FEATURESMovie Features

เรื่องเล่าถึงผู้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตัวร้ายในหนังซูเปอร์ฮีโร คิลเลียน เมอร์ฟี จาก Batman Begins

หนังไตรภาค Dark Knight trilogy ของคริสโตเฟอร์ โนแลน คืองานที่ไม่ต่างไปจากเสาหินสูงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านในวัฒนธรรมป็อป แต่กับหนัง Batman Begins ที่อายุผ่าน 15 ปีในปี 2020 อาจเป็นงานที่ง่ายสำหรับการลืมเลือน ทั้งๆ ที่เป็นหนังมนุษย์ค้างคาวเรื่องแรก นับตั้งแต่โจล ชูมาเคอร์เอาหัวนมยางมาติดบนชุดมนุษย์ค้างคาว แล้วยังไม่ใช่หนังที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย หากพูดถึงบรรดาหนังมนุษย์ค้างคาว ที่เห็นได้ชัดก็คือ นี่เป็นเรื่องของมหาเศรษฐีพันล้านป่วยทางจิต ที่แต่งตัวเป็นหนูมีปีกแล้วประเคนเข่า-เท้า-ศอกใส่พวกอาชญากร จนพวกมันตกอยู่ในอาการโคมา เขากลายเป็นนักธุรกิจจอมเครียดในเรื่องนี้ และจากที่เห็นกันในหนังเรื่องต่อๆ มา พิมพ์เขียวที่วางเอาไว้ในหนังยังใช้งานได้ดี เมื่อมนุษย์ค้างคาวในเรื่องต่อๆ มายังคงเป็นซูเปอร์ฮีโรที่มีความซีเรียสเฉพาะตัว

ใน Batman Begins ยังมีอะไรหลายๆ อย่าง ที่แสดงให้เห็นความเป็นไปดังต่อไปนี้ โนแลนเป็นคนทำหนังที่ว่ากันแต่เนื้อๆ, เสียงพูดของมนุษย์ค้างคาวโดยคริสเตียน เบล ฟังดุดันเหี้ยมเกรียม, เมืองก็อทแฮม ไม่มีอะไรที่ดูหน่อมแน้ม แต่ในเงาของโจเกอร์ ที่ทำให้ฮีธ เล็ดเจอร์คว้ารางวัลออสการ์ และเบน ที่ราวกับหลุดออกมาจากโรงยิม และมีความเป็นดรามาในตัวของทอม ฮาร์ดี ส่วนสำคัญของสูตรลับสำหรับตัวละครเหล่านี้กลับถูกมองข้าม นั่นก็คือ คิลเลียน เมอร์ฟี ที่รับบท ดร. โจนาธาน เครน หรือหุ่นไล่กา (Scarecrow) ที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้สุดยอดตัวร้ายในหนังคนแสดงได้เดินตาม ซึ่ง วินนี แมนคูโซ จากเว็บไซต์ Collider ได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ

แน่นอนว่า หุ่นไล่กาไม่ใช่ตัวร้ายหลักใน Batman Begins แต่เป็น รา’ส อัล กูล ของเลียม นีสัน ที่สามารถอธิบายได้ดีที่สุดว่า ‘เลียม นีสันกับเคราที่ไม่สมเหตุสมผล’ ทำให้ภาระหนักตกมาอยู่กับเมอร์ฟี ในการแสดงให้เห็นว่า หนึ่งในตัวละครที่มีความเป็นการ์ตูนมากๆ ซึ่งเป็นสมาชิกของเหล่าร้ายจาก Batman จะเป็นยังไงในเมืองก็อทแฮมที่ดูมีตัวตนและสมจริง คุณต้องเดินไปบนเส้นบางๆ เหนือนรก เมื่อพยายามสร้างหนังจากหนังสือการ์ตูน ที่มีตัวละครเป็นนักจิตวิทยา สวมถุงถักคลุมศรีษะ และพ่นแก๊สความกลัวใส่ใบหน้าผู้คน

