FEATURESMusic FeaturesMusic Scoop

เพลงเพราะๆ ที่ว่าด้วยเรื่องของแม่ รับวันแม่ จากควีน ไปจนถึงเดอะ บีเทิลส์, ฟิงค์ ฟลอยด์ และจอห์น เล็นนอน

รับวันแม่แบบฮิป ที่ในยุคนี้ฟังเพลงกันได้โดยไม่ต้องมีแผ่น ไม่ต้องโหลดเพลง ก็มีให้ฟังเป็นล้านๆ ในระบบเช่าเหมาจ่ายรายเดือน (เออ… ฟังคุ้นๆ นะ) แถมยังจัดเพลย์ลิสท์ได้เอง เรียงเพลง เลือกเพลงทำเป็นอัลบั้มพิเศษของตัวเองเอาไว้ฟังได้ต่างหาก

เลยขอนำเสนอการฟังเพลงแบบฮิปๆ ของยุคนี้ ที่เรียกว่าสตรีมมิง ด้วยการจัดเพลย์ลิสท์รับวันสำคัญประจำเดือนสิงหาคม วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาฯ เผื่อใครที่ใช้บริการฟังเพงสตรีมมิงของบ้านเราที่มีอยู่ 3 เจ้า ดีเซอร์, เคเคบ็อกซ์ และอาร์ดิโอ จะได้เลือกไปลอกจัดเป็นเพลงลิสท์ Mom’s Songs ที่นอกจากจะได้เพลงดีๆ ความหมายดีๆ เอาไว้ฟังล็อตหนึ่งแล้ว ก็ยังสามารถเช็คผู้ให้บริการของเราได้ด้วยว่า เพลงในคลังน่ะ มีเยอะไหม จะได้รู้ว่าไอ้ที่ใช้ๆ บริการอยู่ทุกวันนั้น มันเจ๋งหรือเปล่า โดยจะสรรหาคัดมากันทุกแนว ทุกสไตล์ ลองอ่านไล่เรียงแล้วลองหาฟังกันดูได้

Tie Your Mother Down ของ ควีน (Queen) จากอัลบั้ม A Day at the Races (1976): เริ่มกันที่เพลงเกี่ยวกับแบบเกรียนรุ่นเก๋า เพราะถ้าจะเอาแต่เพลงเกี่ยวกับแม่หวานๆ นวลๆ นั้น มันก็เลี่ยนตาย ในเพลงนี้ที่ไบรอัน เมย์ มือกีตาร์ของควีนเป็นคนแต่ง พบว่า เฟรดดี เมอร์คิวรี ย้ำถึงความปรารถนาของเขา ที่ไม่เพียงจะเพิกเฉยกับคำแนะนำแบบคุณหนูเด็กดีจากแม่ของเขา แต่ยังพยายามจำกัดการทำสิ่งต่างๆ ของเธออีกต่างหาก อย่างที่เนื้อเพลงว่าไว้ “It’s gotta be tonight my little schoolbabe, your momma says you don’t /And your daddy says you won’t / And I’m boilin’ up inside / Ain’t no way I’m gonna lose out this time / Tie your mother down.”

จากการให้สัมภาษณ์ในปี 1976 เมอร์คิวรีถูกถามว่า ทำไมต้องจับแม่มัดเอาไว้? เขาตอบว่า “เอ่อ… เพลงนี้จริงๆ แล้วเป็นเพลงที่ไบรอัน เมย์เขียนนะ ผมไม่รู้ว่าเพราะอะไร บางทีเขาอาจเพราะเขาอยู่ในอารมณ์หงุดหงิดเต็มที่มั้ง ผมว่าเขาพยายามจะเอาชนะผม หลังจากผมแต่ง Death on Two Legs ออกมา”


Mama I’m Coming Home ของ ออซซี ออสบอร์น จากอัลบั้ม No More Tears (1991): อย่างที่ทุกคน หรือใครๆ ก็รู้ เพลงเกี่ยวกับแม่เพลงนี้ของออซซี จริงๆ แล้วเป็นเพลงที่เกี่ยวกับชารอน แม่ของลูกๆ ของป๋าเขาล่ะ แต่รูปแบบของความรักที่ออซซีร้องถึงสิ่งต่างๆ ในเพลงนี้นี่ซิ ที่ทำให้มันพิเศษสุดๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนและยืนกรานให้เขาละๅเลิกนิสัยเล่นยาทั้งหลายให้หมด ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากแม่ที่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้นกับเนื้อร้องอย่าง “I’ve seen your face a hundred times / Every day we’ve been apart / I don’t care about the sunshine / Cause mama, I’m coming home” มันก็จับ-เกาะ-รวบรวมอารมณ์ของใครบางคนที่กำลังเดินทางไกล เพื่อกลับไปหาแม่ได้อย่างสุดๆ และไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ผู้ชายที่ดูน่ากลัวอย่างออซซี จะเรียกชารอนว่า มาม่า จริงๆ ในชีวิต


