FEATURESMovie Features

การเดินทางของหนังแฟนตาซีครอบครัวจากปี 1977 มาเป็นหนังที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคนในปีนี้ Pete’s Dragon

ด้วยความสำเร็จของการนำเอาแอนิเมชันดังๆ คลาสสิคในอดีต มาขึ้นจอใหม่ในแบบใช้คนแสดง ไม่ว่าจะเป็นที่ว่ากันตรงๆ อย่าง Cinderella หรือที่ดัดแปลง ตีความใหม่ แบบใน Maleficent หรือ Alice in Wonderland ทำให้คอนเส็ปท์ของการทำงานในแบบนี้ถูกวอลท์ ดิสนีย์หยิบมาเล่นต่อ เพราะสินทรัพย์ทำนองนี้ของพวกเขา มีมากยิ่งกว่ามาก

และในปีนี้ หลังจาก The Jungle Book ผู้ชมจะได้สัมผัสกับอีกหนึ่งของเก่ามาเล่าใหม่ของดิสนีย์ ที่หนนี้ต้นฉบับเป็นหนังเพลงแอนิเมชันลูกผสมกับคนแสดง Pete’s Dragon ซึ่งออกฉายในปี 1977 แม้หากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ที่ดิสนีย์มีอยู่ในมือ Pete’s Dragon ดูไม่ค่อยน่าเป็นงานที่หยิบเอามาเล่าใหม่สักเท่าไหร่นัก และในแง่ความสำเร็จ หนังที่ต้นฉบับเป็นงานลูกผสมคนแสดงกับซีจีของผู้กำกับดอน แชฟฟีย์ ก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จในแบบเดียวกับที่ Cinderella , The Jungle Book ทำเอาไว้ แต่อย่างน้อยๆ การที่เดวิด โลเวรี ผู้กำกับ/ เขียนบทของหนังฉบับใหม่ ได้อิสระอย่างเต็มที่ ในการเล่าเรื่องที่เป็นของตัวเอง โดยใช้งานต้นฉบับเป็นเพียงที่มา ก็น่าจะทำให้ Pete’s Dragon ของปี 2016 มีบางอย่างที่น่าสนใจอยู่ในตัว

“มีแฟนๆ ที่คลั่งไคล้หนัง Pete’s Dragon ต้นฉบับเยอะมาก และผมก็หวังว่า พวกเขาก็น่าจะชอบงานหนังเรื่องนี้ด้วย” โลเวรีบอก ระหว่างการเปิดให้สัมภาษณ์ช่วงที่เขากำลังจัดการกับซาวนด์แทร็คของหนัง ที่ห้องบันทึกเสียง บริติช โกรฟ สตูดิโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำหนังเรื่องนี้ “แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ใช่หนังที่เป็นเพชรยอดมงกุฎของดิสนีย์ ที่อยู่ในกรุสมบัติของบริษัท มันก็เลยเป็นงานที่คนทั่วไปไม่คุ้น”

จริงๆ แล้วนอกจากชื่อเรื่อง ที่แสดงนัยถึงตัวละครสองรายที่เป็นศูนย์กลางของหนัง หนึ่งคือ พีท เด็กชายกำพร้าวัยสิบขวบ หนึ่งคือมังกรที่ชื่อ เอลเลียตต์ ซึ่งช่วยชีวิตเขาไว้ หนังเรื่องนี้ของโลเวรีมีอะไรที่คล้ายคลึงกับหนังต้นฉบับอยู่น้อยมากๆ

“ผมคิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำเรื่องนี้ก็คือ ทำมันด้วยสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เป็นบางสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างแท้จริง” กระทั่งในตอนจบ หนัง Pete’s Dragon เรื่องใหม่ ก็ไม่ได้มีแรงส่ง โหมกระหน่ำด้วยงานเพลงที่เต็มไปด้วยพลัง แต่ก็มีเพลงหนึ่งที่เป็นข้อยกเว้น

“มีเพลงๆ หนึ่งที่เป็นศูนย์กลางของพล็อต และถูกร้องโดยตัวละครในหนัง ด้วยเหตุผลบางอย่าง” โลเวรี เผย “นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับการเป็นมิวสิคัลที่สุด ที่เราทำได้”

สำหรับโลเวรี ที่มีผลงานหนังอินดีชั้นเยี่ยมอย่าง Ain’t Them Bodies กับ St. Nick เป็นเครดิตสำคัญ การทำหนังบล็อคบัสเตอร์สำหรับครอบครัว ดูเหมือนจะเป็นการพลิกผันแนวทาง แต่ถ้ามองว่า นี่คือผู้กำกับที่อ้างว่า Star Wars คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อยากเป็นคนทำหนัง การเปลี่ยนมาจับงานที่เต็มไปด้วยเอ็ฟเฟ็คท์แบบนี้ ก็ถือว่ามีเหตุผลในตัว

“ความคาดหวังทั้งหลาย… ช่างมันเถอะ ผมโดดใส่หนังเรื่องนี้เต็มๆ เลย!” แล้วในที่สุด ไปๆ มาๆ Pete’s Dragon ก็เป็นหนังที่มีบางอย่างร่วมกันกับหนังทุนต่ำของโลเวรีอย่างไม่น่าเชื่อ

“ผมหลงเสน่ห์ไอเดียของหนัง ซึ่งมันน่าประหลาดใจมากๆ กับการให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการจากลาครั้งสำคัญ” เขาเล่า “แต่พอใช้เวลาอยู่กับบทมากขึ้น ผมรู้เลยว่า มันมาทางเดียวกันกับหนังที่ผมเคยทำมาก่อน เพราะหนังทุกเรื่องของผมจะเกี่ยวพันกับเด็กๆ และพวกเขาก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องจินตนาการ มันให้ความรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน”

