Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว Where to Invade Next สารคดีเสียดสี แสบๆ แบบ ไม่เคิล มัวร์

where-to-invade-next-sadaos_posterWHERE TO INVADE NEXT: ฉากจบของหนังสารคดีเรื่อง Where to Invade Next ของไมเคิล มัวร์ หยิบยืมบทสรุปของหนังเรื่อง the Wizard of Oz โดยเฉพาะในช่วงที่โดโรธีพบว่า หนทางที่จะนำพาให้ตัวเธอได้กลับบ้าน ณ เมืองแคนซัส-ก็ด้วยการพึ่งพาตัวเอง หรือเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ไม่ใช่เฝ้าคอยความช่วยเหลือของพ่อมดแห่งเมืองออซ ผู้ซึ่งได้รับการเปิดโปงว่าเป็นเพียงนักมายากลกำมะลอ ไม่ได้มีพลังอำนาจวิเศษหรือเวทมนต์คาถาอย่างที่อวดอ้างสรรพคุณ

แต่ประเด็นจริงๆที่อยากกล่าวถึงก็คือ ในความพยายามตะล่อมหรือเกลี้ยกล่อมให้ผู้ชมคล้อยตามหรือเกิดความศรัทธาในอุดมการณ์ความเชื่อตามที่หนังของมัวร์โน้มน้าวชักจูง มันจำเป็นต้องอาศัยทักษะและความชำนิชำนาญ หรืออีกนัยหนึ่ง พลังอำนาจวิเศษหรือเวทมนต์คาถาของคนทำหนังระดับพ่อมดอย่างแท้จริง และไมเคิล มัวร์ในฐานะผู้กำกับ คนเขียนบท และผู้อำนวยการสร้างของหนังเรื่องนี้ก็คือพ่อมดแห่งเมืองฟลินท์ มลรัฐมิชิแกน-ผู้ซึ่งฝึกฝนและขัดเกลาวิธีหว่านล้อม การยักย้ายถ่ายเท (หรือแม้กระทั่ง-ยักยอก) ข้อมูล ตลอดจนการเล่นแร่แปรธาตุสิ่งละอันพันละน้อยอย่างช่ำชองและแพรวพราว จนกระทั่งนำพาให้หากจะต้องบรรยายสรรพคุณของหนังเรื่อง Where to Invade Next ก็ต้องบอกว่ามันเป็นหนังสารคดีที่ทั้งดูสนุก โคตรตลก ฟีลกู้ดอย่างน่าไม่อาย มองโลกในแง่ดีอย่างเหลือเชื่อ ถึงกระนั้น ความกวนทีนของไมเคิล มัวร์ก็ไม่ได้ลดราวาศอกลงไปแต่อย่างใด

แต่ก็อย่างที่แฟนหนังสารคดีของของไมเคิล มัวร์น่าจะคุ้นเคยตามสมควร ความท้าทายใหญ่หลวงของการดูหนังสารคดีของมัวร์ ก็คือการต้องแยกแยะว่า ตรงไหนเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ ตรงไหนเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว และตรงไหนเป็นการใส่สีตีไข่-เพื่อความสนุกสนานเมามัน เพราะสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นทั้งผสมปนเปและถาโถมเข้ามาหาผู้ชมพร้อมๆกัน และบ่อยครั้ง การพยายามหาเส้นแบ่งระหว่าง fact กับ fiction ก็เป็นเรื่องป่วยการ

กล่าวสำหรับ Where to Invade Next ไมเคิล มัวร์ทำในสิ่งที่หนังสารคดีทั้งหลายไม่เคยทำหรือจริงๆ อาจจะไม่กล้าแม้แต่จะคิด และนั่นก็คือการกุเรื่องอย่างไม่ปิดบังอำพราง-ว่า เขาได้รับเชิญให้ไปพบกับผู้นำเหล่าทัพ-ซึ่งสารภาพว่า พวกเขาอับจนหนทางในการกอบกู้ประเทศชาติจากภาวะจนตรอกนานัปการ และเป็นไมเคิล มัวร์ที่เสนอตัว ‘บุกเดี่ยว’ ไปยังประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว และหยิบฉวยสิ่งที่เจ้าตัวเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กลับบ้านเกิดเมืองนอน

