FEATURESMovie Features

ใครกันที่เขียนบทหนัง Citizen Kane? เรื่องที่ยังคงลึกลับต่อให้รู้คำตอบดีอยู่แล้ว

Citizen Kane ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี 1941 อำนวยการสร้าง-กำกับ โดยออร์สัน เวลล์ส ที่ยังร่วมเขียนบทกับเฮอร์แมน เจ. แมนคีวิคซ์ ซึ่งเป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของเวลล์ส นอกจากจะได้รับการยกย่องว่าเป็นงานคลาสสิกในโลกภาพยนตร์แล้ว ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่ยอดเยี่ยม จากนักวิจารณ์, คนทำหนัง หรือว่าผู้ชมภาพยนตร์ตัวจริง ที่ไปไกลถึงการเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่มีการสร้างกันมา ไม่ว่าจะเป็นเลือกเฟ้นจากสถาบันไหน อาทิ โพลล์สของนักวิจารณ์ ที่จัดขึ้นโดยหอภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร Citizen Kane ถูกเลือกเป็นหนังที่ดีที่สุดติดต่อกันถึง 5 ครั้ง และเป็นภาพยนตร์อันดับหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ 100 ปีของหอภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1998 และจากการอัพเดทในปี 2007 Citizen Kane ก็ยังเข้าวินด้วยอันดับเดิม

มาเรียน เดวีส์ (ซ้าย) และ เฮอร์แมน เจ. แมนคีวิคซ์ ในหนัง Mank ที่รับบทโดย อะแมนดา ไซย์เฟร็ด และแกรี โอลด์แมน (ตามลำดับ)

ถึงกระนั้น กับเวทีรางวัลที่หลายๆ คนให้ความสนใจรางวัลอะคาเดมี อวอร์ดส์ หรือว่าออสการ์ แม้หนังจะได้เข้าชิงถึง 9 สาขา แต่ก็คว้ามาได้เพียงรางวัลเดียว นั่นก็คือบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม โดย แมนคิวิคซ์และเวลล์ส

หนังยังได้รับการยกย่องจากการทำงานในส่วนอื่นๆ อีก อาทิ งานกำกับภาพของเกร็กก์ โทแลนด์, งานตัดต่อของโรเบิร์ต ไวส์, ดนตรีประกอบของเบอร์นาร์ เฮอร์มานน์ และการเล่าเรื่องของหนัง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าล้ำสมัย และนำกาลเวลา

แม้จะได้รับคำแซ่ซ้องสรรญเสริญ แต่ Citizen Kane กลับไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้ ขณะเดียวก็มีการถกเถียงมายาวนานว่า ใครกันที่เป็นต้นความคิดเรื่องราวของหนัง เวลล์สเป็นคนที่ริเริ่มโปรเจ็คท์นี้กับแมนคีวิคซ์ ที่เคยเขียนบทละครวิทยุเรื่อง the Campbell Playhouse ให้กับเขา และแมนคีวิคซ์ก็เอาชีวิตของมหาเศรษฐี วิลเลียม รูดอล์ฟ เฮิร์สท์ ซึ่งเขารู้จักดีในฐานะเป็นคนในแวดวงเดียวกัน ก่อนจะกลายเป็นเกลียดชังเพราะถูกขับออกจากวงโคจรของเฮิร์สท์ เป็นที่มาของเรื่องราว

วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สท์

เดือนกุมภาพันธ์ 1940 เวลล์สเขียนโน้ตราวๆ 300 หน้าให้กับแมนคีวิคซ์ พร้อมจับเขาเซ็นสัญญาเขียนบทร่างแรก โดยมีจอห์น เฮาส์แมน อดีตคู่หูในการทำงานของเวลล์สที่เมอร์คิวรี เธียเตอร์ เป็นผู้ดูแล “ผมปล่อยให้เขาทำงานด้วยตัวเองจนเสร็จ เพราะเราเริ่มเสียเวลาไปกับการถกเถียงที่ไร้ประโยชน์มากขึ้น หลังจากนั้น เราก็ตกลงกันได้ในเรื่องโครงเรื่องและตัวละคร แมงค์ (ชื่อเล่นของแมนคีวิคซ์) มีปัญหากับเฮาส์แมนแล้วก็เขียนบทฉบับของตัวเองขึ้นมา ผมที่อยู่ในฮอลลีวูดก็เขียนฉบับของตัวเอง” พอได้บทร่างมา เวลล์สจัดการตัดทอนและเรียบเรียงใหม่เยอะมาก ตามด้วยการใส่ฉากที่เขาเขียนขึ้นลงไป ทำให้มีการกล่าวหาว่าเวลล์สเล่นไม่ซื่อกับงานที่แมนคีวิคซ์เขียน แต่เวลล์สก็โต้กลับด้วยการบอกว่า “ท้ายที่สุดโดยธรรมชาติ ผมคือคนที่ทำหนังเรื่องนี้ ใครที่เป็นคนตัดสินใจ ผมใช้งานของแมงค์ที่ตัวเองต้องการ และไม่ว่าถูกหรือผิด เก็บสิ่งที่ผมชอบมาเป็นของตัวเอง”

ข้อความในสัญญายังระบุด้วยว่า แมนคีวิคซ์ไม่ได้รับเครดิตในการทำงาน ซึ่งเขาถูกจ้างเป็นหมอเขียนบท (script doctor) โดยก่อนที่จะเซ็นสัญญาแมนคีวิคซ์ยังได้รับคำแนะนำจากตัวแทนของเขาด้วยว่า เครดิตทุกอย่างในการทำงานของเขาจะตกเป็นของเวลล์สและเมอร์คิวรี เธียเตอร์ ทั้งในฐานะผู้เขียนและผู้สร้างสรรค์ แต่เมื่อหนังใกล้ออกฉาย แมนคีวิคซ์ก็เริ่มคุกคามเวลล์สเพื่อให้ได้เครดิตในหนัง เช่น บอกว่าจะลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และให้เบน เฮชท์เพื่อนของเขาเขียนบทความแฉลงในหนังสือพิมพ์ เดอะ แซเทอร์เดย์ อีฟนิง โพสท์ แมนคีวิคซ์ยังขู่ว่าจะไปร้องเรียนกับสมาคมผู้เขียนบท เพื่อให้ได้เครดิตเต็มๆ สำหรับการเขียนบททั้งหมด

แมนคีวิคซ์ยื่นประท้วงต่อสมาคมผู้เขียนบทและถอนออกอยู่หลายครั้ง ก่อนปัญหาจะยุติลงในเดือนมกราคม 1941 เมื่ออาร์เคโอ พิคเฌอร์ส ตัดสินใจให้เครดิตกับแมนคีวิคซ์ ซึ่งทางสมาคมฯ ให้ชื่อของเวลล์สขึ้นก่อนแล้วตามด้วยแมนคีวิคซ์ แต่ริชาร์ด วิลสันผู้ช่วยของเวลล์สเล่าว่า มีการวงชื่อของแมนคีวิคซ์ด้วยดินสอแล้วเขียนลูกศรโยงมาไว้เป็นชื่อแรก ซึ่งคนที่เขียนก็คือเวลล์ส ทำให้เครดิตอย่างเป็นทางการเป็น ‘บทภาพยนตร์โดย เฮอร์แมน เจ. แมนคีวิคซ์ และออร์สัน เวลล์ส’ ขณะที่ความเคียดแค้นของแมนคีวิคซ์ที่มีต่อเวลล์สก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา 12 ปีที่เขายังมีลมหายใจอยู่

ในปี 1971 มีการตั้งคำถามถึงที่มาของบทภาพยนตร์ Citizen Kane โดยนักวิจารณ์ชื่อดัง – พอลีน เคลเจ้าของบทความขนาด 50,000 คำที่ตกเป็นประเด็นถกเถียงเรื่อง Raising Kane ซึ่งถูกใส่เป็นบทนำของบทภาพยนตร์ที่ใช้ในการถ่ายทำที่อยู่ในหนังสือ The Citizen Kane Book ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม 1971 บทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1971 ในนิตยสารเดอะ นิว ยอร์เคอร์ 2 ฉบับติดต่อกัน แม้เวลล์สจะได้รับการปกป้องจากเพื่อนๆ, นักวิจารณ์ และผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติ และกลุ่มนักวิชาการ แต่ชื่อเสียงของเขาก็ได้รับความเสียหายเพราะข้อกล่าวหาดังกล่าว ต่อมามีการตั้งข้อสงสัยต่อบทความ และกระบวนการสืบค้นของเคล จนกลายเป็นเรื่องโต้แย้งในอีกหลายปีต่อมา

