FEATURESMovie Features

เรื่องเล่า และเรื่องเศร้าๆ เมื่อดิสนีย์เป็นเจ้าของฟ็อกซ์อย่างเป็นทางการ

หลังหมดเวลาไปกับการเจรจาและวางแผนร่วมๆ 15 เดือน ในที่สุดดิสนีย์ก็ปิดดีลมูลค่า 71 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการซื้อกิจการของทะเว็นตีเฟิร์สท์เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ได้สำเร็จเรียบร้อย

“นี่คือช่วงเวลาที่พิเศษสุดๆ และเป็นประวัติศาสตร์สำหรับเรา ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับองค์กรและผู้ถือหุ้นของเรา” บ็อบ ไอเกอร์ ประธานและซีอีโอของดิสนีย์กล่าวในแถลงการณ์เมื่อบ่ายวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา “การรวมกันของคอนเทนท์ที่อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่มีมากมายมหาศาล รวมถึงผลงานของบรรดาผู้เปี่ยมพรสวรรค์ซึ่งได้รับการยอมรับ ที่ทำให้เกิดบริษัทบันเทิงระดับโลก จากทั้งดิสนีย์และทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ย่อมนำไปสู่พลังขับเคลื่อนสำคัญ และยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง”

ดิสนีย์เข้าครอบครองกิจการของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ อย่างเป็นทางการในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 20 มีนาคม โดยบริษัทที่อยู่ในการดูแลของฟ็อกซ์ที่จะถูกถ่ายโอนมาเป็นของดิสนีย์ ก็มี ทะเว็นตีธ์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์, ฟ็อกซ์ เสิร์ชไลท์ พิคเจอร์ส, ฟ็อกซ์ 2000 พิคเจอร์ส, ฟ็อกซ์ แฟมิลี และฟ็อกซ์ แอนิเมชัน รวมไปถึงแผนกสร้างสรรค์ของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์, ทะเว็นตีธ์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์เทเลวิชัน, เอฟเอ็กซ์ โปรดัคชัน, ฟ็อกซ์ สปอร์ท เรจินัล เน็ทเวิร์คส์ และฟ็อกซ์ 21 แล้วก็ยังมีเอฟเอ็กซ์ เน็ทเวิร์คส์, เนชันแนล จีโอกราฟิค, ฟ็อกซ์เน็ทเวิร์คส์ กรุป อินเตอร์เนชันแนล, สตาร์ อินเดีย ตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ของฟ็อกซ์ในบริการสตรีมมิง ฮูลู และเอนเดมอล ไชน์ กรุป

ส่วนตระกูลเมอร์ด็อคยังคงถือสิทธิ์สถานีเครือข่ายอย่าง ฟ็อกซ์ นิวส์ และฟ็อกซ์ สปอร์ตส์ เอาไว้ โดยอยู่ในการดูแลของฟ็อกซ์ คอร์เปอเรชัน ผลลัพธ์จากการรวมกิจการยังทำให้อดีตโฆษกของพรรครีพับลิกัน – พอล ไรอัน ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการของฟ็อกซ์ คอร์เปอเรชันด้วย

เมื่อดูจากข้อตกลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศที่ออกมาตอนเดือนธันวาคม 2017 นอกจากบริษัทและแผนกต่างๆ แล้ว ดิสนีย์ยังกลายเป็นเจ้าของสิทธิ์ในหนังภาคต่อมากมายหลายเรื่อง เช่น Avatar, Alien, Planet of the Apes, The Simpsons, The X-Files, Die Hard และ Predator ยิ่งไปกว่านั้นการรวมบริษัท ยังทำให้มาร์เวล สตูดิโอส์ได้สิทธิ์การสร้างภาพยนตร์ของตัวละครจากเรื่อง X-Men, Fantastic Four และ Deadpool กลับมาอยู่ในมือ

