Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว: Don’t Smile at Me งานเปิดตัวของบิลลี ไอลิช

ก่อนจะโด่งดังจากอัลบัมชุดแรกWhen We All Fall Asleep, Where Do We Go? ที่ทำให้เจ้าของอัลบัม – บิลลี ไอลิชกลายเป็นศิลปินประวัติศาสตร์ สาวรุ่นที่แจ้งเกิดได้อย่างสวยงามในวงการเพลงรายนี้ มีอีพีชุด Don’t Smile at Me เป็นงานแนะนำตัวกับแฟนเพลง ซึ่งปล่อยออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2017 และแม้จะไม่ใช่งานที่โด่งดังมากมาย แต่ Don’t Smile at Me ก็ได้ชื่อว่าเป็นงานฮิตแบบซึมลึก สร้างฐานแฟนเพลงตั้งต้นให้กับไอลิชได้อย่างแข็งแรง

 

เมื่อต้องใช้เวลาถึงเดือนครึ่งหลังวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2017 เพื่อเปิดตัวในชาร์ทอัลบัมขายดีบิลล์บอร์ด 200 ด้วยอันดับที่ 185 แล้วพอสัปดาห์ที่ 21 ที่อยู่ในชาร์ท ซึ่งตรงกับสิ้นเดือนพฤษภาคม 2018 ก็เข้าท็อป 100 ที่อันดับ 97 จนสิ้นเดือนกรกฎาคม ก็ไปถึงท็อปโฟร์ตี ด้วยอันดับที่ 38

สำหรับอันดับสูงสุดที่ทำได้ก็คือ 14 ในสัปดาห์ที่ 56 หรือหนึ่งปีกับอีกหนึ่งเดือนหลังจากเข้าชาร์ท เทียบกับงานสร้างชื่อ สร้างรางวัลให้ตัวเอง ในเรื่องของเนื้องาน แม้โครงสร้างของเพลงในอีพีชุดนี้จะไม่ได้แตกต่างไปจากกันมากนัก แต่อารมณ์ที่ได้รับจากการฟัง เพลงใน Don’t Smile at Me นุ่มนวลกว่า ทางดนตรีก็ใกล้กับการเป็นงานเมนสตรีมกว่า เช่นกัน

หากที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ การแสดงให้เห็นอีกด้าน อีกมิติหนึ่ง ทั้งในการทำงานของไอลิช รวมถึงการแสดงออกถึงด้านที่แตกต่างในตัวของเธอด้วยเช่นกัน

แม้เพลงเปิด “Copycat” หรือ “&Burn” เพลงปิดอัลบัม จะมีอารมณ์และบรรยากาศที่สามารถจับเข้ามาใส่ในอัลบัม When We All Fall Asleep, Where Do We Go? ได้สบายๆ

แต่กับเพลงอย่าง “Party Favor” ที่เริ่มด้วยเสียงร้องของเธอกับอูคูเลเล ก่อนที่เครื่องดนตรีอื่นๆ จะขยับเข้ามาหาอย่างละมุนละไม ก็ให้อารมณ์อบอุ่น สัมผัสที่รื่นรมย์ ในแบบที่แปลกไปจากที่ได้ยินในอัลบัมเต็มชัดเจน ส่วน “Bellyache” เพลงสนุกๆ คึกคัก ที่แม้จะรู้สึกถึงสีสันที่จัดจ้าน แต่กับบรรยากาศ ล่องลอย ชวนฝัน ซึ่งปกคลุมอยู่ทั่วทั้งเพลง ก็ไม่ต่างไปจากสีพาสเทลที่มาห่อหุ้มอีกที หรือ “Hostage” ที่ฟังหม่นๆ ก็ยังมีโทนดนตรีหวานๆ คลอรับ

กระทั่ง “My Boy” เพลงที่บีทดนตรีฟังสนุกเหลือเกิน ก็โรยบรรยากาศหม่นๆ จนอบอวลไปทั่ว

ที่ไม่ใช่แค่แสดงความ ‘เขี้ยว’ ในการทำงาน แต่ราวจะบอกอีกว่า เด็กสาวคนนี้มีสองด้านให้เห็น สองด้านที่แม้จะเหมือนเป็นน้ำกับน้ำมัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ เช่นที่ได้ยินในตัวเพลงหลายๆ เพลง

แล้วที่อยู่หน้าสุดของเพลงเหล่านี้ ซึ่งเป็นเสียงร้องของไอลิช ก็คลี่คลาย หรือเคร่งครัดไปตามบรรยากาศและอารมณ์ของเพลงได้อย่างลงตัว จะให้สวยก็สวยได้ จะให้ซึมก็ซึมไหว แล้วเมื่อมองในภาพรวม ทั้งเสียงร้องและดนตรีทั้งหมดที่ได้ฟังใน Don’t Smile at Me ไม่มีแกว่งหรือหลุดไปจากโทนรวมของงานเลย จนกลายเป็นอีพีที่เปิดฟังทีไรก็ไหลไปจนจบชุดทุกครั้ง

การแต่ง การเขียนเพลง ที่ไอลิชรับหน้าที่เกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่ไม่กี่เพลง ไม่ว่าจะเป็นคำร้องหรือดนตรี เป็นยังไง คำตอบอยู่ตรงการที่อีพีชุดนี้ มีซิงเกิลถึง 6 จาก 9 เพลงในชุด ได้แก่ “Ocean Eyes”, “Bellyache”, “Watch”, “Copycat”, “Idontwannabeyouanymore” และ “My Boy” เพราะฉะนั้นการันตีเรื่องเซนส์ความเป็นป็อปได้อย่างดี ส่วนตัวทำดนตรี ทำเพลง ทุกอย่างที่ว่ามาก่อนหน้า คงจะบอกได้

แม้ในเรื่องความจัดจ้าน Don’t Smile at Me อาจจะแพ้อัลบัมเต็มที่ออกมาตอนหลัง แต่ในฐานะผู้มาก่อน นี่คืองานที่อุ่นเครื่องให้แฟนเพลง เตรียมพร้อมพบความเฟี้ยวที่มากกว่า ซึ่งจะตามมาได้เป็นอย่างดี

แล้วอย่าลืมว่า ตอนไอลิชออกอัลบัมชุดนี้นั้น เธออายุเพียง 16 ปีเอง!!!

โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง Don’t Smile at Me งานเปิดตัวของบิลลี ไอลิช คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ
หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 6 มีนาคม 2563

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.