คำตอบต่อคำถามว่า ใครคือผู้เขียนบทของ Citizen Kane มีความชัดเจนมากขึ้นจากงานเขียนที่ได้จากการค้นคว้าอย่างละเอียดของโรเบิร์ท แอล. คาร์ริงเจอร์ที่ชื่อ The Scripts of Citizen Kane ซึ่งคาร์ริงเจอร์ทำการศึกษาบทภาพยนตร์ที่ ‘แทบจะเป็นการเขียนบทแบบวันต่อวัน’ อย่างละเอียด ซึ่งถูกเก็บเอาไว้อย่างดีที่อาร์เคโอ เขาได้ตรวจสอบบทถึง 7 ร่าง และสรุปว่า “หลักฐานทั้งหมดเผยว่า การทำงานของเวลล์สในเรื่องบทของ Citizen Kane ไม่เพียงแต่มีความสำคัญแต่ยังชัดเจนอีกด้วย”

เฮอร์แมน เจ. แมนคีวิคซ์

ในปีที่ผ่านมา เรื่องผู้เขียนบท Citizen Kane กลับมาได้รับการพูดถึงอีก เมื่อหนัง Mank ของเดวิด ฟินเชอร์ออกฉาย โดยเรื่องราวให้ความสำคัญกับแมนคีวิคซ์ ว่าเป็นเจ้าของไอเดียตัวจริงของหนังและเป็นผู้เขียนบท ซึ่งโอเวน ไกลเบอร์แมน จากเว็บไซต์ variety.com เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ไกลเบอร์แมนย้ำตั้งแต่ข้อความแรกของบทความเลยว่า ถึงจะมีการค้นคว้ามากมายหลายฉบับ และคอลัมน์อีกเยอะแยะที่เขียนถึงเรื่องนี้ จนแทบจะทะลุปรุโปร่ง การถกเถียงเรื่อง ใครคือผู้เขียนบทเจ้าของความคิดสร้างสรรค์ของ Citizen Kane ตัวจริง ที่แม้เวลาจะผ่านมาถึง 50 ปี มุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ก็ยังคงอยู่ และปีนี้ก็ถูกกระพือให้แรงขึ้นมาอีกจากการออกฉายของ Mank ที่ยังคงพัวพันอยู่กับคำถามง่ายๆ ที่ว่า ‘ใครเขียนบท Citizen Kane? ใช่ เฮอร์แมน เจ. แมนคีวิคซ์ มือเขียนบทขี้เมาที่ผ่านเลยช่วงเวลาที่ดีที่สุดไปแล้ว และปล่อยตัวจนทรุดโทรม ทำตัวไร้สาระจนน่าขำ แม้จะยังคงมีความเฉียบแหลม, เก่งกาจ อยู่ในตัว ที่ในหนังรับบทโดยแกรี โอลด์แมนหรือเปล่า? หรือจะเป็นออร์สัน เวลล์ส เด็กหนุ่มอัจฉริยะ อีโกแรง เจ้าของเสียงที่นุ่มราวกำมะหยี่ ซึ่งยอมแบ่งเครดิตในการเขียนบทกับแมนคีวิคซ์ ทั้งที่สมควรได้เครดิตเต็มๆ แทนที่จะเป็นการเขียนบทร่วมกัน? เวลล์สเป็นคนที่ลงแรงในเรื่องของการวางโครงเรื่อง, ตัดต่อ และเขียนบทมากพอไหม และไอเดียที่กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวของหนังมาจากเขาหนักแน่นพอที่จะทำให้ข้อสังเกตที่ว่า แมนคีวิคซ์คือเครื่องจักรที่ถูกเก็บซ่อนของหนัง เป็นเรื่องโกหกไหม?