ดิสนีย์ย้ำว่า การดำเนินการทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ช่วยให้ตัวบริษัท “ขยายขอบเขตการทำงานในระดับนานาชาติ” และ “การเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง” และกับธุรกิจสื่อโดยรวม การรวมกันทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนสำคัญกับอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่ดิสนีย์จะได้รับในครั้งนี้ ก็คือการปูทางให้กับบริการสตรีมมิงของตัวเอง ดิสนีย์พลัส ที่มีแผนจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ การเป็นเจ้าของสตูดิโอที่มีผลงานฮิตอย่าง The Simpsons รวมทั้งได้ X-Men คืนกลับมา บริการสตรีมมิงของดิสนีย์จะกลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญกับผู้ให้บริการสตรีมมิงอย่าง อะเมซอน และเน็ทฟลิกซ์ แถมบรรดาคอนเทนท์ในมือของพวกเขาดูจะมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยซ้ำไป

ดิสนีย์หวังจะใช้รายการทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ กระตุ้นให้ผู้ชมหันมาใช้บริการของตัวเอง ที่ตอนนี้รายการพื้นฐานก็คงไม่พ้น บรรดาการ์ตูนคลาสสิคของดิสนีย์, Star Wars, แอนิเมชันของพิกซาร์, the Muppets และตัวละครจากมาร์เวล การที่ได้ฟ็อกซ์เข้ามาอยู่ในชายคา ทำให้ดิสนีย์สามารถเพิ่มภาพยนตร์ของ X-Men, Deadpool รวมไปถึงรายการเด็ดๆ จากช่องต่างๆ ของฟ็อกซ์ ไม่ว่าจะเป็น เอฟเอ็กซ์ เน็ทเวิร์คส์ หรือเนชันแนล จีโอกราฟิค เข้ามาอยู่ในห้องสมุดได้ โดยมีรายการแม่เหล็กของฟ็อกซ์อย่าง The Americans, This Is Us และ Modern Family รวมอยู่ด้วย

เห็นได้ชัดว่าการรวมกิจการจะช่วยให้ดิสนีย์บริหารจัดการรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ของตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ว่ากันตั้งแต่สร้างสรรค์รายการ จากนั้นก็จัดจำหน่ายออกไปผ่านทางสถานีโทรทัศน์, โรงภาพยนตร์, บริการสตรีมมิง และช่องทางอื่นๆ ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ นอกจากนี้ดิสนีย์ยังจะได้ข้อมูลอันมีค่าของผู้บริโภคและพฤติกรรมการเลือกชมความบันเทิงของพวกเขา ซึ่งสามารถใช้สำหรับการขายโฆษณาต่างๆ มาอยู่ในมืออีกต่างหาก

ไอเกอร์ บอกไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ดิสนีย์พลัส รวมไปถึงบริการที่ส่งตรงถึงผู้บริโภคทั้งหลาย เป็น “เรื่องสำคัญอันดับ 1 ของดิสนีย์” และน่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อบรรดาบริษัทผู้ให้บริการเคเบิลและโทรคมนาคมทั้งหลาย ที่พยายามซื้อบริษัททำรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ เมื่อภาพรวมของธุรกิจสื่อนี้จะเปลี่ยนไป ต่อให้ทางผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทรายใหญ่อย่าง เอทีแอนด์ที, คอมแคสท์ จะเป็นผู้ควบคุมการลูกค้าของตัวเองโดยตรง สำหรับการใช้บริการอินเตอร์เน็ท ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงอย่าง อะเมซอน, ยูทูบ และเน็ทฟลิกซ์ ทำไม่ได้ พวกเขาก็ยังต้องเจอกับการรุกหนักของธุรกิจบริการสตรีมมิงที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องเหล่านี้อยู่ดี และทำให้ปีที่แล้วเอทีแอนด์ทีตัดสินใจเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยการซื้อไทม์ วอร์เนอร์มาอยู่ในมือด้วยมูลค่า 81 พันล้านเหรียญ แล้วก็ปล่อยบริการสตรีมมิงของตัวเอง วอทช์ ทีวี กับช่องโทรทัศน์ของไทม์ วอร์เนอร์ อย่าง ทีบีเอส และทีเอ็นที โดยคิดค่าบริการ 15 เหรียญต่อเดือน