ทว่าเนื้อหาที่อยู่หลังจากนี้ต่างหากที่วิจารณญาณของผู้ชมต้องทำงานหนัก เพราะคอนเส็พท์หลักของหนัง-ก็คือการเปิดเผยให้ผู้ชมอเมริกัน-ได้รับรู้รับทราบว่า ระบบของแต่ละประเทศในด้านต่างๆช่างน่าอัศจรรย์หรือแม้กระทั่งเหลือเชื่อเพียงใด เป็นต้นว่า มัวร์สัมภาษณ์คนทำงานในอิตาลี และพบว่าพวกเขามีวันลาหยุดโดยที่นายจ้างยังคงจ่ายเงินเดือนตามปกติ สิริแล้ว 7-8 สัปดาห์ นั่นยังไม่นับวันหยุดปกติ แถมยังลาคลอดได้ถึง 5 เดือน และเมื่อถึงสิ้นปี นายจ้างยังจ่ายเงินเดือนเดือนที่สิบสาม-เพื่อนำไปใช้กินใช้เที่ยว อีกทั้งเจ้านายยังสนับสนุนให้ลูกน้องมีเซ็กซ์เพื่อความสุขในการทำงาน ในฝรั่งเศส ห้องอาหารของโรงเรียนที่ยากจนที่สุดในเมืองที่ยากจนที่สุด-ก็ยังเสิร์ฟอาหารที่เทียบเคียงได้ภัตตาคารระดับ 3 หรือ 4 ดาว ในฟินแลนด์ นักเรียนไม่ต้องทำการบ้าน แถมเวลาเรียนยังยาวนานแค่ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน (รวมช่วงพักเที่ยง) ในสโลวีเนีย มหาวิทยาลัยไม่เก็บค่าเล่าเรียน (หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่มีหน่วยงานที่เรียกว่า กยศ.อย่างในเมืองไทย) ส่วนที่เยอรมัน ระยะเวลาการทำงานยาวนานเพียงแค่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสัดส่วนของบอร์ดของผู้บริหาร-ก็มีพนักงานร่วมอยู่ด้วยถึงครึ่งหนึ่ง หรือในนอร์เวย์ นักโทษคดีอุจฉกรรจ์มีห้องพักซึ่งมีห้องน้ำภายในเป็นของตัวเอง แถมตัวนักโทษก็ยังเป็นคนถือกุญแจห้อง ขณะที่ผู้คุม-ก็รื่นรมย์ระดับช่วยกันทำมิวสิควิดีโอเพลง “We are the World”

จริงๆแล้ว มัวร์ยังไล่เรียงอะไรต่ออะไรในอีกหลายประเทศให้ผู้ชมได้รับรู้อย่างมากมายก่ายกอง และว่าไปแล้ว ระดับของความแอบเสิร์ด หรือเหลวไหล หรือเหลือเชื่อ หรือไม่น่าจะเป็นไปได้-ก็เพิ่มขึ้นอย่างมหึมา แต่ทีละน้อย ผู้ชมโดยเฉพาะชาวอเมริกัน-ก็น่าจะตระหนักได้ว่า ประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การที่มัวร์พยายามอวดอ้าง (ด้วยข้อมูลที่ผ่านกระบวนการคัดกรอง) ว่าประเทศอื่นๆในโลกนี้วิเศษและเลอเลิศกว่าอเมริกาอย่างไร แต่ได้แก่การเปรียบเทียบให้เห็นว่าสังคมอเมริกันในแทบทุกองคาพยพ-อยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียขาหรือเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร (ไล่เรียงตั้งแต่ระบบการศึกษา สวัสดิการแรงงาน ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทั้งในเรื่องของชนชั้น สีผิว และเพศสภาพ) และบทสรุป-ก็ไม่ได้ลึกล้ำมากไปกว่า (ขออนุญาตเปิดเผยตอนจบ) การบอกว่าอเมริกาก็เหมือนกับโดโรธี และนั่นคือ ประเทศนี้ไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากพ่อมดแห่งเมืองออซ ทว่าทั้งหมดของความดีงามเหล่านั้น-ล้วนแล้วอยู่ที่ ‘สนามหลังบ้าน’ ของพวกเราเองตั้งแต่ต้น