ในความเป็นจริง คำตอบที่มีต่อคำถามเหล่านี้ ได้รับการตอบและตอกตะปูปิดฝาโลงไปแล้วเรียบร้อยจาก The Scripts of Citizen Kane บทความของคาร์ริงเจอร์ เมื่อปี 1978 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในหนังสือเรื่อง The Making of Citizen Kane ของเขาที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 1985 รวมถึงข้อมูลจากปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช บทความที่เป็นการเบิกเนตรครั้งสำคัญเรื่อง The Kane Mutiny ที่เขาเขียนลงในนิตสารเอสไควร์เมื่อปี 1972 บทความทั้งสองชิ้นมีหลักฐานชัดเจนว่า เวลล์สมีความเกี่ยวพันกับการเขียนบท Citizen Kane อย่างใกล้ชิด แถมยังประณามพอลีน เคล นักวิจารณ์ใหญ่ ที่เขียนบทความ Raising Kane ซึ่งกลายเป็นการจุดไฟแห่งการถกเถียงในเรื่องนี้ ที่ตีพิมพ์ในเดอะ นิว ยอร์เคอร์เมื่อปี 1971 และสร้างข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ยากจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยการใช้ข้อมูลที่เหลวไหล และกล่าวถึงอย่างเป็นระบบถึงการทำงานของแมนคีวิคซ์ที่มีต่อหนังเรื่องนี้

ซึ่งสามารถกล่าวได้ในอีกทางหนึ่งว่า เรื่องมันจบไปแล้ว คดีถูกปิดเรียบร้อย ไม่ต้องถกเถียงอะไรกันอีก

แต่มันไม่จริง เพราะการที่คุณยอมรับว่าออร์สัน เวลล์สสมควรได้รับเครดิตในฐานะร่วมเขียนบทของ Citizen Kane ทำให้ยังมีคำถามค้างคาใจอยู่ และเป็นความลับที่ไลเบอร์แมนคิดว่า เคลพยายามที่จะกระทุ้งมันออกมา (แม้จะทำไม่สำเร็จ) บทความของเธอเป็นการไตร่ตรองแกมประชดถึงความหมายที่อยู่ข้างในว่า จริงๆ แล้วบทภาพยนตร์คืออะไร และเหตุผลที่ทำให้คำถามที่ถูกตั้งขึ้นมา กลายเป็นปริศนาที่ยากจะไขออกอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นเมื่อเราคิดถึง Citizen Kane ก็คือ Kane เป็นหนังฮอลลีวูดที่สามารถทำให้คำตอบเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าคุณเชื่อ เหมือนที่ใครๆ เชื่อว่า Kane เป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ ที่กลายเป็นงานคลาสสิกของฮอลลีวูด และบางทีอาจเป็นหนังที่เยี่ยมยอดที่สุดที่มีการสร้างขึ้นมา จากนั้นก็จะมีคำถามอย่าง ”เข้าใจละ แต่ทำไมมันถึงเป็นหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดละ?” มีเหตุผลให้ตอบเป็นห้าสิบข้อในคราวเดียวกัน อย่าง วิสัยทัศน์ที่น่าตื่นเต้นของมัน, ความสง่างามในแบบลูกแก้วหิมะที่หม่นมืดแบบกอธิก, การแสดงที่ดูสนุก และงานด้านภาพที่อลังการแต่ดูลึกลับ, โครงสร้างของเรื่องที่ชวนลุ่มหลง, ความสนุกสนาน, เรื่องเล่าขานถึง ‘โรสบัด’ (Rosebud) ที่หม่นมืดและชวนหลอน แล้วก็อะไรอีกมากมาย ความพอใจและความชื่นชมที่มีต่อ Kane ที่หน้าฉาก คือสิ่งเหล่านี้ แล้วยังมีความลึกที่ถูกซ่อนเอาไว้ข้างในแบบไม่มีวันสิ้นสุด

