FEATURESMovie Features

เผยความลับแปดตัวละครหญิงสุดแกร่งในโลกภาพยนตร์ ที่ตอนแรกคือบทของผู้ชาย

นอกจากจะมีตัวละครแมนๆ เป็นฮีโรบนจอแล้ว หนังหลายๆ เรื่อง ยังมีตัวละครหญิงแกร่งมากมายให้ได้จดจำ อย่างล่าสุด บทฟูริโอซา ของชาร์ลิซ เธอรอน ใน Mad Max: Fury Road ก็ใช่ แล้วยังมีตัวละครในซีรีส์ Transparent หรือ Orange Is the New Black อีก แต่รู้หรือไม่ว่า ในหนังบางเรื่อง ซีรีส์บางชุด บทผู้หญิงแกร่งๆ เหล่านี้ แท้จริงแล้ว ถูกเขียนให้เป็นผู้ชายในตอนแรก ก่อนจะเปลี่ยนแปลงในภายหลัง และนี่คือส่วนหนึ่งของตัวละครเหล่านี้ ที่โจแอนนา โรบินสัน จากเว็บไซต์ Vanity Fair สรรหามาเล่าให้อ่านกัน

Karsi

เบียร์จิตต์ ฮยอร์ท ซอเรนเซน – Game of Thrones: คาร์ซี คือหนึ่งในตัวละครที่ผู้ชมต่างหลงใหลในทันทีที่เห็น เธอคือแม่คนเถื่อนผู้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญแห่งฮาร์ดโฮม ซอเรนเซนพูดถึงตัวละครที่เธอรับบทเอาไว้ว่า “ฉันไม่เคยคิดถึงเพศของคาร์ซีนะ เธอเป็นนักรบที่ตั้งใจปกป้องเผ่าพันธุ์ของเธอ เหมือนที่คนอื่นๆ เป็น การเป็นผู้หญิงไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรแบบนั้น” การแสดงของซอเรนเซน ถือว่าทำได้อย่างมีเหตุมีผล แต่จริงๆ แล้วแรกเริ่มเดิมทีนี่คือตัวละครชาย มิเกล ซาพอชนิค ผู้กำกับเฉลยว่า “ตอนแรกตัวละครนี้จะเป็นผู้ชาย และจากจุดไหนสักแห่งในกระบวนการทำงาน เราก็คิดกันว่า คงเท่ดีนะถ้าให้เธอเป็นแม่ และลูกๆ ของเธอเป็นตัวสร้างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเด็กๆ กลายเป็นศพในเวลาต่อมา”

แองเจลินา โจลี – Salt: บทนี้เป็นที่รู้กันว่า ถูกวางไว้ให้กับทอม ครูซตั้งแต่ทีแรก แต่แล้วเขากลับบอกผ่าน ทำให้เอ็ดวิน ซอลท์ กลายเป็น เอฟเวอลีน ซอลท์ อย่างที่เห็น ผู้อำนวยการสร้าง ลอเรนโซ ดิ โบนาเวนตูรา เผยถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “เมื่อคุณมองตัวละครตัวนี้ จากมุมมองทางธุรกิจที่ไม่มีอคติ นี่คือวิธีที่ดีกว่าสำหรับการทำหนังแนวนี้ กับการที่มี Mission Impossible และ Bourne แล้วก็ Bond คุณกำลังจะสร้างสายลับคนที่สี่ขึ้นมา เราเลยคิดว่า ‘งั้นมาสร้างสายลับหญิงคนแรกกันดีกว่า’” ซึ่งทำให้ต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างของบทกันใหม่ ขณะที่เอ็ดวิน ซอลท์ ก็มาแบบเดียวกับตัวละครจาก Taken ที่ต้องปกป้องลูกและภรรยา ทางผู้อำนวยการสร้างของหนังเรื่องนี้ คิดว่าเอฟเวอลีน ซอลท์ของโจลีอาจจะนุ่มนวลเกินไป หากแสดงออกถึงความเป็นแม่ในตัว ก็เลยเปลี่ยนให้เธอเป็นศาลเตี้ยที่ไม่มีลูกแทน