โลเวรีมองเห็นธีมที่คล้ายคลึงกันระหว่างเรื่องเล่าแบบแฟนตาซีของเด็กชายและมังกร กับงานในอดีตของตัวเอง ซึ่งล้วนมีเด็กๆ “ที่พยายามมองหาสถานที่สำหรับตัวเองบนโลกใบนี้” เข้ามาเกี่ยวข้อง และเด็กที่ตั้งคำถามถึงสถานที่ที่ว่านี้ ก็คือ พีท (โอคส์ เฟกลีย์) ที่อ้างว่าใช้ชีวิตในป่าร่วมกับมังกรสีเขียวตัวใหญ่เบิ้มที่ชื่อเอลเลียตต์ ซึ่งไปคล้ายๆ กับเรื่องที่มีแชม (โรเบิร์ท เรดฟอร์ด) เล่าให้เด็กๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เกรซ (ไบรซ์ ดัลลาส-โฮเวิร์ด) ลูกสาวของเขาฟัง เพื่อความบันเทิงเริงใจว่า มีสัตว์มหัศจรรย์อยู่ในป่า ขณะเดียวกันพีทก็ได้รับการช่วยเหลือเรื่องการค้นคว้าหาที่มาที่ไปของเอลเลียตต์จาก นาตาลี (โอนา ลอว์เรนซ์) ลูกสาววัย 11 ปี ของแจ็ค (เวส เบนท์ลีย์) เจ้าของโรงไม้แถวนั้น ระหว่างที่กำลังหาที่ทางของตัวเองบนโลกใบนี้

เฟกลีย์ ถูกค้นพบจากการเปิดทดสอบบทไปทั่วประเทศ และนำเอา ‘ความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น’ มาให้กับบท “พีทไม่มีบทพูดมากนักในเรื่อง เขาใช้ชีวิตในป่ามานานถึง 6 ปี โดยที่ไม่มีผู้คนอยู่รอบๆ เลย จนกระทั่งมีคนไปพบกเขา เราไม่อยากให้เขาดูเป็นเด็กขี้อายที่ดุร้าย แต่เราอยากให้เขาดูเป็นเด็กที่ไม่ค่อยได้สื่อสารกับคนอื่นๆ และถูกพาไปโดยโลกใหม่ที่ถูกนำเสนอมาให้เขา”

และกับตัวละครที่เป็นศูนย์กลาง โลเวรีจัดการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ไม่ใช่มังกรตุ๊ต๊ะ สีสันสดใส และเป็นตัวการ์ตูนในตัวอย่างต้นฉบับ เขาเลือกซีจีมาสร้างเอลเลียตต์ โดยเป็นฝีมือของวีตา สตูดิโอเอ็ฟเฟ็คท์ชื่อดัง โดยย้ำว่าจะต้องทำให้แตกต่างไปจากที่เคยเห็นกันในหนังเรื่องก่อนๆ “นั่นคือหนึ่งในเรื่องแรกๆ ที่ผมบอกกับผู้อำนวยการสร้างของหนัง แล้วผมก็อยากให้เจ้ามังกรมันมีขน!” โลเวรี พูดพร้อมกับเสียงหัวเราะ “ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เราชินกับมังกรใน Game Of Thrones หรือ Harry Potter มากจนเกินไปแล้ว และอีกอย่างก็คือ นี่เป็นหนังเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตในตำนาน ผมเป็นพวกรักแมว ก็เลยรู้สึกว่า… วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความผูกพันได้อย่างรวดเร็วสำหรับผม ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น มังกรมันน่าจะมีขน”

การเลือกตำนานในโลกภาพยนตร์อย่าง โรเบิร์ท เรดฟอร์ดมาเล่น เป็นการฉกฉวยข้อได้เปรียบจากสถานการณ์ เมื่อหนังเรื่องต่อไปของโลเวรี (ที่แน่นอนว่าต้องเป็นหนังทุนต่ำ) The Old Man and the Gun เขาจะได้ร่วมงานกับโต้โผของเทศกาลหนังซันแดนซ์รายนี้ และเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะยอมพลาดโอกาสใส่เรดฟอร์ดเข้ามาในหนังเรื่องนี้ด้วย “ขอบคุณพระเจ้า ที่บางอย่างในหนังเรื่องนี้ไปโดนใจเขา และเขาเองก็นำมิติที่เหลือเชื่อมาให้กับตัวละครได้อย่างเป็นธรรมชาติ” เขาเล่า ด้วยท่าทีผ่อนคลาย

และหลังจากหนังเล็กๆ กับเจ้าพ่อซันแดนซ์ โลเวรีจะกลับมาทำหนังคนแสดงเรื่อง Peter Pan ให้กับดิสนีย์ น่าสงสัยเหมือนกันว่า เจ้าตัวเคยนึกถึงอาชีพการทำงาน ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันแบบนี้บ้างไหม? “ผมอยากจะทำหนังเพื่อความบันเทิงที่ดูยิ่งใหญ่, ตระการตา มาตลอด แต่ขณะที่ผมเติบโตมากขึ้น และเริ่มทำหนังของตัวเอง ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะมีโอกาสได้ทำแบบนั้น ผมตื่นเต้นนะสำหรับโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่มีความหลากหลาย และถ้าผมสามารถทำงานแบบนั้นที แบบนี้ทีได้ โดยไม่ต้องไปแหมะอยู่กับหนังรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นพิเศษ มันจะเป็นเรื่องที่เจ๋งมากๆ”

จากเรื่อง อีกหนึ่งแอนิเมชัน ที่กลายเป็นหนังคนแสดง PETE’S DRAGON โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1214 ปักษ์หลัง สิงหาคม 2559

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.