FEATURESMusic Features

ย้อนอดีต 35 ปี ถึงวันที่เมทัลลิกา ทำอัลบัม Kill ‘Em All

เวลาและวารีไม่มีรอคอยใคร เผลอแค่แผล็บเดียว อัลบัม ‘Kill ‘Em All’ ของ Metallica ก็อายุครบ 35 ปีแล้วในปีนี้ โดยงานชุดนี้ได้รับการพิจารณาว่า เป็นอัลบัมแทธรชแท้ๆ ชุดแรกที่ถูกทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้วยพลังในเพลง, เรื่องราว และความหนักหน่วง ที่ไม่ต่างไปจากการลงโทษระเบียบแบบแผนเดิมๆ ของธุรกิจดนตรี แล้วยังเป็นการยกระดับจากสิ่งที่วงซึ่งมาก่อนอย่าง Venom และ Diamond Head ทำเอาไว้ ทั้งในเรื่องของความก้าวร้าวและการแต่งเพลง และกับการทำงานตั้งแต่เริ่มต้น นี่คืออัลบัมที่ทำกันด้วยความประนีประนอมและมีการควบคุมเป็นอย่างดี และจอน ไวเดอร์ฮอร์น เล่าให้ฟังไว้ใน http://965thefox.com และเราเอามาเล่าต่ออีกที

ตอนแรก ชื่อของอัลบัมไม่ใช่ Kill ‘Em All เมทัลลิกาอยากใช้ชื่อว่า Metal Up Your Ass แต่ก็ต้องเก็บเข้ากรุไป เมื่อผู้จัดจำหน่ายสำคัญของค่ายเพลงเมกาฟอร์ซ (Megaforce) ต้นสังกัดของวงยับยั้ง ทำให้เมทัลลิกาถูกบีบให้เปลี่ยนชื่ออัลบัม และจากเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ไคลฟ์ฟ์ เบอร์ตัน (Cliff Burton) มือเบสของวงโวยออกมาว่า “อ้าว… ไอ้นี่นี่, ช่างแม่-เถอะ, ช่างหัวไอ้พวกห่-นั่น ก็แค่ฆ่าแม่- ฆ่าแม่-ให้หมดเลย (Kill ‘em all)” และกลายเป็นชื่ออัลบัมชุดนี้นับจากนั้น

7 เพลงในอัลบัม Kill ‘Em All มาจากงานเดโม No Life Til Leather เมื่อปี 1982 ซึ่งพวกเขาบันทึกเสียงโดยมีเดฟ มัสเทน (Dave Mustaine) เป็นมือกีตาร์ และงานชุดนี้ทำให้วงได้เซ็นสัญญากับเมกาฟอร์ซ หลังจากนั้นเมทัลลิกาก็เตะโด่งมัสเทนออกจากวง และได้เคิร์ค แฮมเม็ทท์ (Kirk Hammett) มาทำหน้าที่แทน พวกเขาได้เพลง “Whiplash, “No Remorse” และ “Anesthesia (Pulling Teeth)” ที่เบอร์ตันโซโลเบสด้วยเสียงที่แตกพร่าเพิ่มเข้ามา แล้วเปลี่ยนเพลง “Mechanix” เป็นเพลง “The Four Horsemen” โดยยกเนื้อร้องของมัสเทนที่ว่าด้วยช่างจอมหื่นออกไป แล้วเปลี่ยนเป็นเรื่องราวเกี่ยวหายนะของโลกจากไบเบิล

ขณะที่จอนนี ซี (Jonny Z หรือ Jonny Zazula) ผู้จัดการของวงและประธานของค่ายเพลง อยากให้แฮมเม็ทท์อัดเสียงกีตาร์ลีด เลียนแบบมัสเทนทุกเม็ดในเพลง “No Life Til Leather” แต่แฮมเม็ทท์ที่อยากจะสร้างงานในแบบของตัวเองแย้งเต็มที่ และในที่สุดพวกเขาก็ตกลงกันว่างานโซโลกีตาร์ของเพลงนี้จะเริ่มด้วยภาษาของมัสเทน แต่จะจบด้วยการแต่งของแฮมเม็ทท์

