FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

10 ปีไอทูนส์ กว่าโลกจะเปลี่ยน กว่าจะเปลี่ยนโลก

28 เมษายน ในความรู้สึกของคนทั่วไป อาจจะไม่ใช่วันสำคัญอะไร เป็นได้ก็แค่วันๆ หนึ่ง ที่ผ่านมาตามกำหนดเวลาในปฏิทิน แต่สำหรับวงการเพลง ไม่ว่าจะเป็นของโลก หรือว่าบ้านเรา นี่คือวันเวลาสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าการทำธุรกิจเพลงไป ในแบบที่เรียกได้ว่า “ตลอดกาล” เพราะนี่คือวันที่ สตีฟ จ็อบส์ แห่งอาณาจักรแอปเปิล เปิดตัวไอทูนส์ มิวสิค สโตร์ให้โลกได้รู้จักเป็นครั้งแรก ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และนั่นก็คือจุดพลิกผันของวงการเพลง ที่ยังคงเดินหน้าหมุนไปตามครรลองที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งทศวรรษก่อนมาจนถึงทุกวันนี้

napsterย้อนกลับไปถึงวันนั้น สาเหตุที่ทำให้ไอทูนส์ สโตร์เกิดขึ้น ก็คงไม่พ้นเพราะการเกิดขึ้น และเติบโตของ แนพสเตอร์ เว็บไซต์แชร์ไฟล์ (เพลง) เถื่อน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งส่งผลให้วงการเพลงประสบปัญหาในเรื่องของยอดขายที่ลดลง โดยในช่วงปลายปี 2002 บริการให้แชร์ไฟล์ถือว่าเดินทางมาถึงจุดพีค ด้วยยอดผู้ใช้บริการมากกว่า 80 ล้านคน ซึ่งไม่ได้สร้างมรรคผลใดๆ ต่อธุรกิจเพลง ทางสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงของอเมริกา จึงทำการฟ้องร้องแนพสเตอร์ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ต่อศาล และศาลตัดสินให้ทางแนพสเตอร์ต้องปิดบริการ แต่แม้จะปิดการให้บริการไปแล้ว อิทธิพลของแนพสเตอร์ยังคงอยู่ในวงการเพลงอีกหลายปี แถมยังรู้ทางหนีทีไล่มากขึ้น รวมไปถึงยากที่จะขุดรากถอนโคน โดยปรากฏตัวขึ้นมาเป็นหน้าตาของผู้ให้บริการรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็น คาซ่า หรือว่า ไลม์ไวร์ ไปจนถึงบิททอร์เรนท์ ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนแนพสเตอร์ในเวลาต่อมา

บรรดาสังกัดแผ่นเสียงใหญ่น้อย ต่างก็กลัวว่าบรรดาผู้ให้บริการ รับฝากไฟล์ แชร์ไฟล์รายใหม่ จะทำให้อำนาจตกไปอยู่ในมือของผู้บริโภค พวกเขาพยายามทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ เพื่อที่จะไม่ให้เพลงซีดีถูกนำไปก็อปปี้เป็นไฟล์ และเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่ให้บริการฝากไฟล์ แชร์ไฟล์เหล่านั้น มีทั้งการทำลายน้ำดิจิตอล เพื่อที่จะสามารถสาวได้ว่า เพลงที่ถูกแชร์กันนั้น มีที่มาจากไหน รวมไปถึงการบริหารจัดการในเรื่องลิขสิทธิ์ไฟล์เพลงดิจิตอล เช่นไฟล์ เอ็มพีธรี ที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ หรือไม่อยากให้เผยแพร่ออกไป “ฟรี” อย่างที่เห็น

แต่บรรดาค่ายเพลงก็เอาไฟล์ดิจิตอลไม่อยู่

steve jobsสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารของแอปเปิล มองการเติบโตก่อนจะถูกสั่งปิดของแนพเตอร์ และเอ็มพีธรี รวมไปถึงอิินเตอร์เน็ท ในมุมมองที่ต่างไปจากค่ายเพลง ในช่วงปลายปี 2002 จ็อบส์เชื่อว่าแฟนเพลงต้องการดาวน์โหลดเพลงที่พวกเขาชอบ ด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ที่พวกเขาสามารถทำได้ และสะดวกกว่าการออกไปซื้อที่ร้านขายซีดีที่ต้องจ่ายเงินในราคา 15 – 18 เหรียญต่อแผ่น โดยที่ยังไม่ต้องไปพูดถึงค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง รวมไปถึง ร้านขายซีดีเหล่านี้ ก็ไม่ได้เปิดบริการกันตลอด 24 ชั่วโมง

ที่สำคัญที่สุด ในอุตสาหกรรมดนตรี ก็ยังไม่มีวิธีที่ง่ายกว่าการออกไปซื้อซีดี ที่สะดวก และถูกกฏหมาย เป็นทางเลือกให้กับแฟนเพลง และนั่นก็คือ จุดเริ่มต้นของ ไอทูนส์ สโตร์