ออร์สัน เวลล์ส

แต่บางครั้งอะไรหลายๆ อย่างก็สูญหายไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เกิดมาหลังจาก Kane ออกฉายนานนับหลายทศวรรษ นั่นก็คือความกล้าหาญอันล้นเหลือของหนังในยุคนั้น ที่ทำให้หนังได้รับการส่งต่อในฐานะงานที่มีความพิเศษ เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ซึ่งถูกซ่อนอยู่ในความหม่นมืด, ใต้เงาลางๆ, การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่วันจบสิ้น และจินตนาการแบบบาโรกของคนทำงาน ของหนัง Kane คือภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เปลี่ยนแปลงจักรวาลของฮอลลีวูด มันเป็นการกระโดดไปข้างหน้า ไปสู่ยุคที่ภาพยนตร์แต่งงานกับความเป็นจริงทางสังคมและจิตวิทยา ที่ระบบสตูดิโอไม่เคยมีพื้นที่ว่างให้

ขณะที่ความคลาสสิกของฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็นฮิทช์ค็อกหรือว่าคาปรา, ฟิล์มนัวร์ และงานหนังเพลงของเอ็มยีเอ็ม, เบ็ตต์ เดวิสและวิเวียน ลีก์ห, คลาร์ค เกเบิลและเจมส์ สจวร์ตต่างก็ทำได้ดี สมกับผลลัพธ์ที่ได้กลับมา แต่อย่างที่หลายๆ คนรู้กัน และยังคงไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ มาร์ลอน แบรนโดเป็นคนนำการแสดงที่สมจริง ที่สว่างวาบขึ้นมาราวกับสายฟ้าฟาดมาสู่จอ ซึ่งเปรียบได้กับการปฏิวัติภาพยนตร์ แต่ Kane นำสายฟ้าฟาดที่คล้ายกันมาให้ก่อนแบรนโดจะมีผลงานเรื่องแรกถึง 9 ปี ด้วยวิธีการที่แตกต่าง มีแค่เวลล์สเท่านั้นที่ก้าวล้ำนำเวลาของตัวเองไปไกลแสนไกล และต้องรอเวลาอีกนานหลายปีกว่าโลกภาพยนตร์จะได้รับอิทธิพลจากเขา ในปี 1941 ที่ Kane ออกฉาย หนังส่วนใหญ่ยังเป็นงานแบบสองมิติ อาจจะมีหนังดีๆ ไม่กี่เรื่องที่มีสามมิติ แต่ Kane มีสี่มิติจากการนำตัวตนจริงๆ มาเชิดในหนังได้อย่างชาญฉลาด ด้วยการใช้ชีวิตเจ้าพ่อสื่อ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สท์อย่างที่รู้กัน และกลายเป็นการทะลายกำแพงที่แยกระหว่างชีวิตกับศิลปะออกจากกันแทบจะในทันที

ความดีตรงนี้มาจากแมนคีวิคซ์ฺ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอใน Mank นอกจากการดื่มและการพนันแล้ว เขาใช้เวลาในยุค ’30s พูดคุยอย่างสนิทสนมกับผู้มีอำนาจในฮอลลีวูดที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและการแลกเปลี่ยน ผู้คนที่เปี่ยมเสน่ห์, มีอำนาจ และความน่าเกรงขาม ที่ทำให้โลกโน้มเอียงไปตามที่พวกเขาคิดและปรารถนา แน่นอนว่าแมนคีวิคซ์รู้จักเฮิร์สท์และมาเรียน เดวีส์ หญิงสาวจากจอเงินของเขา แล้วก็แอบมองชีวิตของพวกเขาจากวงในเมื่อตัวเองกลายเป็นเพื่อนกับเดวีส์ ได้เห็นกรงทองที่กักขังเธอเอาไว้ เขาดึงทุกอย่างที่เป็นไปในชีวิตของเฮิร์สท์ มาใส่ไว้ในปราสาทซานาดูของเคน ที่ไม่ต่างไปจากป้อมปราการที่ซาน ซีเมียน ของเฮิร์สท์