คิลเลียน เมอร์ฟี กลายเป็นคนที่สร้างมาตรฐานให้กับการเดินไปบนเส้นบางๆ เส้นนั้น ด้วยรูปลักษณ์ เมอร์ฟีเป็นคนที่มีลักษณะเฉพาะตัวมากที่สุดคนหนึ่งในฮอลลีวูด เมื่อในตัวมีลักษณะของคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดโคตรๆ แต่เวลาเดียวกันก็เหมือนกับมีจิตวิญญาณของพ่อมดร้ายอยู่ข้างใน มีความร้ายกาจซุกซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าที่ดูเปิดเผย ลักษณะพิเศษที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับดร. เครน ใน Batman Begins เราได้พบคุณหมอก่อนที่เขาจะกลายเป็นตัวร้ายจากยาของตัวเอง ซึ่งเมอร์ฟีใช้ลูกเล่นเล็กๆ ผ่านดวงตาที่ไม่เคลื่อนไหวเหมือนพวกสัตว์เลื้อยคลาน ที่อยู่เหนือรอยยิ้มราวกับขี้ผึ้งแกะสลักอันเย็นชืด แล้วก็ฉาบทับด้วยแสงนีออนจากป้ายไฟ ที่นำไปสู่ความจริงที่ว่า มีบางอย่างเกิดขึ้นกับ นักจิตวิทยาที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช อาร์แคม แน่นอน

ฉากสำคัญที่สุดใน Batman Begins ที่อาจเป็นฉากสำคัญที่สุดของหนังไตรภาคชุดนี้ด้วยก็คือ ตอนที่เครนพยายามวางยาราเชล ดอวส์ (แคตี โฮล์มส์) ในห้องยาพิษใต้ดิน ก่อนจะโดนก่อกวนโดยมนุษย์ค้างคาว มันเป็นฉากสำคัญที่เกี่ยวพันกับเมืองก็อทแฮม และแทบจะดึงออกมาจากตอนหนึ่งของการ์ตูนเรื่อง Batman: The Animated Series แล้วนำมาทำให้มีชีวิต แล้วไม่ใช่แค่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นมนุษย์ค้างคาวของเบลโดดลงมาจากฟ้าเพื่อจัดการกับยอดตัวร้าย แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่หน้ากากสุขภาพจิตดีของเครนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง นี่คือสิ่งที่สุดยอดวายร้ายในโลกมนุษย์ค้างคาวของคริสโตเฟอร์ โนแลนเป็น และเมอร์ฟีก็แสดงออกมาได้อย่างไร้ที่ติ บทพูดที่ออกมาจากปากเขาในฉากนี้ “เขาอยู่นี่แล้ว… มนุษย์ค้าง-คาว” ที่มาพร้อมดวงตาเบิกกว้างของเขา ติดอยู่ในหัวของผู้ชมมายาวนานถึง 15 ปี เมอร์ฟีแสดงออกมาทั้งน่าขำและน่ากลัว ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน มองเห็นถึงตราประทับของความเลวที่มนุษย์ค้างคาวยัดใส่กรงขังของอาร์คแฮมในทุกๆ วันของสัปดาห์ สารพิษสร้างความกลัวที่ทำให้บรูซ เวย์นกลายเป็นปีศาจร้าย ไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าหลุดไปจากความสมจริงของหนัง เพราะเรายอมรับโดยดุษฎีไปแล้วว่า นี่คือ ก็อทแฮม ซิตี ที่ค่อยๆ ไถลออกไปจากความเป็นจริงอย่างช้าๆ

