Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว – THE KING’S MAN การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ลงในเรื่องราวตอนก่อน ของสายลับสุภาพบุรุษ **1/2

เป็นผู้กำกับสายงานเพื่อความบันเทิง ที่มีงานดี ๆ ให้ได้ชมในเครดิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หนังเรื่องแรก ‘Layer Cake’ เมื่อปี 2004 ตามมาด้วย ‘Stardust’ (2007) และดังเปรี้ยงปร้างกับ ‘Kick-Ass’ (2010) ก่อนที่จะปลุกชีพให้กับเหล่าเอ็กซ์-เม็นได้สำเร็จด้วย ‘X-Men: First Class’ (2011) แต่แทนที่จะทำหนังมนุษย์กลายพันธุ์ต่อ แม็ทธิว วอห์นกลับเลือกหยิบงานของมาร์ก มิลลาร์ เจ้าของเรื่อง ‘Kick-Ass’ อีกเรื่องมาทำเป็นหนัง

ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ ‘Kingsman: The Secret Service’ (2015) งานแอ็กชั่นที่มีสไตล์เฉพาะตัว ทั้งงานโปรดักชัน และการเล่าเรื่อง ที่ผสมผสานอารมณ์ขันกวน ๆ มุขแบบอังกฤษ เข้ากับฉากแอ็กชันที่ดูหวือหวา และมาพร้อมความแรงแบบจัดเต็ม ซึ่งตอกย้ำสถานภาพการเป็นคนทำหนังพาณิชย์ที่มี ‘ของ’ เต็มกระเป๋าอีกคนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคนี้ของวอห์นได้เป็นอย่างดี

การกลับมาด้วย ‘Kingsman: The Golden Circle’ ในปี 2017 ทำเอาวอห์นเสียเครดิตไปบ้าง เมื่อหนังไม่มีเสน่ห์อย่างที่เคยพบในหนังภาคแรก และดูจะมีพัฒนาการแค่เรื่องของขนาดลูกระเบิด ความใหญ่โตของฉากแอ็กชัน แต่ด้วยรายได้ระดับ 400 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลก เรื่องราวที่เปิดกว้าง ทำให้ขบวนการสายลับสุภาพบุรุษ คิงส์แมน กลับมาอีกครั้ง แต่ไม่ใช่การสานต่อสิ่งที่ทิ้งเอาไว้ในหนังภาคที่สอง แต่เป็นการกลับไปหาจุดกำเนิดของขบวนการสายลับสุภาพบุรุษ​ที่ไปไกลถึงสงครามโลกครั้งแรก

หลังเสียภรรยาไปดยุกแห่งอ็อกซ์ฟอร์ด – ออร์แลนโด (เรล์ฟ ไฟนส์) ตัดสินใจว่า เขาจะต้องหาทางหยุดยั้งบรรดาความขัดแย้งต่าง ๆ ก่อนที่จะนำไปสู่สงครามใหญ่ให้ได้ โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้สหราชอาณาจักรต้องเข้าไปสู่สงคราม โดยมีสองคนรับใช้ โชลา (ไจมอน เฮาน์ชู) และพอลลี (เจมมา อาร์เทอร์ทัน) เป็นลูกมือ ในขณะเดียวกันเขาก็พยายามกันลูกชาย คอนราด (แฮร์ริส ดิกกินสัน) ให้อยู่ห่างจากเรื่องราวเหล่านี้ แต่คอนราดเองกลับกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเอาตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อป้องกันบ้านเกิดเมืองนอน และกลายมาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในทีมของพ่อในที่สุด

แม้ทั้งสี่จะร่วมกันจัดการรัสปูทิน (รีส์ อิแฟนส์) ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่สามารถหยุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่นเดียวกับที่ออร์แลนโดไม่สามารถรั้งลูกชายไปเป็นหนึ่งในทหารร่วมรบของกองทัพสหราชอาณาจักร สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือ หาทางทำให้สงครามครั้งนี้ยุติลงโดยเร็วที่สุด เพื่อที่คอนราดจะได้กลับบ้าน ด้วยการดึงสหรัฐอเมริกาเข้ามาสู่สงคราม ซึ่งเป็นการยุติแผนการร้ายของคนเลี้ยงแกะ ที่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่าง เยอรมัน-รัสเซีย และสหราชอาณาจักร จนเกิดสงครามใหญ่

หนังได้พล็อตที่เต็มไปด้วยสีสัน ตัวละครที่มีบทบาทในเรื่องของความขัดแย้ง ก็มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ผลลัพธ์หรือชะตากรรมของพวกเขานั้นแตกต่างไปจากที่รู้กันตามหน้าหนังสือ หรือการเล่าขาน จนพูดได้ว่า เนื้อหาของ ‘The King’s Man’ ไม่ต่างไปจากการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ แล้วก็ไม่ไกลจากการจับแพะชนแกะ (ที่น่าตลกก็คือ แพะมีบทบาทในหนังอีกต่างหาก) แต่ก็เป็นการโยงใยในแบบที่ทำออกมาดูสนุก แม้ตัวละครหลาย ๆ รายจะมีบทบาทน้อยไปเมื่อเทียบกับการวางตัวในเรื่อง หรือว่าตัวตนในชีวิตจริง ๆ รวมไปถึงการได้นักแสดงที่น่าจะได้อยู่บนจอนานกว่านี้มารับบท

แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็กลายเป็นเรื่องเล่นสนุกกับคนดูของวอห์น เพราะคนที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวแสบ หรือคนสำคัญไปจนถึงนาทีสุดท้าย กลับไปได้ไม่ไกลนัก จัดว่าเป็นเรื่องหักมุม เป็นสถานการณ์พลิกผันของหนังได้ แล้วในบางที ก็เป็นการพาตัวเองให้พ้นไปจากเรื่องราวที่ดูซ้ำซาก อย่างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกที่มีความขัดแย้งในตัว

หากก็ทำให้หนังดูสะเปะสะปะ หรืออย่างน้อยไม่ชัดเจนว่าจะเน้นไปที่เรื่องราวในแง่มุมไหน หรือใครที่เป็นตัวละครศูนย์กลาง ประเด็นคืออะไร แต่ก็ยังดีที่สามารถจัดการ ตัดแต่งจนเข้ารูปเข้ารอยได้ในท้ายที่สุด แล้วลูกเล่นในการเล่าเรื่องก็มาช่วยทำให้เป็นงานที่ดูสนุก จนกล้อมแกล้มลืม หรือมองข้ามโครงสร้างของเรื่อง ที่ราวกับเป็นการนำเรื่องราวสั้น ๆ มาร้อยต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็กชันที่ถึงจะ ‘ว้าว!’ อย่างฉากในโบสถ์ของหนังต้นฉบับ ที่น่าจะกลายเป็นฉากจำของหนังไปแล้วไม่ได้ แต่ฉากต่อสู้กับ รัสปูทินของออร์แลนโดและทีม ฉากตะลุมบอนในสนามเพลาะ ก็ถือว่า ‘ขาย’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ขันในเชิงเสียดสี ที่เอาผู้นำประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีตัวตนจริง ๆ มาเล่นซะเสีย เมื่อมีพฤติกรรมเทียบเคียงกับผู้นำในยุคหลัง รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนประวัติศาสตร์ก็สร้างความอยากรู้อยากเห็นเหลือเกินว่า จะหาทางลงให้กับสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง แบบไหน

เช่นเดียวกับตัวร้าย ที่ไม่เห็นหน้าเห็นตามาตลอดจนถึงเวลาเฉลย ที่บอกเลยว่า เป็นความเซอร์ไพรส์ในความไม่เซอร์ไพรส์ 😀 และไม่ประหลาดใจเท่ากับการเล่นเป็นพระเอกนักบู๊ของเรล์ฟ ไฟน์ส ที่แม้จะดูเพลินใช้ได้ แต่ด้วยหุ่น และท่วงท่า ก็คงยากจะหากินทางนี้ต่อได้เหมือนเลียม นีสัน ที่สำคัญด้วยหน้าตาที่ดูจริงจัง แม้จะเป็นต้นทางของมุขตลก เป็นต้นเรื่องอารมณ์ขันอยู่หลายครั้ง แต่ก็ดูเป็นทีจริงมากกว่าทีเล่น ที่พอรวมเข้ากับเรื่องความสัมพันธ์พ่อ-ลูก มูลเหตุแห่งการโดดเข้าสู่ภารกิจของตัวละคร อารมณ์ขันของ ‘The King’s Man’ ลดทอนลงไปจากเดิมไม่น้อย เมื่อตลกหน้าตายของไฟน์ส ท่วงท่าที่ดูเหมือนล้อเลียน เสียดสีอะไรบางอย่างของอาร์เทอร์ทันไม่ทำงาน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนดูก็หดหายไปเยอะเหมือนกัน หากเทียบกับหนังเรื่องก่อน ๆ หน้า

ด้วยช่องว่างของเวลาระหว่างหนังเรื่องนี้กับหนังภาคแรก เห็นได้ชัดว่ายังมีอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ ที่เหมาะจะนำมาเล่น แต่ปัญหาก็คือ เมื่อหนังมีเสน่ห์ที่ลดลงเรื่อย ๆ ความตื่นตา หรือความวูบวาบ ฉูดฉาดก็อ่อนแสงไปตามลำดับ ความสดแทบไม่เหลืออยู่ในตัวแบบนี้ มันก็ถึงเวลาของการตั้งคำถามว่า “ไปต่อหรือพอแค่นี้” ได้เหมือนกัน หากทำแล้วออกมาได้แค่อย่างที่เห็น

โดย นพปฎล พลศิลป์

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.