Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว Big Eyes จุดจบที่ดูหอมหวาน แต่แสนเศร้าสร้อย เจ็บปวดและขื่นขมเหลือคณา

BIG EYES: (ข้อเขียนนี้เปิดเผยบทสรุปของหนัง) หนังเรื่อง Big Eyes ของทิม เบอร์ตัน (ซึ่งสร้างมาจากเรื่องจริง) ทำให้ต้องมาครุ่นคิดว่าใครกันแน่ที่สามารถกล่าวอ้างความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของผลงานศิลปะ แน่นอนว่าตามเนื้อผ้าแล้ว ใครคนนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน หรือ creator แต่ปัญหาก็คือ ศิลปินหรือช่างเขียนรูปในหนังเรื่อง Big Eyes ก็เหมือนกับคนทำงานศิลปะอีกจำนวนไม่น้อยในโลกใบนี้ที่ขายของไม่เป็น หรือไม่มีหัวในทางธุรกิจด้วยประการทั้งปวง และสมมติว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มาร์กาเร็ต (เอมี่ อดัมส์) ก็คงต้องรับจ้างเขียนรูปข้างถนน-ด้วยสนนราคาที่สบประมาทฝีไม้ลายมือของตัวเอง

การที่หญิงสาวได้พบ รู้จัก และแต่งงานกับวอลเตอร์ คีน (คริสทอฟ วอลท์ซ) ศิลปินหนุ่มใหญ่ที่มีบุคลิกฉูดฉาด ช่างเจื้อยแจ้วจำนรรจา ทำให้เส้นทางของการเป็นศิลปินไส้แห้งสิ้นสุดลงโดยปริยาย ภาพเขียนของหญิงสาว-ไม่เพียงแค่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย แต่ยังเป็นต้องการจากเหล่าคนดัง อีกทั้งวอลเตอร์ยังช่วยทำให้ภาพเขียนของมาร์กาเร็ต-เข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่มีปัญญาซื้อภาพเขียนต้นฉบับ ด้วยการ ‘reproduce’ หรือผลิตซ้ำผลงานเหล่านั้นออกมาเป็นภาพโปสเตอร์ ภาพโปสการ์ด-และขายอย่างเป็นกอบเป็นกำด้วยสนนราคายอมเยา แต่ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่มาร์กาเร็ตต้องยอมแลก-ก็คือการอนุญาตให้วอลเตอร์ ซึ่งดังที่กล่าว เป็นนักขายฝีมือยอดเยี่ยม-แอบอ้างความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของผลงาน ในความหมายของ creator และไม่ใช่เพียงแค่ผู้อำนวยการผลิต หรือ producer ซึ่งเขาเป็นแน่ๆอยู่แล้ว

ข้อน่าสังเกตก็คือ ทั้งๆที่หญิงสาวกระอักกระอ่วนกับการถูกแอบอ้างเครดิตในการสร้างผลงาน แต่หนังก็ให้เห็นว่าเธอไม่ได้ถูกบีบบังคับ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลัง และบางที คงต้องเรียกว่า ‘ตกกระไดพลอยโจน’ และเหตุผลที่เธอยินยอม ร่วมปิดบังอำพราง กระทั่งถือว่าตัวเธอเป็นเสมือนผู้สมรู้ร่วมคิดในการหลอกต้มบรรดาผู้เสพผลงานศิลปะของเธอ-ก็เกี่ยวเนื่องกับยุคสมัยที่หนังอาศัยเป็นฉากหลังนั่นเอง

หมายความว่า นี่คือทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นอกจากผู้ชายเป็นใหญ่แล้ว ผู้หญิงยังไม่มีปากมีเสียง กระแสเฟมินิสต์ยังมาไม่ถึงหรือยังไม่เบ่งบาน เหนืออื่นใด มาร์กาเร็ตยอมรับว่า ‘ภาพเขียนของศิลปินหญิงไม่ค่อยเป็นที่ต้องการและขายไม่ค่อยออกเท่ากับภาพเขียนของศิลปินชาย’

และนั่นเลยกลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่วอลเตอร์จะเสวยสุขจากความเอื้ออำนวยทั้งหลายทั้งปวง แต่สมมติจะมองอย่างให้ความเป็นธรรม สถานะของวอลเตอร์ก็อยู่ห่างไกลจากการเป็นแมงดาในโลกของศิลปะ เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนเขียนรูป ‘เด็กสาวหน้าตาเศร้าสร้อย และดวงตากลมโต’ อันโด่งดัง แต่ฉากที่เขาอ่านเจอว่านักวิจารณ์ศิลปะของนิวยอร์กไทม์ส-ด่าทอภาพเขียนของมาร์กาเร็ตอย่างเสียๆหายๆ และรับรู้ว่าหมอนั่นอยู่ในงานปาร์ตี้พอดิบพอดี ปฏิกิริยาอันเร่าร้อนรุนแรงราวกับจะกินเลือดกินเนื้อของเขา-ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคนเป็นเจ้าของผลงาน กลับกลายเป็นตัวมาร์กาเร็ตซะอีกที่ไม่ได้แสดงออกอย่างเป็นเดือดเป็นแค้นเท่าที่ควร

ว่าไปแล้ว มันคงไม่ใช่เรื่องยากเกินคาดเดาว่าเนื้อหาปิดฉากลงอย่างไร และจริงๆแล้ว ข้อมูลในวิกิพีเดีย ก็บันทึกเอาไว้ชัดเจน-ว่า ในท้ายที่สุด มาร์กาเร็ตก็ฟ้องร้องทวงคืนความเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งใครๆก็มองว่าเป็นเรื่องถูกต้องและจำเป็น ขณะที่หนังระบุว่าวอลเตอร์ผู้ซึ่งไม่เคยยอมรับความพ่ายแพ้ และยืนยันในความเป็นศิลปินของตัวเองมาโดยตลอด-ปิดฉากชีวิตในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว

มองอย่างผิวเผิน หนังเหมือนกับจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง และนั่นก็คือคนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ และลงเอยด้วยความสุขสบาย ส่วนคนเลวก็ต้องรับผลกรรมที่ตัวเองก่อเอาไว้ตามสมควร ปัญหาก็คือชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายดายและตรงไปตรงมาเหมือนกับ ‘หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง’ และดังที่เกริ่นเอาไว้ข้างต้น มาร์กาเร็ตไม่มีวันแหวกว่ายสายน้ำอันเชี่ยวกรากมาได้ไกลแสนไกลถึงเพียงนี้หากไม่ได้แรงส่งและแรงผลักดันอย่างกระตือรือร้นและสร้างสรรค์จากวอลเตอร์ และการที่หนังจบลงในแบบที่หญิงสาวกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในวงการศิลปะ ส่วนหนุ่มใหญ่ดำดิ่งในสภาวะที่ถูกหลงลืม ทั้งๆที่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าเขาเป็นคนสร้างมาร์กาเร็ตขึ้นมากับมือ (ดังจะสังเกตได้จากภาพโปสเตอร์หนัง) มันก็ทำให้รสชาติที่แท้จริงของตอนจบของหนัง-นอกจากไม่หอมหวานแล้ว ยังละทิ้งไว้ด้วยความรู้สึกที่ทั้งเศร้าสร้อย เจ็บปวดและขื่นขมเหลือคณา

โดย ประวิทย์ แต่งอักษร

สามารถกดไล์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.