“ในฐานะเด็กอายุ 20 ปี ที่มาอยู่ในสถานภาพแบบนี้ คุณไม่อยากทำให้เกิดความวุ่นวายหรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเด็กใหม่” แฮมเม็ทท์ เล่าไว้ในหนังสือ Birth School Metallica Death ที่เขียนโดย พอล แบรนนิงแกน (Paul Brannigan) และ เอียน วินวูด (Ian Winwood) “ผมเลยบอกว่า ได้ และเมื่อผมเปลี่ยนมันให้ออกมาดีกว่าเดิม ทุกคนก็ชอบมัน”

เนื่องจากจอนนี ซี เป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียงอินดี ที่ตั้งค่ายเมกาฟอร์ซขึ้น ด้วยความหวังว่าจะปล่อยอัลบัมของเมทัลลิกาออกมาง่ายๆ เขาเลยจัดการทุกขั้นตอนการทำงานแบบด้นสด และมีงบแค่นิดหน่อยในการทำอัลบัม “ง่ายๆ เลยนะผมทำทุกอย่างไปโดยมีประสบการณ์น้อยมาก” เขาบอกกับ ไวเดอร์ฮอร์น ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่ถูกใช้ในหนังสารคดีเรื่อง Louder Than Hell: The Definitive Oral History of Metal “และผมก็ยากที่จะทำให้มันเป็นไปด้วยดี”

ซาซูลาจองห้องอัดที่มิวสิค อเมริกา เรคอร์ดิง สตูดิโอให้กับวง และใช้ทีมงานอย่าง พอล เคอร์ซิโอ (Paul Curcio) ที่เคยทำงานกับ the Doobie Brothers ในปี 1971 เป็นโปรดิวเซอร์, คริส บูแบ็คซ์ (Chris Bubacz) ที่เคยเป็นเอ็นจิเนียร์ให้วงร็อค The Rods มาดูแลการทำงาน โชคดีที่เมทัลลิการู้ดีว่าตัวเองต้องการอะไร และฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นเวลาหลายสัปดาห์จนทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ที่ เดอะ มิวสิค บิลดิง ในควีนส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาขึ้นแสดงสดขณะอยู่ที่นิว ยอร์ค และในวันที่ 10 พฤษภาคม 1983 พวกเขาก็เริ่มบันทึกเสียงงานชุดนี้

”การได้นั่งในห้องขนาด 10 X 12 ตอนปลายปี ‘82 ที่ล้อมรอบไปด้วยแอมป์ ฟังเพลงพวกนั้นจากอัลบัม Kill ‘Em All ที่พวกเขาเล่นก่อนหน้าที่อัลบัมจะออกมา มันเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่เท่ที่สุดในชีวิตของผมได้เลยนะ” สก็อทท์ เอียน (Scott Ian) มือกีตาร์ของ Anthrax เขียนไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำ I’m the Man: the Story of That Guy From Anthrax “พวกเขาร้อนระอุโคตรๆ อย่างกับมีเปลวไฟแล่บออกมาจากนิ้วของพวกเขาเลยนะ พวกเขาพร้อมที่จะบันทึกเสียงกันแล้ว ทุกครั้งที่ผมได้ฟังพวกเขาเล่น มันสร้างแรงบันดาลใจได้สุดๆ”

ตอนที่เมทัลลิกาเริ่มบันทึกเสียงอัลบัม Kill ‘Em All พวกเขามีอารมณ์และความกระหายมากกว่าตอนที่ทำ “No Life Til Leather” ที่เห็นชัดๆ ก็คือ เสียงร้องของเจมส์ เฮ็ทฟิลด์ (James Hetfield) เปลี่ยนจากเสียงโหยหวน อิ่มๆ แกว่งๆ มาเป็นก้าวร้าว หยาบกระด้าง กึ่งๆ มีเมโลดี ซึ่งเป็นเสียงร้องที่เขาใช้ในสามอัลบัมแรกของวง

พอล เคอร์ซิโอ (Paul Curcio) โปรดิวเซอร์ และคริส บูแบ็คซ์ (Chris Bubacz) เอ็นจิเนียร์ ต่างไม่เคยบันทึกเสียงดนตรีที่ดังและมีลักษณะคุกคามมาก่อน เลยเตรียมอุปกรณ์ในห้องอัดเหมือนวงร็อคทั่วๆ ไป พอรู้สึกว่าระดับเสียงของแผงมิกเซอร์มันดันสูงขึ้น หรือว่าแตกจนเกินไป พวกเขาก็พยายามชดเชยด้วยการปรับปุ่มลดเสียงลง ซาซูลา (Jonny Z หรือ Jonny Zazula) เจ้าของค่ายเพลงต้นสังกัดของวง ก็ไม่ชอบเสียงมิกซ์สุดท้าย เขารู้สึกว่าเสียงกลองดังเกินไป และเสียงกีตาร์ก็ไม่บาดมากพอ โปรดิวเซอร์เลยดันเสียงกีตาร์เพิ่มขึ้น และลดเสียงกลองลงเล็กน้อย ที่น่าสนใจก็คือ สมาชิกของเมทัลลิกาไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในห้องด้วยเลย ขณะที่บูแบ็คซ์มิกซ์เสียงใหม่