Mother’s Little Helper ของ เดอะ โรลลิง สโตนส์ (The Rolling Stones) จากอัลบั้ม Aftermath (1966)
กับงานเก่าแก่ อายุขัยยาวนาน เป็นงานเพลงระดับคลาสสิคของเดอะ สโตนส์ สำหรับคุณแม่ทั้งหลาย ที่ติดอยู่กับการที่ไม่สามารถเติมเต็มโลกในชีวิตชานเมืองของลูกๆ ที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น สเต็คที่เย็นชืด และ เค้กสำเร็จรูป แต่โชคดีที่เธอสามารถหายากดประสาทชั้นเยี่ยม เท่าที่โลกในช่วงกลางยุค 60s สามารถหาได้สำเร็จ

“And though she’s not really ill / There’s a little yellow pill / She goes running for the shelter of a mother’s little helper / And it helps her on her way, gets her through her busy day.” แน่นอน อะไรที่ดูเหมือนว่าจะเป็นทางลัดนั้น มักจะจบลงด้วยความสูญเสียที่มากกว่าที่คิดเอาไว้…

งานคลาสสิคของเดอะ โรลลิง สโตนส์ชิ้นนี้ อาจจะฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หากฟังกันอย่างลึกซึ้งแล้ว แค่ชื่อเพลงก็พาดพิงได้ไปถึงยาตามใบสั่งแพทย์ ที่ใช้โดยแม่บ้านผู้เปลี่ยวเหงานั่นเอง

Mother ของฟิงค์ ฟลอยด์ (Pink Floyd) จากอัลบั้ม The Wall (1979): บางครั้ง ความรักของแม่ก็มักจะกลายเป็นเรื่องที่ “มาก” เกินไป และชวนให้อึดอัด โดยเฉพาะในช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ที่กำลังเริ่มต้นช่วงเวลาโรแมนติคในชีวิตของตัวเอง และมันก็จะหนักข้อขึ้นไปอีก หากเป้าหมายของแม่ ก็คือ ไม่ปล่อยให้ใครที่ดูสกปรก รกเรื้อน ผ่านเข้ามา ถึงแม้ว่าโรเจอร์ วอเทอร์ส ที่แต่งเพลงนี้เอาไว้ จะอธิบายออกมาอย่างรวดเร็วหลังเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาว่า แม่ของเขาเองไม่มีอะไรที่เหมือนผู้หญิงปากร้ายดูป่าเถื่อนเหมือนอย่างที่เห็นในหนังเพลงเรื่อง The Wall แต่เป็น “ความคิดที่ว่าพวกเราถูกควบคุมโดยมุมมองในเรื่องอย่างเซ็กส์ ของพ่อ-แม่เรา โดยเฉพาะพวกแม่เลี้ยงเดี่ยวของเด็กๆ ผู้ชาย สามารถทำให้เซ็กส์กลายเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสกว่าที่มันต้องเป็น”

Mother ของ จอห์น เล็นนอน (John Lennon) จากอัลบั้ม John Lennon/Plastic Ono Band (1970): เวลาผ่านไป 2-3 ปีหลังจากเปิดเผยให้เห็นถึงความทรงจำที่สุขสันต์ของแม่ที่แยกตัวจากไปในเพลง Julia เล็นนอนปล่อยการครวญคร่ำทางดนตรี ถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาสั้นๆ เนื้อร้องกับเสียงร้องที่ดิบกร้าวแสดงให้เห็นความทุกข์ทนจากความตายในช่วงวัยชีวิตไม่มากนักของแม่ และความรู้สึกถึงการถูกทรยศจากความจริงที่ว่า เธอปล่อยปลดการดูแลเขาในช่วงเยาว์วัยไปให้กับมีมี่ พี่สาวของเธอเอง

“Mother, you had me but I never had you / I wanted you, you didn’t want me / So I, I just got to tell you / Goodbye, goodbye.”

จริงๆ แล้วเพลงนี้ของจอห์น เล็นนอน แต่งให้กับทั้งแม่และพ่อ โดยพ่อนั้นจากเขาไปตั้งแต่ยังเป็นทารกน้อยๆ และแม่ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในตอนที่เขาอายุเพียงแค่ 17 ปีเท่านั้นเอง โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงขึ้นมา หลังจากไปเข้ารับการบำบัดกับ ดร. อาร์เธอร์ จานอฟ (Dr Arthur Janov) ซึ่งตอนแรกทำกันที่บ้านของพวกเขาในทิทเทนเฮิร์สท์ ปาร์ค แล้วไปเป็นสถาบัน เดอะ ไพรมัล อินสติติวท์ ที่แคลิฟอร์เนีย โดยใช้เวลาถึง 4 เดือน ในท้ายที่สุดเล็นนอนก็แสดงอาการเยาะเย้ยจานอฟออกมา หลังจากในตอนแรกบอกว่า การบำบัดในครั้งนี้เป็น “บางสิ่งที่สำคัญกับเขายิ่งกว่าเดอะ บีเทิลส์ซะอีก”

(พรุ่งนี้มีต่ออีกตอนนะครับ)
จากเรื่อง จัดเพลย์ลิสท์ฟังเพลงรับวันแม่ โดย ลุงทอย นิตยสาร Hip เชียงใหม่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.