แม้ว่าเรื่องซุบซิบจะไม่ทำให้เกิดงานศิลปะ แต่แมนคีวิคซ์ ใช้สิ่งที่เป็นเรื่องซุบซิบโดยพื้นฐาน มาเป็นเชื้อเพลิงให้กับเรื่องราวของชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน ราวกับหยั่งรู้ถึงยุคแห่งความเป็นจริง ที่ไม่ได้หมายถึงบรรดารายการเรียลิตีทางโทรทัศน์ แต่เป็นยุคที่ภาพยนตร์เริ่มวางเรื่องราวและสะท้อนความเป็นไปของโลกที่อยู่รอบๆ ตัว มากกว่าจะทำตัวเป็นโรงงานขายฝันที่ผสมผสานเรื่องของความดีและความเลว หนึ่งในหลายๆ สารของ Mank ที่ในบทร่างแรกอันแสนอลังการมีชื่อดั้งเดิมว่า American บอกคือการที่แมนคีวิคซ์กล้าที่จะเขียนบทแบบนั้นก็เพราะว่า เขาไม่มีอะไรจะเสีย

มาเรียน เดวีส์

แต่ American จะเป็นยังไงหากปราศจากออร์สัน เวลล์ส? ในฉากแรกๆ Mank แสดงให้เห็นว่าแมนคีวิคซ์เป็นคนเขียนคำบรรยายจากฉาก News on the March ที่เป็นฉากเลียนแบบการเสนอข่าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Citizen Kane เขาเป็นคนเขียนคำบรรยายนั้นจริงๆ ใช่ไหม? อาจจะใช่… แต่ฉาก News on the March เป็นหนึ่งในฉากความยาวเก้านาทีที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกัน และไม่เคยมีอะไรเหมือนฉากนี้ ที่เป็นงานสารคดีที่ซับซ้อน, เต็มไปด้วยการเปลี่ยนโทนภาพไปมา และภาพที่ถ่ายเก็บไว้ซึ่งเต็มไปด้วยความแตกต่างกันจำนวนมาก ถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์ที่ดูยิ่งใหญ่ ฉากนี้กลายเป็นการฝังผู้ชมเข้าไปในโลกที่ดูสมจริง เช่นเดียวกับที่เวลล์สเคยทำกับ The War of the Worlds การออกอากาศเรื่องมนุษย์ต่างดาวบุกโลกทางวิทยุ ซึ่งเป็นการฝังนิยายไซ-ไฟมหากาพย์ของเอช.จี. เวลล์สเข้ามาในโลกจริงๆ สุนทรียภาพทางศิลปะของเวลล์ส และสาเหตุที่ทำให้เขาต่อสู้กับฮอลลีวูดตั้งแต่เริ่มต้น มีรากฐานมาจากความเคารพในความเป็นจริงที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้จากหนัง Touch of Evil ฉบับบูรณะ งานฟิล์มนัวร์ที่นัวร์ที่ความสนุกสนานเกิดขึ้นในบาร์ที่ว่างเปล่าและสายโทรศัพท์ที่ดูอ้างว้าง ของเมืองชายแดนที่ดูสกปรกและซอมซ่อ เวลล์สพยายามแสวงหาศิลปะภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตที่อยู่รายรอบพวกเรา ก่อนจอห์น คาสซาเว็ตส์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังอิสระอเมริกันคนแรกถึง 20 ปี

การสนทนาเกี่ยวกับบทของ Citizen Kane จริงๆ แล้วเป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยคำถาม หนังมีคุณภาพขนาดนี้ได้ยัง? ใครเป็นเจ้าของเนื้อหาสำคัญๆ? คำตอบสั้นๆ คือ ออร์สัน เวลล์ส ส่วนคำตอบที่ยาวขึ้นมาอีกหน่อยก็คือ เวลล์ส กับความช่วยเหลือหลักๆ จากแมนคีวิคซ์ และแน่นอน… จากผู้ร่วมงานคนอื่นๆ อย่าง ตากล้อง – เกร็กก์ โทแลนด์ และผู้ทำดนตรี เบอร์นาร์ด เฮอร์มาน คำตอบทั้งสองแบบเป็นคำตอบที่ถูก และในความเป็นจริง เวลล์สก็ไม่ใช่พวกหวงเครดิต ในตอนแรกเขาเป็นคนที่สู้เพื่อให้แมนคีวิคซ์ได้เครดิตใน Kane ด้วยซ้ำ การให้เครดิตเดี่ยวๆ เป็นของตัวเอง ก็เพราะสัญญาที่เซ็นกับอาร์เคโอต้องการให้เป็นอย่างนั้น การตัดสินของคณะกรรมการที่ส่งผลให้เป็นการเขียนบทร่วม ก็เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการยุคดั้งเดิม ซึ่งทุกวันนี้ทำงานกันแบบงานประจำไปแล้ว Mank ยังเป็นงานที่แสดงให้ถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นในยุคเก่าๆ ช่วงเวลาสมาคมผู้เขียนบทกำลังก่อร่างสร้างตัว ผู้เขียนบทในฮอลลีวูดกำลังสร้างความมั่นคง ไม่ใช่แค่กับพลังของพวกเขา แต่ยังรวมไปถึงตัวตน