มีเส้นที่ต่อตรงระหว่าง เจ้าของคำพูด มนุษย์-ค้างคาวกับตัวร้ายจากหนังสือการ์ตูนในหนังคนแสดงที่อยู่เหนือค่าเฉลี่ยตามมาตรฐานทั่วไป ซึ่งดาหน้าตามมา เมื่อเมอร์ฟีกลายเป็นคนให้ใบอนุญาตสามารถใส่ความเป็นตัวละครจากการ์ตูนลงไปในเรื่องราวที่อาจซีเรียสสุดๆ ได้ แล้วก็มากพอที่จะทำให้คนดูทั่วๆ ไปรู้สึกกลัวขึ้นมา

เห็นได้ชัดว่าโนแลนรับรู้ถึงความสำคัญในตัวหุ่นไล่กาของเมอร์ฟี เมื่อมันกลายเป็นตัวร้ายรายเดียวที่ปรากฏตัวในหนังมนุษย์ค้างคาวของเขามากกว่าหนึ่งเรื่อง จนท้ายที่สุดกลายเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนความบ้าคลั่งของก็อทแฮมในหนังสองเรื่องสุดท้าย เริ่มด้วยการแนะนำผู้ชมให้รู้จักตัวร้ายจากหนังสือการ์ตูนรายใหม่ที่มาวางมาตรฐานให้กับอาชญากรรมใน The Dark Knight จากนั้นก็มาเป็นศาลจอมลำเอียงของเหล่าอภิสิทธิ์ชนใน The Dark Knight Rises ที่มีความสำคัญในตัวมันเอง ชัดเจน และทำให้ผู้ชม ‘รัก’ ก็อทแฮม ซิตี ซึ่งไม่ได้ถูกคุกคามมากนักจากตัวร้าย แต่เป็นเพราะการแพร่เชื้อลงไปตามท้องถนน ฝังรากลึกด้วยอาชญากรรมที่ดูบ้าคลั่งมากขึ้น จนตอนนี้ความสนใจของมนุษย์ค้างคาว ไม่ได้อยู่กับวายร้ายเพียงรายใดรายหนึ่ง แต่ตราบใดที่เมอร์ฟียังหยิบถุงถักมาสวมหัวเป็นระยะๆ โดยไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้า เราก็รู้สึกได้ถึงความวุ่นวายที่พร้อมปรากฏบนจอ

ทุกคนตั้งแต่ธานอสของจอช โบรลิน ไปจนถึงโจเกอร์ของวาควีน ฟีนิกซ์ ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ หรืออะไรก็ตามที่โลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์ ไม่สามารถเป็นที่จดจำได้ถ้าไม่สามารถก้าวข้ามมาตรฐานที่เมอร์ฟีวางเอาไว้เป็นอย่างน้อย ถึงจะไม่ใช่การแสดงที่ดีที่สุด แต่มันคือการกำหนดเส้นทางใหม่ให้กับบทแบบเดียวกันนี้

15 ปีต่อมาขณะที่การดัดแปลงเรื่องราวของ Batman ขึ้นจอใหญ่ยังคงเกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด การแสดงของเมอร์ฟีสมควรได้รับการยอมรับมากกว่านี้ มันต้องได้รับการจดจำ คนทำหนังคนไหนที่คิดว่า มนุษย์ค้างคาวไม่ควรทำอะไรที่งี่เง่า อย่างน้อยควรมีคำพูดที่ดีที่สุดใน Batman Begins ดังอยู่ในหัว “แกดูเหมือนคนที่จริงจังกับตัวเองจนเกินไป อยากได้คำแนะนำของฉันไหม? แกต้องผ่อนคลายกว่านี้ว่ะ”

จากนั้น เขาก็จุดไฟเผามนุษย์ค้างคาว เพราะตามกฎของหุ่นไล่กาของคิลเลียน เมอร์ฟี กรุณาให้ความเคารพโจนาธาน เครน

โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง เรื่องเล่าถึงผู้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตัวร้ายในหนังซูเปอร์ฮีโร คิลเลียน เมอร์ฟี จาก Batman Begins คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1313 ปักษ์แรกตุลาคม 2563

What is your reaction?

Excited
0
Happy
1
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.