การรวมกิจการทำให้ ดิสนีย์มีตัวช่วยสำคัญในการปล่อยบริการสตรีมมิงของตัวเอง เมื่อจะมีภาพยนตร์ทั้งที่เป็นจักรวาลของอเวนเจอร์ส และเอ็กซ์-เม็น ซึ่งเคยเป็นสิทธิ์ของฟ็อกซ์ แถมในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ว่า ตัวละครจากทั้งสองเรื่องมีโอกาสที่จะมาร่วมงานกันในรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์อีกด้วย

แล้วไม่ใช่แค่ดิสนีย์พลัส การรวมกิจการที่เกิดขึ้นส่งผลให้ดิสนีย์ได้หุ้นในบริการสตรีมิง ฮูลู ที่เปิดบริการอยู่แล้วมาอยู่ในมืออีกหนึ่งช่องทาง และไม่มีแผนที่จะปิดกิจการ โดยคาดกันว่าดิสนีย์จะใช้ดิสนีย์พลัส สำหรับปล่อยรายการและภาพยนตร์ทั่วๆ ไป สำหรับครอบครัว ดูได้ทุกเพศทุกวัย แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการเปิดเผยราคาออกมา แต่เนื้อหาหลักๆ ของดิสนีย์พลัสก็จะมีวัตถุดิบจาก 5 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ ดิสนีย์, พิกซาร์, มาร์เวล, สตาร์ วอร์ส และเนชันแนล จีโอกราฟิค สำหรับอีเอสพีเอ็นพลัส บริการสตรีมมิงอีกหนึ่งเจ้าที่ดิสนีย์เป็นเจ้าของ ซึ่งเนื้อหาหลักๆ มาจากอีเอสพีเอ็น เคเบิลทีวี มีการเก็บค่าบริการเดือนละ 5 เหรียญ

ในช่วงเช้าของวันที่ 19 มีนาคม ทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ได้ปิดการแยกสินทรัพย์ต่างๆ ของตัวเองที่ต้องส่งมอบให้กับดิสนีย์ไปก่อนหน้าแล้ว ขณะที่หุ้นของฟ็อกซ์ คอร์เปอเรชัน ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการซื้อขายครั้งนี้ ก็เริ่มเปิดให้ซื้อขายอย่างเป็นเอกเทศในตลาดหุ้นแนสแดคตั้งแต่เช้าวันเดียวกัน โดยเปิดมาในราคา 41.55 เหรียญ และตกลงเหลือ 40.34 เหรียญ เมื่อปิดการซื้อขาย

แน่นอนว่าการที่ทางดิสนีย์และฟ็อกซ์ คอร์ปต้องจัดการวางระเบียบองค์กรกันใหม่ ย่อมส่งผลกับพนักงานของทั้งสองบริษัททำให้ต้องมีการถูกปลดในจำนวนไม่น้อย ทั้งที่โรงถ่ายในเบอร์แบงค์และเซ็นจูรี ซิตี ที่ตำแหน่งงานมีการซ้อนทับกัน โดยเฉพาะในส่วนของทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์และโรงถ่ายโทรทัศน์ของฟ็อกซ์ ซึ่งคาดกันว่าอาจจะมีมากถึง 4,000 ตำแหน่ง และดิสนีย์ได้แจ้งให้บรรดาผู้บริหารระดับซีเนียร์ของทะเว็นตีเฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ รับรู้ถึงสถานภาพในการทำงานของตัวเองกับองค์กรใหม่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว

สำหรับดาบแรกของดิสนีย์ก็ฟันฉับเข้าไปที่ บริษัทฟ็อกซ์ 2000 ผู้สร้างหนังดังๆ อยาง Hidden Figures, The Hate U Give, Life Of Pi, Love Simon งานนี้ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์สุดๆ เพราะก่อนหน้านี้มองกันว่าทั้งบริษัทและผู้บริหาร-เอลิซาเบ็ธ แกบเลอร์ น่าจะได้อยู่ต่อภายใต้ชายคาของดิสนีย์ เมื่อการรวมกิจการเกิดขึ้น และยังไม่มีข่าวออกมาว่า ทางออกของแกบเลอร์จะไปอยู่ที่ไหน หากมองที่ผลงานในอดีต ดิสนีย์น่าจะมอบตำแหน่งตรงไหนสักแห่งให้กับเธอ แต่อย่างน้อยแกบเลอร์ก็น่าจะอยู่กับดิสนีย์ไปจนกว่าหนังเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในการดูแลของเธอจะออกฉายจนครบ

หลังจากนั้นหรือก่อนหน้านั้น ก็เป็นไปได้ว่าแกบเลอร์อาจจะถูกบริษัทคู่แข่งสักรายฉกตัวไป เมื่ออดีตนายเก่า จิม เจียนาปูลอส ดูแลพาราเมาท์อยู่ในตอนนี้ ส่วนอดีตหัวหน้าอีกคน ทอม ร็อธแมน ก็อยู่ที่โซนี ซึ่งการกลับไปทำงานกับใครสักคน ก็น่าจะเป็นการรียูเนียนที่ดี โดยที่อย่ามองข้ามตัวเลือกในธุรกิจดิจิตอลอย่างเน็ทฟลิกซ์

รายงานล่าสุดของวาไรตี ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า จะมีพนักงานของฟ็อกซ์ 2000 จำนวนกี่รายที่ถูกปลดออก แต่ก็มีการประกาศให้พนักงานทราบเรียบร้อยแล้วถึงการตัดสินใจปิดบริษัท โดยมีภาพยนตร์ที่อยู่ในการดูแลและยังไม่ออกฉายอย่าง League of Wives ของรีส วิเธอร์สปูน, Children of Blood and Bone ของริค ฟามูยิวา จาก Dope, หนังดรามาสงครามกลางเมือง News of the World ของทอม แฮงค์สและพอล กรีนกราสส์ ส่วน The Woman in the Window ของ โจ ไรท์ ที่ได้เอมี อดัมส์ ประกบกับแกรี โอลด์แมน, Ad Astra ของเจมส์ เกรย์ และ Ford V Ferrari ของเจมส์ แมนโกลด์ ถูกวางกำหนดฉายเอาไว้ในปีนี้แล้ว ผลงานเหล่านี้จะเป็นการสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของแกบเลอร์ในการพัฒนาโปรเจ็คท์ต่างๆ ให้เป็นรูปเป็นร่าง และดิสนีย์ก็คือผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เธอลงแรงลงความคิดเอาไว้

ตลอดระยะเวลาหลายปีในการทำงาน แกบเลอร์ทำให้ฟ็อกซ์ 2000 กลายเป็นสตูดิโอสำคัญอีกแห่งหนึ่งในฮอลลีวูดสำเร็จ โดยเฉพาะการนำเอานิยายเรื่องดังๆ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ทำเงินหรือคว้ารางวัล หรือได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ไม่ว่าจะเป็น The Devil Wears Prada, The Fault in Our Stars, Diary of a Wimpy Kid และ Walk the Line จนเธอได้รับการยอมรับในเรื่องการทำหนังระดับกลางๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชมแอฟริกัน-อเมริกัน, วัยรุ่น, ผู้หญิง หรือล่าสุด กลุ่มเกย์ ซึ่งเป็นผลงานที่เหมาะมากๆ สำหรับดิสนีย์ในการทำบริการสตรีมมิงไม่ว่าจะเป็นดิสนีย์พลัส หรือฮูลู และเมื่อบริษัทตกเป็นของดิสนีย์ นั่นหมายความว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะอยู่ในห้องสมุดของบริการสตรีมมิง ดิสนีย์พลัสและหรือฮูลูแน่ๆ