เจน ลีนช์ – The 40-Year-Old Virgin: ตามที่เจ้าตัวว่าเอาไว้ บทของเธอในหนังเบาสมองสุดฮิตของจัดด์ อะพาโทว์เรื่องนี้ วางเอาไว้ว่าเป็นผู้ชาย จนกระทั่งแนนซี วอลล์ส ภรรยาของสตีฟ คาร์เรลล์ เอ่ยออกมาว่า หนังมีผู้ชายเยอะไปแล้ว ลีนช์เลยถูกเลือกมารับบทนี้ และนี่ไม่ใช่หนแรกที่เธอต้องรับบทที่เคยเป็นตัวละครชายมาก่อน บทที่เธอเล่นในหนัง The Fugitive ทีแรกก็คือผู้ชาย ซึ่งลีนช์พูดถึงบทเจ้าหน้าที่หลายๆ บทที่เธอเล่นเอาไว้ว่า “เหมือนหมอ เหมือนจิตแพทย์” ซึ่งตั้งใจแต่แรกวาเป็นบทของผู้ชาย

โรซาลินด์ รัสเซลล์ ใน His Girl Friday: หนังฮิตสุดคลาสสิคจากปี 1940 ที่สร้างจากบทละครเรื่องดัง The Front Page ซึ่งในเวอร์ชันละคร บทฮิลดีเป็นผู้ชายชื่อฮิลเดแบรนด์ จอห์นสัน ไม่ใช่ผู้หญิงที่ชื่อฮิลเดการ์ด และความสัมพันธ์หลักที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ก็เป็นของตัวละครผู้รายงานข่าวกับบรรณาธิการของเขา แต่โฮเวิร์ด ฮอว์คส์ ผู้กำกับระดับตำนานของฮอลลีวูด ที่กุมบังเหียนหนังเรื่องนี้ ไม่อยากฟังผู้ชายสองคนมาอ่านบทกัน เลยให้เลขามาอ่านบทของฮิลดีแทน และพอได้ยินแล้ว เขาก็รู้สึกว่า “บทมันดูเข้าท่ากว่า ถ้าเป็นแบบนี้” ผู้เขียนบทละคร – เบน เฮชท์ เลยต้องเปลี่ยนเพศตัวละครตามคำขอของเขา และผู้เขียนบทก็ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างวอลเตอร์ เบิร์นส์ และจอห์นสัน จากคนที่เชี่ยวชาญในงานของตัวเองสองคน เป็นสองผู้บริหารที่มักมีเรื่องทะเลาะกัน ผลลัพธ์ก็คือรัสเซลล์สร้างตัวละครที่เยี่ยมยอดในยุคหนังเบาสมองแบบสครูว์บอลล์ขึ้นมา และฮิลดี จอห์นสันในเรื่อง ก็เป็นคนที่ได้รับการนับถือพอๆ กับที่บรรดาตัวละครนักข่าวชายได้รับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูก้าวหน้ามากสำหรับหนังจากปี 1940

เกรซ โจนส์ – Conan the Destroyer: บทซูลาของโจนส์ ถูกเขียนไว้ว่าเป็นนักรบชาวดาร์ฟาเรียนเพศชาย และเป็นหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ของชนเผ่านี้ แต่แล้วบทก็ถูกเปลี่ยน และเกรซ โจนส์ ที่ดูเป็นผู้หญิงที่คล้ายผู้ชาย เจ้าของความงามแปลกๆ ในยุค 80 ก็ก้าวมารับบทนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นตัวละครที่บทบาทโดดเด่น แต่โจนส์ยังปรากฎตัวบนจอด้วยภาพลักษณ์เท่ๆ และมีผิวมันปลาบตลอดเรื่อง ซึ่งกับตัวละครนำของอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ก็ไม่ต่างกัน

battlestar_galactica_katee_sackhoff

เคที แซ็คฮอฟฟ์ – Battlestar Galactica: โรนัลด์ ดี มัวร์ ผู้สร้างสรรค์ซีรีส์ฮิตของปี 2004 ที่รีบูทซีรีส์จากยุค 1970 อีกทีเล่าว่า เขาตัดสินใจเปลี่ยนตัวละครสตาร์บัคเป็นผู้หญิง เพื่อเลี่ยงการถูกมองว่าเป็นตัวละครที่คล้ายกับฮัน โซโล ”การเปลี่ยนสตาร์บัคเป็นผู้หญิง คือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผมรู้สึกว่า เป็นตัวละครแบบ ‘นักบินเจ้าเล่ห์ ที่หัวจิตหัวใจงดงาม’” มัวร์ยังบอกอีกว่า เขาคิดว่าบท คารา เธรซ (สตาร์บัค) ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถเล่าเรื่องในมุมมองใหม่ๆ ได้ด้วย “ความคิดเรื่องการมีผู้หญิงอยู่ในกองทัพ เป็นความคิดใหม่ๆ ที่น่าจะเอามาใช้” ขณะที่ศาสตราจารย์ทางด้านสตรีศึกษา – ซู เบรนแนน ที่ใช้ซีรีส์ Battlestar Galactica มาเป็นส่วนหนึ่งในการสอนวิชา Gender, Race and Sexuality in Pop Culture ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท พูดถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นการกระทำที่หนักข้อไป ‘พวกเขากล้าดียังไง ที่มาเปลี่ยนตัวละครรายนี้ พวกเขาสามารถเปลี่ยนตัวละครสตาร์บัคเป็นเพศหญิงได้ด้วยเหรอ?’” ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ พวกเขาทำได้ ความสามารถของเธรซ บางทีอาจจะถูกตั้งข้อสงสัยเหมือนๆ กับความรอบรู้ของเธอ แต่ไม่เคยมีใครใส่ใจกับเพศของเธอ” บทอีสาวดื่มหนัก และสูบซิการ์เป็นโรงสีของแซ็คฮอฟฟ์ กลายเป็นขวัญใจคนดู และสร้างความหลากหลายให้ตัวละครในเรื่องได้ตั้งแต่ตอนแรกที่ออกอากาศ