แน่นอนว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของหนังเรื่องนี้-ก็คือคนอเมริกัน และน่าเชื่อว่าสำหรับคนอเมริกันที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ สภาวะอันห่อเหี่ยวสิ้นหวังของคนเหล่านั้น-ก็น่าที่จะได้รับการอุ้มชู ฟื้นฟู และปลอบประโลม หรือแม้กระทั่งเกิดความเชื่อและความศรัทธาว่า ‘เมืองแคนซัส’ น่าจะอยู่อีกไม่ไกล

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เมื่อหนังเรื่อง Where to Invade Next มาฉายเมืองไทย บริบทของมันคลาดเคลื่อนไปเยอะเลย อย่างน้อย คนทำหนังก็ไม่ได้กำลังสื่อสารกับพวกเราโดยตรง และพวกเราเป็นเพียงบุคคลที่สามที่แทบจะไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย (แถมยังมาจากประเทศที่เป็นรองแชมป์การปฏิวัติรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย) และได้แต่เฝ้ามองภาพเคลื่อนไหวเบื้องหน้าด้วยสภาวะที่เหมือนกับเป็นคนนอกเต็มตัว และในขณะที่ไมเคิล มัวร์โชว์ให้พวกเราได้เห็นว่า หลายๆประเทศในโลกนี้-กำลังมุ่งหน้าไปสู่วิถีที่ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ซะเหลือเกิน ทั้งความเสมอภาคเท่าเทียม ไปจนถึงการสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลได้สำแดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ

กลับกลายเป็นว่าการดูหนังเรื่องนี้ภายใต้เงื่อนไขของสังคมในแบบที่ ‘พวกเราก็รู้ๆกันอยู่เป็นอย่างไร’ ก่อให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนหรือขัดแย้งสองสามอย่างที่ประดังเข้ามา หนึ่งก็คือ Where to Invade Next ของมัวร์ไม่ใช่หนังสารคดีอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนังแฟนตาซี หรือแม้กระทั่งเซอร์เรียล และหากจะมีเทพนิยายซักเรื่องที่ใช้เทียบเคียง มันก็ไม่น่าจะใช่ the Wizard of Oz เท่ากับ Alice in Wonderland

อีกหนึ่งก็คือ เมื่อมาตรึกตรองภายหลัง ความพยายามของไมเคิล มัวร์ในการเปิดโลกทัศน์ของผู้ชม ไม่ได้ทำให้ตัวเองคล้อยตามแม้แต่น้อยนิด-ว่า สยามประเทศของเราช่างล้าหลัง หรือวิ่งไล่ตามอารยประเทศอื่นๆไม่ทัน เพราะทิศทางที่ดินแดนหรือรัฐนาวาแห่งนี้มุ่งหน้าไป-มันตรงกันข้ามหรือสวนทางชาวโลกโดยสิ้นเชิง โดยอัตโนมัติ ไม่มีทางที่จุดหมายปลายทางของประเทศเราจะไปจบลงที่เมืองแคนซัสอย่างแน่นอน

ตอนนี้ก็ได้แต่ภาวนาเพียงแค่ว่า สถานีต่อไป-จะไม่ใช่เปียงยาง

โดย ประวิทย์ แต่งอักษร

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.