แม้จะไม่มีฟ็อกซ์ 2000 แต่ดิสนีย์ก็ยังมี ฟ็อกซ์ เสิร์ชไลท์ บริษัทของฟ็อกซ์ที่สร้างผลงานเข้าตาเวทีรางวัลอีกบริษัทมาอยู่ในมือ โดยผลงานเด่นๆ ของสตูดิโอนี้ได้แก่ หนังเยี่ยมบนเวทีออสการ์ อย่าง The Shape of Water, Birdman, 12 Years a Slave และ Slumdog Millionaire ซึ่งเป็นไปได้ว่า การปิดฟ็อกซ์ 2000 ก็เพราะการทำงานมีความซ้ำซ้อนกับสตูดิโออินดีแห่งนี้นี่เอง

ที่น่าสนใจก็คือ การปลดพนักงานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับพนักงานระดับซีเนียร์ขึ้นไป เช่น หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่ายในประเทศ – คริส แอรอนสัน, หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่ายต่างประเทซ – แอนดรูว์ คริปป์ส, หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหา – โทนี เซลลา, ประธานร่วม – เควิน แคมป์เบลล์ และประธานสถานีโทรทัศน์ทะเว็นตีธ์ – เกร็ก ไมเดล ซึ่งทั้งหมดได้รับแจ้งว่าถูกปลดเรียบร้อยแล้ว

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้เกิดความกดดันกับทางดิสนีย์ในเรื่องของการทำการตลาด เมื่อเป็นไปได้ว่าจะมีภาพยนตร์มากถึง 20 เรื่องออกฉายในช่วงเปลี่ยนจากปีนี้ไปถึงปี 2020 เอาง่ายๆ กับช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่เดือนของปีนี้ ดิสนีย์มีหนังที่จะต้องออกฉายมากกว่า 10 เรื่อง โดยเป็นงานของตัวเองแท้ๆ ถึง 10 เรื่องเข้าไปแล้ว

ผู้บริหารของฟ็อกซ์ที่ได้ไปต่อกับดิสนีย์ก็มี เอ็มมา วัทท์ส รองประธาน ทะเว็นตีธ์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ฟิล์ม, ประธานของฟ็อกซ์ แฟมิลี – วาเนสซา มอร์ริสัน, สองหัวหน้าร่วมของฟ็อกซ์ เสิร์ชไลท์ – สตีฟ กิลูลา และแนนซี อัทลีย์ ส่วนสเตซีย์ สไนเดอร์ หัวหน้าของฟ็อกซ์ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง

การปลดพนักงานที่เกิดขึ้น เท่าที่เป็นไปในตอนนี้มีจำนวนไม่มากนัก แต่ในเรื่องผลกระทบต่อความรู้สึกก็ต้องบอกว่าไม่น้อยเลย เมื่อส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานที่อยู่ร่วมกับบริษัทมายาวนาน อย่าง โทนี เซลลา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหานั้นอยู่กับฟ็อกซ์มาหลายสิบปี มีผลงานมากมายที่ผ่านมือตั้งแต่หนังเพลงของเชอร์ลีย์ เทมเพิล ไปจนถึง Avatar ส่งผลให้บรรยากาศที่เกิดขึ้นในโรงถ่ายเซ็นจูรี ซิตี ไม่ต่างไปจากงานศพ มีรายงานว่า รองประธานคนหนึ่งของฟ็อกซ์ฟิล์ม ใช้เวลาทั้งวันหมกตัวอยู่แต่ในห้องทำงาน ไม่ออกมาเจอหน้าลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งข่าวร้ายสงบลง โดยฟ็อกซ์ ฟิล์มเป็นหน่วยงานแรกที่ถูกลงดาบและจัดหนักตั้งแต่เริ่ม มีผู้บริหารระดับซีเนียร์มากกว่าโหลที่ต้องตกงาน หลังจากเข้าประชุมอย่างยาวนานตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปตลอดทั้งวัน