โจดี ฟอสเตอร์ – Flightplan: คงไม่มีใครเถียงว่า บทคุณแม่จิตแตกของโจดี ฟอสเตอร์ในหนังเรื่องนี้ ถือเป็นหนึ่งในบทคลาสสิคของเธอ แต่มันน่าสนใจตรงที่ว่า นี่คือบทที่เขียนให้นักแสดงชาย และเธอก็เล่นบทของผู้ชายมาหลายหน ล่าสุดก็เมื่อปี 2013 ใน Elysium การทำงานตั้งแต่ Panic Room มาถึง Flightplan แสดงให้เห็นว่าฟอสเตอร์รับบทผู้ปกครองจอมแกร่งมาก่อนเลียม นีสันซะอีก ตอนแรกผู้กำกับโรเบิร์ท ชเวนเก ต้องการให้ฌอน เพนน์มารับบทนี้ แต่แล้วเขาก็รู้สึกว่า น่าจะต้องเติมความอ่อนแอให้กับตัวละคร ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนเพศ “เมื่อคุณมีตัวเอกเป็นผู้ชาย” เขากล่าว “มันจะมีความโดดเด่นให้คุณเอาไปเล่นได้แน่ๆ หากให้ตัวละครชายรายนี้ ไปเดินบนถนนตามลำพังยามดึกดื่นในเบอร์ลิน โดนเสื้อโค้ทของเขาปลิวไสว คนดูจะรู้สึกว่า ‘อ๋อ… นั่นคือตัวแทนของความอ้างว้าง’” ชเวนเก พูดต่อ “แต่พอเป็นผู้หญิง คุณจะตั้งข้อสงสัยว่า ‘เธอออกมาทำบ้าอะไรบนถนนในตอนตีสามวะ’”

ซิกัวร์นีย์ วีเวอร์ – Alien: บางทีบทเอลเลน ริปลีย์ อาจจะเป็นการเปลี่ยนเพศที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาตร์ภาพยนตร์ ผู้กำกับริดลีย์ สก็อทท์ เป็นคนที่ตัดสินใจเปลี่ยนตัวละครแอ็คชันชายตามมาตรฐาน กลายมาเป็นฮีโรหญิง ซึ่งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงการเล่าเรื่องครั้งใหญ่ “ผมมีความคิดว่า คนดูจะคิดยังไงถ้าริปลีย์เป็นผู้หญิง? เธอคงเป็นคนสุดท้ายที่คุณคิดว่าน่าจะรอดชีวิต และเธอสวย” การตัดสินใจของสก็อทท์ยังกลายเป็นการสร้างสตรีฮีโรที่มีลักษณะเฉพาะตัว ในยามที่โลกภาพยนตร์เต็มไปด้วยฮีโรล่ำๆ เพศชาย เขาทำให้เธอกลายเป็นฮีโรในหนังที่เจ๋งที่สุด และในปี 2009 นิตยสารเอนเตอร์เทนเมนท์ วีคลี ก็ยกให้ริปลีย์เป็น “หนึ่งในตัวละครหญิงรายแรกๆ ที่ไม่ถูกจำกัดความสำคัญโดยบรรดาผู้ชายที่อยู่รายรอบเธอ หรือจากความสัมพันธ์ที่เธอมีต่อพวกเขา”

จากเรื่อง 8 ตัวละครหญิงสุดแกร่ง ที่ตอนแรกเธอคือผู้ชายโดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1188 ปักษ์หลัง กรกฎาคม 2558

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.