มือเขียนบทในฮอลลีวูดมักต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ แต่พวกเขาได้อะไรมากกว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับภายใต้ระบบสตูดิโอมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกทำงานที่น่าเบื่อด้วยความสามารถพิเศษ และด้วยระบบที่เป็นไปพวกเขามักไม่ได้รับเครดิตในการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพอใจสำหรับมือเขียนบทส่วนใหญ่ แมนคีวิคซ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะพวกเขาได้เงิน ส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงเรื่องการเขียนบทของ Citizen Kane เป็นเรื่องขึ้นมาก็เพราะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการได้เห็นผู้กำกับเป็นเจ้าของเครดิตร่วมเขียนบท ลองมองย้อนกลับไปถึงการที่ฟรานซิส ฟอร์ด ค็อปโปลาได้เครดิตเขียนบท The Godfather ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ดี เนื่องจาก The Godfather เป็นหนังอเมริกันชั้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งนับตั้งแต่ Citizen Kane มาริโอ พูโซเองก็ทำงานกับหนังเรื่องนี้ อย่างน้อยก็พอๆ กับที่เฮอร์แมน แมนคีวิคซ์ ให้กับ Kane แต่ไม่มีใครรังเกียจการทำงานของค็อปโปลา

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ Kane ก็คือการแสดงให้เห็นว่าพวกคนเขียนบทมักจะถูกตีค่าต่ำเป็นประจำจนกลายเป็นเรื่องปกติ และการเขียนบทของแมนคีวิคซ์ตั้งเป้าเอาไว้สูง สมควรได้รับการชื่นชมในแบบที่ Mank ยกย่องเขา แต่หนังของฟินเชอร์ไปไกลกว่านั้น ด้วยการพยายามเชิดชูแมนคีวิคซ์ สะท้อนสิ่งที่เคลเขียน และทำให้ออร์สัน เวลล์สตัวเล็กลงเมื่อปรากฏตัวในฐานะพวกเจ้ากี้เจ้าการ เจ้าอารมณ์ และลุ่มหลงกับความมีอำนาจของตัวเอง จริงๆ แล้วหนังน่าจะทำได้ดีกว่านี้ในการแสดงให้เห็นจุดกำเนิดของ Kane อย่าง การพบกันของเวลล์สและแมงค์ครั้งแรกเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ และทั้งคู่คลิกกันได้อย่างไร แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมฟินเชอร์ถึงไม่ใส่ฉากเหล่านี้ไว้ในหนัง เขาต้องการให้มันมีสัมผัสของความลึกลับ ที่ทำให้มันมีความหมายบางอย่าง เช่น ประเด็นที่ว่าใครกันที่จุดไฟในการสร้างสรรค์ของ Citizen Kane ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถฟันธงไปได้ว่าเป็นใคร ส่วนผสมทางเคมีของหนังเป็นสิ่งที่มีความลึกลับมากกว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้ และมากกว่าที่คนทำหนังรู้ ผู้คนไม่ว่าจะน้อยหรือมากต่างก็รู้แล้วว่าใครเขียนบท Citizen Kane แต่สิ่งที่เราไม่รู้ และจะไม่มีวันรู้ก็คือมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

Get it on Apple TV

โดย ลุงทอย จากเรื่อง ใครกันที่เขียนบทหนัง Citizen Kane? เรื่องที่ยังคงลึกลับต่อให้รู้คำตอบดีอยู่แล้ว คอลัมน์ SPECIAL SCOOP นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1321 ปักษ์แรกกุมภาพันธ์ 2564

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่
 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.