวกเราเคลิ้มลอยกันทั้งวัน!” เดวีย์ เล่าไปหัวเราะไป “ตอนนั้นจาไมกามันเป็นแบบนั้น มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เลยทำให้เราคิดกันได้ ‘รู้อะไรไหม? คงเป็นเรื่องดีกว่า ถ้าเราจะกลับไปที่ชาโต ที่พวกเรารู้จักดี แล้วก็ชอบ เราจะได้แต่งเพลงที่เหลือที่นั่น”

สัปดาห์เดียวที่จาไมกา งานที่งอกเงยมีแค่เทคแรกของเพลง Saturday Night’s Alright For Fighting ซึ่งฟังเหมือน “พวกคนผิวขาวที่กำลังโกรธ บุกใส่เด็กน้อยที่ถืออมยิ้มอยู่ในมือ” เดวีย์ เสริม ทั้งทีมซึ่งรวมถึง กัส ดัดเจียน โปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับจอห์นมานาน ก็โยกย้ายไปหาสภาพคุ้นเคยของชาโต ซึ่งพวกเขาปรับตัวและทำความคุ้นชินได้อย่างรวดเร็ว จนการทำงานกลายเป็นงานประจำวันก็กลับมา

(ตอนหน้า เจาะลึกการทำงานในอัลบั้ม คลิกอ่านได้ที่ http://bit.ly/1nu03jK)

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.