จ็อบส์ทำการติดต่อกับบรรดาผู้บริหารระดับสูงของสังกัดเพลง ซึ่งหลายๆ คนต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การดาวน์โหลดเพลงเป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ถูกต้อง และเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเมินเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีใหม่ๆ ในการทำธุรกิจเพลงขึ้นมาให้ได้ จ็อบส์เริ่มต้นเจรจากับวอร์เนอร์ มิวสิค ต้นสังกัดของศิลปินอย่าง นีล ยัง, อาร์.อี.เอ็ม. และลินคิน ปาร์ค เขาโทรหา พอล วิดิช รองประธานของวอร์เนอร์ฯ ในตอนนั้น ซึ่งทางแอปเปิลเองก็ฟักไอทูนส์ มิวสิค สโตร์ออกมาเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งทำให้งานเข้ากันกับอุปกรณ์ที่เรียกว่า ไอพ็อด ได้อย่างสมบูรณ์ ที่ยังขาดอยู่ก็คือ ตัวไฟล์เพลงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

จ็อบส์ไปที่บริษัทวอร์เนอร์ฯ เอาไอทูนส์ฉบับทดสอบหรือเบต้า ไปสาธิตให้วิดิชและเจ้าหน้าที่กลุ่มเล็กๆ ของวอร์เนอร์ฯ ดู “มันจะกลายเป็นหน้าร้านของค่ายเพลง ที่เป็นสิ่งแรกที่บรรดาแฟนเพลงมองเห็น” วิดิช ที่ทุกวันนี้กลายเป็นที่ปรึกษา และคณะกรรมการให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลายๆ แห่ง (ซึ่งรวมไปถึง บริษัท รีเวิร์บ เนชั่น) เล่า “มันเรียบง่าย มันใช้งานได้ และมันก็เจ๋งมาก”

“ความน่าสนใจของแนพสเตอร์ ไม่ได้มีแค่ว่า มันหาเพลงฟังกันได้ฟรีๆ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ มันเป็นหนทางที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าหางานดนตรีได้ไม่ว่าจะเป็นเพลงไหนๆ ในปริมาณมากมาย” วิดิช เล่าต่อ “สิ่งที่สตีฟทำกับไอทูนส์ก็คือ ใช้วิธีการที่เหมือนๆกัน มีปริมาณเพลงมหาศาล, เน้นไปที่งานซิงเกิ้ลเป็นหลัก มีหน้าตาที่ดูน่าใช้ และต้องใช้ง่ายกว่าแนพสเตอร์”

กับการสาธิตการใช้งาน และการนำเสนอหน้าตาไอทูนส์อีกหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดจ็อบส์ก็ชนะใจผู้บริหารของวอร์เนอร์ฯ จากนั้นเขาก็ไปหาสังกัดเพลงใหญ่ๆ ค่ายอื่นๆ ซึ่งก็มีทั้งยูนิเวอร์แซล และโซนี่ รวมทั้งนำเสนอในเรื่องของการจัดการบริหารลิขสิทธิ์ไฟล์เพลงดิจิตอลไปพร้อมๆ เพราะนี่คือหัวใจสำคัญ สำหรับบรรดาค่ายเพลง แม้การจัดการเรื่องลิขสิทธิ์เพลงจะไม่เข้มงวดอย่างที่บรรดาสังกัดเพลงทั้งหลายต้องการ แต่ค่ายเพลงทั้งหลายก็ยอมให้จ็อบส์ขายเพลงในไอทูนส์ มิวสิค สโตร์ ในราคาเพลงละ 99 เซนท์

itunes_3และในวันที่ 28 เมษายน 2003 ไอทูนส์ มิวสิค สโตร์ก็เปิดให้บริการ และกลายเป็นการปฏิวัติแผ่นซีดีในทันที ถึงซีดีจะเป็นรูปแบบหลักในการฟังเพลงมานานกว่า 20 ปี แต่คนฟังเพลงก็ผ่านการใช้งานแนพสเตอร์มาก่อนนับตั้งแต่ถูกเปิดตัวในปี 1999 ทำให้มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการฟังเพลง เครื่องเล่นเพลงไอพ็อดกลายเป็นอุปกรณ์ทรงพลัง หูฟังสีขาวก็ดูดีมากๆ ในโฆษณาทางทีวี และป้ายโฆษณาที่แอปเปิลทำออกมา ช่วงเวลานั้นไฟล์เพลงดิจิตอล ไม่ใช่เรื่องของขโมย หรือคนเลวอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องสำหรับคนที่ดูเท่ๆ เก๋ๆ