“ผมรู้สึกผิดหวังเสมอ เมื่อได้ยินมันอีกในหลายปีต่อมา” บูแบ็คซ์บอกไว้ใน หนังสือ Birth School Metallica Death ที่เขียนโดย พอล แบรนนิงแกน (Paul Brannigan) และ เอียน วินวูด (Ian Winwood) “แต่กับสภาพแวดล้อมในตอนนั้น ทุกอย่างมันใช้ได้”

45 วันหลังจากเมทัลลิกเดินเข้าห้องอัด มิวสิค อเมริกา เรคอร์ดิง สตูดิโอ อัลบัม Kill ‘Em All ก็เสร็จเรียบร้อย ซาซูลาเชื่อมั่นว่าเมทัลลิกาจะประสบความสำเร็จ เลยจัดการลงเงินไปเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การตอบรับของแฟนเพลงที่มีต่ออัลบัมชุดนี้ แทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้รับความสนใจเลยก็ว่าได้

ตอนที่ซาลูลาเอาบ้านในนิว เจอร์ซีย์จำนองเป็นหนสอง เพื่อเอาเงินไปโปรโมท Kill ‘Em All ตอนนั้นอัลบัมยังไม่ติดชาร์ทอัลบัมบิลล์บอร์ด 200 เลยด้วยซ้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่เพราะเมกาฟอร์ซปั้มแผ่นออกมาขายในช่วงแรกๆ แค่ 1,500 ก็อปปีเท่านั้น ศิลปินแฮร์เมทัลคือพวกที่ครองชาร์ท และศิลปินอย่าง Ratt หรือว่า ออซซี ออสบอร์น (Ozzy Osbourne) คือคนที่สื่อหลักๆ มองว่าเป็นดนตรีที่ ‘หนัก’ ส่วนเพลงของ Motörhead ถูกมองว่าเป็นงานที่ไม่ปกติ

ในเวลานั้นนั่นเอง Kill ‘Em All ค่อยๆ สร้างแรงกระเพื่อมจากแวดวงดนตรีเฮฟวี เมทัลใต้ดิน ที่ได้รับแรงกระตุ้นจากวงอย่าง แอนแธร็กซ์, Slayer, Overkill และ Testament ที่เพิ่มความเร็วของดนตรี, แก่งแย่งชิงดีกัน เพื่อเป็นเจ้าแห่งความหนักหน่วง ซึ่งนิตยสารของแฟนเพลงแนวนี้อย่าง คิก-แอสส์ รายเดือน (Kick-Ass Monthly) ก็พยายามสร้างกระแสการต่อสู้ในแวดวงดนตรีใต้ดินว่าใครที่เล่นเร็วกว่ากัน ระหว่างเมทัลลิกากับสเลเยอร์

แม้จะไม่ใช่งานที่มีความสมบูรณ์แบบ แต่ Kill ‘Em All ก็สามารถยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้ ถึงเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แฟนๆ ก็ยังร้องกระหึ่มไปเวลาเมทัลลิกาเล่นเพลง “Seek & Destroy” “Metal Militia” และ “Whiplash” ที่บางครั้งถึงกับร้องตามไปทั้งเพลง ซาวนด์ของอัลบัมอาจจะดูเหมือนพ้นสมัย แต่อิทธิพลที่มีต่อประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว นี่คืองานที่ยืนอยู่เทียบเคียงกับงานคลาสสิคของ Black Sabbath อย่าง Paranoid, Number of the Beast ของ Iron Maiden และ Screaming For Vengeance ของ Judas Priest ได้สบายๆ

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง ย้อนอดีต 35 ปี ถึงวันที่เมทัลลิกา ทำอัลบัม Kill ‘Em All คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 16-17 พฤษภาคม 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.