“มันถึงวันสิ้นสุดละ” ผู้บริหารคนหนึ่งที่ทำงานกับฟ็อกซ์ เทเลวิชันมานานกล่าว พร้อมกับบอกว่า เป็นประสบการณ์ที่ตึงเครียดมากๆ ขณะที่เข็มนาฬิกาเดินไปเรื่อยๆ ความสบายใจอย่างเดียวที่เกิดขึ้นก็คือ เงินตอบแทนที่ได้รับซึ่งพนักงานที่ถูกปลดในกลุ่มแรก จะได้ผลตอบแทนราวๆ 1 – 2 ปี ซึ่งมากพอที่จะทำให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวและเพื่อนๆ อย่างเต็มที่ ก่อนจะเริ่มต้นงานใหม่

กับผู้บริหารบางคน พวกเขาได้รับแจ้งข่าวการปลดออกจากตำแหน่งมาก่อนแล้ว แต่บางคนพวกเขาก็เพิ่งรู้ตัวหลังการรวมกิจการอย่างเป็นทางการเริ่มต้น หรือกระทั่งในการประชุมครั้งสุดท้าย ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แผนกภาพยนตร์ดูเหมือนจะเงียบเชียบผิดปกติ เจ้าหน้าที่ยังคงนั่งอยู่ในสำนักงาน จับกลุ่มคุยกัน ดื่มให้กับเพื่อนๆ และรำลึกถึงอดีตที่ผ่านมา

“เราคุยถึงคนที่เอาเงินเป็นพันๆ ล้านเหรียญมาซื้อบริษัทนี้” หนึ่งในผู้บริหารที่ยังได้ทำงานต่อในสีเสื้อของดิสนีย์กล่าวด้วยความฉุนเฉียว ขณะที่เพื่อนๆ ถูกปลดออก

ความเห็นอกเห็นใจแผ่ไปทั่วฮอลลีวูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นในเมืองที่สัญลักษณ์คือความรื่นรมย์ และบางทีมันอาจจะเกิดขึ้นเพราะทำให้หลายๆ คนรู้สึกว่า ไม่มีที่สถานภาพปลอดภัยจริงๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมีการขายกิจการของฟ็อกซ์เกิดขึ้น ในยุคที่สื่อมีความแข็งแรงขนาดนี้

“ผมเข้าประชุมกับเอเยนท์ร่วมๆ 3 ชั่วโมง เมื่อผมออกมา เมฆฝนก็คลุมครึ้มไปทั่วเซ็นจูรี ซิตี ขณะที่ผมกำลังอ่านป้ายชื่อโรงถ่าย” หนึ่งผู้จัดการของนักแสดงระดับท็อปรายหนึ่งกล่าว “ต่อให้ผมพยายามทำยังไง (ให้เกิดบรรยากาศแบบนี้) ผมก็คงทำไม่ได้”

“พวกเรานั่งลงรอบๆ โต๊ะทำงานของผม รีเฟรชหน้าจอเพื่อดูเรื่องราวใหม่ๆ แล้วก็รอดูว่าหัวข้อต่อไปจะเป็นอะไร” หนึ่งในผู้บริหารของสตูดิโอคู่แข่งกล่าว “มันน่ากลัว… และนี่คือเพื่อนของเรา”

อย่าลืมว่า นี่คือดาบแรกเท่านั้น และมีเป้าหมายแค่ที่แผนกภาพยนตร์ ยังมีพนักงานในส่วนต่างๆ จากแผนกโทรทัศน์ของฟ็อกซ์ ที่ต้องถูกปลดออกอีกหลายตำแหน่ง ซึ่งตอนนั้นบรรยากาศก็อาจจะชวนหดหู่ยิ่งกว่า

“คุณอาจคิดว่าตัวเองรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันจะเป็นยังไง” หนึ่งในผู้บริหารของฟ็อกซ์ ที่ไม่ได้ไปต่อกล่าว “แต่คุณไม่สามารถเตรียมพร้อมอะไรได้หรอก เมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ”

โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง เมื่อดิสนีย์เป็นเจ้าของฟ็อกซ์อย่างเป็นทางการ คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1277 ปักษ์แรก เมษายน 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.