ในสัปดาห์แรก ไอทูนส์ทำยอดได้ถึง 1 ล้านดาวน์โหลด แต่ไม่ได้เป็นแค่ร้านขายเพลงออนไลน์ที่ขายดีที่สุด หากยังทดแทนร้านขายซีดีใหญ่ๆ ไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งเป็นการปฏิวัติที่ทำให้เกิดสิ่งที่บรรดาผู้บริหารค่ายเพลงกลัวที่สุด เมื่อเปลี่ยนหน้าตาธุรกิจจากการขายสินค้าราคาแพง ทำรายได้สูงอย่างซีดี มาเป็นไฟล์เพลงราคาถูก รายได้ต่ำ แต่บรรดาค่ายเพลงก็ไม่มีทางเลือก ถึงแม้การแชร์ไฟล์ที่ผิดกฏหมายยังมีอยู่ แต่คนฟังเพลงส่วนใหญ่ต้องการความสะดวก ง่าย และถูกกฏหมาย ในการดาวน์โหลดเพลง ที่แน่ๆ นี่คือการซื้อขายเพลงสำหรับอนาคต โดยไม่ต้องไปสนว่า ค่ายเพลงจะชอบหรือไม่ก็ตาม

ในช่วงเวลาหลังไอทูนส์เปิดไม่นาน บรรดาผู้บริหารค่ายเพลงต่างบ่นในเรื่องสัญญาที่จ็อบส์ทำไว้ ซึ่งทำให้ขายเพลงในราคาสูงหรือต่ำกว่า 99เซนท์ไม่ได้ รวมไปถึงค่ายเพลงไม่มีเอี่ยวกับผลกำไรมหาศาลจากการขายไอพ็อด และไอโฟนในเวลาต่อมา

10 ปีแรกของการเปิดบริการไอทูนส์ รายได้ของอุตสาหกรรมเพลงร่วงกราวจาก 38 พันล้านเหรียญเหลือ 16.5 พันล้านเหรียญ แต่แอปเปิลกลับเติบโตกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก

Screen Shot 2556-05-13 at 7.29.03 AMแม้ทุกวันนี้การขายแบบซื้อแล้วเป็นเจ้าของ ของไอทูนส์ที่เคยดูใหม่และจำเป็น จะกลายเป็นเรื่องผิดยุคผิดสมัย เมื่อมีบริการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งทั้งฟรีๆ และราคาถูกกว่าซื้อเกิดขึ้นมากมาย แถมแหล่งข่าวในวงการเพลงก็ยืนยันว่า ข่าวลือเรื่องแอปเปิลจะเปิดบริการสตรีมมิ่งของตัวเอง ตามความต้องการของตลาดเป็นความจริง ตามด้วยยอดขายเพลงในไอทูนส์ก็ทรงตัว โดยปีนี้ยอดตกลงไปราวๆ 2% แต่ไอทูนส์ยังคงแข็งแกร่งเหมือนอย่างเคย ในปีที่ผ่านมาคนอเมริกัน 44 ล้านคนดาวน์โหลดเพลงหรืออัลบั้มอย่างน้อยหนึ่งเพลงหรือหนึ่งชุด 38% ของคนฟังเพลงยังเชื่อในเรื่องของการเป็นเจ้าของเพลงและอัลบั้ม ขณะที่ 41% ของผู้ใช้บริการฟังเพลงสตรีมมิง ย้ำว่าการเป็นเจ้าของยังมีความสำคัญกับพวกเขา เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครทิ้งไอทูนส์

เดือนพฤษภาคม 2003 หลังไอทูนส์เปิดแค่สัปดาห์เดียว สตีฟ จ็อบส์โทรหาพอล วิดิช ผู้บริหารของวอร์เนอร์ฯ แจ้งยอดขายที่พุ่งไปถึงล้านดาวน์โหลดในสัปดาห์แรก วิดิชคิดถึงสิ่งที่วอร์เนอร์ฯ และค่ายเพลงอื่นๆ สมควรทำ พวกเขาคุยกับโซนี่, พานาโซนิค, ฟิลลิปส์ และไมโครซอฟท์ แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องการล็อคไฟล์ไม่ให้โอนย้าย ก็อปปี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จ็อบส์จัดการได้อย่างง่ายดาย

“พวกเขาเป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่รู้วิธีทำเครื่องเล่นซีดีและฮาร์ดแวร์ แต่ไม่ใช่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และเอาใจใส่ในเรื่องของซอฟท์แวร์อย่างที่แอปเปิลเป็น” วิดิช เล่า “มันเป็นชัยชนะของบริษัทที่สามารถเชื่อมของสองสิ่งเข้าด้วยกัน และนำเสนอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าใช้ และดึงดูดใจ”

และวันนี้โลกก็ได้เปลี่ยน ไปตามกระบวนการเปลี่ยนโลกของสตีฟ จ็อบส์เรียบร้อยแล้ว

จากเรื่อง 10 ปีไอทูนส์ กว่าโลกจะเปลี่ยน กว่าจะเปลี่ยนโลก คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 14-16 พฤษภาคม 2556

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.